Home
“นิราศท่าพระจันทร์ถึงท่าเตียน” - ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับงานบริการ
สวัสดีครับ
วันนี้ผมมีธุระไปซื้อยาไทยที่ร้านยาติดวัดโพธิ์ นาน ๆ จะได้กลับไปถิ่นเก่าสักที ก็เลยถือโอกาสไล่เดินตั้งแต่สนามหลวง ริมกำแพงวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเตียน ไปจนถึงร้านยา ระหว่างทางก็ได้เห็นคนไทยที่ประกอบอาชีพกับนักท่องเที่ยว คือไกด์ แต่เมื่อดูไกด์พูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ กับนักท่องเที่ยวได้อย่างคล่องแคล่าว ผมไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่
แต่ที่รู้สึกทึ่งก็คือ การได้เห็นคนขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวและอีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนขับรถตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์ และเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาที่คอยให้บริการนักท่องเที่ยว ที่บอกว่าทึ่งก็เพราะว่า หลายคนทีเดียวที่พูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ภาษาจีนนั้นผมฟังไม่ออก แต่ภาษาอังกฤษเมื่อยืนฟังอยู่ห่าง ๆ ได้ยินแล้วก็ต้องบอกว่า พี่เก่งจริง ๆ
อย่างเช่น พี่ผู้ชายขับรถตุ๊กคนหนึ่ง เขาจะรับนักท่องเที่ยว 3 คนไปส่งอีกที่หนึ่ง วิธีบอกราคาของเขาคือ ยกฝ่ามือขึ้นมาและผายไปที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นทีละคน พร้อมกับพูดว่า เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ พูดจบนักท่องเที่ยวจีน 3 คนนั่นก็พยักหน้า ขึ้นรถทันที โอ้โฮ! เป็นการสื่อสารที่กระชับ ชัดเจน และก็สุภาพด้วย มันถูกต้องตามหลักเกณฑ์การสื่อสารที่ผมเรียนมาจากคณะวารสารศาตร์ ธรรมศาสตร์เด๊ะ ๆ เลย
ตามเส้นทางที่เดินผ่านไป ผมเห็นคนไทย 4 กลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยว ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 คือไกด์
- กลุ่มที่ 2 คือ คนเร่ขายของที่ระลึก
- กลุ่มที่ 3 คือ คนคนขับรถตุ๊ก ๆ และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
- และคนกลุ่มที่ 4 ซึ่งผมรู้สึกว่าในการทำงาน มันน่าจะมีวิธีที่ช่วยทำให้เขาได้พูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวบ้าง ไม่มากก็น้อย
กลุ่มนี้ก็คือคนขายพระเครื่อง ทั้งที่วางขายบนแผงตั้งโต๊ะพับได้ และที่วางขายบนผ้าพลาสติกปูบนพื้น เท่าที่เดินดูตลอดทางตั้งแต่ท่าพระจันทร์ไปจนถึงท่าเตียน กลุ่มสุดท้ายนี้ลูกค้ามีแต่คนไทย
แต่เท่าที่ผมเคยได้อ่านข่าว ตามห้างในฮ่องกงหรือไทเป และก็น่าจะมีที่อื่นอีก เขามีแผงเช่าพระบนห้าง โดยเฉพาะหลวงปู่ทวด และหลวงพ่อโตวัดระฆังเป็นที่นิยมสองอันดับแรก นอกจากนี้หลายเว็บไซต์ในเมืองไทยที่เปิดเป็นแผงเช่าพระภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าถ้ามีการจัดการอะไรสักอย่าง ให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนได้หยุดและหันมามองที่แผงเช่าพระตามรายทางท่าน้ำฝั่งเจ้าพระยาที่ว่านี้ บางทีพี่น้องเราที่ประกอบอาชีพนี้แถว ๆ นั้นอาจจะมีตังค์ใช้มากขึ้นเพราะได้ลูกค้าต่างชาติ
ท่านอาจะถามว่า แล้วจะคุยกันรู้เรื่องหรือ? เอ! ผมชักจะเปลี่ยนความคิดสักเล็กน้อยซะแล้วครับ คือ หลังจากที่ผมเห็นพี่คนที่ขับรถตุ๊กพูดประกอบท่ามือว่า เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ ผมได้ข้อสรุปทันทีเลยว่า ถ้ามีใจพร้อมและมีความกล้าที่จะสื่อสาร การพูดภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่ใช่เรื่องยากจริง ๆ
มีอยู่คราวหนึ่งก่อนหน้านี้ ผมไปเที่ยวตลาดน้ำที่อำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี ผมเห็นแม่ค้าขายผลไม้ร้านหนึ่งนำผลไม้ที่ปอกแล้วหลาย ๆ ชนิดหั่นเป็นชิ้น ๆ เรียงใส่โฟม และขายราคา 50 บาท ผมก็พูดกับคนขายว่า เออ! ทำอย่างนี้ดีนะ อย่างฝรั่งที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับผลไม้อร่อย ๆ ของไทย เสียเงินแค่ 50 บาท ก็ได้ชิมทุกอย่าง ถ้าติดใจก็จะได้ซื้อใส่ถุงไปกินเป็นกิโล แม่ค้าตอบผมว่า ไม่รู้จะพูดยังไงกับฝรั่ง แล้วก็ไม่รู้จะติดป้ายยังไงด้วย วันนี้ผมได้ยิน เท็น – เท็น – เท็น – เทอตี้ ผมก็คิดถึงแม่ค้าขายผลไม้ที่คลองดำเนินสะดวกคนนั้นทันที
พอกลับมาถึงบ้าน ผมกลับมานึกทบทวนเรื่องนี้อีกที คือ เราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นรายได้ก้อนใหญ่ทีเดียวสำหรับคนไทยหลายอาชีพ และต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม อาชีพที่ทำเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวนี้ ตามศัพท์เป็นงานเป็นการคือคำว่า Hospitality industry คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการ หรืออุตสาหกรรมสถานบริการ ซึ่งก็คืองานหลายตำแหน่งในโรงแรม ร้านอาหาร พาหนะสาธารณะ ร้านขายของที่ระลึก การนำเที่ยว รวมทั้งสถานบริการอื่น ๆ เช่น นวดแผนไทย เป็นต้น
และแม้ว่าเจ้าของสถานประกอบการเหล่านี้ เขาจะมีการอบรมพนักงานให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เพียงพอต่อการใช้งาน หรือคนที่จะเข้าสมัครงานก็ต้องฟิตภาษาอังกฤษให้รู้พอตัวเพื่อให้นายจ้างยินดีรับเข้าทำงาน แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ผมก็ยังรู้สึกว่า เรื่องฟิตภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารให้ได้นี้ ยังมีอะไรอีกเยอะที่เราต้องเริ่มทำหรือปรับปรุง
ผมกลัวว่าเมื่อเริ่มเออีซีอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 งานหลายอย่างที่คนไทยควรได้ทำในเมืองไทยอาจหลุดมือ เพราะทั้งนายจ้างไทยและนายจ้างต่างชาติที่มาเปิดธุรกิจทำมาหากินในเมืองไทย จะหันไปจ้างคนอาเซียนชาติอื่นที่แห่มาหากินในเมืองไทยตามที่กฎหมายเปิดช่อง โอ! คิดแล้วเป็นห่วงครับ
วันก่อนผมไปที่เคาน์เตอร์โทรศัพท์มือถือในห้างแห่งหนึ่ง อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าในห้าง หรือธนาคาร หรือโรงพยาบาล หรือ outlet จะต้องมีโต๊ะตัวหนึ่งพร้อมคนนั่งที่มีหน้าที่ต้อนรับลูกค้าต่างชาติเป็นการเฉพาะ เมื่อถึงวันนั้น ไอ้คนที่บริษัทจ้างให้นั่งทำงานที่โต๊ะตัวนี้มันจะเป็นคนไทย หรือคนฟิลิปปินส์นะ หรือดีไม่ดีอาจจะเป็นคนพม่า หรือคนลาวด้วยซ้ำ
ย้อนกลับมาเรื่องงานในแวดวง Hospitality industry คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการ ที่ดูเหมือนว่าคนทำงานหรือประกอบอาชีพนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษคล่องซะหน่อย ผมได้รวบรวมเว็บไซต์ที่ผมเห็นว่าเข้าท่ามาได้ 2 – 3 เว็บข้างล่างนี้ ผมหวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำงาน หรือครูบาอาจารย์ที่สอนเรื่องเหล่านี้ ท่านเข้าไปคลิกดูรายละเอียดเอาเองแล้วกันนะครับ
เว็บที่ 1
http://www.englishformyjob.com/
Food & Beverage …Hotel Industry… Travel/Tourism… Politeness Training
เว็บที่ 2
https://www.englishclub.com/english-for-work/index.htm
Housekeepers …Hotel Staff …Food and Drink Staff … Tour Guides … Taxi Drivers
เว็บที่ 3
http://www.real-english.com/reo/index.asp
แถม ebook 1 เล่ม
http://www.teflebooks.com/HOTEL-English.pdf
ขอจบดื้อ ๆ บรรทัดนี้แล้วกันครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
♥ วิธีติดตั้ง add-on → "แปล ศัพท์ ทุกคำ-ทุกเว็บ-ทันที " โดยไม่ต้องเข้าเว็บ ดิก ♥
ศึกษาคำศัพท์ ด้วยสมองทั้งก้อน และใจทั้งดวง
สวัสดีครับ
ที่เว็บนี้ →http://www.vocabulary.com/play
มีคำถามที่ทดสอบความสามารถด้านคำศัพท์ คำถามที่เว็บมีขึ้นมาให้เราทำนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
- assessment questions - เพื่อประเมินว่า คำใดเรารู้ คำใดเราไม่รู้
- review question - ถ้าคำใดเราทำผิด เว็บก็จะส่งคำศัพท์พวกนั้นมาถามเราอีก
- progress questions - ถ้าเราชักเก่ง เว็บก็จะมีคำถามเกี่ยวกับคำนั้น ๆ อีก จนเราคล่องในคำนั้น โดยอาจจะเป็นความหมายใหม่ในคำศัพท์เดิม
บางครั้งที่เราไม่แน่ใจว่าควรเลือกตอบข้อใด ก็อาจจะมี 3 ปุ่มให้เราคลิกเป็นตัวช่วย คือ
Not sure? Get a hint:50/50 • Word in the Wild • Definition
- ปุ่ม 50/50 - เว็บจะตัดข้อที่ผิดทิ้งออกไป 2 ข้อ
- ปุ่ม Word in the Wild – เว็บจะแสดงประโยคตัวอย่างที่ใช้คำ ๆ นั้น
- ปุ่ม Definition – เว็บจะโชว์ความหมายของคำศัพท์ที่กำลังทดสอบ
ตอนเล่นเกมคำศัพท์ที่เว็บนี้ ขอแนะนำให้คลิก Sign up และ Log in ที่มุมบนขวาของหน้าก่อนเล่น เพราะเมื่อเล่นครั้งต่อไป เว็บจะเก็บสถิติของการเล่นครั้งเดิม และจัดหาคำถามมาให้เราเล่น เพื่อให้เหมาะสมกับคำศัพท์และคะแนนที่เราเล่นไว้ในคราวก่อน การพัฒนาคำศัพท์กับเว็บนี้ที่เราเล่นก็จะต่อเนื่อง
ท่านผู้อ่านครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงไตเติ้ล ส่วนเรื่องที่ผมอยากจะพูดคือข้างล่างนี้ครับ
คือผมมีความรู้สึกว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่พูดว่าตัวเองรู้ศัพท์น้อยก็เพราะขี้เกียจจำ ถ้าขยันจำก็คงรู้ศัพท์เยอะ หลายคนคิดอย่างนี้ และก็บอกตัวเองอย่างนี้
และถ้าวันไหนเกิดฮึดขึ้นมาอยากจะจำศัพท์ให้ได้เยอะ ๆ ก็จะตั้งหน้า-ตั้งตา-ตั้งใจ ท่องศัพท์เพื่อให้จำได้
สรุปง่าย ๆ ก็คือ สำหรับท่านเหล่านี้ คำศัพท์เป็นเรื่องของการจำและการท่องเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอย่างอื่นทั้งสิ้น
ต้องขอโทษด้วยนะครับถ้าผมจะบอกว่า ถ้าใครคิดอย่างนี้ก็เท่ากับใช้สมองนิดเดียวในการเรียนรู้คำศัพท์
เพราะในความเป็นจริง เมื่อเราอ่าน ฟัง พูด เขียน ภาษาอังกฤษ และเจอคำศัพท์ เราไม่ได้เจอมันเป็นคำ ๆ แต่เราเจอมันเป็นวลีหรือเป็นประโยค ซึ่งก็คือเราเจอศัพท์หลาย ๆ คำอยู่ด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ใครที่เอาแต่ดึงคำศัพท์มาแยกท่อง โดยไม่หาวลี ประโยค หรือเนื้อหาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของคำศัพท์มาศึกษา ก็คือคนที่ศึกษาคำศัพท์ในโลกของความไม่จริง
และการที่ศัพท์อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ เราจึงควรใช้พื้นที่ของสมองทุกตารางนิ้วในการเรียนรู้คำศัพท์ ซึ่งนั่นก็คือ การสังเกต การเดา การตีความ การเปรียบเทียบ การมองหาความสัมพันธ์ของคำศัพท์แต่ละตัว การใช้ตรรกะมองหาเหตุและผลเพื่อโยงไปสู่ความหมายและความเข้าใจ
ถ้าพูดเป็นภาษาดอกไม้ก็คือ เราควรเปิดใจให้กว้าง และมองคำศัพท์ด้วยจิตใจที่งดงามพร้อมเรียนรู้ ไม่เอาความงุนงงและความกังวลของอดีตและอนาคตมาขัดขวางดวงใจและสายตา
ถ้าเรียนรู้คำศัพท์ด้วยทัศนะเช่นนี้ เราก็จะเรียนรู้คำศัพท์ได้เร็วและมีความสุข แต่ถ้าเอาแต่ท่องหรือเอาแต่ไม่ท่อง และไม่มองอะไรอย่างอื่นเลย การเรียนรู้คำศัพท์ของเราก็คงไปไม่ถึงไหนหรอกครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
♥ วิธีติดตั้ง add-on → "แปล ศัพท์ ทุกคำ-ทุกเว็บ-ทันที " โดยไม่ต้องเข้าเว็บ ดิก ♥
ขอเสนอให้ตั้งหน่วยงานรวบรวมข้อมูลการเรียน-การสอนภาษาอังกฤษผ่านเน็ต
สวัสดีครับ
สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ผมคิดไว้นานแล้ว แต่ก็ยังคิดไม่สะเด็ดน้ำ อยากจะพูดให้คนอื่นฟังแต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะพูดกับใคร คิดไปคิดมา ขืนรอให้คิดตกและได้คนพูดที่เหมาะใจ ก็คงไม่ได้พูดสักที ก็เลยตัดสินใจว่า ขอพูดที่นี่วันนี้แหละ แม้ว่าจะไม่เกิดผลอะไร และทำได้แค่เป็นการคุยกับท่านผู้อ่านเฉย ๆ ก็ดีกว่าเก็บไว้เฉย ๆ
คือทุกวันนี้ สำหรับคนไทยที่ต้องการหาสื่อสำหรับใช้เรียนหรือสอนภาษาอังกฤษ ก็ทำได้ง่าย ๆ ไม่ว่าเรื่องอะไร เพียงเข้าไปที่ www.google.com พิมพ์คำค้นลงไป, Google ก็จะไป Search ข้อมูลที่ต้องการจากทุกมุมโลกมาให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นข้อมูลจากประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร และต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประสิทธิภาพของ Google ในการ Search พัฒนามากขึ้นเยอะทีเดียว หาอะไรก็เจอ บางทีเจอดีกว่าสิ่งที่เราจ้องไว้อีก
แต่ปัญหาพื้นฐานของคนไทยในการใช้สื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีให้ใช้ฟรีในเน็ตก็คือ ทักษะการอ่านและการฟังภาษาอังกฤษของคนไทยยังไม่สูงพอ จึงมีคนไทยจำนวนไม่มากที่มาสารถนำสื่อภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในเน็ตมาใช้ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองได้ และด้วยทักษะการฟังและการอ่านที่อ่อนนี้ ก็ทำให้ทักษะในการ Search อ่อนไปด้วย สรุปก็คือ ทรัพยากรมากมายในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในเน็ต คนไทยไปหยิบมาใช้เพียงได้นิดเดียว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีเว็บไซต์ภาษาไทยมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าไปเรียนกับเว็บภาษาอังกฤษได้โดยตรง สิ่งหนึ่งที่เว็บไซต์เหล่านี้ทำก็คือการอธิบายและแปลข้อความจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยย่อยเรียนได้ง่าย ๆ
เท่าที่เห็น เว็บไทยที่ว่านี้มีจำนวนมากและหลากหลายจริง ๆ ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านเห็นพอสังเขป ดังนี้
1.หน่วยงานหรือบุคคลที่จัดทำเว็บ เช่น
- เว็บของบริษัทหรือหน่วยงานเอกชน ที่มีเนื้อหาฟรีให้คนทั่วไปเข้าไปเรียน และขณะเดียวกัน ก็มีสินค้าขาย เช่น คอร์สฝึกอบรม, หนังสือ, ebook, CD/DVD, เรียนออนไลน์ ฯลฯ เนื้อหาฟรีที่ให้จึงคล้าย ๆ เป็นสินค้าตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างจากหลายเว็บก็ดีและมากอย่างน่าขอบคุณ
- เว็บของหน่วยงานราชการซึ่งทำเนื้อหาสอนภาษาอังกฤษเพื่ออบรมกลุ่มเป้าหมายจำเพาะของหน่วยงานนั้น หรือมีเนื้อหาที่สมาชิกขององค์กรทำเวียนเผยแพร่ในแวดวงของตัวเอง หรือเนื้อหาบางส่วนก็ผลิตเพื่อบริการสาธารณชน
- เอกชนหลายคนทำเว็บ, บล็อก, social media เพื่อเผยแพร่ความรู้การเรียนภาษาอังกฤษ โดยอาจจะมีรายได้เกิดขึ้นบ้างจากโฆษณาที่นำมาติดไว้
2.ลักษณะของเนื้อหาภาษาอังกฤษ มีหลากหลายมาก เช่น
- การฝึกสนทนา: น่าจะเป็นเนื้อหาหลักที่หลายเว็บเน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้เวลาเข้ายุคเออีซี ซึ่งทุกคนเห็นว่าการพูดสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญกว่าทักษะอื่น
- การเน้นทฤษฎี แกรมมาร์ การทำข้อสอบของนักเรียนนักศึกษา หรือการเตรียมตัวไปสอบวัดระดับต่าง ๆ เช่น TOEIC, TOEFL หรือสอบภาษาอังกฤษเข้าเรียนปริญญาโท
- การเน้นเรื่องการอ่าน หรือคำศัพท์
- การเน้นทุกทักษะ ทุกเรื่อง ซึ่งการจะทำได้ดีต้องเป็นเว็บที่ค่อนข้างใหญ่
3.การนำเสนอเนื้อหา มีหลากหมายเช่นกัน เช่น
- เน้นการอ่าน ทั้งการอ่าน online และดาวน์โหลดไปอ่าน offline
- เน้นการชม ซึ่งมักจะเป็นการนำคลิปขึ้นมาและนำไปฝากไว้กับเว็บ YouTube
4.ความง่าย-ยาก ของเนื้อหา
เท่าที่สังเกตดู เว็บไทยที่สอนภาษาอังกฤษจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างง่าย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผู้เรียนที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้วและต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูง ก็สามารถศึกษาผ่านเว็บภาษาอังกฤษโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเว็บภาษาไทย
5.สไตล์การสอน
การสอนผ่านเว็บมีลักษณะหนึ่งต่างจากตำราอย่างเห็นได้ชัด คือ ภาษาที่ใช้มีชีวิตชีวาและมีความเป็นกันเอง การใช้นิ้วคลิกหน้าเว็บจึงให้อารมณ์ที่ต่างจากการใช้มือคลิกหน้าหนังสือ เพราะฉะนั้น การเรียนผ่านเว็บ แม้จะไม่มีครูที่ใกล้ชิดจับต้องได้ แต่ก็อาจจะให้ความรู้สึกใกล้ชิดอีกแบบหนึ่ง เป็บความใกล้ชิดแบบห่างไกล
6.เครื่องมือการรับ-ส่งสื่อการเรียนการสอน
มีหลายรูปแบบ ทั้ง Desktop, notebook, tablet, smartphone, application, และผ่าน TV/cableTV เนื้อหาบางอย่างเมื่อผลิตออกมาแล้ว สามารถรับได้โดยหลายเครื่องมือ และบางอย่างก็รับได้เพียงบางเครื่องมือ
7.กลุ่มผู้เรียน และ กลุ่มผู้สอน
- เป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนลงไปว่า มีกลุ่มใดบ้างที่ใช้เน็ตเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษ เราอาจจะนึกถึงนักเรียนนักศึกษาที่ต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เรียนจบ แต่ก็ยังมีคนทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่นอกจากการพูดแล้ว ยังต้องเขียนและอ่านอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่าง “ห้ามผิด” นอกจากนี้ยังมีบุคคลในอาชีพต่าง ๆ เช่นผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวหรือการค้าขายกับคนต่างชาติ หรือคนที่ต้องหาความรู้แปลก ๆ จากเน็ตเพื่อนำมาผลิตสินค้าใหม่ ๆ และเปิดร้านออนไลน์ขายสินค้านั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากน้อยต่างกันไปในบุคคลที่ต่างกัน บางคนถ้าไม่รู้คือตาย ตกงาน ไร้อาชีพ แต่บางคนก็เพียงแค่รู้ไว้เพื่อไปช็อปปิ้งตอนไปเที่ยวเมืองนอก
- สำหรับกลุ่มผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศ คงจะพูดเป็นกลาง ๆ ได้ว่า ในขณะที่ท่านเหล่านี้ก็ใช้เนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปสอนลูกศิษย์ น่าจะมีวิธีการที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ ทั้งในการสืบค้น เนื้อหา และเทคนิค ของคุณครูเหล่านี้อย่างจริงจัง
จากที่พูดพอเป็นตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นภาพว่า ทุกวันนี้ “เนื้อหา” ที่เป็นภาษาไทยซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่มีอยู่ในเน็ตนั้น มันมีอยู่มากมาย และเกิดขึ้นทุกวัน แต่คำถามที่น่าหาคำตอบก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถรวบรวมเนื้อหาเหล่านี้ให้เป็นระบบระเบียบ เป็นกลุ่มก้อน อย่างครบถ้วน และนำไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้คนเข้าไปหา Search ได้ง่าย ๆ เพราะงานนี้เกินความสามารถที่ Google Search จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผมจึงมีความคิดที่พูดแล้วตั้งแต่ต้นว่า น่าจะมีหนึ่งหน่วยงานเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ คือ
- กำหนดกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็น หรือจะได้รับประโยชน์จากการเรียนภาษาอังกฤษผ่านเนื้อหาภาษาไทย (ต้องขอเน้นอีกครั้งว่า นี่เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือคนที่ยังต้องพึ่งภาษาไทยในการเรียนภาษาอังกฤษ สำหรับคนที่ทักษะสูงเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสิ่งนี้) นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิดให้ชัด ยิ่งชัดมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเหลือเขาได้มากเท่านั้น เพราะมันทำให้เรารู้ว่า เขาต้องการเนื้อหาอะไรในการเรียนภาษาอังกฤษ
- กำหนดเนื้อหาให้ครบถ้วน สำหรับกลุ่มบุคคลที่เรากำหนดไว้แล้ว
- กำหนดลักษณะความยากง่ายของเนื้อหา ให้บุคคลเริ่มเรียนได้อย่างเหมาะสม ตามระดับทักษะที่เขามีอยู่
- กำหนดเครื่องมือการเรียนออนไลน์ให้ครบทุกประเภท ตามที่กล่าวข้างต้น คือ Desktop, notebook, tablet, smartphone, application, และผ่าน TV/cable TV
- กำหนดการทดสอบที่คนสามารถ test ตัวเองได้ ทั้งก่อนเรียน, ระหว่างเรียน หรือ เมื่อเรียนจบ ในเรื่องหนึ่ง ๆ
- เป็นต้น
งานทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ต้องการคนเยอะ, ไม่ต้องการสำนักงานใหญ่ และที่ต้องย้ำก็คือ ไม่ใช่การจัดทำข้อมูลหรือสื่อการสอนขึ้นมาใหม่ เพราะสิ่งพวกนี้ที่กระจัดกระจายอยู่ในเน็ต หรือที่ซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของทางราชการ (แต่ทำแล้วไม่ได้ใช้หรือไม่ได้เผยแพร่) ก็มีอยู่มากมาย และที่เกิดขึ้นทุกวันก็มีมากมาย คำถามก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใส่ในหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ ให้คนเข้าไป search ได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการ Search โดยระบุเนื้อหา, วัตถุประสงค์, กลุ่มผู้ใช้, ความยากง่าย, เครื่องมือการใช้ หรืออะไรก็ตาม
ที่พูดตามข้างบนนี้พูดง่าย แต่ตอนทำอาจจะไม่ง่ายเหมือนพูด เพราะตอนที่หน่วยงานหรือบุคคลผลิตเนื้อหานั้น เขาก็ทำตามความคิดของเขาซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบใด ๆ ทั้งสิ้น และการทำลิงก์ดึงเนื้อหาที่เขาทำให้ไปเข้าประเภทหรือหมวดหมู่นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่มันก็พอทำได้
อีกเรื่องหนึ่งคือการประเมินคุณภาพของเนื้อหา สำหรับคนที่เป็น perfectionist อาจจะทนไม่ได้ถ้าเจออะไรที่ผิดแม้เพียงนิด ๆ หน่อย ๆ หรือคนที่ติดสไตล์ตำรา ถ้าคำอธิบายมีลักษณะพูดเล่นใช้ภาษานอกตำราเกินไปนิด อาจจะทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเนื้อหาดี ๆ มากมายก็จะไม่ “ผ่านเข้ารอบ” ในความเห็นของผม เราน่าจะมีผู้รู้ช่วยอ่านเนื้อหา ถ้ามันผิดก็ช่วยตรวจแก้ แต่อย่าถึงกับว่าทุกลิงก์ต้อง perfect 100 %
หน่วยงานที่ว่านี้เมื่อเกิดขึ้นมา หน้าที่ของมันก็คือเว็บไซต์ 1 เว็บที่จัดหมวดหมู่เนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไว้ด้วยกัน เมื่อมีการกำหนดกรอบเบื้องต้นอย่างที่ผมชี้แจงคร่าว ๆ ข้างบน ขั้นตอนต่อไปก็คือการดึงเนื้อหาฟรี ๆ มาเข้าหมวดหมู่ โดยมีการกลั่นกรองเนื้อหาด้วย และมีการประสานงานแจ้งสังคมและเว็บไซต์อื่น ๆ ในประเทศไทยที่สอนภาษาอังกฤษให้ทราบว่า เว็บไซต์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วเพื่อรับใช้คนไทยทั้งประเทศโดยขอรับความร่วมมือด้านเนื้อหาจากทุกคนที่หวังประโยชน์ให้ส่วนรวม
เว็บไซต์นี้จะมีคนทำงานเพียงไม่กี่คน คือ ผู้รู้ด้านภาษาอังกฤษที่หูตาและใจกว้าง 1 คนทำหน้าที่เป็น webmaster, คนที่มีความรู้เรื่อง IT 1 คน, เจ้าหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ 1 คน, และคนออกเงิน 1 คน ซึ่งจะเป็นหน่วยราชการหรือภาคเอกชนก็ได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
บางคนอาจจะคิดว่างานนี้เรื่องเงินสำคัญที่สุด แต่ผมกลับคิดว่าเรื่องใจสำคัญที่สุด ถ้าท่านมีใจที่จะทำเพื่อประชาชน ไม่ว่าท่านจะเป็นคนออกเงิน, ช่าง IT หรือผู้รู้ภาษาอังกฤษ ท่านสามารถทำงานช้างชิ้นนี้ให้รับใช้คนทั้งประเทศได้
พิพัฒน์
ทางออกง่าย ๆ ที่คนไม่อยากเดินออก
สวัสดีครับ
ผมมานั่งนึกไปนึกมา นึกมานึกไป หลายรอบหลายเที่ยวแล้ว ก็ยังได้คำตอบเหมือนเดิมทุกครั้ง คือ
[ก] ท่านที่รู้สึกว่าภาษาอังกฤษของตัวเองแย่ ขอถามว่า ถ้าให้ท่านเข้าคอร์สอบรมภาษาอังกฤษสัก 6 เดือน, ณ สถาบันที่เก่งและมีชื่อเสียงที่สุด, ครูที่สอนมีทั้งคนไทยและต่างชาติที่ทุกคนยอมรับฝีมือว่าเยี่ยมสุด ๆ ผมขอถามท่านว่า ท่านคิดว่าเมื่อเรียนจบระดับความเก่งของท่านจะสูงกว่าทุกวันนี้สักกี่ขีด, และหลังจากนั้นอีก 6 เดือนก็ให้ท่านฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองขณะทำงาน หรือเจียดเวลาฝึกที่บ้าน (ห้ามอ้างว่า ไม่มีงานที่ใช้ภาษาอังกฤษมาให้ฝึกทำ) ท่านคิดว่า ระดับความเก่งของท่านจะเท่าเดิม หรือจะเพิ่มขึ้น หรือจะลดลงกี่ขีด
[ข] ที่ผมถามท่านเช่นนี้ก็เพราะว่า ผมเคยเห็นตัวอย่างหน่วยงานหนึ่ง ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่ออบรมภาษาอังกฤษให้แก่พนักงาน แต่เมื่อจบโครงการไม่นานนัก ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีสักกี่คนที่ระดับภาษาอังกฤษสูงขึ้นอย่างน่าพอใจ หลายคนเรียกร้องให้มีการอบรมอย่างนั้นอีก หลายคนบอกว่าถ้าไม่มีงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษให้ทำ จะให้เก่งอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
[ค] ผมจึงได้สำนึกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานจะอบรมพนักงานทั้งปีทั้งชาติ, และแม้ว่าจะไม่มีงานใช้ภาษาอังกฤษให้ทำ เราก็สามารถฝึกอ่าน-ฝึกฟังภาษาอังกฤษได้อยู่นั่นเอง เราทำได้ทุกวันไม่มากก็น้อยถ้าเราตั้งใจจะฝึกจริง ๆ แต่ถ้าเราไม่อยากฝึก ก็ง่ายอย่างยิ่งที่เราจะหาข้ออ้างที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งมาสนับสนุนความไม่อยากฝึกของเรา
เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า การใส่ใจฝึกด้วยตัวเองคือคำตอบของเรื่องนี้ เป็นคำตอบง่าย ๆ ที่คนไม่สนใจมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
และทางออก หรือคำตอบของเรื่องนี้ ก็สั้น ๆ ง่าย ๆ อย่างนี้
ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องการอ่าน ส่วนการฝึกฟัง-พูด-เขียน ก็ทำในทำนองเดียวกัน
[1] เราควรฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที คำว่าทุกวันแปลว่า ไม่เว้นแม้แต่วันเดียว เหมือนกินข้าวทุกวัน ไม่เคยเลิกกินข้าวแม้แต่วันเดียว แม้แต่วันที่ขี้เกียจกิน หรือวันที่ไม่มีเวลากิน หรือวันที่ไม่มีอารมณ์จะกิน หรือแม้แต่วันที่ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าหาข้าวมากินให้ได้
[2] เลือกเรื่องที่ชอบหรือสนใจจะอ่าน ที่ยากง่ายเหมาะสมกับตัวเอง ถ้าหาเรื่องนั้นไม่เจอ (หรือไม่ยอมหา) ก็ขอให้ยอมรับสภาพ (หรือรับกรรม) ทนอ่านเรื่องที่ไม่ชอบหรือไม่สนใจ หรือไม่เหมาะกับตัวเอง แต่ท่านต้องอ่าน
นี่เป็นทางออกง่าย ๆ ที่คนไม่อยากเดินออก
ผมเชื่อว่าเมืองไทยยังจะครองแชมป์ภาษาอังกฤษยอดแย่ไปอีกนาน ถ้าเรายังรักษา "วินัย" ในการฝึกภาษาอังกฤษอย่างคงเส้นคงวา เสมอต้นเสมอปลาย อย่างที่รักษามาเนิ่นนานจนทุกวันนี้
แต่ทางออกนั้นมีอยู่แน่ ๆ ถ้าเราลืมตามอง และเริ่มเดินไปตามทางนั้น
พิพัฒน์
การเรียนภาษาอังกฤษในยุคอินเทอร์เน็ต
ข้อควรคำนึง
การเรียนภาษาอังกฤษในยุคอินเทอร์เน็ต
ซึ่งมีสื่อการเรียนมากมายให้เรียนฟรี
พระเจ้ามอบอาหารให้แก่นกทุกตัว
แต่ไม่เคยโยนอาหารให้ถึงรังของนกเหล่านั้น
More Articles...
- 15 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ท่าน (และผม) อาจจะไม่เคยได้ยิน
- กฎ 10 ข้อสำหรับคนอยากเก่งภาษาอังกฤษ
- ขอติงการแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษที่เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน
- ช่วยแจ้งข้อมูลการใช้ add-on ดิกชันนารี
- ข้อคิดเห็นจากการศึกษาตัวอย่างการแปล อังกฤษ - ไทย ของ Google Translate
- เชิญอ่าน “เคล็ดลับ การฝึกภาษาอังกฤษ ให้ประสบความล้มเหลวอย่างรวดเร็ว”
- ส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์เพื่อหัดพูดภาษาอังกฤษตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล แค่นี้ยังไม่พอหรอกครับ....
- ฟังเพลง "เป็นโรคแพ้ฝรั่ง"
- ภาวะไอคิวต่ำของเด็กไทย อ่านแล้วหนักใจ เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้ยังไง?
- ขอรบกวนท่านผู้อ่าน แจ้งผลการใช้ “ไฮไลท์ดิก”
- ชีวิตต้องสู้!!
- ขอแนะนำ ไฮไลท์ดิก อังกฤษ – ไทย ของเว็บ e4thai.com
- เรื่องที่ฝรั่งก็ยังทะเลาะกันเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษของเขา
- มีข่าวภาษาอังกฤษเกี่ยวกับขอทานมาฝากครับ
- เพลง กำลังใจให้เนปาล (นิด ลายสือ Ft.ไอดิน อภินันท์)
- เว็บเรียนภาษาอังกฤษดีที่ผมชอบ
- อ่านเรื่อง “แปลก” ในอินเทอร์เน็ต
- ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ง่ายกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาหลายเท่า
- สวัสดีปีใหม่วันสงกรานต์ครับ
- วิธีฝึกภาษาอังกฤษในวันที่ขี้เกียจ – วันที่ไม่มีแรง, ไม่มีเวลา, ไม่มีอารมณ์จะฝึก