Home
รู้แกรมมาร์แต่พูดไม่ได้ รู้ศัพท์แต่อ่านไม่รู้เรื่อง – ปัญหาของคนไทย แก้ยังไงดี?
สวัสดีครับ
ชื่อของบทความวันนี้ รู้แกรมมาร์แต่พูดไม่ได้ รู้ศัพท์แต่อ่านไม่รู้เรื่อง – ปัญหาของคนไทย แก้ยังไงดี? น่าจะเป็นปัญหาที่พวกเราคุ้นเคยอยู่ แต่ทางแก้ปัญหาเราคุ้นเคยหรือเปล่า นี่คือคำถาม วันนี้ผมขอตอบคำถามตามความเห็นของผม ซึ่งเป็นคำตอบที่ simple มาก ๆ แต่ก่อนตอบ ขอให้ผมพูดอะไรไปเรื่อย ๆ ก่อนนะครับ
ว่าด้วยเรื่องแกรมมาร์ก่อน ผมเคยได้ยินหลายคนตำหนิว่า เมืองไทยเน้นเรียนแกรมมาร์มากจนพูดไม่ได้ จะเปิดปากพูดก็กลัวผิดแกรมมาร์ เลยไม่กล้าพูด ทำไปทำมาแกรมมาร์เลยกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาชญากรรม ที่ทำให้คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูไทยหรือครูฝรั่งที่มาทำมาหากินในเมืองไทย ต่างรุมประณามสาปแช่งแกรมมาร์ไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด แกรมมาร์จึงแปลว่ากรรมมาก ครูสอนแกรมมาร์ก็คือครูมีกรรมมาก
แต่ผมจะบอกให้ว่า แม้ว่าจะมีการประณามกันถึงขนาดนี้ แกรมมาร์ก็ยังอยู่ยั้งยืนยงและคงมีคนรักไม่คลาย สังเกตได้ง่าย ๆ ทุกครั้งที่มีบทเรียนแกรมมาร์ให้เรียนฟรี หรือไฟล์แกรมมาร์ให้ดาวน์โหลดฟรี ก็จะมีคนเข้าไปเรียนหรือโหลดเยอะ แสดงว่าเขายังรักกันมั่นคง
มาพูดถึงเรื่องศัพท์บ้าง ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมทำปุ่ม Vocabulary เฉพาะขึ้นมาเพื่อแนะนำเว็บและไฟล์ดาวน์โหลดให้คนศึกษาคำศัพท์ และเรื่องที่คนสนใจมากที่สุดก็คือ list คำศัพท์ 1000, 2000, 3000 คำ พร้อมคำแปลภาษาไทย ส่วนใหญ่บอกว่าจะเอาไปท่อง จะได้รู้ศัพท์เยอะ ๆ, จะได้เก่งภาษาอังกฤษ
มันคล้ายกับว่า คนไทยส่วนใหญ่มีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ในใจว่า การที่จะเก่งภาษาอังกฤษ คือ อ่านรู้เรื่อง, ฟังรู้เรื่อง, พูดได้, เขียนได้ จะต้องมี 2 อย่างนี้ตุนไว้ในสมอง คือ รู้แกรมมาร์และรู้ศัพท์ ถ้ารู้แล้ว เรื่องอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน ก็เป็นเรื่องง่าย แต่มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ หรือครับ?
ปรากฏการณ์ที่เราเห็นมันก็บอกชัดอยู่แล้วว่า มันไม่ได้เป็นอย่างนี้ คือต่อให้คล่องแกรมมาร์ก็ใช่ว่าจะพูดคล่อง ต่อให้รู้ศัพท์เยอะก็ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่อง แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไรล่ะ?
ผมไม่รู้หรอกครับว่า ตามหลักวิชาการนั้นเขาสอนกันยังไง แต่วิธีฝึกส่วนตัวที่ผมเองใช้ได้ผล ก็คือลุยไปเลย
- อยากอ่านรู้เรื่องก็ลุยอ่านไปเลย อ่านเยอะ ๆ อ่านทุกวัน
- อยากฟังรู้เรื่อง ก็ฟังเยอะ ๆ ฟังทุกวัน
- อยากพูดได้ ก็ฝึกออกเสียงทีละคำ ๆ พูดออกเสียงทีละประโยค ฝึกพูดเล่าเรื่องให้ตัวเองฟัง ทุกวัน
- อยากเขียนได้ ก็เขียนลงไดอะรี่ทุกวัน
ทุกเรื่องที่ฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ข้างต้นนี้ เอาปริมาณเข้าว่า ไม่สนใจคุณภาพ แต่ก็รู้สึกแน่ใจว่า ถ้าฝึกไม่หยุด เมื่อปริมาณเดินนำหน้า คุณภาพก็จะเดินตามหลัง
หมายความว่า ขณะที่ฝึกฟัง-ฝึกพูด-ฝึกอ่าน-ฝึกเขียนนี้ เราก็จะได้เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องแกรมมาร์และศัพท์ไปในตัว และเป็นแกรมมาร์และศัพท์ที่อยู่ในเนื้อเรื่องจริง ๆ
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า นี่ผมจะให้เลิกอ่านตำราแกรมมาร์ หรือให้เลิกท่องศัพท์หรือ? มิได้ครับ! ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น! แต่ผมกำลังจะบอกว่า
- อย่าใช้เวลาอ่านตำราแกรมมาร์ มากกว่าเข้าไปเจอแกรมมาร์จริง ๆ ในเนื้อหาที่เราอ่านหรือฟัง หรือเมื่อต้องระลึกถึงแกรมมาร์อยู่บ้างเมื่อพูดหรือเขียน
- อย่าใช้เวลาท่องศัพท์ มากกว่าเข้าไปเจอศัพท์จริง ๆ ในเนื้อหาที่เราอ่านหรือฟัง หรือเมื่อต้องใช้ศัพท์ในการพูดหรือเขียน
พูดอีกอย่างก็คือ ปัญหาภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ได้อยู่ที่คนไทยฝึกอะไร แต่อยู่ที่คนไทยไม่ได้ฝึกอะไร
ผมไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ผมเชื่อว่า การอ่านตำราแกรมมาร์และท่องศัพท์ กับการไปเจอและใช้แกรมมาร์และศัพท์เมื่อฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษจริง ๆ ใช้สมองคนละพู และคนไทยส่วนใหญ่ถูกสอนให้ใช้สมองพูแรกเพื่อการเรียนแกรมมาร์และท่องศัพท์ มากกว่าการใช้สมองพูที่สองเพื่อการทำความเข้าใจ-ตีความ-สังเกต-วิเคราะห์ เมื่อเราฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษจริง ๆ
ผมขอยกสัก 1 ตัวอย่างเรื่องการอ่าน
สมมุติว่า เราอ่านข่าวภาษาอังกฤษสัก 1 ชิ้น และไปเจอศัพท์สำคัญที่ไม่รู้ความหมาย เราทำยังไง?
[1] เราเปิดดิก
[2] ถ้าศัพท์คำนี้มีหลายความหมาย เราต้องใช้สมองเลือกมา 1 ความหมาย ที่มันสอดคล้องกับความหมายในเนื้อข่าวที่เราอ่าน
[3] เราตีความคำศัพท์นี้ ให้สามารถอ่านเข้าใจเนื้อความของข่าว ซึ่งในข้อนี้ อาจจะต้องรวมถึงการเข้าใจแกรมมาร์หรือโครงสร้างประโยคด้วย เช่นในประโยคที่มีอนุประโยค หรือส่วนขยายซับซ้อน โยงไปโยงมาเยอะ ๆ ก็เป็นภาระของเราที่ต้องตีความทั้งคำศัพท์และมองแกรมมาร์ให้กระจ่าง
ท่านเห็นไหมครับว่า เมื่อเราเอาแต่ตุนศัพท์จากการท่องเพื่อเป็นทุนใช้อ่านหนังสือ มันช่วยเราอย่างมากก็แค่ข้อ [1] คือไม่ต้องเปิดดิก แต่ข้อ [2] และข้อ [3] เราไม่ได้ฝึกเลย เพราะมันไม่มีของจริงจากเนื้อเรื่องให้เราฝึก ยิ่งทักษะที่จำเป็นเช่นการเดาความหมายจากเนื้อเรื่อง (context) เราแทบไม่รู้จักเลย
ผมกำลังจะดึงกลับมาถึงปัญหาที่เราพูด คือการที่เราเอาแต่ท่องศัพท์หรืออ่านตำราแกรมมาร์ มันเหมือนการฝึกเดินป่าในสนามจำลองปลอม ๆ ต่อให้เดินจนตายก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักเดินป่า เพราะนักเดินป่าที่แท้ต้องมีประสบการณ์ในการเดินป่าจริง ๆ จะได้รู้ว่าเมื่อหลงป่าจะแก้ปัญหายังไง เมื่อเดินป่าคนเดียว
และนี่ก็มาถึงปัญหาข้อที่ 2 คือ การเดินป่าคนเดียว ซึ่งในที่นี้ก็คือการฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่มีครู ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับคนไทยหลายคนที่เรียนไม่ได้โดยไม่มีครู หรือถ้าเจอภาษาอังกฤษที่ไม่มีคำแปลภาษาไทยเทียบไว้ให้ก็จะหลับตาทันที
วิธีง่าย ๆ ในการฝึกโดยไม่มีครูก็คือ
เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่เหมาะกับท่าน ถ้าท่านอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่อ่าน story ภาษาอังกฤษของ ปี 1 ไม่รู้เรื่อง แต่พอจะอ่านหนังสือ story ของ ป. 1 รู้เรื่อง ท่านก็ต้องยอมถ่อมใจ ยอมกลับไปเริ่มอ่านหนังสือ story ของ ป.1 แล้วไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ, ไม่มีวิธีอื่นหรอกครับ การเงยหน้ายิ้มรับกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นความกล้าหาญ และผมคิดว่า ท่านจะเรียนได้เร็ว เพราะท่านโตแล้ว
ต่อจากนี้ก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากฝึกทุกวัน –ทั้งวันที่ขยันและวันที่ขี้เกียจ, วันที่มีเวลาและวันที่ไม่มีเวลา, วันที่เรียนแล้วรู้เรื่องและวันที่เรียนแล้วไม่รู้เรื่อง – ไม่ว่าจะเป็น การอ่าน – ฟัง – พูด – เขียน ก็ให้ฝึกอย่างนี้หมด
ผมขอพูดซ้ำอีกทีว่า ปัญหาภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ได้อยู่ที่คนไทยฝึกอะไร แต่อยู่ที่คนไทยไม่ได้ฝึกอะไร และนี่คือเรื่องที่คนไทยไม่ได้ฝึก หรือฝึกน้อยเกินไป เป็นสมองพูที่สองที่คนไทยไม่ค่อยชอบใช้ และทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดไม่ค่อยได้
สำหรับเรื่องง่ายที่จะศึกษา ในเว็บ e4thai.com นี้ก็มีให้เลือกพอสมควร ไปที่นี่แล้วเลือกเอาแล้วกันครับ
- ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลากว่า 150 เล่ม
- ดาวน์โหลด 100 story ง่ายสุด ๆ เพื่อฝึกฟังพร้อมอ่านภาษาอังกฤษ
- ดาวน์โหลด Story เกือบ 2,000 เรื่อง เพื่อฝึกฟังและอ่านตาม (ไม่ยากครับ !!)
- read & test วันละ 1 เรื่อง - E4Thai.com
- อ่านข่าวภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเมืองไทย จาก นสพ online หลายฉบับ ที่พิมพ์ในไทย
บทความแนะนำ tip เพิ่มความเข้าใจในการอ่าน
- เทคนิคการอ่าน นสพ.ฝรั่งให้รู้เรื่อง
- วิธีอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง โดยไม่งงกับ “ที่, ซึ่ง, อัน” ในประโยค
เรื่องที่ผมจะคุยด้วยก็คงมีเท่านี้ และผมต้องขอให้ท่านผู้อ่านโปรดอภัยด้วยหากมีข้อความที่ไม่สุภาพปะปนไปในสิ่งที่เขียน แต่ใจทุจริต หยาบคาย และอคตินั้นไม่มีเลย
พิพัฒน์
ขอแนะนำ Everyday English (ท่านต้องชอบแน่ ๆ)
สวัสดีครับ
ผมขอแนะนำลิงค์ Everyday English ข้างล่างนี้ ขอพูดแค่นี้แหละครับ แต่ให้ท่านคลิกเข้าไปดูเอง เชื่อว่าท่านต้องชอบแน่ ๆ เพราะทุกบทความน่าสนใจทั้งนั้น
http://www.engtest.net/forum/e-en.php
พิพัฒน์
อ่านข้อมูลหางาน แล้วจะรู้ว่า ทักษะภาษาอังกฤษ สำคัญเพียงใด
สวัสดีครับ
ผมเข้าไปที่เว็บไซต์ กรมการจัดการงาน ซึ่งมีหน้าสำหรับ “คนหางาน (ลูกจ้าง)” และ “งานหาคน(นายจ้าง)”
จะใช้บริการของเว็บนี้ได้ ต้องคลิก “สมัครสมาชิก” เพื่อ “ลงทะเบียน” ก่อน
เมื่อดูจากตัวเลขตำแหน่งงานว่างในหน่วยงานภาครัฐ หรืองานราชการก็เห็นว่า มีน้อยมาก คลิก
แล้วผมก็ลองไปที่เว็บประกาศหางานอื่น ๆ ดูบ้าง
- http://job.bangkokpost.com/search/
- http://jobs.monster.co.th/
- http://www.jobsbangkok.net/
- http://www.thaiwebsites.com/career.asp
จึงได้เห็นว่า ในหัวข้อคุณสมบัติของผู้สมัครงานนั้น จะมีถ้อยคำทำนองนี้เสมอ
ผมถึงได้พูดอยู่เสมอว่า ภาษาอังกฤษนั้นจำเป็น ถ้าเรายังเรียนหนังสืออยู่ ก็ให้เตรียมฟิตให้แน่นไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย การได้งานดี มิได้หมายถึงระดับเงินเดือนที่เราพอใจเท่านั้น แต่ที่อาจจะสำคัญมากกว่าก็คือ การได้ทำงานซึ่งมีเนื้องานที่เราอยากเข้าไปทำ และแม้ว่าเรามีความสามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าเจ้าของบริษัทเขาบอกว่า จะต้อง Able to communicate in English หรือ Good command of English แล้วเราไม่มีคุณสมบัติข้อนี้ เขาก็ไม่รับเราเข้าทำงานแม้ว่าเราจะสามารถทำงานนั้นได้(ดี) เพราะฉะนั้น ภาษาอังกฤษจึงเป็นด่านแรก ที่เขาบังคับให้เราต้องเดินผ่านด่านตรวจจับ ถ้าเครื่องจับบอกว่าเราไม่มี เขาก็ไม่ให้เราเข้า
เว็บไซต์พวกนี้ ถ้ามีเวลาก็ลองเข้าไปดูนะครับ ทั้งท่านที่ยังไม่ได้ทำงานหรือทำงานแล้ว อาจจะเกิดแรงกระตุ้นให้อยากเก่งอังกฤษและพยายาม
พิพัฒน์
Bookmarks – จัดบทเรียน online ให้ตัวเองเรียนทุกวัน
สวัสดีครับ
ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ควรฝึกให้เก่ง แต่เราก็ไม่ได้ขยันทุกวัน ตอนที่เราลืมหรือขี้เกียจก็ไม่มีใครเตือน จึงเป็นการดีถ้าเราจะจัดบทเรียน online ให้ตัวเองได้เข้าไปเรียนทุกวัน โดยใช้บริการ Bookmarks ของ Google (อันเดียวกับ Favorites ครับ) ซึ่งไม่ว่าเราจะไปใช้คอมฯ เครื่องใด ที่ไหน หรือแม้จะ format คอมฯ ของตัวเองแล้ว, Bookmarks ที่ทำไว้นี้ก็ยังอยู่ให้เราเข้าถึงได้เมื่อเรา online
[1] อันดับแรก ก็ต้องมี account ของ Google เสียก่อน, ถ้ายังไม่มี ก็ คลิกที่นี่ เพื่อ Sign up และตอนจะใช้ก็ Log in
[2] ไปที่หน้า Bookmarks ของ Google, จำง่าย ๆ ว่า มันก็คือหน้า Google Search นั่นแหละครับ เราแค่พิมพ์ bookmarks เติมเข้าไป
[3] เมื่อเข้าไปแล้ว ให้ท่าน
- คลิกที่หมายเลข 1. Bookmarks
- Copy URL ของลิงค์/เว็บไซต์ที่เราต้องการทำ bookmark และ paste ลงที่หมายเลข 3
- พิมพ์ชื่อ ลิงค์/เว็บไซต์ สั้น ๆ ที่ท่านเองจำได้ง่าย ๆ ที่หมายเลข 2
- ในช่องที่หมายเลข 4 Labels ให้ท่านพิมพ์คำสั้น ๆ ซึ่งเป็นชื่อหมวดของเนื้อหา เช่น ตามตัวอย่างนี้ นสพ. Bangkok Post ผมจัดให้ลิงค์นี้อยู่ในหมวด อ่านข่าวอังกฤษ
- คลิก Add bookmark ที่หมายเลข 5
ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเว็บใหม่ที่ได้มามีเนื้อหาประเภทเดียวกับ Label ที่ตั้งชื่อไว้แล้ว ก็พิมพ์ชื่อ Label นั้นใส่ลงไปในช่องหมายเลข 4 (พิมพ์ให้เหมือนกันเด๊ะเลยนะครับ)
ผมขอยกตัวอย่าง Bookmarks ข้างล่างนี้ ที่ผมทำ ซึ่งเนื้อหามี 3 หมวด (Labels) คือ ฟังข่าวอังกฤษ, ฟังธรรมะ, และ อ่านข่าวอังกฤษ โดยในที่นี้แต่ละหมวด มี 2 ลิงค์
[4] พอถึงเวลาที่ท่านเข้าห้องเรียน คือ Bookmarks ที่ทำไว้นี้ ก็ให้
- เข้าไปที่ Bookmarks นี้ และคลิกที่ Sorted by label (หมายเลข 1) อยู่ที่มุมบนขวามือครับ
- ท่านจะเห็นที่กลางหน้า แยกเป็นหมวดตามที่ท่านทำไว้ ท่านก็คลิกหมายเลข 2 เพื่อไปยังเรื่องที่ต้องการศึกษา
- ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยน Label ก็คลิกที่ Edit ที่หมายเลข 3และคลิก save
- ถ้าต้องการลบ Bookmarks ใดทิ้ง ก็คลิกที่ Remove หมายเลข 4, คลิก OK
[5] หรือท่านจะดูที่หมวดใดหมวดหนึ่งโดยเฉพาะก็ได้ โดยคลิกที่ชื่อหมวดนั้นที่คอลัมน์ซ้ายมือ เช่น ในที่นี้คลิก อ่านข่าวอังกฤษ มันก็จะโชว์เนื้อหาในหมวดนี้ที่กลางหน้า ซึ่งมีอยู่ 2 ลิงค์
[6] ถ้าท่านต้องการเปลี่ยนชื่อของหมวดเนื้อหา ก็คลิกที่ Manage labels ที่หมายเลข 1 และคลิก rename ที่หมายเลข 2 ตรงบรรทัดของหมวดที่ต้องการเปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนเสร็จแล้ว ก็คลิก Save
เรื่องที่จะแนะนำก็คงมีแค่นี้
ขอกล่าวอีกครั้งว่า
- ผมอยากจะชักชวนให้ท่านทำ Bookmarks แบบนี้ไว้ และให้ถือว่ามันเป็นห้องเรียน – ห้องฝึก ที่ท่านต้องเข้าไปเรียนทุกวันโดยไม่ต้องมีคนเตือน
- เว็บที่ใส่ไว้ในนี้อย่าให้มันมากเกินไปจนตาลาย ควรมีเฉพาะลิงค์ที่เราจะฝึกจริง ๆ
- และแยกหมวดให้เห็นชัด
- อันไหนที่ไม่เข้าท่าก็ให้ remove ทิ้งออกไปเลย
- เจออันไหนใหม่ ที่ดีก็เติมเข้าไปให้อยู่ใน label ที่เหมาะสม
ถ้าท่านไป Login เข้า Bookmarks นี้ที่คอมฯของคนอื่น หรือคอมฯสาธารณะ เมื่อเลิกใช้แล้ว อย่าลืม Log out นะครับ
พิพัฒน์
ดาวน์โหลดด้วยใจรัก - วิธีทำให้การดาวน์โหลด e-book ของท่านไม่เสียเวลาเปล่า
สวัสดีครับ
วันนี้ผมมี e-book ภาษาอังกฤษมาฝาก 5 เล่ม ตามรายชื่อข้างท้ายนี้
ท่านผู้อ่านครับ การดาวน์โหลดนั้นเป็นเรื่องง่าย เพราะใช้เวลาไม่มาก แต่เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วท่านอาจจะไม่มีเวลาเข้าไปคลิกดูเพราะงานยุ่ง อันนี้ผมก็เห็นใจครับ เพราะฉะนั้น ผมขอแนะนำง่าย ๆ ให้การดาวน์โหลดของท่านคุ้มค่าไม่เสียเวลาเปล่า ดังนี้ครับ
[1] คลิกดูแต่ละเล่มคร่าว ๆ โดยดูสารบัญและแต่ละบทผ่าน ๆ ว่า มันมีหัวข้อใดบ้างที่ท่านน่าจะหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็จดชื่อหัวข้อ, หมายเลขหน้า, หมายเลขบทไว้ หนังสือทั้งเล่มซึ่งมีหลายร้อยหน้านั้น ถ้าท่านเอามาใช้ประโยชน์ได้สัก 10 หน้าก็คุ้มค่าที่เสียเวลาดาวน์โหลดแล้วครับ เพราะฉะนั้น ท่านน่าจะยอมลงทุนสำรวจและจดสักนิด ทำตอนนี้เลย ถ้าทิ้งไว้ก่อน-อาจลืมหรือละเลยได้ง่ายที่สุด
[2] รีบ forward ลิงค์ดาวน์โหลดที่ท่านได้มาใหม่ ๆ ด้วยวิธีใดก็ได้ ไปให้เพื่อน ลูกศิษย์ ลูกหลาน ลูกน้อง ที่คาดว่า เขาน่าจะได้ประโยชน์จาก e-book พวกนี้บ้าง แม้นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี ผมขอแนะว่า ให้ท่านยอมเสียเวลาครั้งเดียว โดยรวบรวมอีเมล หรือ Line หรือ Facebook ของคนกลุ่มนี้ ไว้ในที่เดียวกัน คือแบบว่า พอได้ลิงค์ดาวน์โหลดมาแล้ว ให้คลิกครั้งเดียว สามารถส่งไปให้ทุกคนได้เลย
e-book ภาษาอังกฤษที่ขอฝากวันนี้ มี 5 เล่ม ข้างล่างนี้ครับ
- Dictionary of American Idioms and Phrasal Verbs
- Large English Dictionary To Help You With Learning English
- Book of Idioms From A to Z
- Longman Essential-Idioms-in-English
- Business Words You Should Know
ลิงค์ดาวน์โหลด
ที่นี่ครับ: https://drive.google.com/folderview?id=0B750IAjW-1dZalRsWG5vNXBJems&usp=sharing#list
หรือที่นี่ก็ได้ https://drive.google.com/folderview?id=0B750IAjW-1dZalRsWG5vNXBJems&usp=sharing
พิพัฒน์
More Articles...
- ออกแรงสมองอีกนิด – read แล้ว test
- สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
- แนะนำ 10 วิธีสุดเจ๋ง เรียนภาษาอังกฤษให้เก่งได้ด้วยตัวเอง!
- ดาวน์โหลด ของฝากจาก e4thai.com “เพื่อพลังใจในชีวิต และการฟิตภาษาอังกฤษ ปี 2558”
- ไฮไลท์เต็ม มาเลเซีย(Malaysia) VS ไทย(Thailand) 3-2 ผลรวม 3-4 ไทยชนะ
- คลิปไฮไลท์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ รอบชิง ทีมชาติไทย 2-0 มาเลเซีย Thailand 2-0 Malaysia
- ชีวิตนี้...
- ขอความกรุณาช่วยหาเว็บ “คำศัพท์สับสน” ให้ผมหน่อยครับ
- จำภาษาโต้ตอบจาก story – จำภาษาเล่าเรื่องจาก news
- สิ่งที่น่าจะทำได้ทันที เพื่อฉุดไทยไม่ให้เป็นประเทศบ๊วยเรื่องภาษาอังกฤษ
- หลายเรื่องเกี่ยวกับ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (+ชีวิต คุณจ้อน)
- ทำไม“อิทธิบาท” ขาดไป เมื่อคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ
- ขอลางานจากเว็บสัก 2 - 3 นะครับ กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง
- เรียนภาษาอังกฤษกับเว็บไทย และขยับไปเว็บฝรั่ง
- ภาษาอังกฤษสำหรับคนขี้เบื่อ – ต้องให้เว็บ Random สุ่ม exercise & test มาให้ทำทีละข้อ
- นิสัยที่ควรสร้าง: สะสมทักษะภาษาอังกฤษ เหมือนปลูกไม้ยืนต้นให้โต
- มีดิก Longman แผ่นนี้, เหมือนมีครูฝรั่งสอนภาษาส่วนตัวอยู่ที่บ้าน – เชิญดาวน์โหลดครับ
- หลงป่า:ยิ่งเดินยิ่งหลง; แต่ งงอ่าน:ยิ่งอ่านยิ่งหายงง
- ช่วยหาที่ผิดให้หน่อยครับ...
- 10 เทคนิคบอกลาความ “ขี้เกียจ” (สำหรับนักเรียน)