Home
แนะนำ Facebook “เรียนศัพท์จากคำคม” และคำแนะนำในการเรียนภาษาอังกฤษกับคำคม
สวัสดีครับ
ในเน็ตทุกวันนี้มีคำคมอังกฤษแปลไทยมากมาย ท่านลองคลิกเข้าไปดูก็ได้ ↣ คำคม อังกฤษ ไทย และสามารถใช้เว็บพวกนี้ฝึกอ่าน-ฝึกแปลภาษาอังกฤษได้
และวันนี้ผมขอแนะนำ Facebook เรียนศัพท์จากคำคม ⇾ https://www.facebook.com/quoteswordsbkk
เขานำคำคมภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทยให้ศึกษา ซึ่งสมกับชื่อ Facebook ว่า “เรียนศัพท์จากคำคม” เพราะนอกจากแปลศัพท์แล้ว ยังบอกประเภทของคำ, คำอ่าน, และบางทีก็แถมคำอธิบายอื่น ๆ เกี่ยวกับคำศัพท์หรือแกรมมาร์ รวมทั้งข้อมูลสั้น ๆ เกี่ยวกับเจ้าของคำคมอีกด้วย
ณ วันนี้ (6 ตค. 59) Facebook เรียนศัพท์จากคำคม มี 30 คำคม คาดว่า จะมีเพิ่มมาให้อ่านเรื่อย ๆ ผมขอแนะนำให้ท่านไล่ศึกษาไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่อันแรกเลย == > คลิก เมื่ออ่านจบแต่ละอันก็คลิก > ที่อยู่ขอบขวาไปเรื่อย ๆ
ทำไมผู้คนจึงสนใจคำคม? เท่าที่ผมสังเกต ความคมของคำคมนั้นมาจาก 2 อย่าง คือ เนื้อหาที่คม และภาษาที่คม บางคำคมคมที่เนื้อหาอย่างเดียว แต่บางคำคมคมทั้งเนื้อหาและภาษา มีการใช้คำที่มีพลัง คล้องจอง สัมผัส ลงหนักเบา เล่นจังหวะ ใช้อุปมา ฯลฯ ในรูปของฉันทลักษณ์ หรือแม้แต่ในรูปกลอนเปล่า ก็ล้วนช่วยให้เนื้อหาที่คมอยู่แล้วคมยิ่งขึ้น เป็นที่ประทับใจและน่าจดจำ
แต่ที่ผมรู้สึกเฉย ๆ ก็คือ บางคนพยายามสร้างคำคมโดยอาศัยความคมของภาษาแต่เนื้อหากลับไม่มีอะไรเลย คำคมพวกนี้มักจะคมอยู่ไม่ได้นานและทื่อเร็ว
เมื่อมีการแปลคำคมจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ถ้าคำคมของต้นฉบับมีทั้งคมที่เนื้อหาและคมที่ภาษา ผู้แปลที่เก่งจะสามารถถ่ายถอดความคมได้ทั้ง 2 ส่วน นี่ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำแปลโคลงโลกนิติจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เพราะท่านแปลได้คมครบถ้วน ⇾ คลิก ซึ่งผมเขียนไว้ที่บทความนี้นานมาแล้ว ⇾ คลิก
ส่วนคำคมสำนวนแปลใหม่ ๆ จากภาษาไทยเป็นอังกฤษ ที่ผมเคยเจอว่าท่านแปลได้คมก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น
อมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ไทย – อังกฤษ ⇾ คลิก หรือหนังสือของท่านพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี 2 เล่มนี้ ทวิตธรรม นำ ทวิตเตอร์⇾ คลิก และ วรรคทอง – วรรคธรรม ⇾ คลิก
สำหรับพวกเราที่ศึกษาภาษาอังกฤษจากคำคมอังกฤษแปลไทย ผมมีความเห็นดังนี้
❶ เมื่ออ่านคำคมภาษาอังกฤษ อันดับแรกให้พยายามตีความให้รู้เรื่องด้วยตัวเอง และการรู้เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเป็นภาษาไทย เพราะเราสามารถรู้เรื่องเป็นภาษาอังกฤษในสมองไปได้เลยโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย
➋ เมื่อทำความเข้าใจแล้ว ก็ลองแปลเองเป็นภาษาไทยดูซิ นี่เป็นการวัดความสามารถของเราในการใช้ภาษาไทย
❸ หลังจากนี้จึงอ่านคำแปลที่เขาโชว์ไว้ในหน้าเว็บ ดูว่า เขาแปลได้ดีไหม ถูกต้องไหม ทั้งในด้านของความหมายและการใช้ภาษา
ทุกวันนี้มีคำคมมากมาย ที่แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผมขอแนะนำให้ท่านใช้หลักเกณณ์ 3 ข้อนี้ในการศึกษาคำคม และท่านจะได้ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัว
ส่วนในเรื่องของเนื้อหา ผมเห็นว่ามีเรื่องหนึ่งที่ควรระวังอยู่บ้างเมื่ออ่านคำคม คือว่า คำคมนั้นมักจะสั้น ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คำคมจะครอบคลุมทุกแง่มุมที่กำลังพูด เพราะฉะนั้นการตีความความหมายของคำคมให้ได้ประโยชน์ ต้องตีความในแง่บวกให้เกิดประโยชน์เพื่อครอบคลุมสิ่งที่คำคมเว้นไว้ไม่ได้พูด สรุปสั้น ๆ ก็คือ ต้องไม่ตีความคำคมไปในแง่ที่ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น แต่ต้องตีความอย่างสร้างสรรค์เพื่อเกื้อกูลตนเองและคนอื่น
ถ้าท่านต้องการศึกษาคำคมภาษาอังกฤษพร้อมภาพสวย ๆ ก็ให้ไปที่ ⇾ Google Images และพิมพ์ชื่อหัวข้อหรือชื่อเจ้าของคำคมลงไป และตามด้วยคำว่า quotes เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้คำคมภาษาอังกฤษมาศึกษา ฝึกอ่าน ฝึกแปล เช่น
- einstein quotes
- Buddha quotes
- dalai lama quotes
- mother teresa quotes
- confucius quotes ขงจื๊อ
- ajahn chah quotes หลวงพ่อชา
- buddhadasa quotes อาจารย์พุทธทาส
- friendship quotes
- effort quotes
- reading quotes
- peace of mind quotes
- love quotes
สรุปก็คือ การศึกษาคำคมภาษาอังกฤษ และการฝึกแปลเป็นภาษาไทย มีประโยชน์หลายอย่าง ไม่เพียงแค่ทักษะภาษาอังกฤษแต่ชีวิตของเราก็คมขึ้นด้วย
พิพัฒน์
ไม่กล้าพูดอังกฤษ! ทำยังไงให้กล้า?
สวัสดีครับ
หลายครั้งที่ได้ยินผู้รู้แนะว่า ถ้าอยากพูดได้ พูดเก่ง ก็ต้องกล้าพูด ถ้าได้พูดก็จะพูดได้ ถ้าไม่ได้พูดก็จะพูดไม่ได้ กฎการพูดให้ได้มันก็ง่าย ๆ แค่นี้แหละ พูดไปเถอะไม่ต้องกลัวผิดแกรมมาร์หรือกลัวว่าใช้ศัพท์ผิด พูดไปแก้ไป ก็จะค่อย ๆ พูดได้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้พูดก็จะไม่ได้แก้ และพูดไม่ได้
คำแนะนำเช่นนี้ถูกต้อง 100% แต่คนมากมายที่อยากพูดอังกฤษเก่งก็ไม่ทำตาม ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะกลัว กลัวอะไร? กลัวพูดผิด กลัวคนแซว กลัวสื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลัวอะไร เอาเป็นว่ากลัวแล้วกัน และจบลงด้วยการไม่พูด
มีคลิปออกมาเนือง ๆ ที่โชว์เด็กซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ทั้ง ๆ ที่อายุนิดเดียว เรียนโรงเรียนธรรมดา พ่อแม่เป็นไทย และไม่เคยไปเมืองนอก ผมไม่แน่ใจว่าคลิปพวกนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้นหรือเปล่า เขาอาจจะคิดว่าเป็นพรที่สวรรค์ยื่นให้เฉพาะเด็กบางคนเหมือนถูกหวย ใครโชคไม่ดีก็ทำไม่ได้ และก็อย่าไปฝึกทำให้เสียเวลา เหนื่อยเปล่า!
บ่อยครั้งที่ผมมานั่งนึกถึงปัญหานี้ แล้วก็สงสัยว่า คนไทยเรานี้ไม่มีทางก้าวข้ามปัญหานี้ได้เลยหรือ ใน 9 ประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยผมไปมาหมดแล้ว และก็ได้ข้อสรุปอย่างที่เขาสรุปกัน คือคนไทยพูดภาษาอังกฤษได้แย่ที่สุด แต่... แต่ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นด้วยล่ะ? เรื่องอื่น ๆ ที่ขึ้นเวทีแข่งกันเราก็สู้เขาได้ แต่ทำไมเรื่องพูดภาษาอังกฤษเราชอบครองแชมป์บ๊วย มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น
ผมจึงมานั่งตั้งโจทย์ให้ตัวเองตอบ คำถามมีว่า ดช. ก, ดญ. ข, นาย ค, นางสาว ง เป็นคนไม่ขี้เกียจ แต่เพราะอายจึงไม่พูดภาษาอังกฤษ ทำยังไงจึงจะทำให้เขาฝึกพูดโดยไม่รู้สึกอาย เพราะเรารู้ว่าเมื่อเขาฝึกพูดเรื่อย ๆ เขาก็จะค่อย ๆ พูดได้ และพูดคล่องในที่สุด แต่อันดับแรกสุด ต้องไม่อายที่จะพูด
โจทย์ข้อนี้จะตอบยังไง?
พอคิดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงเด็ก ๆ ที่หัดพูด เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้คำศัพท์ทีละคำสองคำ เขาจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากพูดได้ทีละคำ ต่อมาก็พูดได้ยาวขึ้นเป็นวลี เป็นประโยค เป็นหลาย ๆ ประโยค โดยรู้ว่าแต่ละคำต้องออกเสียงยังไง และเมื่อเอาหลายคำมารวมกันเป็นประโยค ก็รู้ว่าต้องออกเสียงสูงต่ำขึ้นลงอย่างไร พูดง่าย ๆ ก็คือ เด็กไทยที่หัดพูดเรียนรู้ทั้งสำนวนและสำเนียงไปพร้อมกัน เป็นการเรียนธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านทฤษฎี เรียนโดยผ่านการฟัง
และถ้ามีผู้ใหญ่บางคนไปพูดกับเด็กโดยใช้ศัพท์สูง ๆ ผูกประโยคด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อน เด็กก็จะไม่รู้เรื่องว่าผู้ใหญ่พูดอะไร สรุปก็คือ ในการหัดพูดของเด็กนั้น เขารู้แค่ไหนเขาก็พูดแค่นั้น และสิ่งที่เขารู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศัพท์สำนวนหรือสำเนียง เขาได้มาจากการฟังทั้งสิ้น
ครั้นพอเด็กเข้าโรงเรียน ครูสอนให้อ่านหนังสือ เขาก็เริ่มรู้จักศัพท์สำนวนใหม่ ๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยได้ยินผ่านหู เพราะฉะนั้นศัพท์สำนวนใหม่ ๆ ที่เขาได้รับนี้ เขาได้รับผ่านช่องทางใหม่ คือผ่านตา เพิ่มเติมจากช่องทางเดิมที่ได้รับผ่านหูอย่างเดียว เด็กจึงมีศัพท์สำนวนมากขึ้นสำหรับการพูด
คราวนี้ย้อนมาดูการฝึกพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทยบ้าง สำนวนและสำเนียงภาษาอังกฤษ อันเป็นสองสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการพูด เด็กได้มาจากไหน และได้มาเพียงพอหรือเปล่า?
ขอว่าเรื่องศัพท์สำนวนก่อน เด็กแต่ละคน แต่ละโรงเรียน อาจจะรู้ศัพท์จำนวนไม่เท่ากัน แต่ไม่ใช่ว่าเด็กจะต้องรู้ศัพท์เยอะ ๆ จึงจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะอย่างเด็กไทยหัดพูดภาษาไทย รู้แค่ไหนเด็กก็พูดแค่นั้น ไม่ใช่พูดไม่ได้
แต่ที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องสำเนียง ซึ่งต้องได้มาจากการฟังเท่านั้น ไม่สามารถได้มาจากการอ่าน การรู้และเข้าใจสำเนียงหมายความว่าอย่างไร? มันหมายความว่า...
- เมื่อได้ยินคนอื่นพูดคำนั้น เด็กฟังและเข้าใจ
- เมื่อจะพูดคำนั้นบ้าง เด็กก็พูดได้ทันที พูดได้อย่างมั่นใจ อย่างไม่กลัวผิด
- นอกจากพูดเป็นคำ ๆ แล้ว เด็กยังสามารถนำคำนั้นไปผูกเป็นประโยคหรือวลีเพื่อใช้พูดได้อีกด้วย ความสามารถเช่นนี้มาจากการได้ฟังผู้ใหญ่พูด และเขาก็พูดตาม และต่อมาก็ดัดแปลงผูกประโยคของตัวเอง เขาทำได้อย่างนี้ก็เพราะเขาฟังมาเยอะ จนซึมเข้าไปในไส้ และพูดได้โดยไม่ต้องคิด
พอมาถึงตรงนี้ ท่านจะเห็นชัดว่า การที่เด็กไทยหรือคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ทั้ง ๆ ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ปัญหามันไม่ใช่เพียงแค่ครูเน้นเรื่องแกรมมาร์มากเกินไปอย่างที่ชอบอ้างกัน แต่เป็นเพราะเราฝึกให้เด็กฝึกพูดน้อยเกินไปจนเด็กไม่ได้พูด และพูดไม่ได้ และไม่กล้าพูด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ศัพท์สำนวนมากพอสมควร รู้แกรมมาร์เยอะ ซึ่งได้มาจากการอ่าน ไม่ใช่ได้มาจากการฟัง
เพราะเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กฝึกฟังน้อยเกินไป น้อยมาก เด็กจึงขาดเรื่องสำเนียง คือฟังสำเนียงที่คนต่างชาติพูดมาก็ไม่รู้เรื่อง และพูดออกไปด้วยสำเนียงที่คนต่างชาติฟังไม่รู้เรื่อง หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ไม่กล้าพูดด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้มีเน็ตใช้ มีมากมายหลายเว็บที่สอนคนไทยพูดภาษาอังกฤษ โดยนำประโยคภาษาอังกฤษที่ใช้พูดในสถานการณ์ต่าง ๆ มาสอน แถมยังแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านอีกด้วย ปัญหาก็คือ เมื่อถึงโอกาสที่ต้องพูดจริง ๆ กับคนต่างชาติ ถ้าเราจำประโยคพวกนี้ไม่ได้ หรือจำได้แต่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์เฉพาะหน้า เราจะทำยังไง?
ผมตั้งคำถามไว้อย่างนี้และก็เชื่อว่า มีผู้รู้สามารถให้คำแนะนำดี ๆ มากมาย ซึ่งแปลว่า เราคงต้องฝึกหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้
แต่ในที่นี้ผมขอแนะนำข้อเดียวเท่านั้น คือ ต้องฝึกสิ่งที่เราไม่ได้ฝึกมาตั้งแต่ต้น หรือฝึกมาน้อยเกินไป ตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็ก นั่นคือ ฝึกฟัง!
ทำไมเมื่อจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้ การฝึกฟังเป็นงานแรกที่ต้องทำ? ก็เพราะว่า
✦เมื่อฝึกฟัง เราจะได้ยินสำเนียง และลีลาหนักเบาสูงต่ำของภาษาพูด เรื่องนี้ท่านจะเรียนจากการอ่านหนังสือก็ได้ แต่การอ่านไม่ช่วยให้การรู้จักสำเนียงซึมเข้าไปในตัวท่านได้ลึกเท่ากับการฟัง เพราะฉะนั้น...
[1] ท่านต้องฟัง
---> เมื่อท่านฟัง ท่านจะรู้จักวิธีออกเสียงเป็นคำ ๆ คุ้นเคยกับลีลาของภาษาเรื่องความสูงต่ำหนักเบาของเสียง แม้ว่าท่านจะไม่สามารถพูดได้เหมือนฝรั่ง (ซึ่งก็ไม่จำเป็นเลยที่ต้องพูดให้เหมือน) แต่ท่านจะสามารถพูดอังกฤษสำเนียงไทยที่คนต่างชาติไหน ๆ ก็ฟังรู้เรื่อง นี่ต่างหากที่เราต้องการฝึก คือฝึกปากให้พูดสื่อสารรู้เรื่อง ไม่ใช่ฝึกพูดให้เหมือนฝรั่งให้ได้
---> เมื่อท่านฟัง ท่านจะค่อย ๆ คุ้นเคยกับสำเนียง ซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจเมื่อฟังคนต่างชาติพูด นี่คือการฝึกหูให้ฟัง
---> เมื่อท่านฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟังเพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกพูด ท่านควรฟังเรื่องที่ท่านชอบ สนุก สั้น และง่าย (เรื่องที่ยากและยาวนั้นเอาไว้ฝึกทีหลัง) ทำไมต้องเลือกเรื่องอย่างนี้สำหรับการฝึก เพราะว่าท่านจะได้มีแรง กำลัง energy สำหรับการเรียนรู้ดูดซึมสำเนียง และลีลาของศัพท์ สำนวน โครงสร้างภาษา ได้เยอะและอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ต้องหมดแรงไปกับการทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ มากเกินไป จนการฝึกฟังไม่มีประโยชน์ต่อการฝึกพูด
อะไรคือคลิปที่สนุก สั้น และง่าย เท่าที่ผมสำรวจดูก็ไม่พ้น story ที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็ก ๆ ถ้าท่านรู้สึกว่าตัวเองโตเกินไปสำหรับเรื่องพวกนี้ หรือเรียนถึงหรือจบชั้นมหาวิทยาลัยแล้วไม่ใช่เด็กชั้นประถม ก็ขอให้ถ่อมใจสักนิดและถือว่านี่เป็นเส้นทางของการศึกษา
ลองดูข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างครับ
- stories for kids in english
- stories for kids in english "level 1"
- aesop stories in english
- english cartoons for learning english
- easy english learning cartoons
- easy english bedtime stories
- "for kids" OR easy english Buddhist stories
- fairy tales for children in english
ถ้ายังไม่ถูกใจ ลองเข้าไปหาเพิ่มเติมนะครับ มีเยอะครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าบางท่านรู้สึกว่าตัวเองเมื่อฝึกฟังเรื่องที่ยากมันเป็นประโยชน์ต่อการฝึกพูด ก็เชิญดำเนินไปตามสะดวกครับ จะดูหนัง ฟังเพลงฝรั่ง ดูสารคดี ฟังเล็กเชอร์ ฟังออดิโอบุ๊ก ฯลฯ เชิญได้ตามสะดวกครับ
ถึงบรรทัดนี้ ผมมีคำแนะนำ 4 ข้อ
✪ ถ้าฟังคลิปใดไม่รู้เรื่องเลย คือมันยากเกินพิกัด ให้เปลี่ยนคลิปใหม่ที่ง่ายและฟังรู้เรื่องมากขึ้น
✪ การฟังไม่เข้าใจ 100% ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโศกเศร้าเสียใจ แต่ขอให้เรามีสมาธิ 100% ในการฟัง ส่วนที่เราไม่เข้าใจและหลุดไปนั้น คือศัพท์และสำนวน แต่ด้วยสมาธิ 100% เราก็จะได้สำเนียง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพูด และช่วยให้การฟังครั้งต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น
✪ การฟังซ้ำด้วยสมาธิ 100% ทุกครั้งที่ฟัง คือเรื่องที่ต้องฝึกให้เป็นนิสัย เมื่อเราฟังครั้งหลัง ๆ เราอาจจะแปลกใจว่า มันก็เรื่องเดียวกัน เมื่อคราวที่แล้วประโยคนี้ทำไมเราฟังไม่รู้เรื่อง นี่คือพัฒนาการครับ และผมอยากชักชวนให้ท่านฝึก จนพบพัฒนาการเช่นนี้ด้วยตัวเอง
✪ Subtitles ที่ขึ้นบนจอ หรือ Transcript ที่บาง story มีให้ท่าน แม้มีประโยชน์ที่ช่วยให้เราเข้าใจศัพท์สำนวนได้ง่ายและมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ขณะนี้เรากำลังฝึกฟัง ซึ่งเน้นเรื่องสำเนียง ท่านอย่าปล่อยให้การเรียนรู้ศัพท์สำนวน มาขัดขวางการฝึกฟังสำเนียง ซึ่งเป็นงานที่ต้อง train your ears 100%
[2] อีกเรื่องที่ผมขอเน้นเป็นพิเศษก็คือ การฟังรู้เรื่องจะช่วยสร้างความมั่นใจ และความมั่นใจในการฟังนั้น จะนำไปสู่ความมั่นใจในการพูด ถ้าเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราก็จะไม่ค่อยมั่นใจในการพูดของเรา ทำให้พูดอย่างยั้ง ๆ แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเราฟังเขาพูดรู้เรื่อง เราก็จะมั่นใจในการพูดของเรามากขึ้น ถ้าสำเนียงพูดภาษาอังกฤษของเราไม่หรูหรา ก็เป็นหน้าที่ของคุณที่ฟังฉันพูดต้องพยายามเอาบ้าง จะให้ฉันพยายามอยู่คนเดียวได้ยังไง (ฮา!)
ท่านผู้อ่านครับ อย่างที่ผมบอกแล้วว่า การฝึกให้พูดภาษาอังกฤษได้ต้องทำหลายอย่าง การฝึกฟังที่ผมเน้นเท่าที่คุยมานี้ เป็นอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้และต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถ้าเราฝึก ๆ หยุด ๆ ทักษะที่ได้จากการฝึกมันก็อาจจะเสียไป พอมาฝึกใหม่ก็ต้องเริ่มจาก step one อีก จึงเสียเวลา เหมือนดาวน์โหลดไฟล์ RAR ขนาดใหญ่ ถ้าไม่ดาวน์โหลดต่อเนื่องให้เสร็จไปเลย แต่ shut down เสียก่อน พอมาดาวน์โหลดใหม่ก็ต้องเริ่มจาก byte ที่ 1 จึงเป็นการฝึกที่เสียเวลาและไร้ผล การทำอะไรให้สำเร็จ ความพยายามนั้นจำเป็น และต้องเป็นความพยายามที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่พยายามครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ผมขอย้อนกลับมาตอบปัญหาที่ตั้งไว้เป็นหัวเรื่อง “ไม่กล้าพูดอังกฤษ! ทำยังไงให้กล้า?” คำตอบสั้น ๆ ก็คือ ขอให้ท่านฝึกฟังจนเข้าไส้เถอะครับ และเมื่อถึงคราวที่จะพูดภาษาอังกฤษ ท่านจะกล้าพูดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ
คนกล้า ทำอะไรก็สำเร็จ แต่ก่อนที่ท่านจะกล้าพูด ท่านต้องกล้าฝึกฟัง และไม่เกลียดความสำเร็จที่มาช้า ไม่ทันใจท่าน
พิพัฒน์
ทางสุดโต่ง 2 สายที่ไม่น่าเดินในการฝึกภาษาอังกฤษ
สวัสดีครับ
ในเน็ตมีข้อมูลมากมายมหาศาลให้เราฝึกภาษาอังกฤษ แต่เวลา-เรี่ยวแรง-อารมณ์ ที่จะฝึกเราอาจจะไม่ได้มีมากมายทุกวัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีถ้าเรามีเว็บเจ้าประจำให้เข้าไปฝึกได้ง่าย ๆ เหมือนร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านอาหารตามสั่ง เจ้าประจำ ที่เราเข้าไปกินทุกวัน เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่ต้องใช้สมองคิดมากว่าจะกินอะไร เราสามารถสั่งมากินได้ทันที กินเสร็จก็จ่ายตังค์ เดินออกจากร้าน
เว็บเจ้าประจำของเราก็มีประโยชน์ในทำนองเดียวกัน เมื่อเข้าไปแล้วก็คลิกปุ่มที่จะศึกษาได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดมาก ฝึกครบตามเวลาแล้วก็ shut down วันพรุ่งนี้ค่อยเข้าไปคลิกฝึกใหม่
ผมขอแนะว่า เว็บเจ้าประจำที่ถูกใจแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่มันน่าจะมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้
[1] มีเนื้อหาให้ทั้งฝึกอ่านและฝึกฟัง โดยแต่ละวัน เราจะฝึกทั้งสองอย่าง หรือฝึกอย่างเดียว ก็แล้วแต่ความพร้อมของเรา
[2] มีเนื้อหาที่เข้ากับนิสัยใจคอ ความชอบ ความสนใจ ความถนัด ความคุ้นเคย ความรู้พื้นฐาน ฯลฯ ของเรา หรืออย่างน้อยที่สุด มีเนื้อหาที่เราไม่รังเกียจที่จะศึกษา เนื้อหาอย่างนี้จะทำให้เราเบื่อยาก และเมื่อเจอความลำบากก็จะไม่ท้อง่าย ๆ เพราะฉะนั้น เราน่าจะยอมเสียเวลาหาให้เจอ เพราะมันคุ้มค่า
[3] มีเนื้อหาที่ update หรือมีเนื้อหาใหม่ ๆ อยู่เสมอ เราจะได้มีเรื่องใหม่ ๆ ให้ฝึกอ่าน-ฝึกฟัง ที่ไม่จำเจซ้ำซาก
ข้างล้างนี้เป็นเพียงเว็บตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ท่านพิจารณารับเป็นเว็บเจ้าประจำในการฟิตภาษาอังกฤษ ถ้ายังไม่ถูกใจ ท่านก็ต้องยอมลงทุนหาเองแหละครับ
A: เว็บ Bangkok Post Learning English
มีข่าวให้ฝึกอ่านและคลิกฝึกฟังเสียงอ่านข่าว, แบ่งเป็น 3 ระดับความยากง่ายให้เลือก คือ EASY, INTERMEDIATE และ ADVANVED
http://www.bangkokpost.com/learning/
B: เว็บ Baby English!
เป็นเว็บเสียงบทสนทนาของคน 2 คน, มี script ให้อ่าน, มีแบบฝึกหัดให้ทำ, มีเฉลยให้ตรวจ ถ้ารู้สึกว่าฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็แก้โดยฟังหลาย ๆ เที่ยว หรือจะอ่าน script ก็ได้, เว็บนี้เปลี่ยนเนื้อหาใหม่ทุกวันครับ
http://englishtips.org/daily_english_lesson.html
C: เว็บ Breaking News English
มี world news ให้อ่านและฟัง พร้อมทำ exercise + ดูเฉลย, เนื้อหาใหม่แทบทุกวัน, มีหลาย Level ยาก-ง่าย ให้เลือก, และยังมีเนื้อหาย้อนหลังให้คลิกเข้าไปศึกษาเป็นพัน ๆ เรื่อง
http://www.breakingnewsenglish.com/
D: เว็บ englishdaily626.com
มีเนื้อหาให้เลือกศึกษาหลากหลายมาก ทั้งฟังและอ่าน มีแบบฝึกหัดพร้อมเฉลย
http://www.englishdaily626.com/
ท่านผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่า 4 เว็บข้างต้นนี้ก็ยังไม่ถูกใจ หรือไม่สามารถเป็นเว็บเจ้าประจำของหลายท่าน เพราะการหาสิ่งที่สมพงศ์หรือ compatible เช่นนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะหากันได้ง่าย ๆ และนี่ก็เป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทความในวันนี้ คือ ผมขอแนะนำให้ท่านที่รักจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง ได้หาเว็บเจ้าประจำที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ซึ่งอาจจะมีสัก 5 เว็บ พอถึงเวลาของการฝึกภาษาอังกฤษในแต่ละวัน ท่านก็เข้าไปที่เว็บเจ้าประจำที่ตัวเองคัดเลือกไว้แล้วนี้แหละ
หลายคนที่ศึกษาภาษาอังกฤษมักจะสุดโต่งไป 2 อย่าง อย่างแรกคือ ไม่แสวงหาเว็บ แหล่งเรียน อุปกรณ์ หรือเว็บไซต์อะไรเลย รอให้คนมาป้อนอย่างเดียว อย่างที่สองคือ แสวงหา-สะสม ไว้อย่างมากมาย เล่มนั้นก็ดี, เว็บนี้ก็ใช้ได้, app นั้นก็เยี่ยม, โปรแกรมนั้นก็น่าใช้, คลิปนี้ยิ่งพลาดไม่ได้ ฯลฯ แสวงหา-สะสมไว้มากมาย แต่ก็ไม่ได้เข้าไปศึกษาอะไรจริง ๆ จัง ๆ เลย
วันนี้ผมขอแนะนำให้ท่าน (1) หาให้พบเว็บเจ้าประจำที่เหมาะกับท่านมากที่สุด และ (2) ลงมือฝึกฝนจริงจังต่อเนื่อง และท่านจะประสบความสำเร็จครับ
ฝึก อ่าน-ฟัง-พูด วันละ 5 – 10 ประโยค กับ Longman Dictionary
More Articles...
- จะฝึกอังกฤษให้ได้ผล ต้องมีครบ 4 “พอ”
- ขอลางานครับ
- วิธีฝึกอ่านภาษาอังกฤษที่อ่านยาก (The Economist)
- ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า ?
- เรื่องน่าเศร้าในการเรียนภาษาอังกฤษ
- HOW TO: "4 เทคนิคฝึกภาษาอังกฤษจากการดูซีรีส์" บอกหมดทุกขั้นตอน!
- คำแนะนำการฝึกอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ reading
- จะเก่งอังกฤษ: ตั้งเป้าให้ชัด และไปให้ถึง
- อยากพูดได้-เขียนได้, ต้องขยันอ่าน-ขยันฟังภาษาอังกฤษ, มากกว่าเอาแต่อ่าน-เอาแต่ฟัง คำอธิบายเป็นภาษาไทย
- เรื่องเล่าจากการเข้านอน รพ.
- ขอลางาน
- ฝึกใช้ดิก อังกฤษ-อังกฤษ กับดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย (Cambridge)
- ขอลางาน
- ขอแนะนำวิธี "ฝึกอ่าน-ฝึกแปล-ฝึกพูด" โดยให้ add-on Google เป็นพี่เลี้ยง
- เขาเชิญให้ผมไปพูดให้อาจารย์สอนภาษาอังกฤษฟัง – ผมขอคำแนะนำจากท่านด้วยครับ
- เรียนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันที่ usalearns.org
- 100 idiom เกี่ยวกับ เวลา และข้อแนะนำวิธีการจำ idiom
- เรื่องของผมกับหมากลางถนนตัวหนึ่ง
- ฝึกภาษาอังกฤษกับ English Baby!
- ผมยินดีรับเชิญเป็นวิทยากรครับ