Home
คำแนะนำการฝึกอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ reading
สวัสดีครับ
Reading มักเป็นพาร์ทหนึ่งของข้อสอบเข้าเรียนปริญญาโท, ข้อสอบ TOEIC, TOEFL หรือข้อสอบชิงทุนต่าง ๆ
การเตรียมตัวเพื่อทำข้อสอบพาร์ท Reading ให้ได้คะแนนเยอะ ๆ ถ้าแนะนำอย่างกำปั้นทุบดินก็คือ ต้องฝึกอ่านทุกวัน เพราะขณะที่ทำข้อสอบในห้อง ถ้าเตรียมตัวมาไม่ดีเราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว เราไม่มีเวลาคิดหรือทบทวนมาก จะต้องอ่านด้วยสมาธิ อ่านแล้วจำให้ได้ทันที ตีความทันที จะได้ไม่ต้องย้อนอ่านกลับไปกลับมา ถ้าทำไม่ทันและต้องกามั่วตอนท้าย โอกาสจะได้คะแนนมากก็มีน้อย
การฝึกอ่าน Reading เพื่อเตรียมตัวเข้าสอบดังที่พูดมานี้มีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ผมเห็นว่าไม่เครียด-ไม่น่าเบื่อ ก็คือ การฝึกอ่านข้อความที่เป็นย่อหน้าสั้น ๆ ซึ่งมี exercise ให้ทำและมีเฉลยให้ตรวจ
♥การทำข้อสอบ Reading ให้ได้คะแนนเยอะ ๆ เพียงการรู้ศัพท์เยอะ ๆ ยังไม่พอ เรายังต้องตีความหรือสรุป หรือก็คือ infer จากเรื่องที่อ่านได้ถูกต้องอีกด้วย
♥ถ้า infer ไม่ได้ ต่อให้รู้ศัพท์เยอะ ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกข้อ A, B, C หรือ D
♥และการฝึกอ่านเพื่อให้ infer เก่ง ๆ ต้องฝึกทุกวัน
ผมได้รวบรวมเนื้อหาเพื่อให้ท่านฝึก Reading, ฝึกสรุปและฝึกตีความ (infer) ซึ่งมี exercise ให้ทำ, และมี answer ให้ตรวจ ข้างล่างนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งท่านที่เตรียมตัวไปสอบ หรือแม้ไม่ได้ไปสอบก็ตาม
เชิญครับ...
http://www.grammarbank.com/reading-comprehension-worksheets.html (มี 81 เรื่อง)
และลิงก์ข้างล่างนี้ด้วยครับ
- easy • intermediate • advanced
- http://www.eslhome.org/ESLstudent/read/readdo1.html (เข้าไปแล้ว คลิกบรรทัดที่มีคำว่า reading)
- http://web2.uvcs.uvic.ca/courses/elc/studyzone/ (เข้าไปแล้ว คลิกบรรทัดที่มีคำว่า reading)
- http://www.infosquares.com/readingcomprehension/ (เข้าไปแล้ว ให้คลิกเรื่องที่จะอ่าน, และคลิก step 1 “READING COMPREHENSION ARTICLE”
https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai
จะเก่งอังกฤษ: ตั้งเป้าให้ชัด และไปให้ถึง
สวัสดีครับ
บ่อยครั้งที่ผมได้ยินเพื่อนร่วมงาน รุ่นน้อง รุ่นพี่บ่นว่า อยากจะฟิตอังกฤษให้เก่ง ถ้าเก่งก็คงดีทำอะไรได้เยอะกว่านี้ แต่ก็งานยุ่ง ไม่มีเวลา พื้นเดิมแย่ ไม่มีคนช่วยแนะช่วยสอน จะเรียนเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ และอีกหลายคำบ่น เจอหน้ากันกี่ครั้งถ้าพูดถึงเรื่องนี้ก็จะได้ฟังแต่คำบ่นเดิม ๆ ทำนองนี้
ผมขอสรุปว่า การที่คน ๆ หนึ่งไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องแปลก และการไม่ชอบหรือขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องผิด ผมรู้สึกเห็นใจเพื่อนที่ชอบบ่นเรื่องการไม่เก่งอังกฤษ อันที่จริงเขาไม่จำเป็นต้องบ่น และเขาก็สามารถมีชีวิตอย่างอาจหาญแม้ว่าจะไม่รู้เรื่องหรือไม่รักภาษาอังกฤษแม้แต่นิดเดียว เขาสามารถเลือกใช้ชีวิตที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องฝืนรักในสิ่งที่เกลียด ไม่ต้องฝืนทำในสิ่งที่ขี้เกียจ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมอยากจะชักชวนทุกท่านให้มองเรื่องนี้ให้ชัด ไม่ต้องคาราคาซังทั้งในความคิดและอารมณ์
นั่นก็คือ...
ถ้าเราเห็นว่า ทักษะภาษาอังกฤษมีประโยชน์ และเราก็ต้องการประโยชน์นั้น ๆ เราก็น่าจะตั้งเป้าให้ชัดเจนเจาะจงว่า เราต้องการอะไรจากการเก่งอังกฤษ และก็มุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้านั้น โดยไม่หยุดพยายาม และรู้สึกรื่นรมย์เมื่อกำลังพยายาม
แต่ถ้าเราเห็นว่า เรารังเกียจและขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษ ก็ไม่เป็นไร และไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด แต่ทั้งนี้เราก็ต้องยอมรับความจริงและไม่รู้สึกเสียใจ เมื่อเราพลาดจากโอกาสหรือของดีที่ทักษะภาษาอังกฤษมอบให้ และไม่อิจฉาคนเก่งที่ฝึกจนได้ดี
เราจะฝึกภาษาอังกฤษให้เก่งไปเพื่ออะไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนและเจาะจงว่า ถ้าเราพูดเก่ง-ฟังเก่ง-อ่านเก่ง-เขียนเก่ง มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความเก่งนั้นจะช่วยอะไรเราได้บ้าง หรือเราจะใช้ความเก่งที่เพิ่มขึ้นนี้ให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง
การตั้งเป้าอย่างนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับเป็นว่า มีไม่กี่คนที่มีเป้าหมายชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า เมื่อเป้าหมายเบลอร์ การฝึกก็เบลอร์ สะเปะสะปะ ขาด ๆ แหว่ง ๆ ตามไปด้วย เหมือนคนเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย เดินไปข้างหน้า, แล้วก็หยุดอยู่กับที่, แล้วก็เลี้ยวลงข้างทาง, กลับขึ้นมาบนทางใหญ่ใหม่, เจอเพื่อนแล้วก็เดินย้อนกลับทางเดิม, แต่เดี๋ยวก็ฮึดเดินไปข้างหน้าใหม่ แต่ก็ยังเดินแบบสะเปะสะปะ เดิน ๆ หยุด ๆ อยู่อย่างนี้
การฝึกภาษาอังกฤษที่คล้ายกับการเดินทางแบบนี้ เป็นการฝึกอย่างไม่มีเป้าหมาย หรือเป้าหมายมีแต่เบลอร์ การฝึกมักไม่ได้ผล เสียเวลาเปล่า
ผมจะลอง list เป้าหมายต่าง ๆ ในการฝึกภาษาอังกฤษ การจะเก่งอังกฤษต้องตั้งเป้าการฝึกให้ชัดและเพียรไปให้ถึงเป้านั้น ถ้าเป้าไม่ชัดความมุ่งมั่นจะไม่มี ถึงฝึกไปก็ไร้พลัง ไร้ทิศทาง
เป้าหมายแต่ละข้อข้างล่างนี้ ไม่จำเป็นต้องแยกกันโดยเด็ดขาด อย่างเช่น ถ้าท่านพูดอังกฤษได้และอ่านภาษาอังกฤษรู้เรื่อง มันสามารถช่วยให้ท่านบรรลุหลาย ๆ เป้าหมายในเวลาเดียวกัน เช่น ช่วยเรื่องการงาน, หาความรู้, หาความเพลิดเพลิน, ผูกมิตร, เดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
ขอถามว่า ท่านมีเป้าหมายในการฝึกหรือเปล่า และถ้ามี เป้าหมายนั้นชัดเจนมั่นคงเพียงใด
❶ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการงานและอาชีพ
นี่เป็นเรื่องของคนที่มีงานทำแล้ว และน่าจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการฝึกภาษาอังกฤษ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างก็พยายามกระตุ้น เร่งรัด ให้พนักงานมีทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น ใครที่เก่งอังกฤษมาก่อน หรือพยายามฝึกจนเก่ง ก็จะมีแต้มตรงนี้ที่เหนือกว่าคนไม่เก่ง
ถ้าท่านยังไม่เก่งและต้องการจะเก่ง ผมเห็นว่าท่านจะต้องวางเป้าหมายให้ชัด เพราะภาษาอังกฤษที่ท่านจะฝึกอาจจะมีทั้งภาษาอังกฤษทั่วไป และภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่เรียกว่า ESP หรือ English for specific purposes เรื่องนี้อาจจะต้องให้ทั้งหน่วยงานร่วมกันคิดว่า ถ้าจะต้องจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับเจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยงาน เนื้อหาจะต้องเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้พนักงานทุกคนควรจะฝึกให้ตัวเองมีทักษะภาษาอังกฤษโดยทั่วไปก่อน
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าขณะนี้ท่านมีงานทำแล้วในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ท่านสามารถตั้งเป้าในการฟิตภาษาอังกฤษให้แก่ตัวเองได้ไหมครับว่า ท่านจะทำอะไรได้เพิ่มขึ้นในอนาคตโดยใช้ทักษะภาษาอังกฤษ เช่น ต้อนรับหรือประชุมร่วมกับผู้มาเยือนหน่วยงานเป็นภาษาอังกฤษ, อ่านเอกสารในการทำงานที่เป็นภาษาอังกฤษ, ติดต่องานผ่านอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น และการฝึกให้ทำเช่นนี้ได้จะต้องฝึกยังไง
ถ้าท่านสามารถตั้งเป้าการฝึกเช่นนี้ได้ชัด และฝึกไปตามขั้นตอนที่วางไว้ได้ทุกวัน การฝึกภาษาอังกฤษเพื่อการใช้งานของท่านก็จะไม่สะเปะสะปะ ในช่วงแรก ๆ ท่านอาจจะคิดถึงเป้าหมายและออกแบบการฝึกได้ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าพยายามไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ทุกอย่างจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น
❷ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อสอบให้เรียนจบ
นี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด และเราก็ควรสามารถพูดได้ว่า ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมหรือปริญญาตรีต้องมีทักษะภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ หลายคนที่เรียนจบมาแล้วมีทักษะภาษาอังกฤษอ่อนอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็ต้องพูดว่า ถ้าใครพยายามเรียนเพื่อให้มีความรู้และสอบผ่านนั่นก็ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าใช้ลูกเล่นเพื่อให้สอบผ่านและก็มักจะสอบผ่านได้จริง ๆ ผลเป็นอย่างไรก็รู้ ๆ กันอยู่
ผมจึงอยากจะบอกว่า สำหรับท่านที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ขอให้ท่านเตรียมตัวสอบผ่านโดยฝึกภาษาอังกฤษให้มีทักษะติดตัวจริง ๆ ไม่ใช่ใช้กลเม็ดเพื่อให้สอบผ่าน เพราะผลกรรมที่ตามติดตัวไปมันไม่คุ้มกัน
❸ ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อความรู้
ความรู้ส่วนใหญ่มาจากการอ่านและการฟัง ถ้าท่านอ่านและฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ท่านก็มีเครื่องมือที่นำไปสู่ความรู้อันมหาศาลไร้ขีดจำกัด มีความรู้มากมายที่ไม่มีให้อ่านหรือฟังในภาษาไทย และก็ไม่มีใครแปลให้ท่าน เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อท่านโดยตรงและท่านก็อยากรู้ หากท่านเป็นคนใฝ่รู้ท่านก็ต้องฝึกภาษาอังกฤษเพื่อความรู้ ฝึกให้อ่านรู้เรื่องถ้าท่านชอบอ่าน หรือฝึกให้ฟังรู้เรื่องถ้าท่านไม่ใช่คนชอบอ่าน โลกทุกวันนี้ ความรู้ที่ท่านปรารถนาจะรู้ ที่มากับข้อความ, คลิป และภาพ มีมากมาย แต่มันเป็นภาษาอังกฤษที่ท่านต้องฝึก
❹ ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อความเพลิดเพลินรื่นรมย์
บางคนมีความรื่นรมย์กับเรื่องเงียบ ๆ เช่นอ่านหนังสือ แต่บางคนเพลิดเพลินกับเรื่องเอะอะเร้าใจ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ดูสารคดี เดินทางท่องเที่ยว คุยกับผู้คน แต่ไม่ว่าความสุขสนุกสนานของท่านจะได้มาอย่างไรก็ตาม ถ้าท่านอ่านและฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง คุยกับผู้คนเป็นภาษาอังกฤษได้ ความเพลิดเพลินที่ได้รับจะเพิ่มขึ้นอีกเยอะทีเดียว
❺ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อผูกมิตรและสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างภาษา
ทุกวันนี้วิธีการติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนต่างภาษาที่สะดวกและฟรีมีมากมาย ไม่ว่าโดยการพูดหรือเขียน ทั้งเห็นหน้าและไม่เห็นหน้า ได้ยินและไม่ได้ยินเสียง เช่น อีเมล ไลน์ Skype Facebook video chat ฯลฯ เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยท่านสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ และสานมิตรภาพได้เนิ่นนาน ขอเพียงท่านพยายามฝึกให้มีทักษะภาษาอังกฤษพอที่จะสื่อสารได้เท่านั้น
❻ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อการเดินทางทางเที่ยวต่างแดน
ผมเห็นจริงตามที่เขามักพูดกันว่า การท่องเที่ยวเป็นกำไรของชีวิต ผมเองเที่ยวมาแล้วเกือบ 30 ประเทศ มีทั้ง (1)ไปกับบริษัททัวร์ไทย ลูกทัวร์เป็นคนไทยล้วน ไกด์พูดภาษาไทย, (2)ไปกับบริษัททัวร์เมืองนอก ลูกทัวร์มาจากหลายประเทศ ไกด์พูดภาษาอังกฤษ, และ(3)เป็น backpacker เดินทางเที่ยวเอง ไม่มีไกด์ และพูดกับทุกคนที่เจอด้วยภาษาอังกฤษ
การได้ไปดูสถานที่ในประเทศอื่นที่สวยงามและแปลกหูแปลกตานั้น เพิ่มชีวิตชีวาให้แก่ชีวิต แต่ถ้าท่านสามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมเดินทาง ผู้คนที่ท่านพานพบ พ่อค้าแม่ค้า นักท่องเที่ยวด้วยกันจากประเทศอื่น ฯลฯ จะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวของท่านมีรสชาติเพิ่มขึ้นอีกมาก มันเหมือนการกินก๋วยเตี๋ยวที่ท่านปรุงเพิ่มรสได้ตามที่ต้องการ มันอร่อยกว่ากินเลยโดยไม่ได้ปรุง ทักษะภาษาอังกฤษที่เรามีจะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวของเราในต่างแดนมีรสอร่อยเพิ่มขึ้นเยอะ
❼ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อเป็นแบบอย่าง-เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลาน
ผมเห็นพ่อแม่บางคู่ที่อยากให้ลูกหลานเก่งภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุยังน้อย โดยส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชายกเว้นวิชาภาษาไทย เด็กจะได้ฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุยังน้อย โรงเรียนดังกล่าวนี้ค่าเล่าเรียนจะแพงกว่าโรงเรียนธรรมดา แต่ถ้าพ่อแม่ที่ไม่มีเงินพอล่ะ ลูกหลานก็มีโอกาสน้อยกว่าในการเก่งภาษาอังกฤษอย่างนั้นหรือ?
ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้ภาษาอังกฤษที่เราสามารถเรียนผ่านเน็ตมีมากมาย แต่ถ้าท่านเป็นพ่อแม่ มีสิ่งหนึ่งที่ท่านควรทำอย่างยิ่ง คือการฝึกภาษาอังกฤษให้ตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่าง-เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลาน เมื่อลูกหลานเห็นท่านพยายาม เขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจว่า ขนาดพ่อ แม่ อา น้า ป้า ลุง อายุเยอะมีการงานทำแล้ว ก็ยังฝึกภาษาอังกฤษอยู่เรื่อยไม่ยอมทิ้ง ไม่ใช่เพียงแนะนำลูกหลานด้วยปาก นี่แสดงว่าการฝึกภาษาอังกฤษเป็นเรื่องดีแน่ ๆ และเขาก็จะตั้งใจฝึกบ้าง และเมื่อท่านจะแนะนำอะไรแก่เขาคำแนะนำของท่านก็จะมีน้ำหนัก ไม่ใช่คำแนะนำอันเลื่อนลอย เพราะเด็กอาจจะนึกว่าถ้าภาษาอังกฤษดีจริงอย่างที่สอน ทำไมคนสอนไม่ฝึกจริง-เรียนจริงให้เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองไม่หยุด ก็เท่ากับท่านเองเป็นตัวอย่างจริงให้ลูกหลานได้มองเห็น
ท่านผู้อ่านครับ เป้าหมายในการฝึกภาษาอังกฤษที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ทุกเป้าหมายถ้าไปให้ถึงมีคุณประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ขอให้ท่านตั้งเป้าให้ชัด และพยายามทุกวันเพื่อไปให้ถึง ท่านก็จะได้รับสิ่งดี ๆ ที่ทักษะภาษาอังกฤษมอบให้
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
อยากพูดได้-เขียนได้, ต้องขยันอ่าน-ขยันฟังภาษาอังกฤษ, มากกว่าเอาแต่อ่าน-เอาแต่ฟัง คำอธิบายเป็นภาษาไทย
สวัสดีครับ
ภาษาอังกฤษมีอยู่ 4 ทักษะ คือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ในการฝึกทักษะใดให้ได้ผลต้องฝึกอีก 3 ทักษะด้วย เช่น อยากพูดเก่ง ก็ไม่ใช่เอาแต่ฝึกพูดอย่างเดียว แต่ต้องฝึกฟัง-อ่าน-เขียนด้วย เพราะทุกทักษะมันเสริมกันและกัน เหมือนอาหารประจำวัน 5 หมู่ต้องกินให้ครบ แม้บางหมู่เช่นผักท่านอาจจะไม่ชอบกินเลย แต่ถ้าหวังสุขภาพดีก็ต้องฝืนกิน ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านอยากพูดเก่งแต่เกลียดการอ่านก็ต้องฝืนฝึกอ่านด้วย
มีเว็บไทยมากมายที่ให้คนไทยเข้าไปเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ เนื้อหายอดนิยมก็เช่น ศัพท์/วลี/ประโยค ที่สอนให้จดจำนำไปใช้ และแกรมมาร์สามัญที่ควรรู้ เนื้อหาพวกนี้มีประโยชน์อ่านแล้วก็เข้าใจ แต่การเข้าใจมิได้แปลว่าใช้เป็น
การใช้เป็น คือพูดได้และเขียนได้ ซึ่งความสามารถนี้ต้องมาจากการได้อ่านข้อความที่คนอื่นเขียนและฟังเสียงที่คนอื่นพูดเป็นประจำจนคุ้นเคย คืออ่านจนคุ้นตาและฟังจนคุ้นหู การคุ้นเคยจึงเป็นสิ่งที่สูงเหนือความเข้าใจ เพราะเข้าใจแต่ไม่คุ้นเคยก็ทำอะไรไม่ได้ คือพูดไม่ได้-เขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน-ฝึกฟังภาษาอังกฤษทุกวัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและขอให้ถือเป็นครูคนที่ 1, ส่วนการอ่านและฟังคลิปที่เป็นคำอธิบายด้วยภาษาไทยนั้น ก็มีประโยชน์แต่ขอให้ถือเป็นครูคนที่ 2 รองจากครูคนแรกที่เราต้องเข้าไปเรียนด้วยก่อน
สรุปก็คือ การอ่านและฟังภาษาอังกฤษจนคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจำเป็นอันดับ 1, ส่วนการอ่านคำอธิบายเป็นภาษาไทยให้เข้าใจนั้น แม้จำเป็นแต่ก็อยู่ในอันดับ 2
และเพราะคนไทยที่อยากเก่งอังกฤษ เอาแต่ฟิตเรื่องอันดับ 2 มากกว่าเรื่องอันดับ 1 จึงไม่เก่งภาษาอังกฤษซะที
พูดง่าย ๆ ก็คือ คนไทยชอบดึงศัพท์และแกรมมาร์ออกมาท่องหรือเรียนแยกต่างหาก แทนที่จะลุยเข้าไปเรียนด้วยการอ่านหรือฟังเนื้อหาจริง ๆ หากเปรียบเทียบก็เหมือนชอบดูสัตว์ป่าในกรงที่สวนสัตว์ แทนที่จะเข้าป่าไปดูสัตว์ป่าในป่าจริง ๆ เราจึงไม่เคยรู้จักสัตว์ป่าตามธรรมชาติของมันจริง ๆ อุปมานี้หมายคววามว่า เมื่อเราดึงศัพท์มาท่องเป็นคำ ๆ หรือดึงแกรมมาร์มาศึกษาเป็นเรื่อง ๆ เราจึงไม่ค่อยรู้จักศัพท์หรือแกรมมาร์ใน “ป่า” คือ context ของมันจริง ๆ ผลก็คือ เราก็เลยไม่เก่งภาษาอังกฤษซะที
ท่านอาจจะบอกว่า อ่านแล้ว-ฟังแล้ว แต่ไม่รู้เรื่อง จึงต้องแยกศัพท์มาท่อง-แยกแกรมมาร์มาเรียนต่างหาก เพราะมันช่วยให้รู้เรื่องง่าย ๆ ถ้าท่านพูดอย่างนี้ผมก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่ผมขอยืนยันว่า ถ้าท่านอยากเก่งภาษาอังกฤษ การฝึกแบบนี้ที่ท่านชอบขอให้ทำเป็นอันดับ 2, แต่การฝึกโดยลุยเข้าไปอ่าน-เข้าไปฟัง เนื้อหาภาษาอังกฤษตรง ๆ ขอให้ฝึกก่อน-ฝึกมาก-และฝึกบ่อยเป็นอันดับ 1 เพราะความสำเร็จและความเก่งมันรออยู่ตรงนั้นครับ
โดยวิธีฝึกที่ผมขอแนะนำมีอยู่ 3 ข้อ คือ
❶ฝึกเรื่องที่ยาก-ง่ายให้เหมาะสมกับท่าน, อันนี้ท่านต้องลงทุนหาเอาเองว่า เนื้อหาใดที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับท่าน ท่านจะรอคนอื่นบอกให้ไม่ได้หรอกครับ และท่านต้องยอมรับความจริงด้วย เช่น สมมุติว่าถ้าตอนนี้ท่านเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ปี 1 แต่ English reading skill อยู่แค่ระดับ ม.1 หรือ ป.1 ท่านก็ต้องไปหาหนังสือภาษาอังกฤษระดับมัธยมหรือประถมเก่า ๆ มาอ่านเพื่อปรับพื้นทักษะไปเรื่อย ๆ เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ต้องอายตัวเองหรืออายคนอื่น เพราะนี่คือความกล้าหาญที่จะเดินไปสู่ความก้าวหน้า
❷ฝึกเรื่องที่ท่านชอบ, หรือสนใจ, หรือมีความรู้ในเนื้อหานั้น ๆ เพราะเมื่ออ่านหรือฟังเรื่องพวกนี้ และเกิดปัญหาหรือไม่รู้เรื่อง ท่านก็จะไม่ท้อ ไม่เบื่อง่าย ๆ มีแรงลุยอ่าน ลุยฟัง ต่อไปเพราะเป็นเรื่องที่ท่านชอบ แต่เนื้อหาพวกนี้ท่านต้องยอมลงทุนหาเอง เพราะท่านรักเรื่องอะไรใครจะไปรู้นอกจากตัวท่านเอง และท่านคงต้องเตรียมสะสมใส่สต็อกไว้เยอะ ๆ เมื่อเบื่อเรื่องหนึ่งจะได้ย้ายไปอีกเรื่องหนึ่งได้
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมได้พยายามสรรหาเนื้อเรื่องมากมายมาให้ท่านเลือก ท่านลองคลิกเข้าไปดูที่ปุ่มข้างล่างนี้ ใช้เวลาหาสักพักเชื่อว่าต้องเจอ, ถ้าไม่เจอก็ลองใช้ช่อง Search ของเว็บค้นดู, ถ้ายังไม่เจอที่เหมาะที่ชอบใจ ขอให้บอกครับ ผมจะช่วยหาให้
❸ฝึกทุกวัน ถ้าไม่ติดขัดจริง ๆ อย่าขาดฝึก ในการฝึกทุกวันเช่นนี้ เราจะเป็นทั้งนักเรียนและครูในคน ๆ เดียวกัน เพราะแต่ละวันที่ฝึกเราจะเจอทั้งการเรียนรู้ใหม่ ๆ และปัญหาใหม่ ๆ ทีละน้อย ๆ และการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับนั้นจะเป็นครูสอนให้เราแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เจอ และถ้าเราฝึกไม่หยุด ขบวนการพัฒนานี้ก็จะไม่หยุดเช่นกัน คือ เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ,→ เจอปัญหาใหม่ ๆ,→ ได้แก้ปัญหาใหม่ ๆ จากความรู้ที่ได้เรียน, พอแก้ปัญหาได้คราวใดก็เกิดความรู้ใหม่คราวนั้น, และเมื่อฝึกอ่าน-ฝึกฟังไม่หยุดก็จะได้ความรู้ใหม่→เจอปัญหาใหม่→แก้ปัญหาใหม่ ... เวียนพัฒนาก้าวหน้าอย่างนี้ขึ้นไปไม่รู้จบ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ อย่าหยุดเรียน อย่าหยุดฝึก และความรู้ของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปไม่หยุดเช่นกัน
ท่านผู้อ่านครับ ผมขออนุญาตพูดอะไรที่มันไม่ค่อยไพเราะสักนิดนะครับ คือบางครั้งผมนำภาษาอังกฤษมาให้ลองอ่าน ลองแปล บางท่านพูดว่า ไม่มีคำแปลไว้ให้จะอ่านรู้เรื่องหรือ และจะแน่ใจได้ยังไงว่าที่แปลเองนั้นถูกต้อง คือเขาพูดราวกับว่า เขาไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษมาเลยในชีวิต เมื่อจะอ่านภาษาอังกฤษสักประโยคก็ต้องมีคนอื่นแปลเป็นภาษาไทยแนบไว้ให้จึงจะรู้เรื่อง หรือถ้าจนใจก็ต้องไปให้ Google Translate แปลให้ ทำราวกับว่าตัวเขาเองง่อยเปลี้ยเสียขาโดยสมบูรณ์ทั้ง ๆ ที่เรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว (ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการหลายคนก็เป็นอย่างนี้ ต้องให้ลูกน้องแปลเป็นภาษาไทยแนบต้นฉบับภาษาอังกฤษให้ทุกประโยค เหมือนกับว่าอ่านไม่ออกแม้แต่ A.. B.. C.. D..)
การเรียนภาษาอังกฤษชนิดไม่ยอมออกแรงอ่านด้วยตัวเอง เอาแต่รอให้ผู้รู้ป้อนด้วยคำแปลหรือคำอธิบายเป็นภาษาไทย คือนิสัยที่เป็นปัญหาของคนไทยในการฟิตภาษาอังกฤษ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนเรามาตอนเรียนอยู่ชั้นประถม-มัธยมนั้น ต่อให้มันต่ำเตี้ยหรือขาดวิ่นเพียงใด ถ้าใครใส่ใจมันก็ต่อเติมให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าไม่สนใจเอาแต่เรียนภาษาอังกฤษอย่างเด็กขี้แย มันก็ยากอยู่ร่ำไป
ผมขอยกตัวอย่างสัก 4 – 5 ประโยคข้างล่างนี้
- My name is Somchai.
- I am ten years old.
- What do you want?
- My dog was hit by a car this morning.
- He is a man who never tells a lie.
ผมเอาประโยคตัวอย่างพวกนี้มาให้ท่านดูเพื่อจะบอกว่า ไม่ว่ามันจะเป็นประโยคที่ง่ายหรือยากสำหรับท่าน แต่การได้ฝึกอ่านบ่อย ๆ สิ่งที่ท่านได้มิใช่เพียงแค่การอ่านรู้เรื่องหรืออ่านคล่องขึ้นเรื่อย ๆ แต่มันคือการคุ้นเคยกับคำศัพท์, วลี และโครงสร้างประโยคมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษ ท่านก็จะทำได้โดยอัตโนมัติ โดยในเรื่องคำศัพท์นั้นท่านก็ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อน และในเรื่องแกรมมาร์ท่านก็ไม่ต้องคิดว่า มันจะต้องขึ้นต้นด้วยประธาน ต่อด้วยกริยา ตามด้วยกรรม อะไรทำนองนี้ ความคุ้นเคยเพราะการอ่านบ่อย ๆ -ฟังบ่อย ๆ จะทำให้ท่านก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ทั้งหมด ทีละน้อย ๆ เพราะการฝึกที่ไม่ยอมหยุด
อย่างตามประโยคตัวอย่าง ถ้าทักษะของท่านยังไม่ถึงระดับที่สามารถแปลได้โดยอัตโนมัติ ในใจของท่านอาจจะแปลอย่างนี้
- My name is Somchai.
- ของฉัน - ชื่อ - คือ – สมชาย
- I am ten years old.
- ฉัน – คือ – สิบ – ปี – แก่/อายุ
- What do you want?
- อะไร – ทำ – คุณ – ต้องการ ?
- My dog was hit by a car this morning.
- ของฉัน – สุนัข – คือ/ถูก - ตี/ชน - โดย – หนึ่ง – รถยนต์ – นี้ – เช้า
- He is a man who never tells a lie.
- เขา(ผู้ชาย) – คือ – หนึ่ง – ผู้ชาย – ผู้ - ไม่เคย – บอก – หนึ่ง – โกหก
ท่านผู้อ่านครับ การฝึกอ่านหรือการฝึกฟัง มันก็เหมือนกับการเดินขึ้นเนินเขาหรือภูเขานั่นแหละครับ ในครั้งแรก ๆ มันอาจจะตะกุกตะกัก, งก ๆ เงิ่น ๆ, ผิด ๆ พลาด ๆ, มึน ๆ งง ๆ, ล้มลุกคลุกคลาน ฯลฯ แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท่านต้องยอมผ่านด้วยตัวเอง ด้วยขันติและวิริยะ และท่านก็จะเก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย อย่าง 5 ประโยคข้างบน เมื่อฝึกผ่านไปสักห้วงเวลาหนึ่ง ท่านก็จะสามารถแปลได้โดยอัตโนมัติเลยว่า
- My name is Somchai. ฉันชื่อสมชาย
- I am ten years old. ฉันอายุ 10 ปี
- What do you want? คุณต้องการอะไร
- My dog was hit by a car this morning. สุนัขของฉันถูกรถยนต์ชนเช้านี้
- He is a man who never tells a lie. เขาเป็นคนที่ไม่เคยโกหก
และจริง ๆ แล้วเมื่อฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน ท่านจะค่อย ๆ สามารถเข้าใจประโยคที่อ่านโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยในสมองด้วยซ้ำ และนี่แหละครับคือความคุ้นเคย... ความคุ้นเคยที่เหนือกว่าความเข้าใจ ที่ทำให้ท่านพูดได้-เขียนได้อย่างเป็นธรรมชาติ คือ เป็นความคุ้นเคยทุกวัน ท่านคุ้นเคยกับศัพท์คำนั้นคำนี้ และกับโครงสร้างประโยคแบบนั้นแบบนี้ และท่านจะค่อย ๆ สามารถนำคำศัพท์และโครงสร้างประโยคเช่นนี้ ไปแต่งประโยคอื่น ๆ เป็นเนื้อหาอื่น ๆ ตามที่ท่านต้องการจะพูด แต่ขอย้ำว่า ความคุ้นเคยเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อฝึกทุกวันไม่หยุด
ประโยคที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ แต่แม้เป็นประโยคอื่น ๆ ที่ยากกว่านี้ เราก็สามารถฝึกจนคุ้นเคย – เข้าใจ – ใช้เป็น ได้แน่ ๆ โดยผมขอย้ำอีกครั้งว่า การฝึกให้คุ้นเคยนั้นจะต้องเป็นการฝึกอ่าน-ฝึกฟังเนื้อหาภาษาอังกฤษด้วยตาและหูของเราเอง และฝึกตีความทำความเข้าใจด้วยสมองของเราเอง ไม่ใช่เอาแต่รอรับคำอธิบายหรือคำแปลเป็นภาษาไทยที่ผู้รู้ย่อยมาให้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่า เราไม่เคยฝึกด้วยตัวเองสักที
เมื่อตะกี้ ผมให้ท่านเข้าไปลองหาเรื่องอ่านและฟังจากเว็บ e4thai.com ตอนนี้ผมขอแถมเว็บที่ท่านสามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาไทย ๆ ได้ เนื้อหาพวกนี้อ่านแล้วคงจะรู้สึกคุ้นเคยมากกว่าเรื่องของต่างประเทศที่เรารู้จักน้อยกว่า
เว็บข่าวไทย
เว็บท่องเที่ยว
บล็อก/เว็บ ที่เขียนเกี่ยวกับเมืองไทย ในเรื่องราวต่าง ๆ
- Paknam Web Network (เว็บใหญ่ที่สุด เข้าไปแล้วคลิกเลือกบล็อกที่สนใจ)
- The Paknam Web Forums
- http://www.thai-blogs.com/ (ผู้เขียน 10 คน)
- http://www.thaitravelblogs.com/ (Richard Barrow)
- http://www.richardbarrow.com/ (Richard Barrow)
- https://www.lonelyplanet.com/thailand
- http://www.thaiphotoblogs.com/
- http://www.travelblog.org/Asia/Thailand/
https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai
เรื่องเล่าจากการเข้านอน รพ.
สวัสดีครับ
ผมเข้านอนโรงพยาบาลทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ ครั้งนี้เพราะโรคเบาหวานทำให้น้ำตาลในเลือดสูง-ต่ำเกินไปปุ๊บปั๊บ หลังจากปรับขนาดอินซูลินซึ่งฉีดเองที่บ้านตามหมอสั่งหลายครั้งแล้วน้ำตาลก็ยังไม่เลิกกระโดด คุณหมอเห็นว่าผมควรนอน รพ. เพื่อดูอาการ และเพื่อคุมอาหารและพฤติกรรมการกิน ถ้าน้ำตาลมันเลิกกระโดด ก็จะได้รู้ว่าเมื่อกลับบ้านก็ให้กินเท่านี้, กินเวลานี้(คนเป็นโรคนี้อย่ากินผิดเวลามาก), ฉีดอินซูลินเท่านี้, ออกกำลังกายประมาณนี้ และถ้ากลับมาพบหมอในนัดครั้งหน้า ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีขึ้น จะได้รู้ชัด ๆ ว่า ตอนอยู่บ้านผมขัดคำสั่งหมอในข้อใดบ้าง ซึ่ง ณ วันนี้ขณะที่นอนอยู่บนเตียงใน รพ. ผมก็พอจะมองอะไรออก เพราะผมเป็นคนที่ไร้วินัยในการกิน แต่วินัยนี้จำเป็นมากสำหรับคนเป็นโรคนี้
สิ่งแรกที่อยากเล่าก่อนในที่นี้ก็คือความประทับใจในคุณหมอที่รักษา คือ คุณหมอเอินฟ้า ณ นคร ผมถูกสัมภาษณ์อย่างละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ เช่น ถามว่าตอนอยู่บ้านผมกินข้าวกี่โมง เมื่อผมตอบว่า 9 โมงเช้า, เที่ยง, และ 6 โมงเย็น ท่านก็ให้เขาจัดอาหารให้ผมเวลานี้จะได้ไม่ต่างจากเวลากินที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่มื้อเช้าและมื้อเย็นที่จัดให้นี้มันเลยเวลาอาหารตามปกติของ รพ. แถมยังจัด morning & afternoon snack เป็นนมและผลไม้จืด ๆ มื้อละ 150 แคลอรี่ เสริมมื้อหลัก 3 มื้อ ๆ ละ 500 แคลอรี่ รวมเบ็ดเสร็จทั้งวัน 1,800 แคลอรี่ พอวันต่อมาพบกันหมอถามว่าอาหารของ รพ.พอไหม ผมบอกว่าอยู่ที่บ้านกินเยอะกว่านี้ เพราะทำงานใช้สมองกินแค่นี้น้อยเกินไป หมอพูดยิ้มตอบนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนรู้ทัน ถ้าเป็นคำพูดเต็ม ๆ ก็คือ อย่าพูดปดเลย มันพออยู่แล้วแต่อยากกินเพิ่มเลยบอกว่าไม่พอ แต่หมอก็ตามใจในมื้อต่อมาก็สั่งอาหารเพิ่มให้อีกนิดนึง
การรักษาอย่างนี้ ในภาษาไทยผมขอใช้คำว่าเมตตาและอาทร ซึ่งเป็นคุณธรรมชั้นสูงนอกเหนือไปจากความรู้ทางวิชาแพทย์ ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างนิด ๆ หน่อย ๆ ของคุณหมอเอินฟ้า ในการเอาใจใส่คนไข้ ผมใช้คำว่า “เอาใจใส่” เพราะคุณหมอใช้ “ใจ” “ใส่” ลงไปในการรักษาจริง ๆ น่าชื่นใจ น่าประทับใจมาก น่าประทับใจสุด ๆ ครับ
ผมนอนอยู่ รพ. 4 วัน 3 คืน ในวอร์ดที่ผมอยู่เป็นห้องพักคนไข้รวมมี 4 เตียง และห้องติด ๆ กันก็มีห้องละ 4 เตียงไปเรื่อย ๆ แต่ละห้องมีผนังกั้นจากพื้นขึ้นมา 1 เมตร สูงจากนี้เป็นกระจกใส ตรงจุดกลางของชั้นเป็นเคาน์เตอร์และห้องทำงานของพยาบาลซึ่งดูแลคนไข้ทุกห้อง 4 เตียงที่อยู่รายรอบ และจากเตียงที่ผมนอนพักรักษาตัวอยู่นี้ ผมก็มีเรื่องราวที่ขอเก็บมาเล่า
เรื่องแรกที่ผมแปลกใจมากตอนเข้าพักก็คือ ทำไมทั้งชั้นคนไข้ตั้งเยอะแยะมีห้องอาบน้ำ(เป็นห้องน้ำด้วย)แค่ 2 ห้องเท่านั้นเอง แล้วไม่แย่งกันแย่รึ แต่เมื่อสังเกตและพูดคุยกับญาติคนไข้เตียงอื่นจึงรู้ว่า คนไข้ส่วนใหญ่นอนติดเตียง, ไม่ต้องอาบน้ำ เพราะเช็ดตัวบนเตียง, ตามตัวมีสายนำน้ำยาเข้าเส้นเลือดอยู่บนเตียง, บางคนกินอาหารผ่านปากไม่ได้จึงต้องให้อาหารผ่านสายยางที่เตียง, อึ-ฉี่ใช้แพมเพิสอยู่บนเตียง, เพราะฉะนั้นห้องน้ำแค่ 2 ห้องก็พอใช้
เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมน่าจะเป็นคนไข้หนุ่มที่แข็งแรงที่สุด เตียงตรงข้ามผมคือคุณตาอายุ 93 ปี ซึ่งเป็นหลายโรค ผมเห็นท่านนอนหลับเกือบจะตลอดเวลา, ถัดไปเป็นคุณลุงโรคเบาหวานอายุ 73 ปี, เตียงโน้นอายุเท่า ๆ ผม แต่ล้างไตมาแล้ว 13 ปี งวดนี้เข้า รพ. เพราะฟุบ, เตียงนั้นเป็นมะเร็งที่แก้ม น้ำหนักลดจาก 60 เหลือ 30 กิโลฯ กว่า ๆ ภานในเวลา 4 – 5 เดือน และให้คีโมมาแล้ว 2 ครั้ง, อีกรายมาใหม่ อายุเยอะ อาการหนัก ผมยังไม่ได้เข้าไปคุยด้วยเพราะเห็นญาติมากันเยอะ
เจอสิ่งเหล่านี้รอบตัวทำให้ผมรู้สึกรื่นเริงในธรรมอย่างประหลาด ไม่ได้ปลงอย่างซบเซา ผมไม่ค่อยได้คุยกับคนไข้รายอื่นมากนัก เพราะดูแล้วแทบทุกคนไม่อยู่ในสภาพเหมาะที่จะคุยด้วย แต่ผมก็ได้คุยกับญาติ ๆ ของ
เขาที่มาเยี่ยมไข้ และก็ได้รับบทเรียนที่เป็นสัจจะของชีวิต
วอร์ดรวมนี้ รพ. ไม่ให้ญาตินอนเฝ้า เพราะฉะนั้นตอนมืดเลย 2 ทุ่มเมื่อญาติกลับไปแล้ว และตอนเช้าเมื่อญาติยังไม่มา ตอนที่พยาบาลเข้ามาจัดการกับคนไข้แต่ละเตียง จึงเป็นบทเรียนที่เปิดหูเปิดตามาก คนไข้บางคนประสาทรับรู้น่าจะไม่เต็มร้อย พยาบาลพูดด้วยก็เข้าใจยาก บางคนก็ขยับร่างกายไม่ค่อยได้ แต่จริง ๆ แล้วคงขยับได้ถ้าค่อย ๆ ขยับ แต่ก็ขี้เกียจขยับถ้าไม่มีใครประคอง, ผมคุยกับญาติของเขาจึงได้รู้ว่า หลายคนเป็นทหารผ่านศึกเก่า เข้า ๆ ออก ๆ รพ.เป็นว่าเล่น
โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งปกติสามัญของชีวิต ทุกคนต้องเจอ ไม่มากก็น้อย ไม่หนักก็เบา ไม่เร็วก็ช้า แม้ไม่อยากเจอก็ต้องเจอ แต่เมื่อเจอมันแล้วเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติจิตใจก็จะปกติไม่ทุกข์ ส่วนใครที่รับความจริงไม่ได้ใจก็จะผิดปกติและเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้ามองให้ดี เราสามารถใช้ช่วงเวลาเจ็บไข้เข้าคอร์สเข้มเรียนบทแรกของอริยสัจ 4 คือทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัจจะคือความเจ็บไข้มอบงานให้ใจได้ฝึกปล่อยวาง ด้วยสติและขันติ
ผมนั่งเขียนบันทึกนี้และมองไปที่เตียงข้าง ๆ พี่แกเป็นทหารเก่าผ่านศึกที่เขาค้อเพชรบูรณ์มาอย่างโชกโชน แต่แกเข้า รพ. ไม่ใช่เพราะกระสุนหรือระเบิด แต่เพราะสุราที่เสพและบุหรี่ที่สูบวันละ 3 ซองติดต่อกันหลายปี, ส่วนลุงเตียงโน้นก็ทหารเก่าเช่นกัน นิ้วหัวแม่มือเท้าขวาขาดหายไปซึ่งก็ไม่ใช่เพราะสะเก็ดระเบิด แต่เพราะของชอบ 2 อย่างคือเหล้าและขนมหวานที่กินจนน้ำตาลขึ้นหลายร้อยติดต่อกันเป็นปี พอเป็นแผลนิดเดียวที่นิ้วโป้งก็ถึงขั้นต้องตัดทิ้ง, ส่วนพี่เตียงนั้นเป็นมะเร็งแต่ไม่ยอมให้ญาติพามาพบหมอเพื่อนอน รพ. ต้องรอให้อาการหนักซะก่อนจึงยอมมา ดูไปแล้วหลายคนเป็นโรคเพราะชอบรังแกตัวเอง ซึ่งในจำนวนนี้ก็น่าจะรวมผมอยู่ด้วย
ผมมองไปที่เตียงโน้นซึ่งคุณตาอายุ 93 นอนอยู่ มาถามตัวเองว่าถ้าผมอายุยืนขนาดนั้นและต้องมานอนบนเตียงใน รพ. อย่างนี้ผมจะรู้สึกอย่างไร หรือมันเป็นไปไม่ได้ เพราะ (1)ผมคงไม่อายุยืนถึง 90 แค่ 70 จะถึงหรือเปล่ายังน่าสงสัย และ(2)ถ้าผมบังเอิญอายุยืนเกินพิกัด สมองของผมจะสามารถรู้สึกนึกคิดได้เต็มร้อยหรือเปล่า นี่ก็น่าสงสัยอีกเช่นกัน
เมื่อมองอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า อนาคตเป็นสิ่งน่ากลัวเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันจะค่อย ๆ เกิดหรือเกิดทันทีปุ๊บปั๊บเราไม่มีโอกาสรู้เลย เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้อนาคตไม่น่ากลัว ก็ต้องทำให้ชีวิตในปัจจุบันคือวันนี้เป็นชีวิตที่เราพอใจที่สุด เป็นชีวิตที่ไม่ต้องรอคอย เพราะรอคอยแปลว่าพร่อง ไม่เต็ม กระหายร่ำไป
ถ้าชีวิตในแต่ละวัน (1)เรามีความสุขเพราะไม่ได้เอาเปรียบ-ไม่ได้เบียดเบีบน-ไม่ได้ทำร้ายใคร คือไม่ได้ hurt หรือ harm ใคร (2)เรามีความสุขเพราะพอใจว่า เราได้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งทุกวันเพื่อช่วยเหลือคนอื่น คือเราได้ help อย่างเต็มที่ตามที่เราสามารถทำได้ในทุกวันใหม่ที่เราตื่นขึ้นมา และ(3)เรามีความสงบเพราะได้ดูแลจิตใจของตัวเองไม่ให้ถูกความทุกข์หรือความสุขกัดแทะจนขาดแหว่งมากเกินไป เราสงบได้เพราะมีสติดูแล heart ของตัวเอง ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยทาน (help), ศีล(not hurt) และภาวนา (heart) เขาจะมีความสุข มีชีวิตที่เต็ม ไม่ต้องรอ และไม่กลัวตายแม้ล้มป่วย ล้มเจ็บ เพราะอะไรดีที่ควรทำก็ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วทุกวัน, อะไรเสียที่ไม่ควรทำก็พยายามเลิกทำแล้วทุกวัน เมื่อปัจจุบันอิ่มแล้วเช่นนี้ก็ไม่ต้องรอให้อนาคตมาป้อน
ณ นาทีนี้ถ้าอยู่บ้าน ผมคงกำลังนั่งอยู่หน้าคอมฯ และกูเกิ้ลหาเรื่องราวดี ๆ มาเขียนบทความลงเว็บ e4thai.com และ Facebook แต่บรรยากาศในวอร์ดคนไข้ทำให้ผมอยากจะคิดเรื่องอื่นมากกว่า
ผมนึกไปถึงคำที่ผู้คนพูดกันบ่อย ๆ ว่า เมืองไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นทุกที แต่ปัญหาที่พูดกันก็คือ ระบบ social safety net ของไทยที่ดูแลคนแก่ยังอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของรัฐหรือการอุปถัมภ์จากเครือญาติซึ่งนับวันยิ่งอ่อนแอลง แล้วคนแก่ไทยจะทำยังไง เรามีคนแก่มากขึ้น แต่เป็นคนแก่ที่อมทุกข์หรือเป็นคนแก่ที่เปี่ยมสุข นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด
ผมมองไปที่เตียงโน้นเห็นคุณป้ากำลังป้อนข้าวคุณลุง ส่วนเตียงนั้นลูกสาวกำลังป้อนข้าวคุณพ่อ แล้วผมล่ะซึ่งไม่มีลูก มีเมียคนหนึ่งซึ่งก็ไม่ค่อยแข็งแรง ถ้าบังเอิญเราทั้งคู่ได้เป็นคนแก่แล้วเกิดล้มป่วยพร้อมกัน ใครจะให้ใครพิง และถ้าผมตายก่อนเมียใครจะดูแลเขา จริงอยู่เราสองคนมีญาติพี่น้อง แต่เราควรนึกถึงเขาเพื่อช่วยเหลือ ไม่ใช่หวังให้เขามาช่วยเหลือเรา
เรื่องอย่างนี้คิดไปแล้วก็น่ากังวลอยู่บ้าง แต่ผมกลับไม่มีความกังวลเลย ไม่มีความกังวลแม้แต่นิดเดียว เพราะอะไร?
ผมรู้จักหญิงชราคนหนึ่ง แกป่วยไม่สบายพอออกจาก รพ.กลับถึงบ้านเวลาส่วนใหญ่ก็นอนอยู่บนเตียงเพราะเดินเหินไม่ค่อยสะดวก ลูก ๆ เป็นห่วงก็บอกให้แม่พยายามเดินบ้างโดยใช้ไม้เท้าหรือ walker แต่แกขี้เกียจเดินและไม่ยอมเดินอย่างเด็ดขาด จะเอาอะไรก็เรียกใช้ให้คนในบ้านทำหรือถือมาให้ หลายปีผ่านไปแกกลายเป็นคนเดินไม่ได้ เพราะขาอ่อนไม่มีแรงจะเดินเพราะไม่ยอมออกแรงเดินติดต่อกันมาหลายปี เห็นแล้วก็น่าสงสารทั้งตัวแกและคนในบ้านของแก
ขอโทษนะครับ ผมขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับการฝึกภาษาอังกฤษ สำหรับคนแก่ที่ร่างกายทรุดโทรมย่ำแย่นั้น ถ้าพยายามมันก็พอจะฟื้นฟูหรือยื้อยุดได้บ้าง ถ้าปัญหาร่างกายของคนแก่คือ พอจะเดินได้แต่ไม่ยอมออกแรงเดินจนเดินไม่ได้ ปัญหาของคนยังไม่แก่ในการเรียนภาษาอังกฤษก็คือ พอจะเรียนได้แต่ไม่ยอมออกแรงเรียนจนเรียนไม่ได้ คิดถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็รู้สึกว่าน่าเศร้าทุกครั้ง
เราพูดกันว่า การเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นเรื่องธรรมดา แต่เท่าที่เห็นอยู่ในสังคมไทย คนจำนวนมากขาดทักษะเมื่อเผชิญกับการแก่ตัว-ล้มป่วย-และใกล้ตาย เขาเศร้าโศก หงุดหงิด เอะอะโวยวาย และฟูมฟาย ปัญหาเหล่านี้คงแก้ไม่ได้ด้วยการอ่านหนังสือธรรมะดี ๆ เล่มเดียว หากไม่ได้ฝึกอ่านใจตัวเองอย่างต่อเนื่องมาทุกวัน
ผมคุยอยู่นานทีเดียวกับพี่สาวคนหนึ่งอายุกว่า 60 แล้ว แกเป็นมุสลิมและมาดูแลแฟนชาวพุทธซึ่งเข้าแขกและอยู่กินกันมาหลายสิบปีแล้ว บ้านแกอยู่หนองจอกมีอาชีพขายโรตีแบบหาเช้ากินค่ำ แต่ช่วงที่แฟนนอน รพ.นี้ต้องหยุดขาย แต่ดูแล้วแกเป็นคนร่าเริงเปิดเผยใจกว้าง แกเล่าว่าเมื่อเดือนที่แล้วแกเอาผ้าโพกหัวของผู้หญิงมุสลิมออก และไปรำหน้าขบวนแห่นาคลูกชายของเพื่อนที่บวชเข้าวัด แกบอกว่าคนบวชเข้าวัดเป็นบุญ ทำบุญพุทธหรือบุญอิสลามมันก็บุญเหมือนกัน ผมฟังแกเล่าแล้วรู้สึกมีความสุขและอยากให้โลกนี้มีคนอย่างพี่สาวคนนี้เยอะ ๆ สำหรับแฟนที่นอนป่วยอยู่นี้ แกบอกว่าก็จะอยู่ดูแลกันไปอย่างนี้แหละจนตาย ไม่ต้องไปกังวลอะไรหรอก ผมฟังแกเล่าแล้วรู้สึกชื่นใจและมีกำลังใจมาก มากยิ่งกว่าได้อ่านเรื่องราวของมหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งชอบพิมพ์ประวัติตัวเองขายเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คซะอีก
*****
วันนี้ผมมี 2 กิจกรรมนอกวอร์ด คือตอนสายไปพบนักโภชนาการ และตอนบ่ายไปห้องกายภาพบำบัด
ผมไปพบนักโภชนาการเวลา 10 โมงเพื่อรับคำแนะนำว่าคนเป็นเบาหวานควรจะกินอาหารยังไงให้ถูกต้อง ท่านผู้อ่านครับ อย่าหาว่าผมเป็นคนแก่วัดเลยครับ ผมรู้อยู่แล้วว่านักโภชนาการจะพูดอะไรให้ผมฟัง เขาบอกว่าอาหาร 5 หมู่ที่ควรกินมีอะไรบ้าง สำหรับคนเป็นเบาหวานไม่ควรกินอะไร และควรกินแค่ไหน และไอ้แค่ไหนนี่แหละครับสำคัญ อย่างเช่นกล้วยน้ำว้าสุก 1 ลูกมีแคลอรี่เท่ากับข้าว 1 ทัพพี อย่ากินเกิน 1 ลูก (อยู่บ้านผมกินทีละ 2-3 ลูก), แตงโมเป็นผลไม้หวานให้กินชิ้นเล็ก ๆ (อยู่บ้านอากาศร้อน ๆ อย่างนี้ผมกินทีละครึ่งลูก), มะม่วงสุกแคลอรี่เยอะให้กินได้ชิ้นเล็ก ๆ (ผมกินทีละ 2 ลูกใหญ่ ๆ), สับปะรดก็หวานจึงให้กินนิดเดียวเช่นกัน (อยู่บ้านผมกินทั้งลูก ถ้าอดใจได้ก็ครึ่งลูก) ส่วนขนมหวานไทยของชอบให้งดโดยเด็ดขาด สรุปง่าย ๆ คำเตือนของนักโภชนาการต่อคนเป็นเบาหวานก็คือ กินน้อย-ตายยาก, กินมาก-ตายง่าย ดูท่าทางว่าผมคงจะเป็นคนตายง่ายเพราะกินมากนี่แหละครับ
พอออกจากห้องนักโภชนาการเจอคุณหมอเอินฟ้าซึ่งห้องอยู่ติดกัน ท่านอุตส่าห์กำชับถามด้วยความเป็นห่วงว่า เห็นจุดหรือยังว่าต้องปรับการกินยังไง ผมตอบว่าเห็นแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน และก็ต่อรองว่าขอใช้วิธีกินเยอะและฉีดอินซูลินเยอะ ๆ ตู๊กันไปได้มั้ย คุณหมอบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีรักษาที่ถูกต้อง ผมฟังแล้วก็นิ่งเพราะไม่มีทางเถียง
นี่ผมยังคิดตามประสาคนชอบกินอยู่อีกว่า จะมียาสมุนไพรอะไรบ้างมั้ยที่กินแล้วช่วยให้เรากินของหวานและผลไม้หวานได้มากกว่าที่หมอสั่งและน้ำตาลไม่ขึ้น, น้ำตาลไม่ swing, และน้ำตาลสะสมลดลง ใครรู้จักยาดีช่วยบอกด้วยนะครับ แต่เอ๊ะ! นี่ผมกำลังวางแผนทำร้ายตัวเองหรือเปล่าเนี่ยะ
และตอนบ่าย 2 โมงเขาพาผมไปห้องกายภาพบำบัด ผมบอกเขาว่าอยู่บ้านผมเดินออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงทุกเย็น เขาเลยให้ผมขี่จักรยานอยู่กับที่ 30 นาที ใช้ได้ทีเดียวครับขนาดอยู่ในห้องแอร์เหงื่อยังซึม
ผมเห็นคนไข้รายอื่นในห้องนี้ ส่วนใหญ่มารับบริการเพราะร่างกายขัดข้องเฉพาะส่วน เช่น ขา เข่า เท้า ไหล่ ที่มันติดขัด ผมเห็นคนหัดเดินด้วย walker สี่ขา, คนเดินเกาะราวคู่ความยาวสัก 3-4 เมตร, และคนดึงห่วงบริหารหัวไหล่ ผมนึกถึงคำว่า “จิตภาพบำบัด” ขึ้นมาทันที และดูเหมือนมันจะยากกว่า “กายภาพบำบัด” ซะอีก อย่างกรณีของผมมี “อาการทางจิต” เพราะติดของหวาน (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า sweet tooth) และก็ต้องบำบัดตัวเองโดยใช้ขันติและสติเยอะเป็นพิเศษ จะขอให้ใครช่วยก็ไม่ได้ เฮ้อ!!!
*****
วันนี้มีคนไข้รายเก่าออกไป-รายใหม่เข้ามาอีกหลายคน คนหนึ่งเป็นคุณตาอายุ 83 ปี เป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายเพิ่งตรวจพบได้ 1 เดือน ผมเห็นมีคนมาเยี่ยมทั้งวันแต่คนไข้ก็นอนนิ่งบนเตียงไม่กระดุกกระดิกเลย ผู้หญิงคนหนึ่งที่มาเยี่ยมถามเสียงดัง ๆ ว่า คุณตาจำหนูได้มั้ย ผมอยู่ห่างจึงไม่เห็นว่าคุณตาพยักหน้าหรือเปล่า
ช่วงเวลาที่อยู่ใน รพ.นี้ ผมไม่เคยเห็นคนไข้ที่ตายคาเตียงหรือถูกย้ายแล้วไปตายที่ห้องไอซียู แต่ดูจากสภาพแล้วถ้าบางคนต้องกลับไปตายที่บ้านก็ไม่น่าประหลาดใจ
*****
เย็นวันศุกร์นี้หมอให้ผมกลับบ้าน และเมื่อท่านรู้ว่าผมมีเครื่องเจาะดูน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้ว ก็ให้ผมส่งผลน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน ของวันเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ให้ท่านทางอีเมลในวันอังคาร และนัดมาพบอีกครั้งในวันพฤหัสฯ ผมรู้สึกประทับใจในความใส่ใจของคุณหมอเอินฟ้า ณ นคร อย่างยิ่ง
ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงเข้าพักรักษาตัวใน รพ.ครั้งนี้ ผมได้เห็นเทวทูตทั้ง 2 คือ ความแก่และความเจ็บในคน ๆ เดียวกัน มันทำให้เห็นความจริงว่า คนที่เตรียมพร้อมทุกวัน เพื่อต้อนรับความแก่-ความเจ็บ-ความตาย ด้วยความภูมิใจเพราะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่ทำได้(ทาน-help), ด้วยการไม่ทำร้าย-เบียดเบียน-เอาเปรียบใคร(ศีล- no hurt), และด้วยสติปล่อยวาง(ภาวนา-heart) ชีวิตที่พร้อมอยู่-พร้อมตายเช่นนี้ ย่อมเป็นชีวิตที่อิ่มและเต็มเป็นนิตย์ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือแก่เฒ่า, สบายดีหรือเจ็บป่วย, ไกลตายหรือใกล้ตายก็ตาม
https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai
ฝึกใช้ดิก อังกฤษ-อังกฤษ กับดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย (Cambridge)
สวัสดีครับ
ผมเคยแนะนำหลายครั้งแล้วว่า เราควรฝึกใช้ดิก อังกฤษ-อังกฤษ ให้คล่อง เพราะมันมีประโยชน์มากกว่า ดิกอังกฤษ-ไทย อย่างน้อยก็ 3 อย่าง
หนึ่ง-เมื่อเราอ่านนิยามศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ เราก็ได้ฝึก reading และฝึกตีความ การฝึกจากข้อความสั้น ๆ เช่นนี้ จะช่วยให้เราพร้อมในการอ่านข้อความหรือเรื่องยาว ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ
สอง-หลายครั้ง นิยามศัพท์ที่เราอ่านจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยตรง ในดิก อังกฤษ-อังกฤษ ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำศัพท์ได้ชัดเจน เจาะจง กว้างขวาง ถูกต้อง มากกว่าการอ่านคำแปลสั้น ๆ ในดิก อังกฤษ-ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศัพท์เทคนิค หรือ technical term ที่ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย หรือแปลแล้วแต่ไม่สามารถครอบคลุมความหมายในภาษาอังกฤษได้อย่างครบถ้วน
สาม-ดิก อังกฤษ-อังกฤษ มีประโยคตัวอย่างให้เราดู พอถึงเวลาที่เราจะนำคำศัพท์ไปผูกประโยคเพื่อพูดหรือเขียน เราก็สามารถจำสไตล์ประโยคตัวอย่างนี่แหละไปใช้
ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ที่ผมขอแนะนำให้ท่านฝึกใช้ มี 5 เว็บ ดังนี้
ในการฝึกใช้ 5 เว็บดิกข้างบนนี้ ถ้าท่านอ่านและเจอคำที่ไม่รู้ความหมาย ท่านก็คลิกคำนั้น เว็บดิกก็จะแสดงความหมายของคำนั้นในหน้าต่างใหม่ ถ้าฝึกอ่าน, ฝึกตีความ, และคลิกดูความหมายของคำที่ไม่รู้ไปเรื่อย ๆ ในลักษณะนี้ ไม่นานนัก ท่านก็จะอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษได้คล่อง
แต่ถ้าท่านบอกว่า การคลิกดูคำที่ไม่รู้จักอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ... มันเหนื่อยมาก เพราะยิ่งคลิกยิ่งงง เพราะเจอแต่คำที่ไม่รู้จัก
ถ้าอย่างนั้น ก่อนจะฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ผมมีของง่ายกว่านี้ให้ท่านฝึกซ้อมมือใช้ก่อน คือ ดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย ของ Cambridge
ที่นี่ → http://dictionary.cambridge.org/dictionary/english-thai/
ข้อดีของ ดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย Cambridge ก็คือ
•มันมีทุกอย่างเหมือนกับดิก อังกฤษ-อังกฤษ แต่ยังเพิ่มคำแปลศัพท์เป็นภาษาไทยแนบให้ท่านดูด้วย เพราะฉะนั้น ท่านสามารถฝึกอ่าน definition และประโยคตัวอย่างเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกับดูคำแปลของแต่ละความหมายเป็นภาษาไทย ซึ่งจะช่วยให้การอ่านและตีความภาษาอังกฤษ ไม่เป็นเรื่องหนักแรงเกินไป
•คำภาษาอังกฤษทุกคำที่ท่านไม่รู้ความหมาย ท่านสามารถคลิกคำนั้นเพื่อดูคำแปลไทยและความหมายของมันได้ในหน้าต่างใหม่ นับว่าสะดวกมาก
ถ้าท่านใช้เวลาฝึกกับดิกอังกฤษ-อังกฤษ-ไทย หรือดิกอังกฤษ-อังกฤษ วันละประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ผมเชื่อว่าในเวลาไม่กี่เดือน ท่านก็จะใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ได้คล่องแคล่วมากขึ้นเยอะ
ผมมีเรื่องของตัวเองที่จะเล่า คือผมเริ่มหัดเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ ตอนเรียนอยู่ ม.ศ.4 (ประมาณ 40 ปีที่แล้ว) ตอนนั้นโลกเรายังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ เมื่ออ่านคำศัพท์ในดิกและเจอคำสำคัญที่ไม่รู้จัก ผมต้องเสียเวลาเปิดดิกอังกฤษ-ไทย อีกเล่มหนึ่ง ท่านคงพอจะจินตนาการออกว่า การหัดอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษ ในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากงุ่มง่ามมากเพียงใด ผมต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษได้คล่องแคล่ว
แต่ ณ วันนี้ ด้วยเว็บ→ดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย ที่ผมนำเสนอท่านในวันนี้ การฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ จะกลายเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ
หากวันนี้ ท่านยังใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ไม่คล่อง ขอให้ท่านตั้งเป้าว่า จะใช้มันให้คล่องให้จงได้ และพยายามฝึกตามวิธีที่ผมแนะนำมานี้ และเมื่อท่านทำได้ ท่านจะเห็นเองว่า มันเป็นการลงทุนฝึกที่คุ้มค่าจริง ๆ
https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai
More Articles...
- ขอลางาน
- ขอแนะนำวิธี "ฝึกอ่าน-ฝึกแปล-ฝึกพูด" โดยให้ add-on Google เป็นพี่เลี้ยง
- เขาเชิญให้ผมไปพูดให้อาจารย์สอนภาษาอังกฤษฟัง – ผมขอคำแนะนำจากท่านด้วยครับ
- เรียนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันที่ usalearns.org
- 100 idiom เกี่ยวกับ เวลา และข้อแนะนำวิธีการจำ idiom
- เรื่องของผมกับหมากลางถนนตัวหนึ่ง
- ฝึกภาษาอังกฤษกับ English Baby!
- ผมยินดีรับเชิญเป็นวิทยากรครับ
- พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างสมบูรณ์ครบวงจรกับ British Council
- การใช้ big, large, great
- ถ้าเรียนภาษาอังกฤษอย่างผีเสื้อมีคนช่วย จะไม่มีวัน "บินได้"
- เมื่อฟังไกด์คนจีนแนะนำลูกทัวร์
- เนื่องใน “วันแห่งความรัก” จาก ●พิพัฒน์ & ประสาร e4thai.com Webmasters●
- ชีวิตที่น่าสงสาร !!!
- เข้ายุค AEC มา 1 เดือนแล้ว, มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้นบ้างเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย และของท่าน ?
- อาหารอร่อย ๆ เต็มโต๊ะเลือกกินไม่ถูก? vs eBook ดี ๆ เต็มดิสก์เลือกอ่านไม่ถูก?
- ถ้าวิธีที่ถนัดและสบายใช้เรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ผล - ก็น่าจะลองเปลี่ยนไปใช้วิธีที่ไม่ถนัดและลำบากดูบ้าง
- 7 สาเหตุที่ฟิตอังกฤษแล้วไม่รู้จักก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการพูด
- ebook ที่ดาวน์โหลดเก็บไว้มากมาย จะมีวิธีศึกษายังไงให้เกิดประโยชน์?
- 4 วิธีฟิตภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง