Home
10 บทความยอดนิยมของเว็บ e4thai.com
10 บทความยอดนิยมของเว็บ e4thai.com
- 4 วิธีง่าย ๆ ในการดาวน์โหลดคลิปวีดิโอ YouTube
- รวม ดาวน์โหลด ตำราภาษาไทย ใช้เรียนภาษาอังกฤษ (คนไทยแต่ง)
- ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลากว่า 150 เล่ม
- 74 คำถาม สนทนาภาษาอังกฤษ แปลไทย
- ฝึกอ่านข่าวอังกฤษแปลไทย ที่ thai.langhub.com
- ศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2,000 คำ ของ Longman Dictionary
- ศัพท์หมวด อังกฤษ - ไทย หลายสิบหมวด
- รวมเว็บไทยสอนภาษาอังกฤษ ที่ผมคัดเลือกแล้ว
- รวมบทความภาษาอังกฤษที่น่าสนใจหลายเรื่อง
- ศึกษา 4,500 ประโยคภาษาอังกฤษแปลไทย พร้อม mp3
เมื่อดูจากชื่อบทความ Top 10 นี้ ผมอดไม่ได้ที่จะคิด 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1: ไฟล์ต่าง ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษที่ท่านดาวน์โหลดกันไปนั้น ท่านได้คลิกเข้าไปดูบ้างหรือเปล่า หรือดาวน์โหลดเก็บไว้เฉย ๆ
เรื่องที่ 2: เมื่อผมตรวจเลยไปถึง Top 50 ก็ได้เห็นว่า แทบไม่มีเว็บภาษาอังกฤษเว็บใดเลยที่ติดอันดับ นี่แสดงว่า เราคนไทยส่วนใหญ่ที่เรียนภาษาอังกฤษผ่านเน็ต ยังเรียนกับเว็บไทย ทั้ง ๆ ที่เว็บฝรั่งที่ให้เรียนฟรี มีมากกว่าเว็บไทยทั้งปริมาณและคุณภาพ ผมเดาว่าหลายท่านคงตอบว่า อ่านเว็บฝรั่งรวมทั้งฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านพูดจริง
แต่ผมอยากจะบอกว่า ถ้าท่านจะโกอินเตอร์, เตรียมตัวรับเออีซี, หวังจะ speed up ทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง....
- ท่านต้องยอมเปลี่ยนตัวเอง
- ต้องกล้าเข้าไปใช้เว็บฝรั่งบ้าง
- ฝึกใช้ดิกอังกฤษให้เป็นนิสัยบ้าง
- ยอมทนอ่านและทนฟังทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง
การไม่รู้เรื่องไม่ได้แปลว่าไม่ได้เรื่อง
มันได้เรื่องครับแต่ท่านไม่รู้ตัว
เพราะมันได้ทีละน้อยไม่ทันใจท่าน
แต่ถ้าท่านไม่ยอมทนฝึกกับสิ่งที่ไม่ทันใจ
ท่านจะต้องเดินขึ้นบันไดไปทั้งชีวิต...
เพราะท่านไม่กล้าขึ้นลิฟต์เรียนภาษาอังกฤษ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
หนังสืออ่านนอกเวลา ให้มากกว่าที่เราคิด
สวัสดีครับ
ภาษาอังกฤษที่เราอ่านเพื่อฝึก reading skill มีมากมายหลายประเภท ผมขอแยกง่าย ๆ เป็น non-fiction กับ fiction ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ข่าวกับนิยาย และสำหรับคนฝึกอ่าน การอ่านเวอร์ชันที่ง่าย หรือ simplified version น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ข่าว
มีหลายเว็บทำข่าวง่ายให้เราอ่าน ที่มีชื่อเสียงก็เช่น
Bangkok Post Learning English: มีให้เลือก 3 ระดับ จากง่ายไปยาก
Breaking News English: คลิกเลือกอ่านได้ตั้งแต่ Level 0 ถึง Level 6
♦http://www.breakingnewsenglish.com/news_levels.html
VOA Learning English: มีให้เลือก 2 level
นิยาย
สำนักพิมพ์ penguin นำหนังสือนิยายต้นฉบับมาเขียนใหม่ให้ง่าย สำหรับโรงเรียนมัธยมของไทยในสมัยก่อนได้ใช้หนังสือพวกนี้ เป็นหนังสื่ออ่านนอกเวลาสำหรับวิชาภาษาอังกฤษ มีทั้งหมด 7 level จากง่ายสุด คือ Easystarts ไปยากสุด คือ Level 6
อ่านรายละเอียดของแต่ละ level ได้ที่ลิงค์นี้
http://www.penguinreaders.com/pr/teachers/grading-of-language.html
เท่าที่ทราบ เดี๋ยวนี้หนังสืออ่านนอกเวลาแบบนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ผมก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าฝึกอ่านเพื่อพัฒนา reading skill กับหนังสือพวกนี้จะได้ผลดีมาก ในเว็บนี้ผมจึงได้รวบรวมหนังสืออ่านนอกเวลาไว้ที่ลิงค์นี้
ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลากว่า 150 เล่ม
และผมก็พยายามหามาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ อย่างเช่น level 6 ซึ่งแต่ก่อนมีไม่กี่เล่ม ตอนนี้มีกว่า 20 เล่มแล้ว
ผมขอให้ความเห็นสักนิดนะครับเกี่ยวกับการอ่านหนังสือพวกนี้
1.เลือก level ที่ง่าย – ยาก พอฟัดพอเหวี่ยงกับท่าน ถ้าง่ายเกินไปอาจจะไม่ท้าทายความสามารถเท่าที่ควร ถ้ายากเกินไปอาจเหนื่อยเร็วและเลิกอ่านก่อนจบ
2.เลือกเรื่องที่ชอบ นิยายมีหลายประเภท เช่น นิยายตื่นเต้น ดราม่า คลาสสิก อิงประวัติบุคคลหรือประวัติศาสตร์ คนที่มีความชอบหลากหลายก็จะมีเรื่องให้อ่านเยอะมากกว่าคนที่ชอบอะไรจำกัด
3.เราไม่จำเป็นต้องรีบอ่าน เพราะว่าเขานำต้นฉบับมาเขียนใหม่ให้ง่ายและสั้นกว่าเดิมหลายเท่า เพียงแค่อ่านไปเรื่อย ๆ(ไม่เลิกอ่านดื้อๆ) ก็จะจบได้เองในเวลาไม่ช้า เพราะฉะนั้น แต่ละเรื่องควรจะอ่านให้รู้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1)รู้เรื่อง 2)รู้รส และ 3)รู้ลีลา คือลีลาของศัพท์สำนวนที่ใช้ผูกประโยค ซึ่งผู้แต่งใช้เป็นบทพูดของตัวละคร และบทเล่าเพื่อดำเนินเรื่อง ทั้ง 3 เรื่องที่รู้จากการอ่านนิยายนี้ ทำให้การอ่านนิยายมีเสน่ห์มากกว่าการอ่านข่าว
4.ถ้าเจอศัพท์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็ให้เดา ถ้าเดาแม้ไม่แน่ใจแต่ก็พอจะรู้เรื่องที่อ่าน ก็ให้ใช้วิธีเดาและอ่านเรื่อยไปโดยไม่ต้องหยุดเปิดดิก ท่านจะเปิดดิกก็ต่อเมื่อเดาไม่ออกและอ่านไม่รู้เรื่องเท่านั้น ทางที่ดีมีสมุดจดศัพท์วางไว้ใกล้ตัวเพื่อเขียนศัพท์ที่ติด และค่อยไปเปิดดิกดูตอนหลังเมื่อเลิกอ่าน
5.อ่านใจใจดัง ๆ เหมือนกับว่า ท่านกำลังอ่านให้ใครฟัง ซึ่งหมายความว่า ท่านรู้ว่าศัพท์แต่ละคำที่อ่านมันออกเสียงยังไง การพยายามตั้งใจอ่านออกเสียงในใจ แม้อาจจะทำให้การอ่านไปได้ช้ากว่าการอ่านเงียบ ๆ ในใจ แต่มันก็มีประโยชน์เพิ่มเติมหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้รู้รสของภาษาและรู้ลีลาของประโยคมากขึ้น
ถ้าท่านดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลาไว้หลายเล่มแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมืออ่านเลย ผมขอชวนให้ท่านเริ่มเล่มแรกวันนี้เลยครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
การเมืองไทย- สื่อมวลชนโลก: บิดเบือน-เบี่ยงเบน-ปิดบัง
สวัสดีครับ
ผมอ่านข่าวภาษาอังกฤษจากเว็บสำนักข่าวโลกหลายสำนัก แล้วก็รู้สึกว่า ถ้ารายงานกันอย่างนี้ ชาวโลกไม่มีวันรู้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรอก เพราะข่าวส่วนใหญ่ที่อ่านมันแทบไม่ต่างจากนิยาย คือ การร้อยเรียงกันของเรื่องจริง(truth)-เรื่องครึ่งจริง(half-truth)-และเรื่องไม่จริง(un-truth) และยังละเว้นไม่รายงานบางเรื่องอย่างน่าประหลาดใจ เหมือนกับจงใจไม่รายงาน ผมขอยกตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ครับ
1.หลายสำนักรายงานสรุปได้ดังนี้
-คนไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นคนยากจนในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งคนจน และคนทำงานใช้แรงงานในเมือง คนเหล่านี้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย อดีตนายกทักษิณ และยิ่งลักษณ์ กลุ่มที่ 2 เป็นพวกนิยมเจ้า,พวกคนชั้นกลางในกรุงเทพ และคนภาคใต้ หลายเว็บฟันธงลงไปเลยว่า กลุ่มที่ 1 มีมากกว่ากลุ่มที่ 2 เพราะเลือกตั้งคราวใดพรรคเพื่อไทยก็ชนะทุกครั้ง
-กลุ่มที่ 2 “กล่าวหา” พรรคเพื่อไทยว่าคอรัปชั่น โดยเฉพาะเรื่องโครงการจำนำราคาข้าว ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้ได้ สส.เข้ามามากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก
-กลุ่มที่ 2 โดย กปปส. เสนอเรื่อง การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง, นายกฯคนกลาง, สภาฯคนกลาง ซึ่งสื่อตะวันตกมักพูดว่า เป็นแนวคิดที่ยังเบลอร์อยู่ รายละเอียดเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้
-แทบทุกสำนัก มักให้ความเห็นว่า ต้องหันหน้ามาคุยกัน และมีการประนีประนอม (คือต้องยอมบ้าง ไม่มีฝ่ายไหนที่จะได้ดังใจ 100 %) และการเลือกตั้งคือทางออกเดียวของประเทศไทย
-ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยแย่ลง การส่งออกก็น้อย การผลิตก็แย่ คนมาลงทุนหรือมาเที่ยวก็น้อยลง คนไทยควักเงินซื้อของก็น้อยลง
-บางสำนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวใหญ่ ๆ ไปไกลถึงขั้นวิเคราะห์เลยว่า ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลห้าวหาญได้ถึงปานนี้ก็เพราะมีกลุ่มผู้มีอำนาจหลายกลุ่มในสังคมหนุนหลังอยู่
2.การรายงานข่าวและวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าวพวกนี้ อ่านดูแล้วก็รู้สึกว่า ไม่ได้บอกอะไรเราเลย และที่บอกก็บอกอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ขาด ๆ แหว่ง ๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะบางสำนักข่าวมีนักข่าวอยู่ประจำในเมืองไทยตั้งหลายปีแล้ว
3.ผมขอเรียนท่านผู้อ่านอย่างนี้ครับ ตามหลักวิชาชีพของการรายงานข่าวนั้น news กับ view จะต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด คือ ห้ามใส่ความเห็นของผู้สื่อข่าวลงไปในข่าว ถ้าจะใส่ก็ต้องเป็นความเห็นของบุคคลในข่าว และใส่ไปในลักษณะที่สมดุล คือทำให้ผู้อ่านข่าวได้ทราบข้อมูลหรือความเห็นของทั้งสองด้านหรือหลายด้าน ที่พูดมานี้เป็นทฤษฎีครับ เพราะเอาเข้าจริง หลายแห่งก็เขียนตามใจชอบ นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียนอย่างนั้น
4.บางสำนักข่าวพยายามสร้างความต่างให้ตัวเองเด่น คือ แทนที่จะบอกเพียงว่า เกิดอะไรขึ้น (what) ก็พยายามบอกด้วยว่า ทำไมมันจึงเกิดอย่างนั้น (why) และไอ้ตรงทำไมนี่แหละครับที่ผมรู้สึกว่า สำนักข่าวหลายแห่งสอบตก มันชวนให้คิดเลยเถิดไปด้วยว่า นี่ข่าวในประเทศไทยยังรายงานหรือวิเคราะห์ผิด ๆ เพี้ยน ๆ อย่างนี้ แล้วข่าวดัง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลกล่ะ เราจะเชื่อถือได้ขนาดไหน
5.ผมขอยกตัวอย่างบางเรื่องที่ผมอ่านแล้วหงุดหงิดมาให้ฟังแล้วกันครับ
5.1 เรื่องที่ “มวลมหาประชาชน” ไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประเด็นคอรัปชั่นที่แฝงตัวในโครงการประกันราคาข้าว สำนักข่าวพวกนี้มักจะใช้คำว่า โครงการนี้หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ถูกกล่าวหา” แต่แทบจะไม่มีสำนักข่าวใดเลยที่ลงลึกไปในรายละเอียดของข้อกล่าวหา ที่ทำให้มวลมหาประชาชนเชื่อว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงข้อกล่าวหา แต่มันเป็น “ความจริง” เมื่อเสนอข่าวในลักษณะโฉบ ๆ เฉียด ๆ อย่างนี้ พอชาวโลกอ่านก็จะเข้าใจว่า มันเป็นเพียงความขัดแย้งทางความคิดเห็น แต่ชาวโลกจะไม่มีวัตถุดิบสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาว่า แล้วเรื่องจริง ๆ มันเป็นอย่างไรล่ะ?
5.2 เรื่องข้อกล่าวหาการคอรัปชั่นในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งแบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า pork barrel คือให้เงินแก่โครงการเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง และการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า สื่อตะวันตกจงใจไม่พูดถึงอย่างผิดสังเกต ไม่ยอมลงไปในรายละเอียด มันเพราะอะไรล่ะ? สื่อเหล่านี้มักจะพูดว่าโครงการประชานิยมทำให้มีคนไทยกลุ่มใหญ่ชอบทักษิณ แต่โครงการเหล่านี้มีข้อดีสุด ๆ และข้อเสียสุด ๆ อย่างไร กลับไม่ค่อยมีใครพูดอย่างตรงไปตรงมา
5.3 เรื่อง free TV ทุกช่อง ไม่ได้เสนอข่าววิเคราะห์เจาะลึกรอบด้านเกี่ยวกับความขัดแย้งในบ้านเมืองนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ free TV ไม่ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเลย ไม่ได้ทำให้ประชาชนฉลาดขึ้นมาเลย และเป็นอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ ทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากไม่ได้รู้เรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ หรือรู้อย่างแผ่ว ๆ หรือบางคนที่มีตังค์ติดตั้ง cable TV ก็อาจจะดูเฉพาะช่องที่ตัวเองชอบดู ทำให้เราต้องมองอีกแง่นึงว่า นอกจากเราจะแบ่งคนเป็น ชอบทักษิณ/ไม่ชอบทักษิณ เราอาจจะต้องแบ่งอีกแบบหนึ่ง คือ คนรู้เรื่องการเมืองแบบใกล้ชิด/หรือรู้แบบห่าง ๆ และใครตอบผมได้ไหมว่า ที่รู้แบบห่าง ๆ นี้เป็นคนสักกี่ % ในประเทศนี้
5.4 เรื่องโกงการเลือกตั้ง ซื้อเสียง ใช้อำนาจของข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ หัวคะแนน กรรมการคุมหน่วยเลือกตั้ง เพื่อบีบบังคับหรือหว่านล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ให้ลงคะแนนอย่างเต็มใจ-ขืนใจ-หรือไม่สนใจ ก็ตาม ให้ผู้สมัครคนนั้นคนนี้ พรรคนั้นพรรคนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนโลกพูดถึงน้อยมาก เขาอาจจะไม่สนใจก็ได้ แต่เรื่องนี้ที่เขาไม่สนใจนี่แหละเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อ กปปส.กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยโกงการเลือกตั้ง แล้วพรรคอื่นล่ะไม่โกงหรือไง? หรือถ้าเราพูดเลยไปว่า การที่ประชาชนยอมรับพรรคเพื่อไทยทั้ง ๆ ที่พรรคเพื่อไทยโกง แสดงว่า พรรคเพื่อไทยต้องมีอะไรดีกว่าพรรคอื่น คนจึงเลือกทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโกง? แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ เรากำลังจะยอมรับว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาการโกงเลือกตั้งในเมืองไทย และต้องยอมให้มันคงอยู่ เรากำลังจะยอมรับเช่นนี้ใช่ไหม? และนี่อาจจะเป็นเรื่องลึกเกินไปที่สื่อมวลชนโลกจะรู้
5.5 ผมมาถึงข้อสรุปว่า การที่สื่อตะวันตกรายงานอย่างนั้นอย่างนี้เกี่ยวกับประเทศนั้นประเทศนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และชอบอ้างหลักการประชาธิปไตยอย่างนั้นอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลประเทศเขา และจริง ๆ แล้วรัฐบาลพวกนี้ก็มือถือสากปากถือศีล สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆตามที่เขาชอบเทศนา แต่เขาต้องการรัฐบาลที่เชื่อฟังและอำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศของเขา เขาอาจจะต้องการให้เมืองไทยสงบ แต่สงบเพื่อเขาจะได้อาศัยเมืองไทยเป็นฐานการผลิตที่สร้างกำไร ที่เขาจะได้มากกว่าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตที่อื่น หรือสงบเพื่อได้ประโยชน์ด้านใดก็ตามที่เขาจะได้ แต่ความสงบที่เกิดขึ้นนี้แม้มันจะไม่ได้ขจัดสิ่งเลวร้ายในสังคมไทย เขาก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่หรอก นี่ผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่านะ
ผมไม่แน่ใจ และไม่รู้ตัวเลข แต่ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้คนไทยซื้อหนังสือพิมพ์อ่านน้อยลง และเว็บข่าวก็ไม่ใช่แหล่งเดียวที่คนไทยพึ่งพิงเรื่องข่าว ด้วยเทคโนโลยีของ social media ทำให้คนไทยพึ่งพิงแหล่งข่าวจากเพื่อนฝูงพี่น้องของตัวเองมากขึ้น ผมเดาว่าสื่อมวลชนไทยถ้าไม่เสนอความจริงที่ครบด้านจริง ๆ ก็รอวันเจ๊งได้ และสื่อมวลชนโลกก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ในอนาคตเมื่อคนในภูมิภาคเดียวกัน (เช่น อาเซียน) หรือต่างภูมิภาคไปมาหาสู่กันมากขึ้น คนในโลกก็จะใช้ social media ข้ามประเทศมากขึ้น และสื่อมวลชนดัง ๆ ที่ผิดศีลข้อ 4 ทั้งหลายในโลกนี้ ก็รอวันเจ๊งเช่นกัน นี่ผมมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เรียนภาษาอังกฤษ ตัว D-difficult มาก่อนตัว E-easy และตัว F-funny
สวัสดีครับ
ผมไม่ทราบว่า มีโรคนี้อยู่หรือเปล่า คือโรคกลัวภาษาอังกฤษ ถ้ามี คนไทยอาจจะเป็นกันไม่มาก แต่ก็คงจะเป็นกันไม่น้อยแน่ ๆ
ท่านอาจจะเถียงว่าไม่จริง อย่างคนรุ่นใหม่สนใจภาษาอังกฤษกันจะตาย อันนี้ผมก็ไม่เถียง สนใจนั้นสนใจอยู่หรอก แต่ก็สนใจแบบกลัว ๆ ถ้าท่านเถียงว่าคนไทยไม่กลัวภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ครูคริสโตเฟอร์ ไรท์, ครูอดัม, ครูแอนดรูว์ บิกส์ เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ หรือออกทีวีหรือออกคลิป มีคนเข้าไปเรียนเยอะแยะ
ผมขอถามหน่อยเถอะครับว่า ถ้าครูเหล่านี้พูดภาษาไทยไม่ได้เลยและฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องด้วย แกจะ popular เหมือนที่เป็นอยู่ไหม ผมรู้มาว่าฝรั่งที่เป็นครูสอนพูดภาษาอังกฤษในโรงเรียนสอนภาษา หลายคนอยู่เมืองไทยมานานและพูดภาษาไทยได้ และตอนสอนก็ต้องมีภาษาไทยปนออกไปบ้าง ไม่อย่างนั้นคนไทยผู้เรียนไม่รู้เรื่อง หรือไม่พยายามให้มากพอที่จะรู้เรื่องเป็นภาษาอังกฤษ หรืออย่างน้อยก็ไม่ชอบที่ฝรั่งพูดไทยได้แต่ไม่ยอมพูด
นี่ไงครับที่ผมสรุปว่า คนไทยเป็นโรคกลัวหรือเกลียดภาษาอังกฤษ และโรคนี้แหละครับที่ทำให้คนไทยแย่เรื่องภาษาอังกฤษ เมื่อจะเรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่ง- ฝรั่งคนนั้นก็ต้องพูดภาษาไทยได้, เมื่อจะเรียนภาษาอังกฤษผ่านเว็บ- เว็บนั้นก็ต้องอธิบายเป็นภาษาไทย
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมทำลิงค์ 2 ลิงค์ นี้ ท่านดูสถิติก็จะเห็นอย่างที่ผมพูด
- ลิงค์ที่ 1:Top 100 English-Study Websites มีจำนวน Hits หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่คลิกเข้าไปดู จำนวน 6,800
- ลิงค์ที่ 2: รวมเว็บไทยสอนภาษาอังกฤษ ที่ผมคัดเลือกแล้ว มีจำนวน Hits มากถึง 84,000 คือมากกว่าลิงค์แรกเกิน 10 เท่า
สรุปอีกทีก็คือ ถ้าครูฝรั่งสอนภาษาอังกฤษแต่พูดไทยไม่ได้ คนไทยก็ไม่คบ และเว็บฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ ต่อให้ดีปานใด คนไทยก็ไม่คบเช่นกัน
และจุดนี้แหละครับที่ผมเห็นว่า ทำให้หลายประเทศในโลกนี้ต่างกัน เรื่องโอกาสในการพัฒนาทางการศึกษา
ถ้าเราเข้าไปดูรายชื่อของประเทศกำลังพัฒนา หรือ Developing country คลิก ซึ่งในอาเซียน 10 ประเทศนี้ มีเพียง 3 ประเทศที่ติดป้ายประเทศพัฒนาแล้ว คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ส่วนอีก 7 ประเทศยังกำลังพัฒนาอยู่หรือด้อยพัฒนานั่นเอง ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ลาว,กัมพูชา และ เมียนมาร์ ผมกำลังกังวลใจอยู่ว่า ใน 7 ประเทศนี้ ประเทศที่มีจำนวนคนซึ่งเป็นโรคกลัวภาษาอังกฤษมากที่สุดก็คือ ประเทศไทย หรือ Thailand นี่แหละครับ และโรคนี้แหละ ที่จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยหรือประเทศไทย เดินไปข้างหน้าได้ช้ากว่าอีก 6 ประเทศในอาเซียนด้วยกัน
ที่พูดมายืดยาวทั้งหมดนี้ เป็นการชักนำเข้าสู่บทเรียนครับ โดยบทเรียนในวันนี้ก็คือ ให้ทุกท่านที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เข้าไปใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษบ้าง มันอ่านจะอ่านยาก ฟังยาก เข้าใจยาก ในตอนแรก แต่ถ้าเราลุยไม่เลิก ยากก็จะค่อย ๆ กลายเป็นง่าย
ท่านคิดอย่างนี้แล้วกันครับ เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษ เราก็เปิด Dictionary ซึ่งตัว D (Difficult) มาก่อนตัว E (Easy) เราไม่ได้เปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งตัว ง (ง่าย) มาก่อน ตัว ย (ยาก) เพราะฉะนั้น เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษกับเว็บฝรั่ง และเจออะไรที่มัน Difficult ก่อน มันก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะบทเรียนที่เจอมันจะ Difficult ก่อน Easy เสมอ แต่มันจะ Difficult อยู่ไม่นานหรอกครับ เพราะตัว E มันตามหลังตัว D มาติด ๆ
วันนี้วันหยุด วันเบา ๆ ผมขอนำบทเรียนจากเว็บฝรั่งมาฝากนิดหน่อยครับ
เว็บที่ 1: เขาให้เราคลิกฟังคำศัพท์ 1 คำ, และพิมพ์คำนั้นลงไป, เสร็จแล้วคลิกดูเฉลยว่าถูกไหม เว็บนี้ได้ฝึกฟัง, ฝึกพูดตาม, ฝึกพิมพ์สะกดคำ, และทบทวนศัพท์เก่า, รู้ศัพท์ใหม่, โดยมากเป็นคำพื้นฐานทั้งนั้นครับ
http://www.learnenglishfeelgood.com/listening/index.html
เว็บที่ 2: ยากขึ้นมาหน่อย ในแต่ละเรื่อง ลิงค์แรกให้เราคลิกฟังและอ่าน, ส่วนลิงค์ที่สอง ให้เราคลิกฟังและพิมพ์เติมคำในช่องว่าง (คลิก Play/pause), และคลิกดูคะแนนและเฉลย
http://www.agendaweb.org/listening/intermediate.html
http://www.agendaweb.org/listening/intermediate-2.html
http://www.agendaweb.org/listening/upperintermediate.html
http://www.agendaweb.org/listening/advanced.html
ถ้าบทเรียนนี้ยังไม่ถูกใจ ก็คลิกเข้าไปเลือกเองแล้วกันครับ มีอีกมากมายมหาศาล
ที่นี่: Top 100 English-Study Websites
อย่าลืมนะครับว่า Difficult มาก่อน Easy แต่ Easy ก็ตามหลัง Difficult มาติด ๆ ขอเพียงเราลุยไม่เลิก เราก็จะเจอกับตัว E และตามด้วยตัว F คือ Fun หรือ Funny ที่เราบางคนไม่รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก หรือ Funny ก็เพราะเราอยู่กับภาษาอังกฤษน้อยเกินไป คืออยู่แค่ตัว D แต่ถ้าเราคลุกและขลุกอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ เจอตัว E และตัว F มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2,000 คำ ของ Longman Dictionary มีเสียง mp3 ให้คลิกฟังแล้วครับ
สวัสดีครับ
ศัพท์พื้นฐาน อังกฤษ พร้อมคำแปลภาษาไทย ซึ่งผมให้ไว้ที่ลิงค์นี้
ศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2,000 คำ ของ Longman Dictionary
ได้รับความนิยมมากที่สุดลิงค์หนึ่ง มีจำนวน Hits กว่า 120,000
วันนี้ ผมได้นำเสียงอ่านจาก Oxford Dictionary มาลงไว้ให้ท่านได้คลิกฟัง และฝึกออกเสียงพูดตาม เสียงนี้เป็นเสียงคนจริง ๆ ไม่ใช่เสียงสังเคราะห์ จึงน่าฟัง
ผมจะค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ คงจะต้องใช้เวลาหลายวันหน่อย ท่านที่สนใจก็แวะเข้ามาดูเรื่อย ๆ แล้วกันครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับคลิป (อีกครั้ง)
สวัสดีครับ
ตอนที่ผมข้ามชายแดนไทยไปเที่ยวลาว เขมร พม่า และสามารถพูดภาษาไทยกับคนขายของที่ระลึกฝั่งโน้น เมื่อถามว่าทำไมพูดไทยได้ชัดและคล่องจัง คำตอบที่ได้มักจะเหมือนกันคือ ดูทีวีไทย และช่องที่เขาชอบดูคือช่องละครและเคเบิ้ลทีวีการเมือง
เรื่องนี้ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า นอกจากสิ่งที่นักการศึกษาไทยกำลังปวดหัวขบคิดหรือทำวิจัยหลายเรื่องเพื่อหาวิธีทำให้คนไทยเก่งภาษาอังกฤษ เรื่องง่าย ๆ ที่น่าจะทำได้ก่อนคือ ทำ free TV 24 ชั่วโมง ขึ้นมาสัก 2 ช่อง, ช่องแรกเป็นช่องเบา ๆ เช่น พวกละคร, วาไรตี้โชว์ ฯลฯ, ช่องที่สองหนักหน่อย เป็นพวกข่าว สารคดี ความรู้ ฯลฯ และทั้ง 2 ช่องนี้ให้เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ห้ามมีภาษาไทยแทรก รวมทั้งห้ามมี subtitle ไทย ส่วนเนื้อหาของรายการถ้าทำเองมันแพงนัก ในช่วงแรกจะนำมาจากเมืองนอกก่อนก็ได้ โดยคัดเลือกที่เหมาะสมกับคนไทย เพียงเท่านี้ผมเชื่อว่าภาษาอังกฤษของคนไทยจะดีขึ้นผิดดูผิดตา ก็ทีลาว เขมร พม่า เขายังพูดภาษาไทยได้เพราะดูทีวีภาษาไทย ทำไมเราคนไทยจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เพราะดูทีวีภาษาอังกฤษ ขอเพียงให้มีรายการที่สนุกและน่าสนใจดูทุกวันโดยไม่ต้องเสียเงินเท่านั้นแหละ
แต่ ณ ปัจจุบันซึ่งยังไม่มีทีวีอย่างที่ว่านี้ สิ่งที่คล้ายทีวีซึ่งหาได้ในเน็ตก็คือ Internet TVและคลิปต่าง ๆ ซึ่งหาได้มากมาย ในเว็บ e4thai ก็ได้รวมไว้ที่ลิงค์นี้ Watching
สำหรับคลิปสอนภาษาอังกฤษที่เราจะดูเพื่อฝึกพูด เราก็ต้องเลือกอยู่สักหน่อย เพราะหลายคลิปเขาไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายให้เราฝึกพูด เช่น เขากะจะสอนเรื่องศัพท์, เรื่องแกรมมาร์, เรื่องการเขียน การฟัง เทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษ หรือให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นต้น
แต่แม้ว่าจะเป็นคลิปที่เขาทำขึ้นมาเพื่อมุ่งสอนเรื่องการพูดภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ผมก็ยังมีข้อสังเกตอยู่ 2 – 3 อย่าง คือ
[1] การฟังและพูดต้องไปด้วยกัน – และถ้าในคลิปเขาไม่ได้เว้นช่องในคนดูฝึกพูดตามคำศัพท์-วลี-ประโยค อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เราเองซึ่งเป็นคนดูคลิป ขณะที่ฟังจะต้องจ้องหาช่องพูด, คือถ้าไม่มีช่องว่างให้พูดตาม ก็ให้ฝึกพูดแทรก-พูดซ้อนไปเลย ถ้าขืนดูเงียบ ๆ เอาแต่ฟังไม่ยอมขยับปาก ต่อให้คลิปดีวิเศษปานใดก็ช่วยให้เราพูดไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมพูด
[2] การฝึกพูดกับคลิป ต้องฝึกซ้ำ ๆ คือทั้งฟังซ้ำและพูดซ้ำ เพราะฉะนั้นปุ่มพวกนี้ก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ คือ play, pause(และพูดตาม), forward, backward, replay
ผมพยายามเข้าไปหาดูว่า มีคลิปอะไรบ้างที่เขาทำขึ้นมาเพื่อมุ่งให้เราฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ เพื่อคัดมาให้ท่านผู้อ่านได้คลิกฝึกพูด เมื่อหาอยู่พักใหญ่ผมก็ได้ข้อสรุปว่า มันยากที่จะได้คลิปใดคลิปหนึ่งที่เหมาะกับทุกคน เพราะอะไรหรือครับ? ก็เพราะว่า...เราแต่ละคนมีความชอบหรือทักษะต้นทุนที่ต่างกัน คลิปที่คล้ายกางเกงในขนาดฟรีไซส์ที่ทุกคนสวมได้พอดีจึงไม่มี เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงต้องหาคลิปที่เหมาะใจให้เจอเอง
ตัวผมเองก็พยายามหาว่าคลิปใดที่มันเหมาะใจผม ก็หาเจออยู่ครับ แต่ก็ได้ค้นพบความจริงว่า แม้คลิปจะถูกใจปานใดก็ป้องกันความเบื่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิธีแก้เบื่อก็คือ ต้องหาคลิปที่ชอบหลาย ๆ คลิป (หลาย ๆ playlist) เก็บตุนเป็นสต็อกไว้ใน Favorites หรือ Bookmarks เมื่อฝึกกับคลิปหนึ่งนานพอสมควรและเบื่อจะได้สามารถเปลี่ยนไปคลิกคลิปอื่นได้
ข้างล่างนี้ เป็นคลิปที่ผมพิจารณาดูแล้วเห็นว่า เขาทำขึ้นมาเพื่อให้เราฝึกเรื่อง conversation โดยเฉพาะ มันอาจจะไม่สนุกสุด ๆ แต่มันช่วยฝึกเรื่องการพูดได้ดีกว่าหลายคลิปที่ดูสนุก แต่เราก็ไม่ได้ฝึกพูดขณะที่ดู
[1] Learn English with Jennifer and Natasha (เตยแนะนำไปครั้งหนึ่งแล้ว)
http://www.youtube.com/watch?v=AzES-nhQFzk&list=PL0A0C8CFFE9712B76
[2] podEnglish
http://www.youtube.com/watch?v=nTSl4DuwJVk&list=PLECDB3ECC0AF0E938
[3] BBC - Follow Me
ระดับ Beginner: http://www.youtube.com/playlist?list=PL70F6210C1188F1A9
ระดับ Intermediate: http://www.youtube.com/playlist?list=PL3556A01F48BFC500
ระดับ Advanced:http://www.youtube.com/playlist?list=PL032D452587E7C33F
[4] English for You
English for You - Lowest Level โดย Molly Stone
http://www.youtube.com/watch?v=IeaadwctbD4&list=PLAie3YzOYRmley8mMYy1s9XuZYVxW1Ot7
English for You - – Elementary Level โดย Nicole Jones
http://www.youtube.com/watch?v=tLS1iOol8QM&list=PLAie3YzOYRmlNFK7bE7_WppF7QCcOrQ0M
English for You – Intermediate Level โดย Christopher O’Connell
http://www.youtube.com/watch?v=VHBma-tvR-g&list=PLAie3YzOYRmkIuEDUwyNmx1THFI7ouQHZ
ส่วนเว็บข้างล่างนี้ รวมหลายอย่างไว้ด้วยกัน ท่านต้องเลือกเอาเอง
http://www.spokenenglishcourse.net/
http://englishglobalgroup.com/english-conversation.htm
เว็บวีดิโอล้วน ๆ สอนภาษาอังกฤษ
เรียนภาษาอังกฤษ กับ drama 4 เรื่อง
♥ก่อนจบผมอยากจะบอกว่า เราเคยเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าการจะทำอะไรได้สำเร็จต้องมีอิทธิบาท 4 วันนี้ผมมานั่งถามตัวเองว่า ในการฝึกภาษาอังกฤษ อิทธิบาททั้ง 4 ข้อนี้ ข้อใดสำคัญที่สุด คือ
ฉันทะ – ใช้หัวใจ ทำงาน
วิริยะ – ในการเรียนภาษาอังกฤษ ใช้อวัยวะทั้ง 4 อย่างทำงาน คือ ตา (อ่าน), หู (ฟัง), ปาก (พูด), และ มือ (เขียน)
จิตตะ – ใช้ความนิ่งของใจและสมองทำงาน
วิมังสา – ใช้สมองทำงาน
ณ วันนี้ โดยส่วนตัวผมได้ข้อสรุปแล้วว่า วิริยะ สำคัญที่สุด แต่ถ้าท่านเปิดหนังสือพจนานุกรม ท่านจะเห็นว่า คำว่า วิริยะ อยู่หลังสุดท้ายเล่ม ... มันอยู่หลังสุด แต่ว่าถ้าท่านไม่มีมันหรือมีน้อยเกินไป มันสำคัญที่สุด ครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
More Articles...
- noun + preposition และ เมื่อฝึกอังกฤษต้องหัดสังเกต
- 4 เรื่องที่ไวยากรณ์ไทยไม่เหมือนกับ English grammar
- เว็บที่ webmaster ไทยสามารถใช้เป็นวัตถุสำหรับเขียนบทความตอบปัญหาภาษาอังกฤษ
- You are what you eat. - You learn what you read.
- รู้แต่ไม่ทำ อยากแต่ไม่พยายาม กลัวแต่ไม่ป้องกัน ก็ไร้ประโยชน์
- แนะนำ เว็บไซต์ของ อ.ยุทธนา เลาหะวิสุทธ์ อีกครั้ง
- ขอให้ทุกท่านมีความสุขสดชื่นในวันสงกรานต์
- แนะนำ search box ดิก Oxford ที่คอลัมน์ซ้ายมือของ เว็บ e4thai.com
- แนะนำ search box ดิก Longdo ที่คอลัมน์ซ้ายมือของ เว็บ e4thai.com
- ขอลางาน 9 - 20 มีนาฯ ครับ
- ขอลางานตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2557
- ถาม – ตอบ การเมืองไทย ภาษาไทย – ภาษาอังกฤษ
- ภาษาอังกฤษเรื่องที่ท่านอย่าอ่าน และต้องอ่าน
- คำพูดของ "กามนิต" เนื่องในวันวาเลนไทน์
- คำขอร้องของ “คนบ้าดิก”
- เรียนภาษาอังกฤษแบบคนไม่มีเวลาและขี้เกียจเรียน
- CEK – จะเก่งอังกฤษ, พูดคล่อง ต้องฝึกที่กาย วาจา ใจ
- ฟิตการพูดด้วยการอ่าน Longman Mini-Dictionary ทั้งเล่ม 35 หน้าให้จบภายใน 1 เดือน
- ขอลางาน
- ความคิดเห็นต่อการประท้วงในเมืองไทย