Home
ภาษาอังกฤษไทยแย่ ... เราไม่เดือดร้อนจริงหรือ ?
สวัสดีครับ
คลิก
⇓
ข่าวทำนองนี้ เราได้ยินบ่อยๆ มีการศึกษา วิจัย เก็บสถิติ จากหน่วยงานระหว่างประเทศ รายงานให้รู้กันเรื่อย ๆ ถ้ารู้แล้วรู้สึกเฉย ๆ เพราะถือว่าเราก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็คงไม่เป็นไร เขาจะจัดให้เราอยู่อันดับ top หรือบ๊วย ก็เรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา
.... แต่ว่า เราไม่เดือดร้อนแน่หรือ?
พิพัฒน์
“บุญประจำ” เรื่องที่ต้องเตรียมทำก่อนเกษียณ
สวัสดีครับ
ช่วงนี้ผมดูข่าวทีวีเห็นหลายคนพยายามทำนั่นทำนี่เท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อถวายในหลวงรัชการที่ ๙ เมื่อถูกถามเขาเหล่านั้นก็มักจะตอบว่า ทำถวายในหลวง ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ทำแล้วมีความสุขก็ทำ เห็นแล้วก็ปลื้มใจ ดีใจ
ผมมาถามตัวเองว่า ถ้าพ้นงานนี้ไปแล้ว หมายถึงพ้นไปนาน ๆ ความรู้สึกอยากทำและมีความสุขที่ได้ทำ ยังมีเหมือนเดิมหรือเปล่า? แล้วผมก็ตอบตัวเองว่า มีครับ มีแน่ ๆ เพราะท่านเหล่านี้มีน้ำใจ ทำไปโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ทำแล้วมีความสุข ก็ทำ
แต่ความต่างระหว่างตอนนี้กับตอนโน้น หรือนานวันข้างหน้า มันอยู่ตรงนี้ครับ อยู่ตรงที่วันนี้มีกิจกรรมให้ทำ ท่านเหล่านี้จึงทำด้วยน้ำใจ แต่เมื่อถึงวันโน้น ถ้าไม่มีกิจกรรมชัด ๆ ให้ทำ น้ำใจอาจไม่มีที่ให้แสดงออก แต่ไม่ใช่น้ำใจน้อยลงหรือขาดน้ำใจ เพราะว่าเมื่อให้ด้วยน้ำใจ ความสุขใจก็จะไหลมาเอง นี่มันเป็นกฎแห่งกรรม หรือจะมองว่าเป็นกฎธรรมชาติขั้นพื้นฐานก็ได้ครับ เพราะโลกนี้มีกลไกตามธรรมชาติที่ต้องปกป้องตัวมันเอง เพราะฉะนั้นใครที่ทำดีมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ เขาก็จะได้รับความสุขใจเป็นรางวัลตอบแทนทันที นี่มันเห็นชัดครับ
สรุปก็คือ โดยธรรมชาติพื้นฐาน ทุกคนต้องการรับใช้มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะเมื่อได้ให้อะไรออกไปบ้าง เขาก็จะได้รับความสุขเป็นสิ่งตอบแทนทันที
คราวนี้มาถึงจุดที่ผมอยากจะคุยด้วยเป็นพิเศษในวันนี้
คือมีคนพูดกันเยอะว่า สังคมไทยเราเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คือคนแก่ที่อายุเกิน 60 ปีมีมากขึ้นทุกวัน และท่านเหล่านี้จำนวนมากก็ปลดเกษียณจากงานราชการหรือบริษัท มีชีวิตที่สบายขึ้นเพราะมีเงินบำนาญกินหรือเงินที่เก็บไว้เมื่อวัยทำงาน เรียกว่าเป็นวัยพักผ่อน หลายคนได้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำ เช่น เดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ หรือทำงานจิตอาสาตามที่ตนชอบ
ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเพื่อนข้าราชการด้วยกันที่ปลดเกษียณแล้ว พวกเราทำงานที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งสังกัดกระทรวงแรงงาน หลายคนมีฝีมือทางช่างเพราะเป็นครูฝึกฝีมือด้านต่าง ๆ มาหลายปี แต่บางคนก็รับผิดชอบด้านที่ไม่ใช่ช่าง เช่น งานบัญชี การเงิน การพัสดุ การบริหาร การต่างประเทศ งานตำรา งานหลักสูตร เป็นต้น เมื่อท่านเกษียณ ทักษะที่ท่านสะสมมาจากการทำงานกว่า 30 ปีมันก็ยังติดตัวท่านอยู่ ท่านไม่ได้คืนหลวงไปพร้อมกับวันเลิกงาน
แต่ว่าเมื่อท่านเกษียณไม่ได้ทำงานเดิมนาน ๆ ทักษะที่ท่านมีก็ค่อย ๆ หมดไป ถามว่าตอนที่ท่านเกษียณแล้วนี้ ทักษะพวกนี้สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้หรือไม่?
คำตอบก็คือ อาจจะได้ หรืออาจจะไม่ได้ เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง ทำไมถึงตอบอย่างนี้
ที่ตอบอย่างนี้ก็เพราะว่า ทักษะที่มีอยู่นี้ จะใช้ทำงานได้ มันต้องมีอย่างอื่นเป็นส่วนประกอบ เช่น เป็นช่างซ่อมรถยนต์ ก็ต้องมี workshop หรืออู่ซ่อม, มีฝีมือเรื่องการทำอาหารที่ประณีตซับซ้อน ก็ต้องมีครัวพร้อมอุปกรณ์, มีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษก็ต้องมีห้องเรียนที่จะสอน หรือทักษะอื่นอีกหลาย ๆ อย่าง ก็ต้องมี connection หรือแวดวงที่รู้จักคุ้นเคย มันถึงจะทำงานหรือใช้ทักษะที่ตัวเองมีให้เกิดเป็นผลงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้
และนี่มาถึงจุดที่สองที่ผมอยากจะพูด คือ เราได้ยินคนพูดกันเกร่อว่า ผู้สูงอายุจะต้องรู้จักดูแลรักษาตัวเอง แต่การดูแลตัวเองนี้ เรื่องสุขภาพกายอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ ต้องสุขภาพใจด้วย และสุขภาพใจนี่อาจจะสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ และวิธีรักษาสุขภาพใจที่มีประสิทธิภาพหรือได้ผลมากที่สุด คือการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แม้สิ่งที่ช่วยเหลืออาจจะเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ใหญ่มาก
และเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะชวนคุยก็คือ ถ้าเราจะใช้ชีวิตอย่างจิตอาสาในวัยชราให้มีความสุขใจ นั่นคือการให้อย่างต่อเนื่อง มันไม่ได้หมายความว่า เราจะให้อะไรก็ได้ที่มีผู้รับ แต่ต้องเป็นการให้ชนิดที่เรามีความสุขที่จะให้
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้ดีกว่าครับ
สมมุติว่าท่านเกษียณจากงานแล้วและบ้านอยู่กรุงเทพ หรือจังหวัดไหนก็ได้ มันก็มีงานจิตอาสาเยอะแยะที่ไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษก็ทำได้ ท่านลองเข้าไปเช็กที่เว็บนี้ดูก็ได้ครับ
→ http://www.jitarsabank.com/event/browse
ถ้าท่านเจองานอาสาที่จะทำ และเมื่อไปทำแล้วก็มีความสุข อันนี้แหละครับถือว่าท่านโชคดี ที่เจองานทำดีแล้วมีความสุข แต่ปัญหาก็คือมีงานทำดีที่ทำแล้วเราไม่มีความสุข เพราะว่าเราไม่สมพงศ์กับงานนั้น แม้ว่ามันจะเป็นงานทำดีก็ตาม เราอาจจะทำได้ แต่ทำได้ไม่บ่อย ทำได้ไม่นาน เพราะ “มัน”ไม่ใช่ “เรา”
การทำงานเอาเงินเมื่อวัยทำงาน กับการทำงานเอาบุญเมื่อวัยเกษียณ งานสองอย่างนี้ไม่ต่างกันเลย เพราะถ้าจะให้ดี งานก่อนเกษียณนั้น ขณะที่ทำเราควรได้ทั้งเงินและความสุข ส่วนงานหลังเกษียณ ขณะที่ทำเราควรได้ทั้งบุญและความสุข ถ้าได้แค่เงินหรือบุญอย่างเดียวโดยไม่ได้ความสุข ก็ถือว่าโชคร้ายเพราะได้ไม่ครบ คนที่ลาออกจากงานหรือเลิกทำบุญก็เพราะอย่างนี้แหละครับ
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเองแล้วกันครับ อันนี้ไม่ใช่เป็นการยกยอตัวเองนะครับ ขอให้ถือว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ และงานเป็น webmaster ที่ e4thai.com นี้ มันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักหนา เพราะผมก็เพียงไปเก็บลิงก์หรือ eBook ในการเรียนภาษาอังกฤษจากที่อื่น ๆ มาแนะนำท่านอีกต่อหนึ่ง แต่ว่างานนิด ๆ หน่อย ๆ อย่างนี้แหละครับ ที่ผมทำแล้วมีความสุขเยอะ ผมก็เลยทำได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ
ผมต้องการจะบอกอะไรท่าน?
ผมต้องการจะบอกว่า ถ้าท่านต้องการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ด้วยการทำงานที่รับใช้คนอื่น และมีความสุขในการทำงานนั้น ท่านต้องเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเกษียณ ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องที่ต้องเตรียม หรือหาให้พบให้ได้ คือ
[1] ท่านต้องหาให้พบให้ได้ว่า มีอะไรที่ท่านสามารถทำให้คนอื่นฟรี ๆ และท่านมีความสุขที่ได้ทำ ทำได้เรื่อย ๆ ไม่เบื่อ .... นี่เป็นคำถามที่ถามง่ายแต่อาจจะตอบยาก แต่ท่านอย่าเพิ่งรีบตอบว่าไม่มีนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมี แต่อาจจะไม่รู้หรือไม่เคยหา หรือหาแล้วแต่ยังไม่พบ เขาจึงโชคร้ายไม่รู้จักบุญประจำที่ทำแล้วมีความสุข (รู้จักเพียงงานประจำที่ทำได้เงินแล้วมีความสุข) ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้เพราะผมเชื่อว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์ทุกคนพร้อมเซลล์ในสมองที่เป็นสุขเมื่อได้ให้อะไรแก่เพื่อนมนุษย์ แต่ทุกคนต้องหาเอาเองว่าต้องให้อะไรใจจึงจะเป็นสุข หมายถึงให้จนเป็นบุญประจำ ไม่ใช่ให้แค่เป็นบุญอดิเรก
ผมเองโชคดีที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรมาตั้งแต่อายุยังน้อย ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบซอกแซกค้นคว้า หาให้รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ผมอยากรู้ ผมจึงชอบภาษาอังกฤษเพราะมีเรื่องน่ารู้มากมายที่เขียนด้วยภาษานี้ ถ้ามีเรื่องน่ารู้มากกว่าที่มันเขียนด้วยภาษาขอม ก็เชื่อว่าผมน่าจะชอบเรียนภาษาขอมมากกว่าภาษาอังกฤษ และการที่ผมชอบซอกแซกนี่เองทำให้ผมพยายามศึกษาเทคนิคของ Google Search ก่อนที่จะมีเรื่องนี้เขียนไว้มากมายเป็นภาษาไทยด้วยซ้ำ การชอบอ่านและ Search ซอกแซกนี่แหละครับ มันสมพงศ์อย่างยิ่งกับการทำหน้าที่ webmaster เว็บ e4thai.com เพราะเมื่อได้หาเจอและนำมาบอกต่อ มันมีความสุขจริง ๆ ครับ
[2] อีก 1 คำถามที่ท่านต้องค้นหาคำตอบให้ได้ก็คือ มีทักษะอะไรที่ท่านต้องมี หรือค่อย ๆ สะสมให้มันมี ในการทำบุญประจำอย่างที่ผมว่ามานี้ ... ข้อนี้ต่อจากข้อที่ [1] คือเมื่อท่านรู้แล้วว่า ท่านรักและมีความสุขที่จะให้อะไรแก่คนอื่น ท่านก็ต้องรู้ต่อไปว่า ท่านต้องมีทักษะหรือทำอะไรให้เป็นบ้าง ยกตัวอย่างผมซึ่งเป็น webmaster ของบล็อกและเว็บ e4thai.com มาประมาณสิบปีแล้ว ผมก็ต้องพยายามสะสมทักษะพวกนี้ครับ
►ทักษะ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ คือว่า ผมเป็น webmaster เว็บไซต์ที่ให้เนื้อหาในการฝึกภาษาอังกฤษ แต่ผมไม่ใช่คนเก่งภาษาอังกฤษอะไรนักหนา ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะผมต้องฟิตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้เข้าใจหัวอกคนที่เรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง
►ผมต้องพยายามศึกษาเรื่องเทคนิคการใช้เน็ต, โปรแกรมคอมพิวเตอร์, IT, เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ บอกตรง ๆ ครับ ผมเป็น webmaster ที่รู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก โชคดีจริง ๆ ที่ได้คุณประสาร คิดดีซึ่งตอนนี้เรียนปริญญาเอกเรื่องหุ่นยนต์ที่ปักกิ่งทำหน้าที่เป็น Technical Webmaster ให้ มีอะไรสงสัยก็ถามไป คุณประสารก็ตอบมาทันทีทาง Facebook
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะบอก คือถ้าท่านทำเองให้เป็นทั้งหมดไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเหลือในการทำบุญประจำของท่าน ก็ให้พยายามหาคนช่วยหรือเพื่อนร่วมทางนะครับ
[3] คำถามสุดท้ายที่ต้องตอบก็คือ ท่านต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ, อุปกรณ์, network หรือ facility อะไรบ้าง ที่ช่วยให้การทำบุญประจำของท่านไหลลื่นไปได้ไม่ติดขัด .... เรื่องนี้มีคำตอบหลากหลายมาก ๆ มันขึ้นอยู่กับว่า ท่านจะทำอะไร ทำที่ไหน เกี่ยวข้องกับใครบ้าง ฯลฯ สิ่งพวกนี้เป็นเรื่องที่ท่านต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ก่อนวันที่ท่านเกษียณ ผมเองโชคดีที่ทำเรื่องเล็ก ๆ นิดเดียว มันก็เลยไม่ยุ่งยาก แต่มีความสุขเยอะ มันโชคดีอย่างนี้แหละครับ
ท่านผู้อ่านครับ ผมพูดมายืดยาว อาจจะเหมือนคนแก่พูดกับคนแก่ แต่ก็อยากจะสรุปว่า แม้กำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เราก็น่าจะเตรียมชีวิตสำหรับ 2 เรื่อง คือ งานประจำและบุญประจำ ที่ได้ทั้งเงินและความสุข ถ้าท่านถึงวัยเกษียณ และได้เตรียมตัวมาดี หมดภาระที่ต้องหาเงินแล้ว ท่านก็จะมีบุญที่ทำแล้วมีความสุข ตลอดไป สิ่งที่ทำอาจจะเล็กน้อย ไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าให้ด้วยจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ให้เป็นบุญประจำที่สมพงศ์กับท่าน บุญที่ได้จะให้ความเบิกบาน ที่นิรันดร์และเป็นทิพย์
พิพัฒน์
ผิดเป็นครู เรียนรู้จากความผิด และไม่หยุดเรียน
ฝึกภาษาอังกฤษทีละคำ-ทีละประโยค กับเว็บ Longman Dictionary ทั้งตอนที่ “หมดแรง” และ “มีแรง”
สวัสดีครับ
ผมเชื่อว่า แม้แต่คนที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ ก็มีบางวันที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีแรง ไม่มีเวลา จะเรียน ฉะนั้น วันที่แบตอ่อนเช่นนี้ เราเรียนน้อยลงก็ไม่เป็นไร พอแบตเต็มก็เรียนเต็มที่เหมือนเดิม แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือเราเลิกเรียนเมื่อแบตอ่อน และถ้าเลิกเรียนนานเกินไป แรงเฉื่อยจะหมด ทำให้การเริ่มใหม่เป็นเรื่องยาก หรือเริ่มไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่มีใจหรือไม่ค่อยมีเวลาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำเตือนสั้น ๆ ของผมตรงนี้ก็คือ ตอนที่แบตอ่อน ฝึกลดลงได้แต่อย่าเลิก ฝึกหย่อนลงได้แต่อย่าหยุด
แต่จะฝึกยังไงในตอนที่ไม่อยากฝึก-ไม่มีเวลาฝึก-ไม่มีแรงฝึก? ก็ไม่มีอะไรพิเศษหรอกครับ ก็หาอะไรที่เป็นภาษาอังกฤษให้ได้อ่าน-ได้ฟัง-ได้พูดตามหรืออ่านออกเสียง นิด ๆ หน่อย ๆ สัก 5 – 10 นาทีเป็นอย่างน้อย ชอบใจเนื้อหาอะไร-ชอบเว็บไหน-ก็ไปที่ที่ชอบ ทำได้แค่นี้ก็เยี่ยมแล้วครับ
แต่กระนั้น วันนี้ผมก็เสนอสัก 1 เว็บที่ผมเห็นว่าเหมาะมากสำหรับฝึกตอนที่แบตอ่อน คือเว็บ Longman Dictionary เว็บนี้สามารถฝึกได้ทุกเรื่องทั้งศัพท์ แกรมมาร์ ฟัง พูด อ่าน เขียน
▬► http://www.ldoceonline.com/
เมื่อเข้าไปแล้ว ให้ท่านพิมพ์คำอะไรก็ได้ลงไป อาจจะเป็นคำง่าย ๆ ระดับ ป.1 ที่ท่านรู้จักอยู่แล้ว หรือคำที่ยากขึ้นมา ระดับ ปี.1 ก็ได้
วิธีฝึกก็ง่าย ๆ คือ
เรื่องฟัง & พูด:
ให้คลิกฟังเสียงคำศัพท์และพูดตามเป็นคำ ๆ และคลิกฟังเสียงอ่านประโยคตัวอย่างและพูดตามเป็นประโยค ๆ พอเริ่มพูดคล่องปากแล้ว ให้พูดตามโดยไม่ต้องดูตัวหนังสือ คนไทยหลายคน ประโยคเดียวกัน ถ้าอ่านละก็รู้เรื่อง แต่ถ้าฟังชักงง ก็ต้องฝึกฟังมากหน่อย โดยไม่ต้องเหนียมว่าฟังของง่าย ๆ มันง่ายถ้าอ่าน แต่มันยากถ้าฟัง ก็ต้องทนฟังให้มันง่ายเหมือนอ่าน และเว็บดิก Longman ก็เป็นเว็บเดียวในโลก (ณ เวลานี้) ที่ให้เราฟังประโยคตัวอย่างทุกประโยคในเว็บดิกของเขา Free !!!
เรื่องอ่าน:
ก็อ่านความหมายของคำศัพท์ (definition) และประโยคตัวอย่าง เรื่องอ่านนี้ฝึกไปพร้อม ๆ กับเรื่องฟังก็ได้ และถ้าเลื่อนลงไปข้างล่างจะเห็น Examples from the Corpus ตรงนี้แหละครับ ที่รวบรวมประโยคตัวอย่างมาจาก database ของเขา มีให้อ่านเยอะเลย
เรื่อง Grammar, Thesaurus, Collocations:
เมื่อมองลงไปด้านล่าง ๆ ของหน้า ศัพท์บางคำมีเรื่องพวกนี้ให้ศึกษาด้วย ถ้ายังไม่หมดแรงก็เชิญได้เลยครับ แต่ถ้าแรงน้อย ยังไม่ต้องไปยุ่งกับมันก็ได้
สำหรับท่านที่แบตยังเต็ม หรือเต็มเป็นประจำอยู่แล้ว ท่านก็สามารถฝึกหนัก ๆ กับเว็บนี้ได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น
- ศึกษาประโยคตัวอย่างทั้งหมดที่อยู่ใต้หัวข้อ Examples from the Corpus หรือ
- ไปนำคำศัพท์ยาก ๆ ประเภท TOEIC, TOEFL, SAT จากเว็บข้างล่างนี้ เอามาศึกษากับเว็บ Longman Dictionary
พิพัฒน์
สร้างพื้นฐานคำศัพท์ที่แข็งแกร่งด้วย Longman Communication 9000 พร้อมคำแนะนำวิธีฝึก
สวัสดีครับ
ผมเคยนำคำศัพท์ 3,000 คำของดิก Oxford และ Longman มาฝากท่าน →ที่ลิงก์นี้ ศัพท์กลุ่มนี้มีประโยชน์มากในการพัฒนาภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน
แต่โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า 3,000 คำนี้แม้จะเป็นพื้นฐานที่ดี แต่มันก็น้อยเกินไป มันต้องมากกว่านี้ ถ้าสัก 10,000 คำ ก็กำลังเหมาะ
โชคดีคุณ Intouch Bcc (คุณน่อย) ได้ส่งลิงก์คำศัพท์พื้นฐาน 9,000 คำ ชุด Longman Communication 9000 ที่ใช้ในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งดิก Longman ได้บรรจุไว้ใน →LDOCE 6th Edition ของเขา
ในรายการคำศัพท์ทั้ง 9,000 คำนี้ เขาแจกแจงเลยว่าเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวใดกี่คำ ตามข้างล่างนี้
A ~ Z : 9,027
A : 575 B : 476 C : 933 D : 571
E : 419 F : 442 G : 258 H : 312
I : 369 J : 56 K : 45 L : 306
M : 432 N : 177 O : 229 P : 710
Q : 39 R : 517 S : 1033 T : 476
U : 194 V : 148 W : 284 X : 1
Y : 27 Z : 7
ผมเข้าไปดูและก็พบว่า list ศัพท์ 9,000 คำของ Longman อันนี้แหละครับ ของแท้ ของจริง เหมาะที่สุดสำหรับคนที่ต้องการสร้างพื้นฐานคำศัพท์ที่แข็งแกร่งให้แก่ตัวเอง โดยศัพท์ที่รวบรวมไว้นี้ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ถ้าเริ่มต้นศึกษาที่ list นี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว
แต่จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ถึง 9,000 คำหรอกครับ อย่างเช่นคำว่า light ซึ่งมี 3 หน้าที่ คือเป็นทั้ง noun, adjective และ verb อย่างนี้เขานับเป็น 3 คำ ไม่ใช่คำเดียว แต่การแยกให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะว่า มันจะฝึกให้เรารู้จักหน้าที่ของคำเมื่ออยู่ในประโยค เพราะเมื่อหน้าที่ต่างกัน ความหมายก็อาจจะต่างไปด้วย ไม่มากก็น้อย อย่างเช่นกรณีนี้
- light เป็น noun= แสง, ไฟ, โคม
- light เป็น adjective = เบา, สว่าง, จาง, ง่าย
- light เป็น verb = ติด, จุดไฟ, ให้แสงสว่าง
คราวนี้มาถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรารู้แล้วว่า นี่เป็นกลุ่มคำศัพท์ที่เราต้องเข้าใจเมื่อได้อ่านและฟัง และใช้ให้เป็นเมื่อถึงเวลาที่จะพูดหรือเขียน คำถามก็คือ เราจะฝึกยังไง ให้ทั้งเข้าใจและใช้เป็น
ผมเชื่อว่า ถ้าผมแนบคำแปลให้ทุกคำ ทำนอง list คำศัพท์ อังกฤษ-ไทย ที่เจอบ่อย → ที่ลิงก์นี้ หลายท่านคงชอบ เพราะมันสะดวกใช้ จะ print ติดกระเป๋าไว้ ตอนว่าง ๆ หยิบขึ้นมาทบทวนก็ทำได้ง่าย ๆ เช่น ระหว่างเดินทางนั่งอยู่ในรถไม่มีอะไรทำ หรือนั่งรอเพื่อน ฯลฯ
แต่สำหรับศัพท์ 9,000 คำของ Longman ชุดนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านที่ตั้งใจจะพัฒนาคำศัพท์ของตัวเองอย่างจริงจัง ได้ฝึกกับมันอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เอาแต่ท่องอย่างเดียว การท่องนั้นมีประโยชน์ แต่ไม่พอ เหมือนอาหารมี 5 หมู่แต่กินอยู่หมู่เดียว สมองทั้งก้อนแต่ใช้อยู่พูเดียว คือพูที่ใช้ท่อง การฝึกศัพท์แบบนี้ แม้จะดีแต่ก็ไปไม่ได้ไกล
ตัวช่วยที่สำคัญในการฝึกครั้งนี้ คือ add-on Google Translate English → Thai และ Longman Dictionary ซึ่งโชคดีมากที่ผมเจอ add-on ตัวนี้ เพราะมันมีทั้งดิก Google และดิกLongman อยู่ด้วยกัน ตอนนี้ท่านคลิกติดตั้ง add-on ตัวนี้ก่อนก็ได้ครับ (ใช้กับเบราว์เซอร์ Google Chrome) →คลิกติดตั้ง Add-on
เมื่อติดตั้งแล้ว ให้คลิกตั้งค่าการใช้งาน add-on โดยไป →ที่นี่ และคลิก ให้คงไว้หรือเอาออก เครื่องหมายถูก ตาม 3 กลุ่ม ในวงตามภาพข้างล่างนี้ นี่เป็นการตั้งค่าที่ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า สะดวกต่อการใช้งานมากที่สุด
เอาละครับ เรามาเริ่มฝึกกันเลย
[1] เช็กดูก่อนว่า ใน 9,000 คำนี้ มีคำใดบ้างที่ท่านยังไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ โดยให้ท่าน save ไฟล์ pdf ศัพท์ 9,000 คำนี้ โดยคลิกขวาที่ →ลิงก์นี้ และคลิกซ้าย Save link as…. หรือ Save target as… และคลิก Save
[2] เปิดไฟล์ pdf ที่ Save นี้ขึ้นมา ให้ท่านไล่ดูตั้งแต่คำแรกไปเรื่อย ๆ จนถึงคำสุดท้าย ซึ่งมีทั้งหมด 153 หน้า
ตามภาพเข้างล่างนี้ เป็นไฟล์ pdf ที่ท่านเปิดขึ้นมา
เมื่อเจอคำที่ไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ก็ให้คลิกรูป sticky note ที่เมนูบาร์ และนำมาคลิกแปะไว้หน้าคำศัพท์นั้น งานนี้อาจจะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ ก็ไม่เป็นไรครับ ให้ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จ และที่ต้องขอย้ำก็คือ ก่อนจะปิดไฟล์ pdf ทุกครั้ง ให้คลิก Save ก่อน เพื่อว่า sticky note ที่เราแปะไว้จะได้ไม่หายไปไหน
งานนี้ถือว่า เป็นการยกเครื่องประเมินคำศัพท์ของตัวเอง ว่ารู้มากน้อยแค่ไหน โดยขอให้ท่านประเมินอย่างซื่อสัตย์ โดยติด sticky note ทุกคำที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจ และอย่าลืมดูความหมายตามประเภทของคำด้วย เช่น คำว่า account เป็นทั้ง noun และ verb ท่านอาจจะรู้ว่า เป็น noun แปลว่า บัญชี แต่เมื่อเป็น verb ล่ะ ท่านรู้คำแปลหรือไม่? ถ้าไม่รู้ก็ติด sticky note ไว้เลย
ข้อดีของการติด sticky note ไว้ที่ไฟล์ pdf แบบนี้ก็คือ คำใดที่ตอนนี้ท่านไม่รู้ แต่ในอนาคตได้ฝึกจนรู้ ท่านก็เอา sticky note ออกได้ โดยคลิกขวาที่ sticky note ที่แปะไว้ และคลิก delete และเมื่อฝึกเรื่อยไปไม่หยุด ไฟล์นี้จะไม่มี sticky note ค้างอยู่เลย เพราะเราฝึกจนรู้จักทุกคำ ไม่มีคำไหนที่เราไม่รู้
[3] ไปที่หน้าหลัก → ศัพท์ 9,000 คำลิงก์1 หรือ ลิงก์2
และกลับไปดูไฟล์ คำที่ ติด sticky note ไว้ว่ามีคำอะไรบ้าง ก็คลิกศึกษาคำพวกนั้นแหละครับ ทีละคำ ๆ
วิธีฝึกและศึกษา ทำอย่างนี้ครับ
A: เข้าไปที่หน้าหลัก → ศัพท์ 9,000 คำลิงก์1 หรือ ลิงก์2
B: ดับเบิ้ลคลิกคำที่จะศึกษา สมมุติ คือคำว่า love ที่เป็น verb
รอสักเดี๋ยว ท่านจะได้ยินเสียงอ่านคำว่า love และให้มองที่มุมบนขวาของหน้า ให้ท่านคลิกตามภาพข้างล่างนี้
{1} คลิกหมายเลข 1 ก่อน
{2} ถ้าต้องการดูคำแปล อังกฤษ – ไทย จาก Google Translate ก็คลิก คำภาษาอังกฤษที่บรรทัดบน (ตามภาพ)
{3} และคลิก คำภาษาอังกฤษที่บรรทัดล่างลงมา (ตามภาพ) เพื่อศึกษาความหมาย, ประโยคตัวอย่าง, ฟังเสียงคำอ่านศัพท์, ฟังเสียงอ่านประโยคตัวอย่างทั้งประโยค ฯลฯ จากเว็บ Longman Dictionary online ท่านจะสังเกตได้ว่า ทุกคำใน list นี้ที่ท่านกำลังศึกษา จะมีจุดแดง ●จำนวน 1 – 3 จุดกำกับไว้ เพื่อแสดงว่า เป็นศัพท์เจอบ่อย- ใช้บ่อย 9,000 คำ ที่ Longman ได้วิจัยไว้ เราศึกษาศัพท์พวกนี้รับรองว่าไม่เสียเที่ยวแน่ ๆ
คำแนะนำก็คงจะมีแค่นี้แหละครับ แต่ท่านจะเห็นได้ชัดว่า ด้วยวิธีนี้ ท่านจะได้ศึกษาทั้งคำแปลเป็นภาษาไทย, ความหมายเป็นภาษาอังกฤษ, และประโยคตัวอย่างที่เขาให้ไว้นั้น มีเสียงธรรมชาติให้ฟังทั้งประโยค ท่านสามารถฝึกฟังและฝึกพูดตาม กี่ครั้งก็ได้จนชินหู-คล่องปาก และถ้าขยันเมื่อคลิกฟังเสียงอ่าน ลองใช้ปากกาเขียนตามที่ได้ยิน ดูซิว่าสามารถเขียนได้ถูกต้องหรือไม่ อาจจะตกคำบางคำ หรือฟังเสียงท้ายคำ เช่น เสียง -s, -ed ผิดไป สรุปก็คือ การฝึกทั้งหมดนี้ ช่วยให้เราทั้งแน่นและคมในคำศัพท์พื้นฐาน 9,000 คำนี้
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าการฝึกแบบนี้ทำให้ท่านรู้สึกเบื่อ ผมอยากจะบอกว่า อย่าไปเบื่อเลยครับ มันเหมือนการขึ้นยอดภูกระดึงที่ต้องออกแรงเดินเพราะไม่มีถนนให้รถวิ่ง หรือไม่มีสายเคเบิ้ลคาร์ให้กระเช้าไฟฟ้าไต่นั่นแหละครับ ระหว่างที่ฝึกท่านอาจจะเบื่อ แต่ความสุข ประสบการณ์ และทักษะที่ค่อย ๆ ได้มาระหว่างฝึก มีแต่คนที่เอาจริงเท่านั้นที่มีโอกาสสัมผัส
พิพัฒน์
หาให้พบหลากหลายเรื่องภาษาอังกฤษที่รักจะเรียน
สวัสดีครับ
การฝึกอังกฤษก็เหมือนการกินอาหารให้อร่อย คือเราจะรู้สึกอร่อยก็ต่อเมื่อได้กินของที่เราชอบ และก็ต้องมีหลายอย่างให้เลือกกิน เพราะแม้เป็นของชอบแต่ถ้ากินอยู่อย่างเดียวทุกมื้อทุกวันมันก็เบื่อ การฝึกอังกฤษก็เช่นกัน เราต้องได้ฝึกกับสิ่งที่รักจึงจะเพลินมีความสุข แต่ก็ต้องมีหลากหลายเรื่องให้ฝึก ถ้าต้องฝึกกับเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันก็เบื่อไม่อยากฝึก
แต่ความต่างะระหว่างการหาของอร่อยกินกับการหาเรื่องสนุกฝึกดูเหมือนจะอยู่ตรงนี้ คือ เราเก่งในการหาของอร่อยกิน แต่เราไม่ค่อยเก่งในการหาของสนุกมาฝึก เพราะฉะนั้น วันนี้ผมจึงขอแนะนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อยในการหาของสนุกที่หลากหลายไม่ซ้ำซากมาฝึก มี 3 ข้อ ดังนี้ครับ
[1] ก่อนที่จะเข้าไป Search ใน world wide web ให้พยายาม search เข้าไปในใจของตัวเองก่อน ให้ลึกที่สุด, ให้กว้างที่สุด, ให้ไกลที่สุด ว่าในอดีตเราชอบอะไร, ปัจจุบันเราชอบอะไร, และในอนาคตมีเรื่องอะไรที่เราน่าจะชอบมันได้อีก เราอย่าไปปิดกั้นตัวเอง ควรให้โอกาสแก่ตัวเองและบอกตัวเองว่า เราขอศึกษาเรื่องที่เราชอบนี้แหละเป็นภาษาอังกฤษ ในวันแรกที่ศึกษามันอาจจะไม่รู้เรื่องเลยหรือรู้เรื่องน้อย แต่เราเชื่อว่า ถ้าศึกษาไม่หยุด วันต่อ ๆ ไปเราจะรู้เรื่องมากขึ้น
เรื่องที่ Search นี้มันอาจจะเป็น grammar, vocabulary, story, listening, reading, speaking, writing, test, movie, song, documentary, knowledge, history, sports, cooking, politics ฯลฯ ฯลฯ หรือ เราอาจจะสนใจผลงานของอาจารย์ ผู้สอน ผู้บรรยาย นักประพันธ์ นักร้อง นักเขียนคอลัมน์ ฯลฯ คนใดคนหนึ่งก็ได้
การหาให้พบเรื่องที่ตัวเองชอบนี้ อาจจะพูดง่ายแต่ทำไม่ง่าย จึงต้องพยายามหน่อย พยายามหาให้พบให้ได้ เมื่อพบแล้วก็พิมพ์คำค้นเป็นภาษาอังกฤษ ลงไปที่ Google Search
ถึงตรงนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านตั้งค่าภาษาของ Google Search เป็นภาษาไทย (หลายท่านเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว), ถ้ามันเป็นภาษาอังกฤษ ให้ท่านดูที่มุมล่างขวาของจอ, ให้ท่านคลิก Settings, คลิก Search settings, คลิก Languages, คลิก Thai, คลิก Save, คลิก OK เท่านี้แหละครับ
ประโยชน์ของการตั้งค่า Google Search เป็นภาษาไทยก็คือ เมื่อท่านพิมพ์คำค้น (ยกตัวอย่าง ในที่นี้ คือคำว่า verbs) ผลที่ Google โชว์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บภาษาอังกฤษ, แต่เมื่อตั้งค่าเป็นภาษาไทยแล้ว ท่านสามารถคลิกคำว่า "เครื่องมือค้นหา", และคลิก ภาษาใดก็ได้ ▬►เว็บภาษาไทย, คลิก ประเทศใดก็ได้ ▬►ประเทศไทย เมื่อคลิกอย่างนี้ เท่ากับสั่งให้ Google แสดงเฉพาะลิงก์ภาษาไทยเท่านั้นมาให้ท่านอ่าน
สรุปข้อนี้ก็คือ ต้องหาให้พบให้ได้ว่า ท่านชอบอะไรในสิ่งที่จะศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ และก็ใช้ key word พิมพ์ค้นหาเรื่องนั้นมาศึกษา
[2] ดูผลการ Search ของ Google ให้ครบทั้ง 3 ปุ่ม คือปุ่มทั้งหมด, ปุ่มค้นรูป, และ ปุ่มวิดีโอ
ดูภาพข้างล่างนี้
เมื่อพิมพ์คำค้น และ Enter แล้ว, ผลที่ Google โชว์คือ “ทั้งหมด” ซึ่งส่วนใหญ่คือลิงก์ต่าง ๆ ให้ท่านอ่าน, แต่ขอให้ท่านคลิกอีก 2 ปุ่มที่อยู่ใกล้กัน คือ “ค้นรูป” และ “วิดีโอ” เพราะท่านจะได้ศึกษาคำอธิบายที่เป็นภาพหรือคลิป ซึ่งอาจจะน่าสนใจ-น่าเร้าใจ หรือเข้าใจได้ง่าย มากกว่าอ่านข้อความ
สำหรับปุ่มวิดีโอนั้น ดูภาพข้างล่างนี้
ท่านสามารถระบุเพิ่มเติม โดยคลิกที่ “เครื่องมือค้นหา” และคลิก “ช่วงเวลาทั้งหมด” และเลือกคลิปที่ สั้น-กลาง-ยาว และคลิก “วิดีโอทั้งหมด” และคลิก “คำบรรยาย” เพื่อเจาะลงให้คลิปภาษาอังกฤษ มี subtitle บนจอ (ถ้าบนจอไม่มี subtitle, ก็ให้คลิก CC ที่ขอบล่างขวาของจอ)
ดูภาพข้างล่างนี้
[3] เพื่อให้การ Search เจาะจงยิ่งขึ้น ท่านน่าจะมีเว็บเจ้าประจำในการเข้าไปศึกษาภาษาอังกฤษ ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ให้บ้างแล้ว ข้างล่างนี้
เว็บไทย
เว็บอังกฤษ
ในแต่ละเว็บ นอกจากเมนู ซึ่งมักอยู่ที่แถบบน, คอลัมน์ซ้าย และคอลัมน์ขวาแล้ว เว็บส่วนใหญ่มักมีช่อง Search ให้พิมพ์คำค้น, แต่ผมขอแนะนำให้ท่านติดตั้ง add-on Search the current site ที่ใช้กับ Browser Google Chrome เพิ่มเข้าไปอีก 1 ตัว, มันจะช่วยให้ท่านหาสิ่งที่อยู่ในแต่ละเว็บได้ลึก เจาะจง และถูกต้องตามที่ท่านต้องการมากขึ้น▬► คลิก
คำแนะนำในวันนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบอยู่แล้ว แต่การทราบแล้วไม่ทำก็เท่ากับไม่ทราบ อย่างเช่น ท่านทราบว่าถ้าได้เจอเรื่องที่ถูกใจจริง ๆ แม้จะเป็นภาษาอังกฤษที่ยาก ท่านก็จะขยันอ่านเรื่องที่รักจะอ่าน, ขยันฟังเรื่องที่รักจะฟัง, ขยันฝึกพูดในเรื่องที่รักจะพูด , ขยันฝึกเขียนในเรื่องที่รักจะเขียน เรื่องอย่างนี้ท่านรู้อยู่แล้ว แต่การรอให้เจอเรื่องที่ถูกใจเพราะโชคช่วย กับการพยายามหาให้เจอเรื่องที่ถูกใจด้วยตัวเอง เป็นสองเรื่องที่ต่างกันราวดินกับฟ้า น่าเศร้าใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่รักภาษาอังกฤษ เลือกดินไม่เลือกฟ้า
พิพัฒน์
More Articles...
- แนะนำ Facebook “เรียนศัพท์จากคำคม” และคำแนะนำในการเรียนภาษาอังกฤษกับคำคม
- เรียนภาษาอังกฤษต้องคิดอย่างนี้
- ไม่กล้าพูดอังกฤษ! ทำยังไงให้กล้า?
- ทางสุดโต่ง 2 สายที่ไม่น่าเดินในการฝึกภาษาอังกฤษ
- เรียนภาษาอังกฤษด้วยความมัก ทั้งมักง่ายและมักมาก
- ฝึก อ่าน-ฟัง-พูด วันละ 5 – 10 ประโยค กับ Longman Dictionary
- จะฝึกอังกฤษให้ได้ผล ต้องมีครบ 4 “พอ”
- ขอลางานครับ
- วิธีฝึกอ่านภาษาอังกฤษที่อ่านยาก (The Economist)
- ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า ?
- เรื่องน่าเศร้าในการเรียนภาษาอังกฤษ
- HOW TO: "4 เทคนิคฝึกภาษาอังกฤษจากการดูซีรีส์" บอกหมดทุกขั้นตอน!
- คำแนะนำการฝึกอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ reading
- จะเก่งอังกฤษ: ตั้งเป้าให้ชัด และไปให้ถึง
- อยากพูดได้-เขียนได้, ต้องขยันอ่าน-ขยันฟังภาษาอังกฤษ, มากกว่าเอาแต่อ่าน-เอาแต่ฟัง คำอธิบายเป็นภาษาไทย
- เรื่องเล่าจากการเข้านอน รพ.
- ขอลางาน
- ฝึกใช้ดิก อังกฤษ-อังกฤษ กับดิก อังกฤษ-อังกฤษ-ไทย (Cambridge)
- ขอลางาน
- ขอแนะนำวิธี "ฝึกอ่าน-ฝึกแปล-ฝึกพูด" โดยให้ add-on Google เป็นพี่เลี้ยง