Home
ยอมรับ ❝เราอาจจะผิดก็ได้❞
♥ ท่านผู้อ่านครับ วันนี้ผมมีธุระไปที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง และก็ไปทำผิดอย่างหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ แล้วก็ถูกพนักงานที่นั่นด่า อันที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงมากมาย ทั้งความผิดที่ผมทำและคำที่เขาด่า แต่มันทำให้ผมมาย้อนคิดได้ว่า เอ๊ะ! ทั้ง ๆ ที่มันก็เห็นโต้ง ๆ อยู่แล้วว่าไม่ควรทำ แล้วเรา(แก่ขนาดนี้แล้ว!)ทำไปได้ยังไงโดยไม่คิด พอเขาด่าแล้วก็หยุดได้ และทำให้คิดไปถึงข้อความในหนังสือ ❝ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์❞ โดยอาจารย์พุทธทาส ตามข้างล่างนี้ ได้สำนึกว่า คนที่ด่าไม่ต้องเป็น❝บัณฑิต❞หรอก ต่อให้เป็นคนธรรมดา ๆ หรือเป็นคนที่เราเห็นว่าบ้า ๆ บอ ๆ ถ้าเขาด่าถูกก็ต้องขอบคุณเขา และมันก็เป็นอย่างที่โบราณเขาว่าไว้จริง ๆ ❝ไม่มีใครแก่เกินเรียน ❞ สมมุติฐานที่มีติดตัวว่า ❝เราไม่น่าจะผิด❞ คงต้องเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งอัน คือ ❝เราอาจจะผิดก็ได้❞ วันนี้ผมได้บทเรียนจริง ๆ ครับ แต่ขออนุญาตไม่บอกแล้วกันครับ ว่าเป็นเรื่องอะไร "อายครับ!"
เข้าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ Free Online
การเรียนภาษาอังกฤษผ่านเน็ต มี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
❶ อยากเรียนอะไรก็เข้าไปที่ www.google.co.th , พิมพ์คำค้นเรื่องที่ต้องการ, แล้วก็เรียนเรื่องที่ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ กูเกิ้ลท่าน ❝จัดให้❞
❷ เข้าไปที่บางเว็บซึ่งเขาจัดบทเรียนให้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น เรียน 100 บทเรียน หรือ 100 วัน เป็นต้น เว็บพวกนี้มักจะโชว์ให้เราเห็นตั้งแต่ต้นเลยว่า มีอะไรให้เรียนบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีทั้ง text ให้อ่าน และมีเสียงให้ฟังพร้อมฝึกพูด และมักแนะให้เราเรียนไปตามลำดับ 1 2 3 4..... เมื่อเรียนจบ level ต่ำก็ไต่เรียน level สูงขึ้นไปตามลำดับ อย่ากระโดด อย่าเว้น อย่าหยุด การเรียนอย่างนี้ต้องมีวินัยมาก
♦ ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่า วิธีไหนดีกว่ากัน ท่านจะเรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือเรียนคละกันไปก็ได้
♦ ข้างล่างนี้เป็นบทเรียนประเภทที่ ❷ ขอชวนให้ท่านลองสำรวจดู ให้รู้ว่ามันมีอะไรบ้าง ถ้าท่านยังไม่เรียนตอนนี้จะเก็บไว้ก่อนก็ได้ ภายหลังพร้อมเมื่อไรก็รีบเข้าไปใช้บริการทันที
♦ จุดที่ผมอยากจะเน้นบอกมากที่สุดก็คือ การเข้าเรียนคอร์ส Free Online อย่างนี้ อาจจะได้ผลดีมากกว่าเสียเงินไปเรียนตามโรงเรียนสอนภาษาซะอีก แต่ท่านจะต้องเป็นเหมือนกาแฟผงสำเร็จรูป ❝three - in - one❞ คือ จะต้อง ➊เป็นที่พึ่งให้ตัวเอง ➋เป็นครูสอนตัวเอง ➌เป็นเพื่อนของตัวเอง
∴ ท่านต้องช่วยตัวเอง, เตือนตัวเอง, สอนตัวเอง, ต้องเรียนบทเรียนที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่เอาแต่ดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้, เมื่อบทเรียนบอกให้พูดตามก็ต้องพูด, บอกให้ตอบก็ต้องตอบ, บอกให้อ่านก็ต้องอ่าน, บอกให้ทำ test ก็ต้องทำ, เมื่อเจอปัญหาก็ต้องพยายามหาคำตอบให้ตัวเอง, เมื่อท้อแท้ก็ต้องเป็นกำลังใจให้ตัวเองและไม่ถอย-ไม่ทอดทิ้ง, ไม่ยอมให้ใจที่อ่อนแอเหลาะแหละมามีอำนาจเหนือชีวิต ฯลฯ ต้องทำทุกอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ❝stand on your own two feet ❞นั่นแหละครับ
♦ ลองเข้าไปสำรวจดูได้เลยครับ
【1】 https://www.youtube.com/playlist?list=PLcWqwqWwXmGKJ423T-r8jjO1IWNYu5h_Q
【2】 http://www.englishspeak.com/th/english-lessons
【3】 https://th.speaklanguages.com/อังกฤษ/วลี/
【4】 http://www.goethe-verlag.com/book2/TH/THEM/THEM002.HTM
【5】 http://engtalks.com/100-common-phrases-and-sentence-patterns/
【6】 http://www.talkenglish.com/lessonindex.aspx
ฝึกฟัฒนาภาษาอังกฤษทั้ง 4 ทักษะ กับศัพท์ทีละคำ ที่เว็บดิก Longman
■ ผมขอแนะนำอีก 1 วิธีในการฝึกภาษาอังกฤษแบบสบาย ๆ, ไม่ต้องจริงจัง, ไม่เป็นกิจจะลักษณะ แต่เชื่อว่าได้ผลแน่ ๆ ทั้งในเรื่องการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน
♦ ให้ท่านเข้าไปที่นี่ ▬► คลิก
ซึ่ง Google Search จะโชว์คำศัพท์ [1 ลิงก์ ต่อ 1 คำ] จากหน้าเว็บ Longman Dictionary ท่านดูแล้วชอบใจหรืออยากฝึกศัพท์คำไหนก็คลิกลิงก์นั้น [ตัวอย่าง ตามภาพข้างบน]
เมื่อเข้าไปแล้วก็ฝึกอย่างนี้ครับ
【1】ที่บรรทัดบน, ให้คลิกไอคอนรูปลำโพงเพื่อฝึกฟังเสียงคำศัพท์ และฝึกออกเสียงตาม ไอคอนสีแดงเป็นสำเนียงอังกฤษ ไอคอนสีฟ้าเป็นสำเนียงอเมริกัน
【2】อ่านความหมายหรือ Definition - คำบางคำ
เช่น light ▬► คลิก
เป็นทั้ง noun, adjective, verb [เรียงจากบน → ล่าง] โดยในแต่ละ part of speech เว็บจะเรียงความหมายจากที่พบบ่อยมาก → ไปหาบ่อยน้อย, ท่านจะฝึกอ่านกี่ความหมายก็ตามใจท่าน โดยแทบทุกความหมายจะมีประโยคตัวอย่างให้ดู
【3】 คลิกไอคอนรูปลำโพงหน้าประโยคหรือวลีตัวอย่าง และฝึกพูดตาม ท่านจะคลิกหลาย ๆ ครั้งเพื่อฝึกฟังให้ชินหู และฝึกพูดตามหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้คล่องปาก - ถ้าฝึกได้อย่างนี้ก็ดีครับ คือให้ชินทั้งหู - และชินทั้งปาก ไม่ใช่เอาแต่อ่านด้วยตาอย่างเดียว ตามที่คุ้นเคยมา
【4】 หรือถ้าท่านต้องการ ❝ฝึกหนัก❞ขึ้นอีกนิด ท่านจะเอาอย่างนี้ก็ได้ คืออย่าเพิ่งไปมองประโยคตัวอย่าง แต่ให้คลิกไอคอนรูปลำโพงหน้าประโยค จะคลิกฟังหลาย ๆ ครั้งก็ได้ ขณะที่ฟังก็เอาสมาธิไปตั้งไว้ที่หูดูซิว่าฟังรู้เรื่องทุกคำมั้ย? แล้วจึงค่อยเหลือบตาไปอ่านประโยคนั้น ๆ ทำอย่างนี้ไปทีละประโยค ๆ
【5】ถ้าท่านต้องการฝึกเขียนตามเสียงที่ได้ยิน หรือคุณครูต้องการทดสอบนักเรียนเรื่อง dictation ก็คลิกเสียงและ(ให้นักเรียน)เขียนตามที่ได้ยิน ฝึกอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน คนฝึกอาจจะได้ค้นพบว่า หูของตัวเองมีความอุ้ยอ้ายในการจับเสียงพยางค์ท้ายคำที่ลงท้ายด้วย -d, -ed, -s ฯลฯ หรือคำในประโยคที่ไม่ใช่คำหลัก เช่น a, an หรือ คำ preposition ต่าง ๆ การฝึกอย่างนี้จะเป็นการบังคับหูให้มีความไวในการรับเสียงมากขึ้น
ลองฝึกดูนะครับ ถ้าคำแนะนำที่ผมให้ไว้นี้มันดูหนักเกินไป ก็ฝึกเบา ๆ สบาย ๆ ก็ได้ครับ
วิธีฟิตภาษาอังกฤษโดยการอ่าน Story
♦ วิธีฟิตภาษาอังกฤษโดยการอ่าน Story ♦
【1】 เลือกเรื่องอ่านที่ไม่ยากเกินไป
【2】 เลือกเรื่องอ่านที่ชอบ
【3】 เลือกที่นี่ → คลิก หรือที่นี่ → คลิก
♦ เป้าหมายในการอ่าน ♦
【1】 รู้เรื่อง (พยายามตีความ, เดา, และใช้ตัวช่วย → คลิก )
【3】 รู้รส (ไม่ต้องรีบร้อนอ่านมากเกินไป)
【3】 รู้รอบ (สังเกตศัพท์ สำนวน การใช้ภาษา ขณะที่อ่าน)
การเลือกคณะที่จะเรียน-เลือกงานที่จะทำ และ... ประสบการณ์ส่วนตัวของผม
♦ บทความนี้ ❝Bridging the gap❞ที่ นสพ. Bangkok Post น่าสนใจมาก เขาพูดถึงปัญหาเด็กไทยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ตนไม่ได้รักจะเรียนหรือรักอาชีพในสายนั้นเมื่อเรียนจบ จึงเกิดการย้ายคณะ หรือการสอบเข้าคณะใหม่ และก็ยังพูดถึงเรื่อง gap year คือการใช้เวลา 1 ปีหลังจบชั้นมัธยมเพื่อค้นหาให้เจอว่า ตัวเองชอบอะไรจริง ๆ ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และก็พูดถึงปัญหาว่าระบบการศึกษาของเมืองไทยหรือพ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้ช่วยเหลืออะไรในเรื่องนี้มากนัก
ลองอ่านดูที่นี่ครับ ▬► คลิก
♦ ผมอ่านเรื่องนี้จบแล้วก็รู้สึกเห็นใจทั้งผู้เรียนและพ่อแม่ และก็รู้สึกว่าบทความนี้มีบางด้านที่ไม่ได้เขียน เช่น การ "ค้นพบตัวเอง" ให้เจอนั้น ผู้ค้นหานอกจากรู้ว่าตัวเองมี "ฉันทะ" ในเรื่องอะไรแล้ว ยังต้องมี "สติ" และ "ขันติ" อย่างถูกสัดส่วนกับฉันทะด้วย ไม่ใช่พิจารณาโดยใช้ฉันทะอย่างเต็มที่แต่ขาดสติและขันติในปริมาณที่ควรจะมี
♦ ถ้าจะให้สรุปก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้เรียน และครู ควรจะได้ปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง และไม่ใช่คุยกันครั้งเดียวเลิก อาจจะต้องคุยกันหลายครั้ง หรือออกไปคุยกับคนนอกบ้างถ้าทำได้ การได้ฟังหลายทัศนะจะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ผมเคยเข้าคอร์สฝึกอบรมเรื่อง Career Path ที่ประเทศเยอรมนีรวมกับคนหลายชาติจากเอเชียและแอฟริกา จึงได้รู้ว่ามันเป็นปัญหาของทุกชาติ แม้แต่อาจารย์ก็ไม่กล้าฟันธงลงไปเด็ดขาดว่า คนเรียนจะต้องใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคณะที่เรียนหรือสาขาที่ทำงาน
♦ ผมไม่สามารถใช้ประสบการณ์ของตัวเองจากชีวิตนักศึกษามาแนะนำท่านผู้อ่านได้เลย ตอนเรียนชั้นมัธยม ผมเป็นเด็กที่เรียนเก่ง และตาลุ้น(บังคับ)อย่างหนักให้เลือกสอบ entrance คณะนิติฯ ผมไม่เลือกคณะนิติฯ ไม่ใช่เพราะเกลียดคณะนี้ แต่เกลียดการถูกบังคับ(นี่เป็นการวิเคราะห์ตัวเองได้ในภายหลัง) ผมเลือกเรียนคณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไหร่ เมื่อได้เข้าไปเรียนจึงรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบ ตลอดช่วง 5 ปีจึงเอาดีไม่ค่อยได้กับวิชาในคณะนี้ แต่ใช้เวลามาก ๆ ไปกับการฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง และช่วงที่ยังเรียนไม่จบก็ทำงานหาเงินโดยไปรับจ้างแปลข่าวต่างประเทศที่หนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ รู้สึกดีใจที่ได้เงินเดือนมากกว่าคนจบปริญญาตรีเสียอีกทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบ แม้เกรดเฉลี่ยที่คณะวารสารฯ จะลดอย่างน่าใจหาย จาก 3.2 เหลือ 1.6 แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะวิชา " แปลข่าว" ที่มหาวิทยาลัย ผมได้เกรด A โดยใช้เวลาทำแค่ 15 นาที จาก 3 ชั่วโมง ก็ส่งกระดาษคำตอบ
♦ ช่วงทำงานเป็นพัฒนากร 10 ปี แรกในต่างจังหวัด ผมไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษที่สุดรักเลย ได้แต่อ่าน Bangkok Post ทุกวัน แต่อีก 22 ปีที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาษาอังกฤษที่รักคอยมารับใช้อย่างเต็มที่ ทั้ง-ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ทำให้ได้ไปทำงานและท่องเที่ยวมาแล้ว 25 ประเทศ ตอนนี้เกษียณแล้ว ของที่เก็บสะสมไว้ในช่วงหลายสิบปีที่ทำงานก็เอามาแบ่งปันในฐานะ Webmaster ของ e4thai.com นี่แหละครับ
♦ สรุปก็คือ ท่านจะเลือกเรียนคณะใดก็ให้ไตร่ตรองด้วย ❝ฉันทะ-สติ-ขันติ❞ อย่างรอบด้าน แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมขอรับรองว่า ไม่ว่าท่านจะเลือกเรียนคณะใด ถ้าท่านรักภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษก็จะรักท่าน สำหรับผม ภาษาอังกฤษช่วยให้ได้ทำงานที่รัก ได้เงินใช้ ได้เพื่อนต่างชาติ ได้ท่องเที่ยวไปหลายทวีป และสุดท้ายได้ความสุขตอนแก่ เพราะได้เป็น Webmaster ของ e4thai.com
พิพัฒน์
ฟิตอังกฤษกับอ.แทร์รี่ แห่ง นสพ. Bangkok Post
สวัสดีครับ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2560 นี้ ผมไปงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ ได้หนังสือเรียนภาษาอังกฤษของอาจารย์ แทร์รี่ แอล เฟรดริกสัน มา 2 เล่ม คือ
【1】→ ทำความเข้าใจรูปกริยาภาษาอังกฤษ - Understanding English Verb Forms
【2】→พูดอังกฤษอย่างไร ไม่ให้ฝรั่งงง Common mistakes and how to fix them
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนเว็บ e4thai.com มานานคงจะรู้ดีว่าเว็บนี้ไม่เคยลงโฆษณาหนังสือ โรงเรียน เว็บ หรือสื่อการสอนภาษาอังกฤษใด ๆ เลย แต่ที่แนะนำ 2 เล่มนี้เพราะของเขาดีจริง ๆ
และไหน ๆ ก็แนะนำแล้ว ก็ขอแนะนำเล่มอื่น ๆ ของอาจารย์แทร์รี่ไปพร้อมกันเลย
อาจารย์ แทร์รี่ แอล เฟรดริกสัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริการทางการศึกษาของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และรับผิดชอบคอลัมน์ → Bangkok Post Learning มาตั้งแต่ปี 2535
ในเว็บ e4thai.com นี้ได้แนะนำการเรียนภาษาอังกฤษกับ Bangkok Post มาหลายครั้งแล้ว → คลิกดู
วันนี้ผมขอสรุปแนะนำแบบกระชับอีกสักครั้งแล้วกันครับ
【1】→ คอลัมน์ Bangkok Post Learning
เมื่อเข้าไปแล้วก็คลิกดูลิงก์ต่าง ๆ ในวงรี ตามภาพข้างล่างนี้
【2】 เรียนภาษาอังกฤษกับภาพข่าว
- http://www.bangkokpost.com/photo
- http://www.bangkokpost.com/photo/a-day-in-photos
- http://www.bangkokpost.com/photo/gallery
【3】→ ฝึกแปลข่าว กับคอลัมน์ "Translate It" นสพ. Bangkok Post (+ ด/ล หนังสือ)
รวมบทความรายสัปดาห์จากคอลัมน์ Translate It ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์. หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ระหว่าง ปี 2503 – 2507 รวม 250 บทความ
✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎✎
ตอนที่ซื้อหนังสือที่ร้าน Bangkok Post ผมโชคดีได้เจออาจารย์แทร์รี่ ก็เลยได้คุยกัน ผมเลยเรียนท่านว่า อยากให้อาจารย์ช่วยแต่งหนังสืออีกสัก 2 เล่ม คือ
【เล่มที่ 1】
การเรียนแกรมมาร์โดยใช้เนื้อข่าวเป็นประโยคตัวอย่าง
พอผมบอกท่านว่าอยากได้หนังสือเล่มนี้ ท่านบอกว่าแต่งแล้ว คือเล่มที่ 1ซึ่งผมแนะนำข้างต้น "ทำความเข้าใจรูปกริยาภาษาอังกฤษ - Understanding English Verb Forms" ผมบอกท่านว่า เล่มนั้นดีมาก ดีจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่มีแต่เรื่อง Tenses แต่เรื่องอื่น ๆ ไม่มี จึงอยากให้ท่านช่วยเรียบเรียง ท่านบอกพึมพำว่า เวลาไม่ค่อยมี
【เล่มที่ 2】
การเดาคำศัพท์โดยใช้ข่าวเป็นตัวอย่างหรือบทเรียน
ผมบอกท่านว่ามีตำราภาษาไทยที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน แต่ผมยังไม่ค่อยพอใจในคุณภาพ และก็เรียนว่า ท่านเองก็เคยเขียนบทความอยู่หลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงเว็บ Bangkok Post ก็เพียงเอาบทความเหล่านั้นมาตบแต่งซะหน่อย และให้อาจารย์สุนีย์ หรืออาจารย์ท่านอื่นช่วยแปลเป็นภาษาไทยแนบคำอธิบายภาษาอังกฤษอย่างที่อาจารย์เคยทำกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ทำเพียงเท่านี้ ก็จะได้ตำราระดับเยี่ยมขึ้นมาอีก 1 เล่ม
พอกลับมาบ้าน ผมเข้าไปค้นที่เว็บ Bangkok Post ซึ่งอาจารย์แทร์รี่เคยเขียนบทความที่ว่านี้ และได้รู้ว่าไฟล์ถูกลบไปหมดแล้ว โชคดีที่ตอนนั้นผมได้ save ไว้ ท่านผู้อ่านลองคลิกดูก็ได้ครับ
→ Tips on reading the Bangkok Post
วันนี้ผมขอแนะนำเพียงเท่านี้แล้วกันครับ ซึ่งสรุปได้ 3 ข้อ
❶ เว็บ Bangkok Post มีของฟรีคุณภาพดี ให้ท่านฝึกภาษาอังกฤษได้มากมาย ขอชวนให้ท่านเข้าไปฝึกได้ทุกวัน
❷ หนังสือที่อาจารย์แทร์รี่เรียบเรียงไว้ ดี ๆ ทั้งนั้น ท่านลองเลือกดูซีครับ ว่าเล่มไหนท่านใช้ประโยชน์ได้
❸ ถ้าอาจารย์เรียบเรียงอีก 2 เล่มที่ผมขอไว้เสร็จและพิมพ์จำหน่าย ผมจะนำข่าวมาบอกครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
More Articles...
- แนะนำเว็บ multimedia-english.com
- "อยากพูดภาษาอังกฤษค่ะ ช่วยแนะนำตั้งแต่เริ่มเลย จะฝึกยังไง?"
- เว็บหน่วยราชการเหมือนขุมทรัพท์เรียนภาษา แต่ต้องขุดเอาเอง
- แชร์ประสบการณ์การฝึกลูกเรียนภาษาอังกฤษ
- รวมสุดยอดเทคนิคเก่งภาษาอังกฤษ
- ฝึกภาษาอังกฤษ = ❝ฝึก Search ❞ + ❝ฝึก Study ❞
- คลิกไล่ดูชื่อบทความในเว็บ e4thai เล่น ๆ
- วิธีง่าย ๆ ในการหา eBook ที่ถูกใจในเว็บ e4thai.com
- ท่านเคยรักษานิ้วล็อกที่ รพ เลิดสิน บ้างไหมครับ?
- e4thai.com ได้รับการถอนฟ้อง "ไฟล์อันตราย" แล้วครับ
- ศึกษาภาษาอังกฤษกับ podcast ที่เว็บ BBC และ British Council
- ฝึกภาษาอังกฤษต้องให้ได้ U ครบ 2 ตัว
- ภาษาอังกฤษ ฟิตหนักแต่ได้ผลน้อย ก็เพราะว่า...
- ภาษาอังกฤษ: (ฟัง+อ่าน) → (พูด+เขียน)
- เรียนภาษาอังกฤษกับเรื่องที่ชอบหรือสนใจ ผ่าน Facebook
- สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๐
- ตัวอย่างการสังเกตแกรมมาร์และศัพท์เมื่ออ่านภาษาอังกฤษ
- ฝึกพูดเรื่องยาก ๆ ด้วยภาษาอังกฤษง่าย ๆ
- ฝึกพูดเรื่องยาก ๆ ด้วยภาษาอังกฤษง่าย ๆ
- แนะนำแกรมมาร์เล่มหนา ๆ 5 เล่ม และวิธีใช้เพื่อไม่ต้องเป็น "คุณโนม"