Home
คำแนะนำในการพูดภาษาอังกฤษ โดย แอนดรูว์ บิ๊กส์
สวัสดีครับ
ผมขอชวนให้ท่านอ่าน คำแนะนำในการพูดภาษาอังกฤษ ที่คุณแอนดรูว์ บิกส์ ตอบคำถามคุณเรน ผู้อยากเรียนภาษาอังกฤษ อ่านแล้วท่านรู้สึกอย่างไร เขียนมาคุยบ้างนะครับ – พิพัฒน์
ข้างล่างนี้ครับ
จะเป็นหนู ที่ยืนกลัวตัวสั่นต่อหน้าแมว หรือเป็นแมวที่กล้าล้อเล่นกับหมา
สวัสดีครับ
ตั้งแต่คนไทยมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ การเรียนภาษาอังกฤษผ่านเว็บช่วยให้คนไทยจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนกับครูที่โรงเรียน ได้มีแหล่งเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง อยู่ที่บ้าน
มีเว็บไทยหลายเว็บทำขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ที่ 2 ลิงค์นี้
[1] รวมเว็บไทยสอนภาษาอังกฤษ ที่ผมคัดเลือกแล้ว
[2] เรียนภาษาอังกฤษกับ Facebook ไทย
แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ แม้เว็บภาษาไทยสอนภาษาอังกฤษจะดี แต่เว็บภาษาอังกฤษสอนภาษาอังกฤษกลับดีกว่า – ดีกว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ที่ลิงค์นี้
Top 100 English-Study Websites
แต่ตามที่ผมรู้สึก คนไทยที่อยากเรียนภาษาอังกฤษมักเข้าไปแต่เว็บไทย ไม่ค่อยเข้าเว็บฝรั่ง ทั้ง ๆ ที่เห็นชัดแล้วว่า เว็บฝรั่งที่คุณภาพดีนั้น ดีกว่าเว็บไทยทั้งปริมาณและคุณภาพ
ผมมานั่งคิดดูว่า ทำไมคนไทยที่ต้องการฟิตภาษาอังกฤษ จึงมีน้อยคนที่เข้าไปใช้บริการฟรีที่เว็บฝรั่งมีให้ คำตอบที่เห็นชัดมีอยู่ 2 ข้อ ดังนี้ครับ
ข้อที่ [1]
อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเว็บเขาอธิบายอย่างไร เลยไม่เข้าไปใช้ และสาเหตุที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็น่าจะเป็นเพราะ
1)รู้ศัพท์น้อย
2)ตีความประโยคที่อ่านไม่ค่อยเป็น ไม่ค่อยรู้แกรมมาร์เกี่ยวกับโครงสร้างประโยค ทำให้อ่านได้ไม่กระจ่างแม้จะรู้ศัพท์
ในการแก้ปัญหาข้อที่ 1)รู้ศัพท์น้อย ผมได้แนะนำตัวช่วยแปลศัพท์อังกฤษเป็นไทย ที่ 2 คลิปนี้
ให้ Google Toolbar แปลศัพท์ อังกฤษ เป็น ไทย ทุกคำเมื่อท่องเน็ต
ติดตั้ง add-on ช่วยแปลศัพท์ อังกฤษเป็นไทย โดยใช้ Google Chrome
ส่วนปัญหาข้อที่ 2) คือ ตีความประโยคที่อ่านไม่ค่อยเป็นนั้น อันนี้ไม่มีวิธีอื่นครับ นอกจากต้องพยายามฝึกฝนอ่านบ่อย ๆ และความชำนาญจะค่อย ๆ สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ อยผมมีคำแนะนำนิด ๆ หน่อย ๆ ที่ 2 ลิงค์นี้
เทคนิคการอ่าน นสพ.ฝรั่งให้รู้เรื่อง
[1312]อ่านอังกฤษคล่องต้องเข้าใจแกรมมาร์ 4เรื่องนี้...
การฝึกแก้ปัญหา 2 ข้อนี้ แม้ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าความชำนาญและความสำเร็จจะเกิดขึ้น แต่ผมขอรับประกันว่า มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ
ข้อที่ [2]
สาเหตุที่ทำให้คนไทยที่อยากเก่งอังกฤษ แต่ไม่ยอมเข้าไปเรียนกับเว็บฝรั่งด้วยตัวเอง อธิบายได้ด้วยภาพนี้ครับ
คือเรารู้สึกขยาดอยู่ในใจลึก ๆ ว่า ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่น่ากลัว ที่เราไม่สามารถก้าวข้ามหรือเอาชนะมันได้ เหมือนความรู้สึกของหนูที่อยู่ต่อหน้าแมวตัวนี้ ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรผมไม่ทราบ ผมรู้แต่ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาความกลัวอย่างฝังรากลึก ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า phobia เช่นนี้ เราจะต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นหนูที่อยู่ต่อหน้าแมว แต่ต้องคิดว่าตัวเองเป็นแมวที่สามารถเล่นกับหมาได้ อย่างภาพข้างล่างนี้
ด้วยการกระทำและความคิด แบบ can-do attitude เช่นนี้เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราเอาชนะความยากในการเรียนภาษาอังกฤษได้
และเว็บเรียนภาษาอังกฤษมากมายในโลกนี้ ก็จะเป็นประโบชน์ต่อเราชาวไทย เหมือนที่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกประเทศอื่น ๆ
ลองเข้าไปสำรวจและค้นหาขุมทรัพท์ในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ที่รวมลิงค์นี้สักครั้งเถอะครับ
Top 100 English-Study Websites
มันอาจจะต้องใช้ความอดทนหรือเวลามากสักนิด แต่เราควรถามตัวเองว่า เราต้องการเป็นอะไร ระหว่าง เป็นหนูที่ยืนกลัวตัวสั่นต่อหน้าแมว หรือเป็นแมวที่กล้าล้อเล่นกับหมา
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เปิดตัวช่อง YouTube ของเว็บ e4thai.com
สวัสดีครับ
อันที่จริง ผมอยากจะทำตั้งนานแล้วแหละครับ แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที คือ ทำคลิปวีดิโอพูดคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับการพัฒนาภาษาอังกฤษ มันอาจจะไม่ดีอย่างที่คนอื่นเขาทำเพราะผมไม่เคยเป็นครู และฝีมือทางคอมฯก็เบสิกเอามาก ๆ แต่ กระนั้นผมก็ยังอยากทำอยู่นั่นเอง เพราะเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ
ข้อ 1.หลายเรื่องถ้าได้ฟังเสียงและเห็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้รู้เรื่องและอยากรู้มากกว่าอ่าน
ข้อ 2.เสียงสร้างความใกล้ชิดมากกว่าตัวหนังสือ ผมทำเว็บนี้มาตั้งหลายปี บางครั้งก็รู้สึกเสียมารยาทที่ไม่ตอบ comment ของท่านผู้อ่านเพราะมันไม่ค่อยมีเวลาครับ แต่การมีคลิปให้ท่านฟังเสียง ท่านจะรู้สึกอย่างไรผมไม่รู้หรอก แต่เมื่อผมคิดถึงท่านผู้อ่านและพูด ผมรู้สึกว่าตัวเองใกล้ชิดกับท่านผู้อ่านมากกว่าเดิม
วันนี้ผมทำคลิกแรก เรื่อง ให้ Google Toolbar แปลศัพท์ อังกฤษ เป็น ไทย ทุกคำเมื่อท่องเน็ต ลองเข้าไปดูซีครับ
(เมื่อเข้าไปแล้ว ให้คลิกที่ Full screen ที่มุมล่างขวาของจอ เพื่อจะได้เห็นคลิปเต็มจอชัด ๆ )
ส่วน URL ถาวรคือที่นี่ครับ:http://www.youtube.com/user/e4thaiPIPAT
เมื่อทำออกมาแล้วก็รู้สึกว่า ยังทำได้ไม่ดีสมใจ เช่น เสียงยังไม่ดี, การออกเสียงของผมก็ยังไม่ดี, การลากเมาส์อธิบายยังไม่ค่อยดี, ภาพในคลิปยังไม่ค่อยชัด ฯลฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะยังมีอะไรอีกอนันต์ที่ผมทำไม่เป็น ซึ่ง ณ ที่นี้ผมขอให้ท่านที่รู้ช่วยบอกและแนะนำด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง ตอนนี้ผมใช้โปรแกรม Camtasia Studio 8 ในการจับภาพเคลื่อนไหวหน้าจอมาทำเป็นคลิป แต่ที่ทำไม่เป็นก็เช่น
-ซูมเข้า-ซูมออก ผมทำไม่เป็น เช่น อยากเน้นตอนอธิบาย
-แปลงไฟล์ avi ที่ได้จากโปรแกรม Camtasia เป็นไฟล์ flv ผมทำไม่เป็น ผมว่าไฟล์ flv ขนาดเล็กกว่า น่าจะ upload ได้ง่ายกว่า
-ตัดต่อคลิป ผมทำไม่เป็น
เอาแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ คงยังมีอีกเยอะที่ต้องเรียน
ท่านผู้รู้ช่วยอธิบาย หรือแจ้งลิงค์ที่อธิบายง่าย ๆ ให้หน่อยนะครับ ที่ต้องเน้นก็คือ ผมไม่ใช่ computer man อ่านศัพท์สำนวนเทคนิคมาก ๆ ก็งงครับ – ขอบคุณทุกท่านที่จะช่วยเหลือครับ
ผมจะพยายามทำคลิปออกมาเรื่อย ๆ ครับ แต่คงไม่บ่อย เพราะเพิ่งจะเริ่มหัดทำ เพิ่งเริ่มจริง ๆ
ขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้มาโดยตลอดครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
วิธีฝึกพูดภาษาอังกฤษ: หนทางมีที่คนไม่ค่อยเดิน
สวัสดีครับ
จากเสียงสะท้อนที่ได้รับ ทำให้ผมสรุปได้ว่า ในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ คนไทยอยากพูดเก่ง มากกว่าอ่านเก่ง หรือเขียนเก่ง และปัญหาที่ทำให้ไม่เก่งอย่างต้องการก็คือ ไม่มีโอกาส – ไม่มีเวลา – ไม่มีเงินที่จะไปเรียนกับอาจารย์หรือโรงเรียนสอนพูดภาษาอังกฤษ หลายคนดาวน์โหลดหนังสือ, ไฟล์ mp3, คลิป, หรือโปรแกรมเรียนภาษาอังกฤษไว้มากมาย แต่ก็แทบไม่ได้ใช้มัน เพราะว่ามันไม่ใช่ครู จึงไม่ต้องการเรียนกับมัน ต่อให้ใครพูดแทบตายว่านั่นเป็นสื่อการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองที่ใช้ได้ผล ก็ไม่ฟังเพราะไม่เชื่อ
ถ้าเราเป็นไข้ไม่สบาย เวียนหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แล้วมีใครบอกว่า ไม่ต้องไปหาหมอหรอก อ่านตำรารักษาตัวเองก็ได้ ตำราแนะนำให้กินยาอะไรก็กินตามนั้น ไม่ต้องไปหาหมอเพราะตำราที่อ่านก็หมอนั่นแหละเป็นคนเขียน เพราะฉะนั้นอ่านตำราก็เหมือนกับไปหาหมอ แล้วจะต้องไปหาหมอจริง ๆ ให้เสียเงินเสียเวลาทำไม ท่านจะเชื่อคนที่แนะนำอย่างนี้ไหม ผมเชื่อว่าท่านไม่เชื่อ
ทำไมท่านจึงไม่เชื่อ คำตอบง่ายมากครับ
1.เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องซับซ้อน ตำรารักษาโรคที่ดีวิเศษปานใดก็ไม่สามารถใช้แทนหมอซึ่งสะสมประสบการณ์จริงจากการรักษา ตำราจึงใช้แทนหมอไม่ได้
2.เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ซึ่งเราไม่สามารถเอาการลองผิด-ลองถูกเข้าไปเสี่ยง ถ้าเกิดลองแล้วผิดชีวิตคนไข้ซึ่งมีอยู่หนึ่งเดียวก็เสียไปเลย เอาคืนไม่ได้
แต่
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายยิ่งนัก....
น่าเสียดายอะไร ? น่าเสียดายที่คนไทยชอบเอาการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอ ไปเปรียบเทียบกับอาการเจ็บไข้ร่างกายอ่อนแอ และเชื่ออย่างนั้นอย่างสนิทใจ
โดยไม่ยอม...
ไม่ยอมอ่านตำราภาษาภาษาอังกฤษ เพื่อรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอของตัวเอง เหมือนกับที่ไม่ยอมซื้อตำรารักษาโรคมาอ่าน เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของตัวเอง
จะต้อง...
จะต้องเรียนกับครูสอนภาษาอังกฤษให้ได้ ถ้าไม่มีครูก็ยอมตายคาบ้านไม่ยอมรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนด้วยตัวเอง เหมือนกับที่จะต้องรักษาโรคกับหมอให้ได้ ถ้าไม่มีหมอก็ยอมรับสภาพ นอนรอความตาย
แต่... แท้จริงแล้วการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน กับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย เป็น 2 เรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แตกต่างกันยังไง?
หนึ่ง -การรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน เราสามารถเป็นหมอรักษาตัวเองได้ ยิ่งรักษายิ่งเพิ่มประสบการณ์ ยิ่งชำนาญ
สอง –การรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย ห้ามลองผิด เพราะการลองผิดอาจจะหมายถึงความตายที่ไม่มีทางแก้ แต่การรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนต้องยอมลองผิด เพราะการลองผิดช่วยให้เรามีประสบการณ์ตรง อันนำไปสู่การลองถูก และไม่ย้อนกลับมาลองผิดอีก เพราะฉะนั้น การลองผิดจึงเป็น step ที่สำคัญของการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อน ซึ่งควรยินดี แทนที่จะอับอายหรือรังเกียจ
@@@@@
บ่อยครั้งที่ผมเจอรุ่นน้องที่พูดว่า ทิ้งภาษาอังกฤษมานานตั้งแต่เรียนจบ อยากจะฟื้นฟูใหม่ตั้งแต่เริ่ม เขาทำเหมือนกับว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวตนเขาไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษมาเลย เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องการ
อันดับแรก – มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์เก่ง ๆ ที่สอนสนุก ไม่เครียด เรียนไปหัวเราะไป และถ้าจะให้ดี ก็ไม่ต้องมีงานให้กลับไปทำเป็นการบ้านคนเดียวโดยไม่มีครูอยู่ใกล้ ๆ ให้เพลิดเพลิน ผมขอถามง่าย ๆ สัก 3 ข้อเถอะครับ
-อาจารย์เก่งอย่างที่ว่านี้ท่านหาเจอได้ง่าย ๆ มั้ย?
-ถ้าท่านเจอ และเรียนจบกับอาจารย์แล้ว ท่านสามารถนำสิ่งที่อาจารย์สอนไปเรียนด้วยตัวเองได้หรือเปล่า?
-ถ้าท่านเรียนด้วยตัวเองไม่ได้ ท่านจะต้องหาทางมาเรียนกับอาจารย์ทั้งปีทั้งชาติหรือเปล่าครับ เพื่อให้ตัวเองเก่งภาษาอังกฤษ?
ถ้า choice คือเรียนกับอาจารย์อย่างถาวรทำไม่ได้ (มันทำไม่ได้อยู่แล้ว!!) ก็เหลือทางเลือกอันดับสอง คือ ศึกษากับหนังสือ, ไฟล์ mp3, คลิป, หรือโปรแกรมเรียนภาษาอังกฤษ ที่ทำหน้าที่แทนอาจารย์ หลายคนต้องจับทางเลือกนี้อย่างจำใจ และไม่ยอมทำอะไรกับมัน
เขารออะไร... ?
เขารอให้มีคนมาบอกคำตอบสำเร็จรูปในวิธีการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ถ้าไม่มี ก็ปล่อยให้หนังสือ, ไฟล์ mp3} คลิป, หรือโปรแกรม ที่สะสมไว้หรือมีคนนำมาให้นอนค้างอยู่อย่างนั้น
และแล้ววันหนึ่งเขาก็โชคดี มีคนมาบอกวิธีการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเองที่สนุก ไม่เครียด ไม่ต้องหักโหม และได้ผลอย่างรวดเร็ว เขาดีใจและมีความหวังขึ้นมา และก็ลองทำตามวิธีนั้น
แต่ในไม่ช้าเขาก็พบว่า วิธีที่ลองทำมันก็ไม่สนุกนัก ออกจะเครียด บางครั้งต้องออกแรงเยอะแต่กลับได้ผลน้อยและช้าไม่ทันใจ เขาก็เลยเลิกทำ
และเขาก็กลับไปสู่สภาพเดิม คือรอให้มีใครมาบอกวิธีสำเร็จรูปในการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ที่ดีเลิศประเสริฐศรี ที่มีเงื่อนไขว่า ต้องสนุก ไม่เครียด ไม่ต้องหักโหม และได้ผลอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็ยังรออยู่อย่างนั้น
@@@@@@
ผมรู้สึกว่ามีลักษณะการใช้ชีวิตของฝรั่งอย่างหนึ่งที่คนไทยรับมาแต่ก็ยังไม่เต็มที่นัก คือ การทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง คำจำพวกนี้ที่เราได้ยินบ่อย ๆ คือ how-to และ DIY- Do It Yourself มันอาจจะเป็นเพียงหนังสือที่แนะนำทิบหรือเทคนิคที่ช่วยแนะวิธีทำของยากให้ง่าย และวิธีที่หนังสือแนะนำอาจจะสั้น ๆ เพียง 2-3 ประโยค อ่านแล้วเข้าใจและนำไปทำได้ทันที หรือมันอาจจะยาว ๆ เป็นบท ๆ หรือเป็นเล่ม ต้องลงทุนศึกษาและฝึกฝน หรืออาจจะมีชุดอุปกรณ์ที่ขายพร้อมคู่มือ เช่นให้ท่านเป็นช่างเองในบ้านโดยไม่ต้องจ้างช่างอาชีพมาซ่อมนั่นซ่อมนี่ให้เสียเงิน ฝรั่งเขาต้องทำอย่างนี้อาจจะเพราะว่าค่าจ้างช่างแพง พ่อบ้านแม่บ้านจึงต้องเรียนรู้ทำของพวกนี้ด้วยตัวเอง วัฒนธรรม DIY จึงแน่นในบ้านเขามากกว่าในบ้านเราที่สามารถจ้างช่างได้ง่ายกว่า เพราะราคาไม่แพงนัก
ณ นาทีนี้ สำหรับท่านที่ต้องการรักษาโรคภาษาอังกฤษอ่อนแอของตัวเอง ผมเห็นว่า เมื่อท่านอ่าน how-to ในการรักษาโรคฯ ท่านก็ต้องลงทุนทำตาม how-to นั้น เพราะเมื่อเรามองดูสภาวะของความจำเป็นในการศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อการค้าและการอยู่รอดของคนทั้งโลก เราก็เห็นได้ชัดว่า การศึกษาภาษาอังกฤษเป็น DIY- Do It Yourself ไปเสียแล้ว ท่านอย่าไปหวังเลยครับว่า จะมีหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน นี่-นั่น-โน่น มาช่วยท่านจนสมใจ ถ้าท่านขอเขามาก เขาอาจจะตอบกลับว่า DIY!!
@@@@@
วันนี้กลับจากที่ทำงาน ก่อนที่จะขึ้นลิฟต์ไปยังห้องอพาร์ตเมนท์ที่พัก ผมลองทำตามคำแนะนำในการฝึกพูดภาษาอังกฤษที่ผมเคยให้แก่ท่านผู้อ่านเมื่อหลายปีมาแล้ว คือฝึกพูดภาษาอังกฤษคนเดียวโดยจินตนาการว่าพูดกับเพื่อนคนใดคนหนึ่งที่สนิท ผมเดินไปตามตึกแถว ๆนั้น เลือกย่านที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่าน แล้วลองนึกเติมคำในช่องว่าของ 2 ประโยคนี้
ประโยคที่ 1:
สิ่งของ (จับต้องได้ หรือ นามธรรม) is….. เช่น
7-Eleven is…..
A dictionary is….
Love is….
My mother is…
My house is…
สมศักดิ์(เพื่อนคนหนึ่ง) is…
นครราชสีมา is…
วัดพระแก้ว is…
ส้วม is….
ผมพยายามนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้สารพัดอย่าง แล้วพยายามพูดต่อประโยคให้จบ ออกมาเสียงดังพอให้ตัวเองได้ยิน ถ้านึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่จะใช้ไม่ออก ก็พยายามเค้นหาคำศัพท์ง่าย ๆ สมัยชั้นประถมที่ยังหลงเหลือมาถึงวันนี้ นึกโดยไม่รีบ แต่นึกไม่หยุด และนึกดัง ๆ โดยพูดออกมา จะพูดช้า พูดหยุด พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดผิด ๆ ยังไงไม่ก็ไม่เป็นไร(เพราะพูดอยู่คนเดียว) แต่พยายามนึกไม่หยุดและพูดไม่หยุด คำใดที่สามารถต่อประโยคที่ 2 ได้ก็ต่อ คำใดต่อไม่ได้หรือไม่อยากต่อก็เลื่อนไปคำใหม่ ผมพยายามทำสัก 20 คำ
และประโยคที่ 2:
I like (สิ่งของ) because…… เช่น
I like เชียงใหม่ because….
I like my job because….
I like น้องกุ้ง because….
I like ท่านชายพุฒิภัทร because….
ฯลฯ
วิธีนึกและพูด ก็ฝึกอย่างประโยคที่ 1
ความสำเร็จของการฝึก ไม่ได้วัดจากถ้อยคำหรือประโยคหรูหรา สละสลวย ที่เราสามารถนึกเอามาแต่งต่อเติม แต่อยู่ตรงที่เราสามารถใช้การออกกำลังสมองเช่นนี้ ชำระสะสางสิ่งที่ตกค้าง ขาด ๆ บิ่น ๆ เลอะ ๆ เลือน ๆ ของภาษาอังกฤษที่หลงเหลืออยู่ในสมอง การลงมือ “ล้างบ้าน” ด้วยตัวเองเช่นนี้ ได้ผลดีกว่าการที่ท่านนั่งอยู่ในห้อง รอให้อาจารย์เข้ามายื่นกระดาษพร้อมคำศัพท์ 100 คำให้ท่านเช็กดูว่าท่านรู้กี่คำ แล้วก็ประเมินท่านว่า ท่านอยู่ในระดับ beginner, intermediate หรือ advanced เสียอีก เพราะถึงแม้ท่านจะรู้ผลการประเมิน สมองของท่านก็ออกแรงมากขึ้นกว่าเดิมนิดเดียวเท่านั้นเอง แต่ถ้าท่านออกแรงเขย่าสมองและขยับปากของท่านด้วย 2 คำถามนี้ และคำถามอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันนี้ บ่อย ๆ ทุกวัน ท่านก็จะเริ่มรู้จัก “อวัยวะ” ของท่านที่เป็น “โรค” และหาทางรักษาโรคนั้นได้
@@@@@
ในประเทศไทยซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการหรือภาษาที่สอง การเริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ได้ผลดี ควรจะทำได้พร้อมกับการฝึกอ่าน และฝึกฟังเรื่องง่าย ๆ ซึ่งในเว็บนี้ก็มีไว้ให้พอสมควร เช่น
ฝึกภาษาอังกฤษ โดยการฟังและอ่านตาม คลิปคาราโอเกะ - e4thai
ดาวน์โหลด Story เกือบ 2,000 เรื่อง เพื่อฝึกฟังและอ่านตาม (ไม่ยากครับ !!)
ชม 86 คลิป American Idioms ฟังง่าย-เข้าใจง่าย-ใช้บ่อย-มี subtitle บนจอด้วย
ข่าวเดียวกัน มี 3 ระดับ ง่าย-กลาง-ยาก ให้เลือกฝึกอ่าน และฟัง - e4thai
การที่เรามี 1 ปากทำหน้าที่ในการพูด แต่มีตาถึง 2 ตา และหูถึง 2 หู รวมเป็น 4 นี่น่าจะบอกเป็นนัยแล้วว่า ปาก 1 ปากคงยากที่จะทำอะไรได้สำเร็จถ้า 2 ตา 2 หูไม่อยู่คอยช่วย การฝึกพูดภาษาอังกฤษก็คงเช่นเดียวกัน
@@@@@@
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Tip การอ่าน นสพ. Bangkok Post
สวัสดีครับ
ถ้าถามว่าทุกวันนี้ทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษที่ใช้ทำงานผมได้มาจากไหน คำที่โผล่ทันทีในความคิดคือ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ผมฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ ปี 1 และอ่านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในระยะแรกของการหัดอ่าน ผมอ่านอย่างไร้ทฤษฎี หยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาได้ก็ลงมืออ่านเลย เอ๊ะ ! จะบอกว่าไม่มีหลักการก็คงไม่ถูก เพราะผมมักจะมี 3 เรื่องนอนอยู่ในใจเมื่ออ่าน คือ 1.ผมควรจะรู้ศัพท์สำคัญ ถ้าเดาไม่ออกก็จำเป็นต้องเปิดดิก 2.ผมจะต้องแยกแยะโครงสร้างประโยคให้ออก ดูเหมือนว่าผมจะเป็นคนรุ่นเก่าที่ถือว่าแกรมมาร์สำคัญ เพราะถ้าไม่รู้มันก็ผ่าตัดประโยคอย่างผิด ๆ ถูก ๆ และ 3.ผมควรจะอ่านรู้เรื่อง
แต่ว่า.... ต้องสารภาพครับ แม้จะมีหลักการดี(ผมคิดเอาเอง)อย่างนี้ ผมก็ใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะจับทางการอ่านได้รู้เรื่อง คือแบบมวยวัด... อ่านไปทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องนั่นแหละครับ ถ้าเป็นนักรบสมัยโบราณก็คงออกรบทั้ง ๆ ที่ใช้ดาบยังไม่ค่อยเป็น
และอยู่มาวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว อาจารย์ Terry Fredrickson แห่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ก็นำผลงานแนะนำการอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษออกเผยแพร่ จนถึงวันนี้ออกมาได้ 3 เล่มแล้ว ท่านลองคลิกดูก็ได้ครับ
[2] Easy English news, the second year
(ผมไม่แน่ใจว่า 2 เล่มนี้ขาดตลาดหรือเปล่า)
ผมก็ซื้อมา พลิกดูสารบัญและอ่านบางบทก็รู้สึกว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มาก แต่ก็ไม่ได้อ่านอย่างจริงจังเพราะความขี้เกียจ ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลย อาจจะเป็นเพราะว่ามันยาวผมก็เลยขี้เกียจหยิบ
มาวันนี้ผมเข้าไปที่หน้า Educational Services ของ Bangkok Post online อีกครั้งก็พบเรื่องนี้ที่น่าสนใจมาก ที่อาจารย์ Terry Fredrickson เขียนไว้นานแล้ว แต่ผมไม่ได้เอามาบอกต่อ คือ Tips on reading the Bangkok Post
ที่ลิงค์นี้: http://www.bangkokpost.com/education/rdtips.htm
ซึ่งมีหัวข้อย่อยดังนี้
Reading tips
สนใจคลิกเลยครับ
ถ้ามีปัญหาฟอนต์ผิดเพี้ยน คลิก: วิธี encoding เพื่อแก้ปัญหาฟอนต์เป็นตัวยึกยือ อ่านไม่รู้เรื่อง
- The basic news story
- The news story style
- Common themes
- Reading features
- Opinion writing
- Letters to the Editor
- Weather reports
- Movie reviews
- Advice columns
- Dealing with unfamiliar vocabulary (หัวข้อนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ)
แต่ละหัวข้อให้คำแนะนำวิธีการอ่าน Bangkok Post ซึ่งช่วยทำให้การอ่านของเราง่ายและมีทิศทางมากยิ่งขึ้น บทความ free online นี้ไม่ยาวเหมือนหนังสือ 3 เล่มของอาจารย์ Terry ข้างต้น อ่านครบทุกบทจบได้ไว ๆ ถ้าอึดใจอ่านสักพัก และก็ได้ประโยชน์คุ้ม
ผมนึกถึงท่านผู้อ่านจึงนำทุกหัวข้อมารวมกัน ทำเป็น eBook pdf -เชิญคลิกดาวน์โหลดที่นี่ครับ
ผมเชื่อว่า ท่านที่อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นประจำจะได้รับประโยชน์จาก Tips on reading the Bangkok Post ไม่น้อย ผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษ ท่านสามารถเก็บประเด็นหลัก ๆ จาก Tips ที่อาจารย์ Terry เขียนไว้นำไปบอกต่อให้ลูกศิษย์ฟังได้ เพื่อลูกศิษย์จะได้แนวทางในการอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ไม่ต้องมึนอ่านอยู่นานวันเพราะไม่มีคนชี้แนะอย่างผมสมัยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
พระทำกรรมฐาน กับ เราเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ต่างกันเลยครับ !!
สวัสดีครับ
ท่านผู้อ่านลองดู 2 รูปข้างล่างนี้นะครับ
*
ท่านเห็นอะไรครับ?
รูปซ้ายคือหลวงพ่อกำลังนั่งทำสมาธิในกุฏิที่วัด ส่วนรูปขวาเป็นหญิงสาวกำลังเปิดหนังสือศึกษาภาษาอังกฤษ ดูแล้ว 2 คนนี้อยู่คนละโลก ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย และทำกิจกรรม 2 อย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง !!
แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็น และผมกำลังจะพูดสิ่งที่ผมเห็น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
ขอเริ่มที่รูปซ้ายคือหลวงพ่อก่อน ท่านกำลังนั่งสมาธิ ตามปกติถ้าเป็นศัพท์เทคนิคจริง ๆ จะใช้คำว่าทำกรรมฐาน ทำกรรมฐานคือทำอะไร? ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบาย ทางใจ มี 2 ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา อ่านจบแล้วยิ่งงงกว่าเก่า ตกลงว่าหลวงพ่อท่านนั่งทำอะไรกันแน่?
ท่านผู้อ่านคงได้ยินชื่อหลวงพ่อดัง ๆ ที่พวกเราชาวไทยเคารพนับถือว่า เป็นผู้นำชาวพุทธทางด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หรืออาจารย์พุทธทาส เป็นต้น ก่อนที่ท่านจะรู้ธรรมและนำธรรมที่ท่านรู้มาสั่งสอนพวกเราชาวพุทธและชาวโลก ทุกท่านล้วนผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า นั่งกรรมฐาน มาแล้วทั้งนั้น
ท่านลองสมมุติตัวเองตามที่ผมกำลังจะว่าให้ฟังต่อไปนี้ก็ได้ครับ ท่านไปที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ปูเสื่อเล็ก ๆ ที่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง นั่งขัดตะหมาดหลับตาทำความรู้สึกตามลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” ให้ความรู้สึกทั้งหมดตามจับอยู่ที่ลมหายใจ ทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนใจสงบมากขึ้น ๆ ไปตามลำดับ... เป็นไงครับ เรื่องเล่าทำนองนี้คุ้นเคยบ้างไหมครับ
คำถามของผมก็คือ พอสงบเสร็จแล้วยังไงต่อล่ะ แล้วมันต่างอะไรกับการทำตัวให้เป็นท่อนหิน? ไม่ต่างกันเลยใช่ไหมครับ !!
เพราะจริง ๆ แล้วขณะที่กำลังตามลมหายใจเพื่อให้ใจมันเชื่องและสงบนั้น ใจคนเรามันจะพยศและไม่ยอมเชื่องง่าย ๆ ก่อนที่จะบวชเป็นพระหลวงพ่อท่านก็เป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละครับ และเมื่อนั่งทำสมาธิข้อมูลที่สะสมใน database สมองของท่าน จะโผล่ออกมารบกวน หรือ interfere ทำให้ใจท่านไม่สงบง่าย ๆ
ท่านกลับขึ้นไปอ่าน definition ของคำว่า กรรมฐานอีกครั้งซีครับ
กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบาย ทางใจ มี 2 ประการ คือ
-สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และ
-วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา
ตอนที่ท่านตามลมหายใจเพื่อทำให้ใจสงบหรือนิ่ง นี่เรียกว่า ทำสมถกรรมฐาน แต่ถ้าใจมันไม่ยอมสงบ ไม่ยอมเชื่อง ไม่ยอมนิ่ง ท่านจะทำยังไงต่อไป? ท่านก็ต้องทำตัวที่ 2 คือ วิปัสสนา กรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา ทำยังไงล่ะ?
ถ้าท่านผู้อ่านศึกษาประวัติของพระอาจารย์ดัง ๆ ก็จะพบว่า ชีวิตตอนเป็นชาวบ้านของท่านก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หลายท่านเคยอกหัก มีเมียมาแล้ว บางท่านเคยเป็นโจรมาด้วยซ้ำ และมิหนำซ้ำหลายท่านถูกสีกาย่องเข้าไปหาในกุฏิตอนบวชเป็นพระแล้ว (ประวัติพวกนี้ไม่ค่อยมีการบันทึกแต่เล่าต่อ ๆ กันในกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด) และตอนที่ท่านทำสมาธิเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ ที่ก่อให้เกิดความรัก ความชัง ความกลัว ความลังเลสงสัย ความท้อแท้หดหู่ เศร้าหมอง นานาประการ ก็จะเข้ามาแจมใจของท่านให้เป็นคลื่นที่ไม่สงบ บางท่านถึงกับเห็นภาพแปลก ๆ เช่น เห็นเทพองค์นั้นองค์นี้ หรือเห็นนางฟ้า เทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นสถานที่สวย ๆ ที่ไม่เคยไป หรือแม้แต่เห็นตัวเลข
วิธีที่ท่านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็คือ ใช้ใจที่สงบหรือนิ่งอยู่บ้างนี้ มองดูความรู้สึกนึกคิดที่เป็นภาพเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในใจ ท่านอาจจะถามว่า มองทำไม? คำตอบก็คือ มองเพื่อให้รู้ว่า แม้ว่าท่านจะเห็นจริง แต่สิ่งที่ท่านเห็นไม่ใช่ของจริง ถ้าเรารักษาใจให้สงบ ไม่ไปวี้ดว้ายกระตู้วู้กับมัน ความไม่สงบก็จะอยู่กับเราไม่นานนัก เดี๋ยวมันก็ไป พระท่านเรียกเทคนิคนี้ว่า “รู้แล้วละ- ปล่อยวาง-ไม่ยึดมั่นถือมั่น” และนี่คือความหมายของ “วิปัสสนา กรรมฐาน - อุบายเรืองปัญญา” พระที่ผ่านการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงเรื่องในใจเช่นนี้ ก็จะมาบอกเล่า(เทศน์)ประสบการณ์ของท่านเพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติเพื่อรู้เองเห็นเองบ้าง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่สงบและไร้ทุกข์ในใจ
ถามว่า พระท่านที่ทำกรรมฐานเหล่านี้เจอปัญหาในการปฏิบัติบ้างไหม? เท่าที่ได้ยินได้อ่านทำให้ทราบว่า บางรูปก็เจอปัญหา เช่น
-ไม่จริงจังที่จะปฏิบัติสมถรรมฐาน ใจจึงไม่รู้จักสงบ
-จะปฏิบัติแต่สมถกรรมฐานอย่างเดียว มุ่งแต่จะบีบให้ใจสงบ ท่าน start การนั่งด้วยความอยากอย่างเปี่ยมล้นให้ใจสงบ เมื่อไม่สงบดังใจก็เครียด ยิ่งนั่งยิ่งเครียด แทนที่จะยิ่งนั่งยิ่งคลาย
-แต่ถ้าท่านรู้จักใช้ใจที่นิ่งอยู่บ้าง สำรวมจิตดูภาพหรือคลื่นที่เกิดขึ้นในใจ และปล่อยสิ่งที่เห็นให้มันสลายไปเอง (let it be) ท่านก็จะได้ใจที่นิ่งและเบาจากการปฏิบัติ
-แต่บางรูปก็ไม่สนใจที่จะนั่งสมาธิให้ใจสงบเลย ถือหลักว่า เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิดหรือนิวรณ์ในใจก็จะมองดูจนมันดับไป และบอกตัวเองว่า นี่คือการปฏิบัติ วิปัสสนา กรรมฐาน คือ มองให้รู้-ดูให้เห็น แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ถ้าพื้นฐานใจของท่านไม่สงบมากพอ ท่านก็จะมองไม่ค่อยเห็นหรอกครับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเป็นนามธรรม ไม่เหมือนสิ่งของที่วางใส่มือใช้ตาเนื้อมองเห็นได้ง่าย แต่สิ่งของที่วางอยู่ในใจถ้าตาในไม่นิ่งก็มองเห็นยากครับ เมื่อไม่เห็นท่านก็ละมันไม่ได้ ใจของท่านก็เบาได้ยาก
ท่านอาจจะสงสัยว่า ผมนำเรื่องนี้มาเล่าทำไม?
ในฐานะ webmaster ของ e4thai.com ผมสังเกตว่า ปัญหาของเราซึ่งนั่งเรียนภาษาอังกฤษที่บ้าน ไม่ต่างจากปัญหาของพระที่นั่งทำกรรมฐานในกุฏิเลย ไม่ต่างยังไง ? ผมขอว่าไปทีละเรื่อง
1.ไม่ค่อยมีสมาธิในการรียน:
เราไม่สามารถนำความรู้สึกทั้งหมดให้จับอยู่ที่ตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่กำลังอ่าน หรือเสียงภาษาอังกฤษที่กำลังฟัง เมื่อฟังหรืออ่านด้วยจิตใจที่กระเจิดกระเจิงเช่นนี้ ต่อให้อ่านนานหรือฟังนาน ก็ได้แต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ เหมือนพระที่นั่งทำสมาธิแต่เพียงท่าทางแต่ใจไปเที่ยว จึงเป็นการนั่งที่เสียเที่ยว
2.ไม่รู้จักเลือก “สัปปายะ”:
สำหรับพระที่ทำกรรมฐาน ครูบาอาจารย์จะสอนให้รู้จักเลือกสถานที่ที่เอื้อต่อการทำกรรมฐาน เช่น ไม่มีเสียงอึกทึก จอแจจ้อกแจ้ก และมีกลุ่มเพื่อนพระภิกษุที่มีความเพียรด้วยกัน เป็นต้น คนที่จะฝึกภาษาอังกฤษก็ต้องรู้จักเลือก “สัปปายะ” ที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน เช่น เรียนที่ไหน เรียนกับใครหรือใกล้ใคร(หรือควรจะไกลใคร) เรียนยังไง เหล่านี้ต้องรู้จักเลือกครับ
3.มีสมาธิ แต่ไม่มีวิปัสสนา ก็พาไปไม่ไกล
ตอนที่เรานั่งลงที่โต๊ะเพื่อฝึกอ่านหรือฝึกฟังภาษาอังกฤษ สำหรับหลายท่านที่ใจไม่พร้อม มันจะมี “มาร”มากมายเข้ามารบกวนจิตใจทำให้เราไม่อยากเรียน มารพวกนี้ภาษาพระท่านเรียกว่า “นิวรณ์” เช่น ขี้เกียจ, เซ็ง, เบื่อ, ท้อแท้, หงุดหงิด, ใจฟุ้งซ่านไม่อยู่กับบทเรียน, ง่วง, อยากผลัดไปทำย่างอื่นก่อน, ใจร้อนอยากรู้เรื่องเร็ว เมื่อเร็วไม่ได้ก็เลยไม่เรียน, อายที่จะฝึกพูดให้คนอื่นได้ยิน และขี้เกียจที่จะฝึกพูดคนเดียวให้ตัวเองได้ยิน เป็นต้น
เมื่อ start ด้วยการนั่งลงเรียนด้วยความตั้งใจ แต่พอมารพวกนี้ปรากฏตัวก็เสียศูนย์และสูญเสียจิตใจใฝ่เรียนอย่างรวดเร็ว ผมอยากจะบอกว่า ท่านอย่าเสียเวลาไปกับการขับไล่มารเลยครับ เพราะมารพวกนี้มันก็คือตัวตนของเราเองในอดีต มันคือตัวตนที่ราสร้างขึ้นมาเอง อาจจะในชาตินี้ที่เราจำได้หรือลืมไปแล้ว หรือในชาติก่อนที่เราระลึกไม่ได้ เมื่อมารมาก็อย่าไปไล่มัน เพียงแต่ไม่สนใจและมันก็จะไปของมันเอง โดยเราไม่ต้องไปสนใจมัน เมื่อมันเรียกก็เพียงได้ยินแต่ไม่ต้องขานตอบ และไม่ต้องไปขุ่นเคืองมันด้วย นี่คือการใช้กรรมฐาน คือ สมาธิพร้อมวิปัสสนา ในการเรียนภาษาอังกฤษ คือเรียนด้วยใจที่นิ่ง รู้และละสิ่งที่เข้ามารบกวนจิตใจ โดยไม่ต้องไปขับไล่มัน
สิ่งที่ผมพูดมาจนถึงบรรทัดนี้ ถ้าท่านมีความคิดว่าทำไม่ได้ ผมก็ขอบอกว่า ท่านก็ไม่ต้องสนใจความคิดนี้ของตัวเองหรอกครับ ความคิดนี้เกิดขึ้นจริง ท่านเห็นมันจริง ๆ แต่มันไม่ใช่ของจริง เมื่อมันไม่ใช่ของจริง ท่านเพียงรับรู้ว่ามันเป็นความคิดลวง ๆ และก็ไม่ต้องไปใส่ใจ
ด้วยใจที่นิ่งพร้อมที่จะเรียน ตื่นตัวเพื่อรู้และละความรู้สึกนึกคิดหลอกลวงที่เกิดขึ้น และพยายามเรียนอย่างไม่ลดละ ท่านก็จะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ เหมือนพระคุณเจ้าประสบความสำเร็จในการทำกรรมฐานนั่นแหละครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
More Articles...
- แค่เรียนภาษาอังกฤษ แบบ active ไม่พอหรอกครับ !!
- ประโยชน์ของการอ่าน หนังสือนอกเวลา และวิธีการอ่าน ที่ถูกต้อง
- ภาษาไทย คือ ภาษาแห่งจิตใจ
- วันสงกรานต์ที่แม่กลอง
- ขอกราบถวายการสอนภาษาอังกฤษแด่พระคุณเจ้า
- ช่อง Search ของ e4thai.com อยู่ที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บครับ
- บทความยอดนิยม 50 บทความแรก ของเว็บ e4thai.com
- ตอนนี้หนังสือภาษาอังกฤษ "อ่านนอกเวลา" เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 150 เล่มแล้ว
- ขอแนะนำ Bangkok Post Learning อีกครั้ง