Home
ขอความกรุณาช่วยหาเว็บ “คำศัพท์สับสน” ให้ผมหน่อยครับ
สวัสดีครับ
คำศัพท์น่าจะเป็นหน่วยย่อยสุดของการเรียนภาษา
- เมื่อรู้คำศัพท์ และเอาศัพท์หลายคำมารวมกัน กลายเป็นวลี
- หลายวลีรวมกัน กลายเป็นประโยค
- หลายประโยครวมกัน กลายเป็นย่อหน้า กลายเป็นหน้า กลายเป็นบท กลายเป็นหนังสือทั้งเล่ม
ทุกอย่างจึงเริ่มต้นที่คำศัพท์เป็นคำ ๆ
ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีศัพท์มากมายนับไม่ถ้วน สำหรับคนต่างชาติ ศัพท์เป็นเรื่องหนึ่งที่ชวนงง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำคู่หรือกลุ่มคำที่คล้ายกัน
- spelling คล้ายกัน, เช่น desert(ทะเลทราย) – dessert(ของหวาน)
- pronunciation คล้ายกัน, เช่น heaven(สวรรค์) – haven(ที่หลบภัย)
- definition/meaning คล้ายกัน, เช่น affect (เป็น V=มีผลต่อ) – effect(เป็น V=ก่อให้เกิด)
- grammar คล้ายกัน หรือต่างกันไปเลย, เช่น advise(เป็น V=แนะนำ) – advice(เป็น N=คำแนะนำ,ข้อเสนอ)
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ชวนงงทั้งสิ้น
ฝรั่งเองเขาก็คงจะรู้ปัญหานี้ จึงมีเว็บไซต์มากมายที่อธิบายให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ซึ่งในเว็บนี้ผมได้รวบรวมบางเว็บไว้ที่บทความนี้
และผมก็พยายามหาเว็บไทยที่อธิบายเรื่องนี้เป็นภาษาไทย แต่ก็หาได้น้อยมาก ข้างล่างนี้
- http://writer.dek-d.com/BOBTOIZ/story/view.php?id=514610
- http://www.tellmemoreclub.com/ศัพท์อังกฤษ-10-คู่ที่สับส/
- http://www.l3nr.org/posts/506503
- http://tinyurl.com/l6rztrk (เกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ)
- http://www.dailyenglish.in.th/category/vocabulary/confusing-words/
ส่วนลิงค์ข้างล่างนี้ คุณ Rangrunya ช่วยหาให้เพิ่มเติม ขอบคุณมากครับ
เว็บไทย
- http://www.amornie.com/?p=confusedwords
- http://tinyurl.com/ls3w459http://tinyurl.com/kuvcgk5
- http://benxlr8.exteen.com/20090814/entry
- http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=96678
เว็บอังกฤษ
- http://www.vocabulary.com/articles/chooseyourwords/abhorrent-aberrant/
- http://www.perfectyourenglish.com/vocabulary/confusing-words-similar-sound.htm
- http://www.davidappleyard.com/english/vocabulary.htm
- http://www.alphadictionary.com/articles/confused_words.html
- http://www.gingersoftware.com/english-online/spelling-book/confusing-words/
- http://www.bristol.ac.uk/arts/exercises/grammar/grammar_tutorial/page_20.htm
- http://www.learnenglish.de/mistakes/CommonMistakes.html
- http://grammar.ccc.commnet.edu/grammar/notorious.htm
จึงอยากจะเรียนขอร้องในที่นี้ว่า ถ้าท่านพบเว็บไทย, Facebook ไทย, บล็อกไทย, ที่อธิบายการใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่งงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่เป็นประโยชน์มาก คือ นำคำศัพท์คู่หนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง มาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนหรือความต่าง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและใช้เป็น ถ้าท่านเจอ web-Facebook-blog แบบนี้ ขอความกรุณาช่วยแจ้งด้วยนะครับ ผมอยากจะรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้กับเว็บไทย ได้เข้าไปใช้งานโดยสะดวก
ตอนแจ้งผม ก็ทำง่าย ๆ ครับ เพียงเขียน comment ไว้ที่ท้ายบทความใดก็ได้ของเว็บนี้ โดย copy+paste URL ของลิงค์หรือเว็บที่ท่านเจอ ไว้ที่นั่น แล้วผมจะรวบรวมเอง
รบกวนด้วยนะครับ ขอบพระคุณมากครับ
พิพัฒน์
จำภาษาโต้ตอบจาก story – จำภาษาเล่าเรื่องจาก news
สวัสดีครับ
หลายท่านที่ฟิตภาษาอังกฤษ ได้ตั้งเป้าว่าต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้ ในเว็บนี้ได้รวบรวมแหล่งการฝึกพูดไว้ที่ลิงค์นี้:[Speaking] หรือท่านที่เริ่มต้นฝึก จะไปที่นี่ก็ได้ครับ:[ฝึก ฟัง – พูด ภาษาอังกฤษ ทีละคำ ทีละประโยค ]
โดยทั่วไป คนที่รับภาษาอังกฤษไว้เยอะจากการอ่านและฟัง พอถึงเวลาที่จะนำออกใช้โดยการเขียนและพูด ก็มักไม่ยากนัก เพราะได้สะสมวัตถุดิบไว้เยอะแล้ว
และโดยทั่วไปเมื่อเราพูด ก็พูดอยู่ 2 แบบ คือ
- สองฝ่ายพูดโต้ตอบกัน หรือ dialogue
- พูดอยู่ฝ่ายเดียวนานสักหน่อย เรียกว่า เล่าเรื่อง
เฉพาะในเรื่องของการอ่าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการพูด ผมมีความเห็น ดังนี้
- การอ่านนิยาย หรือ story ซึ่งมีบทสนทนาเยอะ เราจะได้เห็น style การพูดจา ซึ่งเราสามารถจดจำมาใช้พูดโต้ตอบได้
- การอ่านข่าว หรือ news ซึ่งเป็นการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มารายงานหรือเล่าต่อ จะช่วยให้เราเห็น style การเล่าเรื่อง ซึ่งเราสามารถจดจำมาใช้พูดเล่าเรื่องราว ขณะที่สนทนาได้
การเล่าเรื่องใน style ข่าว เป็นสิ่งที่น่าใส่ใจศึกษา เพื่อนำมาปรับใช้ในการเล่าเรื่องเมื่อเราพูดสนทนา เพราะอะไรหรือครับ? ก็เพราะการรายงานข่าว ต้องเขียนให้ชัดเจน เขียนเรื่องยาวให้สามารถจบสั้น ๆ, เขียนเรื่องซับซ้อนยอกย้อนให้เข้าใจง่าย ๆ, เขียนเรื่องเทคนิคโดยใช้ศัพท์ชาวบ้าน นี่คือเสน่ห์ของการเล่าเรื่องแบบสไตล์ข่าว
แต่เมื่อท่านอ่านข่าว เช่นจาก หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ท่านจะสังเกตได้ว่า เขาจะเขียนเป็นย่อหน้าสั้น ๆ โดยใน 1 ย่อหน้าจะมีใจความหลักเพียงใจความเดียว และตาม format การเขียนข่าวตามทฤษฎี เขาก็มักจะแจ้งว่าเนื้อหาในแต่ละย่อหน้า ใครเป็นคนพูดหรือให้ข่าว อย่างเช่น ข่าวการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดข่าวนี้ จะมีการแจ้งแหล่งข่าวแทบทุกย่อหน้า คลิกดู
แต่ทุกวันนี้ก็มีหลายสำนักข่าว ที่เขียนข่าวออกในแนวเล่าข่าว คือนำข่าวมาเล่า, โดยไม่ต้องแจ้งแหล่งข่าวทุกย่อหน้า, และแทรกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้คนอ่านเข้าใจข่าวได้ง่ายขึ้น
ข่าวลักษณะนี้ ที่ผมขอแนะนำเป็นพิเศษ มี 2 เว็บ คือ
เว็บที่ 1: Bangkok Post Learning
แต่ละข่าว มีให้ทั้งอ่านและฟัง, และที่ท้ายข่าว มีคำศัพท์พร้อมความหมายภาษาอังกฤษ และคำแปลไทยให้ไว้ด้วย
http://www.bangkokpost.com/learning/
- ระดับง่ายสุด:Really easy news
- ระดับกลาง:Easy news
- ระดับยากสุด:Learning from news
- รวมข่าว จาก Bangkok Post Learning จากล่าสุดย้อนไปในรอบ 1 เดือน คลิก
เว็บที่ 2: Learning English VOA News
ข่าวสำนักนี้มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ ใช้ศัพท์เพียงแค่ 1,500 คำ, มีให้ทั้งอ่านและฟัง, และที่ท้ายข่าว มีคำศัพท์พร้อมความหมายภาษาอังกฤษให้ดู
ที่เว็บนี้: http://learningenglish.voanews.com/
แบ่งออกเป็น 3 level ง่ายไปยาก ให้เราเลือกคลิกศึกษา
- ระดับง่ายสุด:Level One
- ระดับกลาง:Level Two
- ระดับยากสุด:Level Three
- รวมข่าว จาก Learning English VOA News เกี่ยวกับประเทศไทย จากล่าสุดย้อนไปในอดีต คลิก
และผมยังมีไฟล์ pdf มาให้พิเศษ เป็นนิตยสารข่าวเพื่อการฝึกอ่านภาษาอังกฤษ รายครึ่งเดือน ตั้งแต่ฉบับที่ 216 (6 กพ. 2014)ถึงฉบับที่ 238 (11 ธค. 2014)
และถ้าท่านต้องการดาวน์โหลดไฟล์ฉบับที่ล่ากว่านี้ ก็ให้ไปที่ http://englishtips.org/, Register, Log in, พิมพ์คำว่า newsademic และดาวน์โหลดไฟล์ฉบับใหม่กว่าที่ต้องการ
- คลิกดูตัวอย่าง ฉบับที่ 238 ซึ่งมีข่าวเกี่ยวกับวันที่ 5 ธันวาคม 2557 วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยด้วย คลิกอ่านตัวอย่าง 1 ฉบับ
คำแนะนำในบทความวันนี้อาจจะสั้นไปสักนิด แต่ผมอยากจะเรียนอย่างหนักแน่นว่า การอ่านข่าวมีประโยชน์มากต่อการพัฒนาความสามารถในการพูดเล่าเรื่อง อย่างที่เรียนไว้แต่ต้น คือ style ของข่าวที่เราอ่านบ่อย ๆ จะช่วยฝึกให้เราสามารถ เล่าเรื่องยาก ยาว ซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย ๆ โดยไม่ยืดเยื้อ และเว็บและไฟล์ที่ผมแนะนำในวันนี้ ก็เป็นเว็บข่าวคุณภาพดีที่สามารถช่วยท่านได้ในเรื่องนี้
ท่านผู้อ่านครับ บ่อยครั้งที่ผมสรุปบทความอย่างย่อหน้าข้างบน และได้รับคำถามกลับมาทันทีว่า จะให้ทำยังไงเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง ผมขอถามท่านว่า ถ้าท่านจะได้รับเงิน 1 ล้านบาทอย่างแน่ ๆ ถ้าท่านเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ ไปบรรลุอนุสาวรีย์ย่าโมที่โคราช พอไปถึงที่นั่นก็แสดงบัตรประชาชนและรับเงิน 1 ล้านบาทได้ทันที แต่มีข้อแม้ว่า ท่านห้ามเดินทางด้วยพาหนะทุกประเภท ต้องเดินทางด้วยเท้าของตัวเองเท่านั้น วันละ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และต้องเดินทุกวันห้ามหยุด ยกเว้นวันที่ล้มป่วยจริง ๆ หากท่านบอกว่า การเดินเท้าไปโคราชท่านทำไม่ได้ มันเหมือนกับให้ท่านบินไปดาวอังคาร แต่ผมบอกว่า แม้มันทำได้ยากเพราะเหนื่อยแต่มันก็ทำได้ เพราะมันมีทางให้เท้าเดินไปบนดิน ไม่เหมือนไปดาวอังคารซึ่งทำไม่ได้เพราะไม่มีปีกให้บินไปในอวกาศ
จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวันไม่หยุด หรือการเดินทุกวันด้วยเท้าไปโคราชไม่หยุด มันก็เหนื่อยทั้งนั้น แต่มันก็ทำได้ถ้าเราตั้งใจทำ แต่ประโยชน์ที่จะได้จากภาษาอังกฤษถ้าเราเข้าใจและใช้เป็นมันมีค่าประมาณไม่ได้, มันมากกว่าเงิน 1 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่ถ้าท่านบอกว่า ท่านอ่านไม่ได้ ท่านเดินไม่ได้ ท่านไม่มีเวลา ท่านไม่มีแรง ท่านไม่รู้เรื่อง มันยากเกินไป มันเหนื่อยเกินไป ไม่มีใครช่วย ไม่มีใครสอน ไม่มีใครพยุง อย่างนี้ก็แล้วแต่ท่านครับ เพราะชีวิตของท่าน-ท่านเป็นเจ้าของ
พิพัฒน์
สิ่งที่น่าจะทำได้ทันที เพื่อฉุดไทยไม่ให้เป็นประเทศบ๊วยเรื่องภาษาอังกฤษ
สวัสดีครับ
บ่อยครั้งเมื่อได้อ่านผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบทักษะภาษาอังกฤษของประเทศต่าง ๆ [เช่น บทความนี้] แล้วเจอว่าลำดับของไทยก็คล้าย ๆ เดิม คือใกล้ ๆ บ๊วย ผมจะมีความรู้สึก 3 อย่างปนกัน คือ ทำใจ แปลกใจ แต่ใฝ่ฝัน
ทำใจ คือ ชักจะปลงแล้วว่า หรือประเทศไทยมันจะได้แค่นี้
แปลกใจ ก็คือ งง เพราะจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศจน มีชื่อเสียงในเวทีโลกด้านนั้นด้านนี้ที่ดี ๆ หลายด้าน และดูเหมือนว่า หน่วยงานหรือคนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำให้คนไทยเก่งอังกฤษก็ทำงานหนัก แต่ทำเมืองไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศบ๊วย
แต่ 2 ความรู้สึกนี้ คือ ทำใจและแปลกใจ ก็แผ่วเบามาก เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกสุดท้ายที่หนักแน่น คือ ใฝ่ฝัน – ผมใฝ่ฝันว่า เมืองไทยและคนไทยจะก้าวไปข้างหน้า เพราะได้พัฒนาทักษะภาษาโลกภาษานี้ – คือ ภาษาอังกฤษ
ตามรายงานการศึกษา ปี 2014 ของบริษัททางการศึกษา EF ซึ่งสำรวจข้อมูลประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป กว่า 750,000 คน ใน 63 ประเทศทั่วโลกซึ่งภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ ตามผลที่ได้รับ เขาแบ่งทักษะภาษาอังกฤษของคนในประเทศเหล่านี้ออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่ดีที่สุดจนถึงแย่ที่สุด ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มแย่สุด หรือ very low proficiency ขอให้ท่านดูในแท่งสีส้มขวาสุด เมื่อคลิกภาพข้างล่างนี้
[ -เมื่อเปิดหน้าไฟล์ pdf แล้ว, ให้กด Control ค้างไว้, และกลิ้งล้อบนเมาส์ ไป-มา เพื่อเพิ่ม-ลด ขนาดตัวหนังสือให้เหมาะกับสายตาของท่าน - ] [ที่มา]
ผมติดใจ key word สั้น ๆ ล่างสุดในเอกสารนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 วลีนี้
- Defining English proficiency as a core competency.
- Developing assessment standards that evaluate effective communication.
คือ จากประสบการณ์การทำงานในหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ผมเคยเสนอว่า ควรจะมีการกำหนดให้การผ่านการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษเป็นแต้มพิเศษในการได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน หรือเป็นเกณฑ์บังคับในการได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง โดยเกณฑ์นี้อาจจะไม่ต้องสูงนักแต่ควรตั้งไว้ เป็นคล้าย ๆ วิชาบังคับที่นักศึกษาทุกคนต้องผ่าน แต่หน่วยกิตอาจจะไม่ต้องสูงนัก เช่น สัก 1 หรือ 2 หน่วยกิต
ข้อเสนอของผมถูกเมิน ผมเข้าใจว่า ข้าราชการทั้งรุ่นเก่าที่ใกล้วันเกษียณ และข้าราชการรุ่นใหม่ที่ไกลวันเกษียณบางคน ไม่อยากเหนื่อยเพราะต้องฟิตภาษาอังกฤษของตัวเองถ้าเกณฑ์เช่นนี้ถูกกำหนดออกมา
แต่ถึงแม้จะเจออย่างนี้ ผมก็ยังมีความใฝ่ฝันอันแรงกล้าว่าภาษาอังกฤษของคนไทยจะดีขึ้น และที่ยังคงทำเว็บไซต์นี้ ก็เพราะความใฝ่ฝันอันนี้แหละครับ
พิพัฒน์
หลายเรื่องเกี่ยวกับ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (+ชีวิต คุณจ้อน)
สวัสดีครับ
ด้วยความบังเอิญ ผมได้อ่านบทความเรื่อง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือในภาษาอังกฤษ คือ Motorcycle taxi จากเว็บ Wikipedia และรู้สึกว่าสนุก น่าสนใจดี จึงขอนำมาฝาก
บทความภาษาอังกฤษ http://en.wikipedia.org/wiki/Motorcycle_taxi
เขาพูดถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างในทั้งหมด 13 ประเทศ เฉพาะในอาเซียนก็มี 5 ประเทศ ได้แก่ Cambodia, Indonesia, Philippines, Thailand, และ Vietnam
สาเหตุที่ทำให้บริการนี้ได้รับความนิยมก็เพราะ เร็วและถูก แม้ว่าจะปลอดภัยน้อย และโดยทั่วไปเฉพาะคนขับเท่านั้นที่กฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน็อก คนนั่งไม่ใส่กฎหมายไม่ว่า ในบทความภาษาอังกฤษนี้เขาแนะนำว่า ก่อนใช้บริการให้ตกลงราคากันให้เรียบร้อยก่อน เพราะมันไม่ได้มีมิเตอร์เหมือนรถแท็กซี่
ผมอ่านเจอข้อมูลใหม่ 2 อย่าง คือ
♦ที่เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย มีกฎหมายออกใหม่ ห้ามมอเตอร์ไซค์รับจ้างรับผู้โดยสารหญิงที่ตั้งครรภ์และเด็ก
♦ในลอนดอน มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะมีที่ให้วางกระเป๋าถือของผู้โดยสารที่จะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินในประเทศ
บทความภาษาไทยก็มีครับ แต่มันสั้นนิดเดียว
http://th.wikipedia.org/wiki/มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
และวันนี้ผมมี 3 คลิปเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อ คุณเดชชาติ พวงเกต หรือคุณจ้อน ผู้ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขาพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง จนพูดได้คล่องแคล่ว และยังมีกิจกรรมในโลก social media อีกด้วย
เรื่องเล่าเช้านี้
ให้สัมภาษณ์ทีวีสิงคโปร์
DigiLife Talk - วินมอเตอร์ไซค์หัวใจไฮเทค กับชีวิตโซเชียล
และคุณจ้อนเขามีหน้า Facebook ด้วยครับ
https://www.facebook.com/motorcyrubjang/timeline
แถมยังมีคำแนะนำให้แก่ทุกท่านที่ชอบและสนใจเรียนภาษาอังกฤษแบบจริงๆจังๆ
https://www.facebook.com/motorcyrubjang/posts/264798907017210
ดูเรื่องราวการฝึกภาษาอังกฤษของคุณจ้อนแล้ว ท่านที่ท้อน่าจะเกิดกำลังใจบ้างนะครับ
พิพัฒน์
ทำไม“อิทธิบาท” ขาดไป เมื่อคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ
สวัสดีครับ
ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนเคยเรียนเรื่องอิทธิบาทมาแล้วว่า หากต้องการทำอะไรให้สำเร็จต้องมีอิทธิบาทในสิ่งที่ทำ คือ ฉันทะ –รักใคร่, วิริยะ – ขยัน, จิตตะ – ใฝ่ใจ และ วิมังสา – ใคร่ครวญ
ในฐานะที่เป็น webmaster เว็บ e4thai.com ซึ่งจัดหาวัสดุหรือเครื่องมือให้คนเข้าไปฟิตภาษาอังกฤษ ผมซึ้งแก่ใจดีว่า วัสดุหรือเครื่องมือต่อให้ดีวิเศษปานใด ก็ไร้ความหมายหากใจคนไม่มีอิทธิบาท
เนื่องจากผมคุ้นเคยกับวัสดุหรือเครื่องมือเหล่านี้มานาน จึงมีข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ
ข้อที่ 1 บริษัทที่ทำสื่อการเรียนภาษาอังกฤษพวกนี้ พยายามทำให้สื่อพวกนี้กระตุ้นคนเรียนให้มีอิทธิบาท และข้อที่ 2 สื่อพวกนี้ช่วยให้คนไม่ต้องมีอิทธิบาท
ฟังเผิน ๆ 2 ข้อนี้ขัดกัน แต่มันมิได้ขัดกัน เพราะมันอย่างนี้ครับ...
สื่อการเรียนภาษาอังกฤษทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ, e-book, เว็บ, ภาพ, CD, โปรแกรม, app, เกม, เพลง หรืออื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง เขาจะทำให้คนเรียนรู้สึกรักที่จะเรียนกับมัน รู้สึกเพลิน ตื่นเต้น ดึงดูดใจ สรุปก็คือทำให้คนเรียนมีความสุข และทุ่มใจให้การเรียน คนที่ไม่รักจะเรียนจะได้รัก, คนที่รักน้อยจะได้รักมาก นี่คือการสร้างและเพิ่มฉันทะ และเมื่อเริ่มมีฉันทะก็หวังว่าอิทธิบาทอีก 3 ตัวจะตามมา คือ ขยัน ใฝ่ใจ ใคร่ครวญ เพื่อช่วยให้การเรียนได้ผล
การพยายามทำให้คนเรียนภาษาอังกฤษมีอิทธิบาทนี้เป็นไปอย่างสุด ๆ และเมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เห็นว่า คนยุคใหม่จึงเคยชินกับเรื่องนี้มากเกินไป คือ พอจับอะไรขึ้นมาเรียน แม้รู้สึกว่าดีมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้สึกรักหรือไม่สนใจก็ไม่อยากทนเรียน คือถ้าใจไม่มีฉันทะและสื่อการเรียนก็ไม่สามารถกระตุ้นฉันทะให้เกิด ก็เลิกหวังไปเลยว่าอีก 3 ตัวจะเกิด คือ วิริยะ(ขยัน) จิตตะ(ใฝ่ใจ) และวิมังสา(ใคร่ครวญ)
ปรากฏการณ์เช่นนี้จะให้สรุปว่าอย่างไร? เพราะว่าไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม มันมีทั้งเรื่องน่าเรียนและไม่น่าเรียน, ทั้งเรื่องง่ายและยาก, ทั้งใช้เวลาน้อยก็รู้เรื่องและต้องใช้เวลานานจึงรู้เรื่อง, ทั้งจำง่ายและจำยาก ถ้าเรามีข้อแม้ว่าเราจะเรียนเฉพาะเรื่องที่น่าเรียน, เรื่องง่าย, เรื่องที่ใช้เวลาน้อย, จำง่าย, เข้าใจง่าย, ทำได้-ทำเป็นเร็ว ส่วนอะไรที่ตรงกันข้ามเราก็ไม่อยากเรียน ถ้าจะให้ยอมเรียน สื่อการเรียนจะต้องสามารถกระตุ้นให้ฉันอยากเรียน-ขยันเรียน-ใฝ่ใจเรียน ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ฉันก็ไม่อยากเรียน และพร้อมที่จะตำหนิหนังสือทุกเล่ม ครูทุกคน เว็บทุกเว็บ app ทุกตัว ฯลฯ ว่าไม่ได้เรื่อง
สถานการณ์จำลองที่ผมยกมาให้ฟังนี้มันอาจจะสุด ๆ เกินไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าหลายกรณีก็เป็นจริง เป็นจริงเอามาก ๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมคนไทยบางคนจึงเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องทั้ง ๆ ที่มีสื่อการเรียนที่ดีเลิศ
ที่พูดมานี้คือกรณีสุดขั้วของคนที่ขี้เกียจเรียนและล้มเหลวในเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งผมอยากจะเชื่อว่ามีน้อย
คราวนี้ผมขอพูดกรณีตรงกันข้ามบ้าง ซึ่งก็คือ คนที่ไม่ได้ล้มเหลวในการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเขารักที่จะเรียน(มีฉันทะ), ขยันเรียน(มีวิริยะ), และใคร่ครวญหาวิธีปรับปรุงการเรียนให้ดีขึ้นอยู่เสมอ(มีวิมังสา) แต่สิ่งที่ได้ยินก็คือ เขารู้สึกว่าภาษาอังกฤษยาก และเรียนไม่ได้ผลดีอย่างที่อยากได้ เขาเป็นทุกข์เพราะภาษาอังกฤษ และในที่นี้ ผมขอถามว่า ท่านอยู่ในกลุ่มนี้หรือเปล่าครับ?
ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ย่อหน้าข้างบนนี้ผมไม่ได้พูดถึงการใฝ่ใจหรือจิตตะ และผมกำลังจะบอกว่า การขาดจิตตะนี่แหละครับ คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยเรียนภาษาอังกฤษอย่างได้ผลน้อยเกินไปและเป็นทุกข์มากเกินไป ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมขอสาธยายอย่างนี้ครับ
ในจำนวนผู้รู้ที่ให้ความหมายของคำว่าจิตตะได้อย่างวิเศษและเป็นประโยชน์ที่สุด ในความเห็นของผมก็คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ โดยท่านบอกว่า
จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
http://www.buddhadasa.com/rightstudydham/itibath4.html
วรรคทองของคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ คำว่าจิตตะนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
ตามการตีความของผมก็คือ การที่เราคนไทยบางคนเรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ผลและเรียนอย่างคนอมทุกข์ก็เพราะขาดจิตตะหรือขาดสมาธินั่นเอง
ขาดสมาธิแปลว่าอะไร แปลอย่างตรงเด๊ะไม่ต้องอ้อมค้อมก็คือ ณ ชั่วโมงหรือนาทีที่ฟิตภาษาอังกฤษนั้นถูก“นิวรณ์” ครอบงำ ทำให้ขาดสมาธิ
นิวรณ์มี 5 ตัว, แต่ละตัวเป็นภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่องทั้งนั้น และเรื่องนิวรณ์นี้เรามักได้ยินพระท่านพูดถึงคนที่ปฏิบัติธรรมทำความเพียรอย่าง serious เพื่อบรรลุนิพพานให้ได้, พอโดนนิวรณ์ขวางทาง ก็เลยติดแหงก ไปต่อไม่ได้ แต่ผมกำลังจะบอกว่า นิวรณ์แม้เป็นคำพระ แต่มันก็เกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบ้านที่จะฟิตภาษาอังกฤษอย่างยิ่ง ท่านทนฟังผมสาธยายสักหน่อยแล้วกันนะครับ
ตามพจนานุกรม นิวรณ์แปลว่า
“สิ่งห้ามกันจิตไว้มิให้บรรลุความดี มี 5 ประการ คือ ความพอใจ รักใคร่, ความพยาบาท, ความง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ, ความลังเลใจ”
อ่านดูแล้วก็งงว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคนที่จะฟิตภาษาอังกฤษด้วยล่ะ?
มันเกี่ยวข้องก็เพราะว่า ใจที่ใช้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมีอิทธิบาท 4 ตัวนั้น ผมรู้สึกว่า คนไทยที่ตั้งใจจริง มักจะมีแค่ 3 ตัว คือ มีฉันทะ-รักเรียน, มีวิริยะ-ขยันเรียน, มีวิมังสา-ใคร่ครวญเรียน, ส่วนจิตตะนั้น คนไทยมีแค่ใฝ่ใจแต่ไม่มีสมาธิ และเมื่อมองไปยังสื่อการเรียนสารพัดประเภทที่ผมพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เว็บ app โปรแกรม ฯลฯ ก็มักช่วยได้แค่กระตุ้นให้คนไทยรักเรียน ขยันเรียน ใคร่ครวญปรับปรุงการเรียนภาษาอังกฤษ แต่หมดหรือด้อยความสามารถที่จะช่วยให้คนไทยมีสมาธิในการเรียนภาษาอังกฤษ การฟิตภาษาอังกฤษของคนไทยจึงได้ผลน้อย และคนฟิตก็ฟิตอย่างคนอมทุกข์
อาการเรียนภาษาอังกฤษโดยขาดจิตตะ ไร้สมาธิ แต่ถูกนิวรณ์ครอบงำ เป็นอย่างไร? มันก็คืออาการที่ยอมให้ความอยากชักจูงใจมากเกินไป ฟังเผิน ๆ น่าจะดีและนำไปสู่ความสำเร็จ แต่เอาเข้าจริงกลับเสียและนำไปสู่ความล้มเหลว ผมขอว่าไปทีละตัวเลยนะครับ
นิวรณ์ตัวที่ 1 ความพอใจ รักใคร่ อยากรู้เรื่องเร็ว อ่านปุ๊บเข้าใจปั๊บ ฟังเข้าใจทันที อยากเข้าใจได้เร็ว ๆ พูดได้ดังใจ เขียนได้ดังใจ คือใจร้อน เมื่อไม่ได้ดังใจก็ร้อนใจ และทรมานใจ และแก้ไขง่าย ๆ โดยไม่เรียน หรือเรียนอย่างทรมานใจถ้ายังมีฉันทะสูง
นิวรณ์ตัวที่ 2 ความพยาบาท ตัวนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้แค้นเล่นงานใคร แต่มันสืบเนื่องจากตัวที่ 1 คือเมื่ออ่านและฟังไม่เข้าใจ พูดและเขียนไม่ได้ หรือได้ไม่ดังใจ ก็โมโหโทโสตัวเอง หรือตำหนิ ต่อว่า ประณาม สิ่งภายนอกว่าไม่ได้เรื่อง หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษาอังกฤษของตัวเองแย่ เมื่อโกรธขึ้นมาอย่างนี้ก็ทรมานใจ และแก้ไขง่าย ๆ โดยไม่เรียน หรือเรียนอย่างทรมานใจถ้ายังมีวิริยะสูง
นิวรณ์ตัวที่ 3-4-5 คือ ความง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ, ความลังเลใจ 3 ตัวนี้อยู่ในตระกูลเดียวกัน พูดพร้อมกันเลยก็ได้, ความง่วงเหงาหาวนอน คือใจที่ฟุบ, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ คือใจที่ฟุ้ง, ส่วนความลังเลใจ คือใจที่เดี๋ยวฟุบเดี๋ยวฟุ้ง เอาแน่นอนไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราได้ยินบางคนพูดบ่อยว่า ภาษาอังกฤษของฉันไม่แข็งแรง แต่จริง ๆ แล้วน่าจะพูดว่า ฉันรักเรียน(มีฉันทะ)น้อย ฉันพยายาม(มีวิริยะ)น้อย แต่ฉันอยากเยอะ (โดยไม่ต้องพยายามมาก) และเมื่อไม่ได้ดังใจ พอลงมือศึกษาหรืออ่านหนังสือ ใจก็จะฟุ้งเพราะอยากได้ และจะฟุบเมื่อไม่ได้ และโลเล ทั้งหมดนี้เกิดจากอยากเยอะแต่ไม่สมอยาก นี่คืออาการของใจที่ขี้เกียจไม่อยากออกแรงเยอะ
เมื่อใจขาดจิตตะ อยากเยอะ พยายามน้อย ไม่นิ่ง เมื่อเรียนแล้วไม่เข้าใจ ไม่สมใจทันที ก็ไม่สงบ เอะอะโวยวายในใจอยู่เสมอ ปล่อยวางไม่ได้ รอไม่เป็น และไม่ใฝ่ใจต่อเนื่อง จึงยากที่ปาฏิหาริย์จะเกิด
นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวที่ทำให้ใจมีอาการดังที่ว่ามาข้างต้นนี้ ผมกวาดสายตาดูแล้ว มันไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของ นาย ก. นาย ข. นางสาว ค. นางสาว ง. แต่มันเป็นอาการหนักเหมือนคนฟื้นไข้ที่จับคนไทยทั่วประเทศที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ หรืออยากเก่งอังกฤษ แต่ก็เก่งไม่ได้ดังใจ
เมื่อผมเดินทางไปต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุม ดูงาน พบปะพูดคุยกับผู้คน มันอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบคนไทย เด็กไทย ในประเทศนี้กับประเทศเหล่านั้น และได้ข้อสรุปว่า เมืองไทยเรานี้มีทั้งโชคดีและโชคร้าย โชคดีที่เห็นชัดที่สุดก็คือ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของเราอุดมสมบูรณ์และน่าอยู่ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อากาศน่ารัก ไม่หนาวจัด ไม่ร้อนจัด ภัยธรรมชาติมีน้อย น้อยมาก หรือบางแห่งไม่มีเลย กษัตริย์พม่าในอดีตน่าจะชอบใจเมืองไทยจึงส่งกองทัพมาตีหวังยึด เราคนไทยก็พยายามปกป้องเพราะไม่อยากเสียผืนแผ่นดินที่ให้ความสุขเช่นนี้แก่ใคร
หากเปลี่ยนมุมและมองความจริงในแง่ร้ายบ้าง ก็อาจจะได้ข้อสรุปว่า การที่เราไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายมาก ทำให้เมืองไทยมีวัฒนธรรมส่วนรวม และคนไทยมีนิสัยส่วนตัว ที่รักสนุก รักสันติ พูดคำว่า “ไม่เป็นไร” ได้ง่าย ๆ ยิ้มง่าย และไม่อยากดิ้นรนมาก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้า เช่นการเข้ามาของวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ฯลฯ การขยับปรับเปลี่ยนนิสัยส่วนตัว และวัฒนธรรมส่วนรวม เพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ เช่นขยับใจให้มีอิทธิบาทในการฟิตภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายชาติทำได้ง่าย แต่คนไทยทำได้ยากเพราะเราไม่คุ้นเคยที่จะทำ ทั้ง ๆ ที่มันถึงเวลานานแล้วที่เราควรทำ
นี่ผมพยายามมองในภาพรวมของความเป็นไปที่ทำให้เราคนไทยมีสภาพนิสัยเช่นทุกวันนี้ มันคงไม่ใช่ความผิดหรือความถูก แต่มันเป็นของมันอย่างนี้ คำถามก็คือ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนนิสัยในการศึกษาหรือไม่? และถ้าต้องเปลี่ยน เราจะยอมเปลี่ยนไหม?
ทุกวันนี้แต่ละประเทศคนละมุมโลกใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบคนแต่ละประเทศมากขึ้น ทุกท่านก็คงได้อ่านข่าวทั้งด้าน “ดี” และ “เสีย” ที่เกี่ยวกับประเทศไทยมาบ้าง
ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องแรกที่ตามตัวเลขบอกว่าเราค่อนข้างจะดี
[1] เรื่องความสุขในครัวเรือน (household happiness) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 36 จาก 156 ประเทศ (อันดับ 2 ในเขตอาเซียน รองจากสิงคโปร์)
http://englishnews.thaipbs.or.th/un-ranks-thailands-household-happiness-36th-world
[2] เรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากสูงสุดถึงต่ำสุด อยู่ในอันดับที่ 29 จาก 190 ประเทศ (ตัวเลข ธนาคารโลก ปี 2013)
http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_%28nominal%29
ส่วน 3 เรื่องนี้เราเสีย
[1] เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง (corruption) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศ
http://www.transparency.org/country#THA
[2] เรื่องประชาธิปไตย (democracy) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 65 จาก 115 ประเทศ
http://democracyranking.org/wordpress/?page_id=738
[3] เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (pollution) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 76 ประเทศ
http://www.numbeo.com/quality-of-life/rankings_by_country.jsp
และอันสุดท้ายที่ขอยกมาให้ดู คือ [4] เรื่องระดับทักษะภาษาอังกฤษ (English Proficiency) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 48 จาก 63 ประเทศ (ระดับ Very Low Proficiency)
http://en.wikipedia.org/wiki/EF_English_Proficiency_Index
ผมคุยกับฝรั่งใกล้บ้านที่ไป ๆ - มาๆ และอยู่ที่เมืองไทยกับออสเตรเลียอย่างละครึ่งปี เขาวิเคราะห์ว่า การที่กษัตริย์ไทยในอดีตเก่งทำให้เมืองไทยไม่ถูก colonize โดยพวกฝรั่งและรักษาเอกราชไว้ได้ ทำให้เมืองไทยไม่มีต้นทุนทางภาษาอังกฤษ และทำให้ทุกวันนี้เราเก่งสู้ประเทศอื่น ๆ มาได้ ผมไม่รู้ว่าฝรั่งคนนี้แกคิดเช่นนี้จริง ๆ หรือแกจำการวิเคราะห์ของคนอื่นมาพูดต่อ
แต่ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไร เราอาจจะตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมไทยบางอย่างที่ทำให้เราเสียนิสัย ก็ช่างมัน แต่ ณ นาทีนี้เมื่อเรารู้ตัว เราต้องพยายามเปลี่ยนนิสัยส่วนตัวไม่ให้ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมส่วนรวม ซึ่งบางอย่างก็ดี บางอย่างก็เสีย อย่างเช่น คำสอนที่ไร้ตัวอักษรในสังคม ที่ทำให้เราค่อนข้างขาดแคลนอิทธิบาทในการเรียนภาษาอังกฤษ และเราไม่ควรเอากรณียกเว้น หรือ exceptional case ที่เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษไปชนะการแข่งขันที่นั่นที่นี่ หรือออกทีวีโชว์ความสามารถด้านภาษาอังกฤษอย่างนั้นอย่างนี้ มาสร้างความรู้สึกชมตัวเองลวง ๆ ว่าคนไทยยุคใหม่นี้ก็เก่งภาษาอังกฤษขึ้นมาก เพราะกรณียกเว้นเหล่านี้ไม่สามารถเป็นตัวแทนคนไทยตัวจริงได้
เรื่องที่คุยวันนี้เป็นคำถาม ซึ่งรอทุกคนที่สามารถตอบได้กรุณาช่วยตอบ สำหรับคำตอบใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ส่วนรวมนั้น ผมไม่หวังเพราะมันใหญ่เกินไป ผมหวังแต่คำตอบเล็ก ๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนิสัยส่วนตัวให้แต่ละคนมีอิทธิบาทครบ 4 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตตะหรือสมาธิ ซึ่งทุกคนมีแต่อาจจะไม่ได้นำเอาออกมาใช้ ผมหวังว่าคำถามพวกนี้ ท่านจะช่วยตอบตัวเอง
พิพัฒน์
More Articles...
- ขอลางานจากเว็บสัก 2 - 3 นะครับ กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง
- เรียนภาษาอังกฤษกับเว็บไทย และขยับไปเว็บฝรั่ง
- ภาษาอังกฤษสำหรับคนขี้เบื่อ – ต้องให้เว็บ Random สุ่ม exercise & test มาให้ทำทีละข้อ
- นิสัยที่ควรสร้าง: สะสมทักษะภาษาอังกฤษ เหมือนปลูกไม้ยืนต้นให้โต
- มีดิก Longman แผ่นนี้, เหมือนมีครูฝรั่งสอนภาษาส่วนตัวอยู่ที่บ้าน – เชิญดาวน์โหลดครับ
- หลงป่า:ยิ่งเดินยิ่งหลง; แต่ งงอ่าน:ยิ่งอ่านยิ่งหายงง
- ช่วยหาที่ผิดให้หน่อยครับ...
- 10 เทคนิคบอกลาความ “ขี้เกียจ” (สำหรับนักเรียน)
- ดาวน์โหลด Fundamentals of English Grammar
- “เคล็ดลับ 10 ข้อในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ ที่จะช่วยให้คุณกล้าพูดได้อย่างมั่นใจ!!”
- สัญญานั้นสำคัญ...
- วิธีฝึกศัพท์ให้ จำได้+เข้าใจ+ใช้เป็น
- หา story ที่ชอบให้พบ, และอ่านเรื่องนั้นทุกวัน, ไม่มากก็น้อย จะได้ประโยชน์มหาศาล
- ขอทราบความเห็นของท่านผู้อ่านหน่อยครับ
- เว็บ e4thai.com เปิดคอลัมน์ พูดคุย แลกเปลี่ยน ถามตอบ ปัญหาภาษาอังกฤษ แล้วครับ
- ศัพท์ ภาษา จินตนาการ
- อย่าเอาแต่เรียนภาษาอังกฤษอยู่ใน comfort zone เลยครับ
- วิธีฝึกอ่าน e-book สำหรับท่านที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง
- ถ้าวางแผนให้ลูกหลานโตขึ้นเป็นนายกฯ ควรหัดให้พูดภาษาอังกฤษคล่อง ๆ ตั้งแต่วันนี้
- ฝึกภาษาอังกฤษแบบสบาย ๆ ตามสไตล์ของผม