Home
สันโดษคือความสำเร็จทันทีที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด - ในการฝึก English listening
มีคำถามเป็นอเนกว่าทำยังไงจึงจะฝึกฟังภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีคำตอบเป็นอนันต์ที่ช่วยตอบว่าต้องทำยังไง แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่า คำถามและคำตอบเดิม ๆ ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม .... คำตอบเดิม ๆ กับ listening skill ของหลายคนที่ยังอยู่ที่เดิม ๆ
แต่วันนี้ผมขอบอกว่า สันโดษคือความสำเร็จทันทีที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด - ในการฝึก English listening
แน่นอนละ เราต้องเลือกเรื่องฝึกฟัง ที่เหมาะกับตัวเอง เรื่องที่เราชอบ สนใจ ไม่ยาวเกินไป ไม่ยากเกินไป
แต่แม้เลือกได้เรื่องแบบนี้ ก็อาจจะยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือรู้เรื่องน้อยเกินไป หรือไม่รู้เรื่องเลย
คำแนะนำสั้น ๆ ที่มาจากการฝึกปฏิบัติโดยตรงของผมก็คือ....
ให้มีสันโดษหมดใจขณะฟัง "สันโดษ" ตามพจนานุกรมบอกว่า "ความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่" ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ความยินดีหรือพอใจเท่าที่ฟังเข้าใจ
เรื่องที่ฟัง ขนาดยาวเรียกว่าประโยค, ขนาดกลางเรียกว่าวลี, ขนาดสั้นเรียกว่าคำ
ไม่ว่าเราจะฟังเข้าใจขนาดยาว ขนาดกลาง ขนาดสั้น ก็ให้ยินดีพอใจในขนาดที่ฟังรู้เรื่อง แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจแม้แต่ขนาดเดียว ก็ยังมีความพอใจ ภูมิใจในความตั้งใจฝึก ไม่รู้สึกหงุดหงิด
ใจที่สันโดษเป็นใจที่เปิดกว้าง สามารถรับสารคือเสียงที่เข้าโสตประะสาท ได้เต็มกำลัง และสันโดษยังช่วยให้ไม่หงุดหงิด ไม่ร้อนใจ
แม้เราอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่สมองก็คล้ายมีดที่ถูกถูให้คม แม้ตัดไม่ขาดหรือทำได้แค่เถือ คือฟังไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่องแบบเถือไม่เข้า แต่ขอบอกว่า ทุกนาทีที่ฝึกฟังด้วยสันโดษ, listening skill ก็ถูกลับให้คมขึ้น
เรื่องที่กำลังเข้าหูอาจฟังไม่รู้เรื่อง แต่ไม่ใช่การฝึกฟังครั้งนี้ไม่ได้เรื่อง เพราะแม้ว่าทักษะที่น้อยทำให้ฟังเรื่องยากไม่รู้เรื่อง จนเราเผลอท้อและปิดใจ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถใช้มันฟังเข้าใจเรื่องที่ง่ายกว่า เมื่อเรายังไม่มีขวานโค่นต้นไม้ใหญ่มาทำบ้าน ก็ไม่ควรทิ้งมีดโต้ให้ขึ้นสนิม ... มีดโต้ที่เมื่อลับให้คมก็ฟันลำไผ่ขาด นำมาทำแขร่นั่งให้เย็นใจได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องติดแหง็กฟังแต่เรื่องง่าย ๆ ไปทั้งชีวิต
เราติดแหง็กเพราะเราปิดใจตัวเอง ถ้าทุกครั้งที่ฟัง 1 ประโยค, หรือ 1 วลี, หรือ 1 คำ ไม่รู้เรื่อง เรารำคาญหงุดหงิดไม่มีสันโดษ นั่นคือเราค่อย ๆ ปิดใจตัวเอง ยิ่งฟังก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง
แต่ถ้าเรามีสันโดษ คืออ้าใจเปิดไว้เสมอ ฟังรู้เรื่องมากก็พอใจ, ฟังรู้เรื่องน้อยก็พอใจ, หรือฟังไม่รู้เรื่องเลยก็ยังพอใจ สมองของเราจะไม่เคยปิด
ทุกวันนี้ ผมพยายามฝึกฟังเรื่องยากที่ฟังแทบไม่รู้เรื่อง และมีสันโดษในทุกคำ, ทุกวลี, ทุกประโยค ที่ฟังรู้เรื่องและฟังไม่รู้เรื่อง ตอนฟังรู้เรื่องก็ดีใจ แต่ตอนงงหรือไม่รู้เรื่องก็ไม่เสียใจ ไม่หงุดหงิด และไม่ปิดใจ
และมันช่วยให้ English listening skill ของผมดีขึ้น... ดีขึ้นแบบไม่ต้องรอรับผลในอนาคต เพราะใน 1 เรื่องจำนวน 500 คำที่กำลังฟัง ถ้าผมฟังรู้เรื่อง 10 คำ ผมก็ได้ทันที 10 คำ, ผมไม่ได้สูญเสีย 490 คำ, ไม่ได้สูญเสีย 40 วลี, หรือไม่ได้สูญเสีย 14 ประโยคที่ฟังไม่รู้เรื่อง ทุุกครั้งที่ฟังผมมีแต่ได้ และได้ทันที เพราะมีสันโดษ... การมีสันโดษเหมือนเติมปุ๋ยให้การฝึกฟังภาษาอังกฤษที่ขาดสารอาหาร
ขอแนะนำสั้น ๆ เพียงเท่านี้ แต่ขอยืนยันว่า นี่คือประสบการณ์จากการฝึกจริง ได้ผลจริง ไม่ได้มุสา
ท่านไม่ต้องเชื่อเรื่องที่ผมพูด แต่ผมอยากให้ลองฝึกด้วยตัวเอง และเชื่อผลที่เจอเอง นั่นจริงกว่าเยอะ
สันโดษคือความสำเร็จทันทีที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด - ในการฝึก English listening
นี่คือคำขาดครับ
พิพัฒน์
วัด/แหล่งศิลปะโบราณเมืองไทย น่าจะเขียนป้ายข้อมูลภาษาอังกฤษง่ายกว่านี้ให้นักท่องเที่ยวอ่าน
หลายปีมาแล้ว ผมไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์บางแห่งที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สิ่งที่ประทับใจมากก็คือ ป้ายข้อมูลภาษาอังกฤษในพิพิธภัณฑ์ที่เขาแสดงให้นักท่องเที่ยวอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ, ห้องแสดงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์, และโบราณวัตถุชิ้นยักษ์-ชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็ก ฯลฯ ป้ายข้อมูลพวกนี้แทบทุกชิ้นเขาเขียนโดยใช้ *plain English* , มีน้อยคำที่เป็น *jargon* ที่ชาวบ้านอ่านยาก
นี่ทำให้คิดถึงเมืองไทยเรา คือเราก็มีวัดหรือแหล่งประะวัติศาสตร์โบราณมากมายเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว และเราก็ส่งเสริมเรื่องนี้กันหนักจนการท่องเที่ยวเป็นแหล่งทำเงินให้ประเทศเยอะ แต่ดูเหมือนยังไม่มีการปรับปรุงให้เขียนภาษาภาษาอังกฤษ *in layman's terms* ที่ให้ชาวบ้านทั่วไปอ่านได้ง่าย ๆ คือต้องรู้ technical terms ทางประวัติศาสตร์อยู่บ้างจึงจะอ่านได้เข้าใจ หรือหลายแห่งก็มีแต่ภาษาไทยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอ่าน หรือมีแต่สิ่งของให้ถ่ายรูป ไม่มีข้อความให้อ่าน หรือมีให้อ่านแค่ว่าเป็นพระพุทธรูปเก่า เป็นโอ่ง เป็นชาม เป็นหม้อ แต่รายละเอียดมากอีกสักนิดให้อ่านง่าย ๆ ไม่มี หรือถ้ามีก็ต้องไปซื้อหนังสือเล่มข้างนอกต่างหาก และก็เป็นหนังสือที่เขียนด้วย *jargon* เยอะแยะอีกนั่นแหละ
เท่าที่เห็น ถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หรือศิลปกรรมของเอกชน ป้ายข้อมูลภาษาอังกฤษจะทำได้ดีกว่าของรัฐ เรื่องนี้ ผมไปเจอสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ใหญ่โตสีสวยสดใส ภายในมีภาพวาดทางประวัติศาสตร์ให้ดูเต็มผนังห้อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นอ่านแล้วเศร้าใจ มันผิด ๆ ถูก ๆ เต็มไปหมด ทั้งการใช้คำศัพท์และแกรมมาร์ ผมไม่กล้าหามาลงให้ท่านดูเพราะกลัวเขาด่า แต่นี่ก็ไปเที่ยวมาหลายปีแล้ว วันนี้อาจจะปรับปรุงแล้วก็ได้
คือขอพูดอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าเป็นเอกสารหรือแผ่นพับแจก ซึ่งเป็นข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์เชียร์แขกให้ควักเงินซื้อตั๋วเข้าชม มักจะเขียนได้น่าอ่านดี แต่ถ้าเข้าไปถึงและยืนอ่านสิ่งที่อธิบายสาระจริง ๆ กลับพบว่าอ่านยาก
และผมก็ได้ไปเจอบทความนี้ สรุปก็คือเขาให้คำแนะนำหน่วยงานหรือคนที่มีหน้าที่เขียนข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษในพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวอ่าน เขาบอกว่า ทางพิพิธภัณฑ์ต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ทุกคนจะอ่านภาษาอังกฤษได้เก่ง เพราะฉะนั้นถ้าเขาเข้าพิพิธภัณฑ์เพื่อหาความเพลิดเพลินจากการอ่านความรู้ เขาผิดหวังแน่ และอย่าไปคาดหวังว่าเขาจะติดใจกลับมาหรือแนะนำให้คนอื่นมาเที่ยวที่นี่อีก รายได้ของพิพิธภัณฑ์คงไม่ดีแน่
อ่านที่ี่ครับ ==> https://bit.ly/2ISrdo5
ผมขอนำสรุปคำแนะนำของเขามาให้ท่านอ่านข้างล่างนี้ อันที่จริงคนไทยที่ผมอยากจะให้อ่านมากที่สุุด ก็คือหน่วยราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้นั่นแหละครับ ไม่รู้ว่านอกจาก ททท. ยังน่าจะมีหน่วยไหนอีก
Top Tips for Busting Museum Jargon
Clear, simple language isn’t being lazy or dumbing down — it usually requires more effort and knowledge to boil a concept down to its most essential elements. By cutting down on jargon, you can boost your museum’s accessibility, popularity, credibility, and team spirit. That’s why we think using clear and simple language is a *no-brainer* for museums everywhere. |
ช่วยทำออกมาหน่อยเถอะครับ ผมรู้ดีว่า.....
[1] การเขียนแล้วอ่านยากนั้นเขียนง่ายและใช้เวลาน้อย เพราะนักวิชาการที่เป็นคนเขียนใช้ภาษาที่ตนคุ้นเคยอยู่แล้ว
[2] แต่การเขียนให้อ่านง่ายนั้นเขียนยากและใช้เวลาเยอะ เพราะนักวิชาการที่เป็นคนเขียนต้องใช้ภาษาชาวบ้านที่ตนเองไม่คุ้นเคย -และที่ยากหน่อยก็คือ คงต้องออกไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ช่วยร่าง, ช่วยอ่าน,ช่วยวิจารณ์, ไม่ใช่เอาแต่เขียนเอง เออเอง ชมกันเอง แต่นักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินอ่านไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่มี comment หนัก ๆ จากนักท่องเที่ยวก็ทึกทักว่า พวกเขาไม่แคร์อะไรกับเรื่องพวกนี้ แค่ได้ถ่ายรูปก็พอใจแล้ว ถ้าคิดกันอย่างนี้ผมว่าคิดน้อยไปหน่อยครับ
[3] และคำแนะนำที่บทความนี้ให้แก่คนรับผิดชอบเขียนป้ายภาษาอังกฤษในพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นคำแนะนำที่ใช้ได้ดีสำหรับคนที่จะเขียนป้ายข้อมูลภาษาอังกฤษให้นักท่องเที่ยววัด สถานที่โบราณ หรือสถานที่ทางศิลปกรรมในเมืองไทย
ช่วยกันหน่อยเถอะครับ ผมรอมานานแล้ว
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal
ชวนฝึกอ่านภาษาอังกฤษ : วิตามินรวมและอาหารเสริม ควรกินเมื่อไหร่ - กินยังไง?
วิตามินรวมและอาหารเสริม ควรกินเมื่อไหร่ - กินยังไง?
ทุกวันนี้วิตามินรวมและอาหารเสริมเป็นธุรกิจใหญ่มาก แม้บางคนจะบอกว่าถ้ากินอาหารครบหมู่ของพวกนี้ก็ไม่จำเป็น แถมกินมากเกินไปร่างกานอาจแย่บางอย่างด้วยซ้ำ ยกเว้นคนอยู่ในภาวะพิเศษเช่น คนตั้งครรภ์ หรือเด็กที่ขาดสารอาหาร อันนั้นกินเสริมได้ไม่เสีย
แต่ไม่ว่าคนหรือองค์กรใดจะว่าอย่างไร แต่ว่าคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยที่สุขภาพดี ก็กินของเสริมสุขภาพเหล่านี้เป็นประจำ เพราะฉะนั้น คำถามที่ realistic จึงน่าจะเป็น " จะกินเวลาไหน และกินอย่างไร ให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด " คำถามนี้อาจจะมีคำตอบแล้วโดยอ่านที่กล่องยา แต่ว่าจะเป็นประโยชน์มากถ้าเรามีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราอาจจะสนใจประโยน์ที่ว่านี้มากขึ้น ถ้าเราต้องจัดมันให้คนในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา ลูกหรือหลานตัวเล็ก ๆ หรือคนแก่-ญาติผู้ใหญ่ในบ้าน
ผมไปเจอบทความนี้ จากเว็บ นสพ Washington Post ของสหรัฐฯ
==> Morning or night? With food or without? Answers to your questions about taking supplements.
ซึ่งมีประโยชน์มาก โดยเขาตอบคำถามว่า
- Morning or night? - กินตอนเช้าหรือกลางคืน
- When to take supplements - กินเมื่อไหร่
- With food or without? - กินเมื่อท้องไม่ว่างหรือท้องว่าง
- Better together - อาหารเสริมบางตัวน่าจะกินด้วยกัน
- Better apart - แต่บางตัวไม่น่าจะกินในเวลาติดกัน
- Sample supplement schedule - ตัวอย่างการกินใน 4 เวลา
- With breakfast
- With lunch
- With dinner
- Before bed
เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ
Christy Brissette is a registered dietitian, nutrition writer, TV contributor and president of 80TwentyNutrition.com
แถม : เรื่องเดียวกันนี้ ที่เป็นภาษาไทย
==> วิตามินรวมและอาหารเสริม ควรกินเมื่อไหร่ - กินยังไง?
ขอแบไต๋ก่อนจบ
การจะรู้เรื่องนี้ไม่ต้องลำบากหาอ่านจากเว็บฝรั่งก็ได้ แค่พิมพ์คำค้นเป็นภาษาไทย ก็มีคำตอบให้เป็นกะตั๊ก ๆ
แต่ผมต้องการกระตุ้นหรือคะยั้นคะยอก็ได้ ให้ท่านที่รักจะเก่งอังกฤษ ได้ฝึกอ่านเรื่องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ เพื่อจะได้ 2 อย่างในการอ่านครั้งเดียว คือ อังกฤษ + ความรู้ ท่านอาจจะบอกว่า เรื่องความรู้คงไม่ได้เพิ่มหรอกเพราะอ่านภาษาไทยก็ได้ ผมอยากจะบอกความเชื่อที่ผมยึดมั่นมาตั้งแต่เข้าเรียน ปี 1 มหาวิทยาลัย คือ ในโลกนี้ยังมีความรู้ดี ๆ อีกเยอะที่เราไม่เคยอ่าน หรือไม่มีวันได้อ่าน ทั้งความรู้ใกล้ตัวในบ้าน และความรู้ไกลตัวในโลกกว้าง เพราะมันไม่ได้เขียนเป็นภาษาไทย แต่มันเขียนอยู่ในภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ และยิ่งสมัยนี้มีเน็ต สัจจะข้อนี้ก็จริงยิ่งกว่าจริง ท่านอาจจะบอกว่าผู้รู้ชาวไทยก็เก่ง ตามติดชนิดกระชั้นไปค้นหาความรู้ทั้งโลกมาบอกเล่าให้คนไทยได้อ่านและฟังผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคม
แต่ผมก็ยังยืนยัน นั่งยัน นอนยัน เหมือนเดิมว่า ยังมีความรู้ดี ๆ อีกเยอะที่เราไม่เคยอ่าน หรือไม่มีวันได้อ่าน เพราะมันไม่ได้เขียนเป็นภาษาไทย แต่มันเขียนอยู่ในภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น ถ้าการอ่านภาษาอังกฤษของเราเองยังไม่แข็งพอ ฝึกอ่านทุกวันเถอะครับ คุ้มค่าคุ้มเวลาแน่ ๆ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th
ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอกกับการเดินจงกรม
ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอกกับการเดินจงกรม
【1】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก
【2】ประสบการณ์ในการเดินจงกรม
【3】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก กับการเดินจงกรม
【1】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก
ตอนที่ยังทำงานอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ผมสมัครสอบชิงทุนของกระทรวงการต่างประเทศ และสอบได้ไปฝึกอบรมระยะสั้น ๆ ที่ 4 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์, เยอรมนี, อินเดีย และสวีเดน นี่เป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะนอกจากได้ความรู้ ยังได้เพื่อน และได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษจริง ๆ ในช่วงเวลาที่ยาวเป็นเดือน
สำหรับผม ข้อสอบของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ค่อนข้างยาก ซึ่งมักจะมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ Reading และ Listening ส่วนของ Reading นั้นง่ายกว่า เพราะถ้างงหรือไม่แน่ใจก็อ่านซ้ำได้ ส่วนนี้ผมทำคะแนนได้เยอะ แต่ส่วน Listening นั้นผมทำได้คะแนนน้อยกว่า และไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้ เพราะทุกครั้ง Listening จะสอบก่อน แล้วจึงค่อยให้ทำส่วน Reading จนหมดเวลา พูดง่าย ๆ ก็คือ ส่วนของ Listening นั้น ทำแล้วทำเลย ไม่มีโอกาสฟังซ้ำ แต่ส่วนของ Reading ถ้างงหรือไม่แน่ใจตรงไหนก็อ่านซ้ำได้ แต่ก็ต้องรีบ ไม่อย่างนั้นจะหมดเวลาก่อนทำครบทุกข้อ
เมื่อหมดเวลาและเดินออกจากห้องสอบ บ่อยครั้งที่ผมได้ยินผู้เข้าสอบหลายคนคุยบ่นว่า Listening ฟังไม่รู้เรื่องเลย ที่ตลกก็คือ ฟังเรื่องเดียวกันแต่เข้าใจไปคนละเรื่อง เข้าทำนองคนหนึ่งบอกว่า ข้อสอบเขาถามเรื่องดวงจันทร์ แต่อีกคนหนึ่งบอกว่าเขาถามเรื่องดาวอังคาร อะไรทำนองนี้ เรื่องของเรื่องก็คือ ข้อสอบชิงทุนของกระทรวงการต่างประเทศมักจะยากแบบยอกย้อน กินมันไม่ได้ง่าย ๆ หลายข้อลวงให้เราตอบผิดอย่างมั่นใจ
ถ้ามีเพื่อนที่ไปเข้าสอบชิงทุนถามผมว่า ทำยังไงให้สอบ Listening ได้คะแนนเยอะ ๆ คำตอบของผมจะเหมือนกันทุกครั้ง คือ คนเข้าสอบชิงทุนไปเมืองนอกก็เหมือนนักมวย คือ (1) ก่อนขึ้นชกบนเวทีต้องซ้อมให้หนัก และ (2) ขณะที่กำลังชกบนเวทีต้องมีสติและสมาธิ อย่าเผลอ เผลอเมื่อไหร่อาจถูกคู่ต่อสู้สอยร่วงเมื่อนั้น การทำโจทย์ Listening ก็เช่นเดียวกัน คือ ก่อนเข้าห้องสอบต้องซ้อมมาให้ดี และขณะอยู่ในห้องสอบสมาธิต้องมั่นคง เผลอเมื่อไหร่อาจถูกข้อสอบ Listening สอยร่วงเมื่อนั้น คือไม่รู้ว่าควรจะตอบข้อ A, B, C หรือ D
การฟังอย่างมีสมาธิแปลว่าอะไร ? มันแปลว่า ขณะที่ฟัง - ให้เอาความคิดทั้งหมดจดจ่อกับประโยคที่กำลังฟัง และขณะที่อ่าน multiple choice เพื่อตอบ - ให้เอาความคิดทั้งหมดจดจ่อกับประโยคหรือที่กำลังอ่าน ทำเสร็จข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้ความกังวลหรือความพะวงค้างใจ และทำข้อถัดไปด้วยใจที่ไม่ว่างหรือไม่เต็มร้อย เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้ทุกข้อ คือทุกครั้งที่ฟังเพื่อทำข้อใหม่ ความคิดของเราก็จะคล้ายมีดที่ทื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อฟังผ่านไปถึงข้อท้าย ๆ อาจจะฟังแทบไม่รู้เรื่องเลย คล้าย ๆ กับฟังพระสวดอภิธรรมเป็นภาษาบาลีตอนไปงานศพ
สรุปก็คือ ขณะที่ฟังข้อสอบ ให้มีสมาธิอย่างเต็มที่ต่อประโยคที่กำลังฟัง ไม่ใช่ไปพะวงกับประโยคที่ฟังผ่านไปแล้ว หรือประโยคข้างหน้าที่ยังไม่ได้ฟัง ถ้าทำได้อย่างนี้ โอกาสได้คะแนนดีก็มีมากขึ้น
【2】ประสบการณ์ในการเดินจงกรม
ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 มีพระรูปหนึ่งสอนผมว่า สมาธิมีลักษณะและประโยชน์ 3 อย่าง (ท่านให้ภาษาอังกฤษมาด้วย) คือ บริสุทธิ์ - pure, ตั้งมั่น - stable และเหมาะกับการทำงาน - active และการทำสมาธิจะนั่งทำหรือเดินทำก็ได้ ถ้านั่งทำเราเรียกว่านั่งสมาธิ แต่ถ้าเดินทำเราคนไทยไม่เรียกวาเดินสมาธิ แต่เรียกว่าเดินจงกรม
ผมเองตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว นั่งสมาธิได้ไม่ดี ไม่เคยนั่งได้สมาธิลึกแม้แต่ครั้งเดียว คือถ้าไม่ฟุ้งก็ฟุบ ง่วงเป็นประจำ แม้จะแก้ด้วยหลาย ๆ วิธีแล้วก็ไม่หาย ตอนหลัง ๆ ผมเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินจงกรมก็รู้สึกว่าดีขึ้น เพราะแม้ว่าสมาธิที่เกิดขึ้นจะได้แค่แผ่ว ๆ แต่ประโยชน์ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ มันเหมาะกับการงาน ทั้งการงานทางโลกและการงานทางธรรมหรือทางจิตใจ
ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายสักนิด การงานทางโลกก็คือ เมื่อทำงานอย่างมีสมาธิ นั่นคือเมื่อความคิดนิ่งและความรู้สึกสงบ ขณะนั้นจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการงานทางธรรมหรือทางจิตใจนั้น เมื่อมีความคิด(thinking) หรือความรู้สึก (feeling) เกิดขึ้นในจิตใจ ให้มองเห็นความรู้สึกนึกคิดขณะนั้น ๆ ว่า มันจะชวนให้เราพูดหรือทำอะไร สิ่งนั้น ๆ ดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม หรือไม่ หรือถ้าปฏิบัติให้ลึกยิ่งขึ้น ก็ให้มองเห็นความจริงตามสภาพธรรมชาติของทุกความรู้สึกนึกคิดว่า มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ที่ภาษาพระเรียกว่า อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมาในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รุนแรง ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมันมาก ดูมันไปก่อน มันอาจจะเป็นของหลอกก็ได้ คือความอยากหรือกิเลสมาหลอกให้รู้สึกอย่างนั้นหรือคิดอย่างนั้น ถ้ารออีกสักหน่อย เมื่อมันเห็นเราไม่เชื่อมัน ไม่ทำตามที่มันชวน บ่อยครั้งมันจะขี้เกียจรอ-ขี้เกียจคะยั้นคะยอเรา อาจจะไปโดยไม่บอกลาก็ได้
ผมขอเปรียบเทียบอย่างนี้ สมาธิที่ใช้ทำงานทางโลกก็เหมือนคนถือมีดคมพร้อมใช้ทำงานฟันนั่นฟันนี่ ซึ่งก็ฟันได้ดีเพราะมันคม ส่วนสมาธิที่ใช้ทำงานทางธรรมนั้นต่างกัน คือ เหมือนเราแยกร่างออกมายืนอยู่ใกล้ ๆ, มองดูตัวเองกำลังถือมีดคม, และเรายังมีสติสามารถบอกให้คนที่ถือมีดนั้น พูดหรือทำ, หรือไม่พูด-ไม่ทำ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หรือถ้าจะปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่านั้นก็คือ ให้ปล่อยวาง เพราะไอ้คนที่กำลังถือมีดนั้น สักเดี๋ยวมันอาจจะหายแวบไปก็ได้ เพราะมันก็มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เหมือนกัน การเห็นความคิดจิตใจและไม่ยึดมั่น จะช่วยให้พูดหรือทำอะไรด้วยใจที่ว่างและไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อย นี่คือการใช้สมาธิทำงานทางธรรม ซึ่งถ้าทำเป็นก็ไม่ขัดกับการใช้สมาธิทำงานทางโลก
ตามคำสอนของครูบาอาจารย์ สมาธิจากการเดินจงกรมถ้าทำอย่างตั้งใจและต่อเนื่อง ผลก็ยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ผมเองมักทำอย่างไม่ตั้งใจและไม่ต่อเนื่อง ผลที่ได้จึงเล็กน้อย ไม่น่าภูมิใจและไม่กล้าพูดอวดเพื่อน
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ผมล้มป่วยเพราะโรคมะเร็งระบบเลือด มันแพร่ไปที่กระดูก ระยะแรกร่างกายอ่อนแอได้แต่นอนติดเตียง โชคดีได้หมอและยาช่วยทำให้ร่างกายฟื้นเร็ว แต่กระนั้นก็เคลื่อนร่างกายและแขนขาได้ช้าและยังโคลงเคลงอยู่บ้าง และแม้แต่จะพูดก็ช้าลง แต่นี่กลับเป็นโชค เพราะสมัยที่ร่างกายและปากเคลื่อนไหวได้ปรู๊ดปร๊าด บ่อยครั้งที่สติตามไม่ทันจึงพูดผิด-ทำผิดบ่อย ๆ บางเรื่องทุกวันนี้เมื่อนึกถึงก็ยังเสียใจ ในวันนี้เป็นคนไข้ไม่มีอะไรให้ทำมาก เมื่อใช้สติมองย้อนหลังก็เห็นอะไรชัดขึ้น และเมื่อมองไปข้างหน้าก็กะว่าจะนำอดีตมาสอนปัจจุบัน ส่วนอนาคตนั้นไม่แน่ ถ้ากรรมใจดีอาจจะให้มีชีวิตอยู่นานหน่อย แต่ถ้ากรรมเป็นครูตรวจข้อสอบแบบเข้ม อาจจะให้ตายเร็วหรือทุเลาช้า เรื่องนี้ก็ว่าใครไม่ได้ มันกรรมของเราเอง
การไม่สบายครั้งนี้ยังมีอีก 1 โชคที่ขอเล่า คือหมอสั่งว่าอยู่บ้านให้ออกกำลังกายทุกวัน คือทำท่าตามกายภาพบำบัดที่หมอแนะนำและเดินออกกำลังกาย โชคดีที่บ้านพี่สาวที่ผมพักฟื้นมันมันเรียวยาวคล้ายริบบิ้น มีทางยาวให้เดินออกกำลังกายทั้งในบ้านและลานต้นไม้หลังบ้าน ตอนแรก ๆ ผมก็เดินเฉย ๆ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ต่อมาจนถึงวันนี้ผมเสริมแรงให้เป็นการเดินจงกรมด้วย เมื่อเท้าซ้ายทาบพื้นก็นึกคำในใจว่า "พุท", เมื่อเท้าขวาทาบพื้นก็นึกคำในใจว่า "โธ" เดินไปกลับอย่างนี้ตลอดเวลา 60 นาที ใช้มือถือตั้งเวลาหมดโดยไม่ดูนาฬิกา ฝึกเดินอย่างนี้ได้หลายวันแล้ว ร่างกายดีขึ้น วางเท้าตอนเดินได้มั่นคงขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าแข็งแรงขึ้น
แต่ถ้าถามว่าด้านจิตใจล่ะมีอะไรต่างมั้ย? ผมยังตอบได้ไม่ชัดเจน แต่สามารถตอบได้ลาง ๆ ว่า ผมน่าจะมีสติมากขึ้น ตอนก้าวเท้าก็มีสติมากขึ้น ตอนใช้มือหยิบสิ่งของหรือทำงานเล็ก ๆ น้อยก็มีสติมากขึ้น สำหรับเรื่องพูดก็ยั้งใจมากขึ้นก่อนพูด และขณะกำลังพูดก็พยายามมีสติพูดให้ช้าลง-น้อยลง-หรือเงียบถ้าพูดไปก็ไร้ประโยชน์ นี่เป็นของดีที่ได้รับแต่ยังได้ไม่มาก เพราะยังฝึกน้อย
ถ้าผมไม่ลืม ผมจะพยายามปรับคำสอนของหลวงพ่อชามาใช้ในการฝึกเดินจงกรม คือขณะที่เดินให้นึกจินตนาการว่า เรากำลังเดินจงกรมอยู่คนเดียวในป่าที่โปร่ง โล่ง และเงียบสงบ โลกทั้งโลกหยุดนิ่ง สิ่งที่เคลื่อนไหวมีเพียงเท้าซ้าย-เท้าขวาของเราที่สัมผัสพื้นทีละก้าว เมื่อก้าวเท้าซ้ายสติทั้งหมดก็อยู่ที่เท้าซายเท้านี้ เมื่อก้าวเท้าขวาสติทั้งหมดก็อยู่ที่เท้าขวาเท้านี้ ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ที่ก้าว ๆ เดียว คือก้าวที่กำลังก้าว โลกหยุดนิ่ง, ชีวิตหยุดนิ่ง และเวลาก็หยุดนิ่ง ไม่มีอดีต-เมื่อวานนี้-หรือชาติที่แล้ว และก็ไม่มีอนาคต-พรุ่งนี้-หรือชาติหน้า แต่ถ้าสติลอยไหลไปที่อื่นไม่อยู่ที่เท้า ก็พยายามดึงมันกลับมา ไม่ต่อว่าตัวเองหรือเสียใจที่ไร้สติ แต่ยิ้มในใจและเดินต่อ
ผมตั้งใจว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะผนวกการเดินจงกรมเป็นกิจวัตรประจำวันของชีวิตที่ขาดไม่ได้ เป็นกิจกรรมออกกำลังกายและออกกำลังใจไปพร้อมกัน
【3】ประสบการณ์ในการสอบอังกฤษชิงทุนไปเมืองนอก กับการเดินจงกรม
เวลานี้ผมเป็นข้าราชการบำนาญรัฐเลี้ยงและไม่ต้องทำงานหาเงินแล้ว และก็ไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษเพื่อชิงทุนไปเมืองนอกอีกแล้ว แต่ผมขอเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การฟังภาษาอังกฤษ หรือ Listening ซึ่งแม้ไม่ใช่แต่มันก็คล้าย ๆ กับการเตรียมตัวไปสอบ Listening เพื่อชิงทุนไปเมืองนอกตอนที่ยังทำงาน
ก็คือว่า งานประจำชิ้นที่ 2 ที่ผมทำมากว่า 10 ปีแล้ว คือเขียนบทความและหาเรื่องสอนภาษาอังกฤษลงเว็บยังไม่เลิก(และก็ไม่คิดจะเลิกถ้าร่างกายอำนวย) และแทบทุกวันการอ่านและฟังภาษาอังกฤษจึงเป็น " a must " ของผม เพราะถ้าไม่อ่าน-ไม่ฟัง ก็ไม่มีเรื่องดี ๆ มาเสนอท่านผู้อ่าน ผมสังเกตว่า หลังจากฝึกเดินจงกรมวันละ 1 ชั่วโมงมาได้หลายวัน ผมมีสมาธิมากขึ้นในการอ่านและฟังภาษาอังกฤษ คือขณะที่อ่านจิตใจของผมสามารถจดจ่อได้มากขึ้นกับ 1 ประโยคที่กำลังอ่าน ซึ่งช่วยให้อ่านได้รู้เรื่องมากขึ้น-เร็วขึ้น ภาวะนี้เป็นได้โดยไม่ต้องออกแรงบังคับตัวเอง
แต่ที่น่าพอใจมาก ๆ ก็คือการฟังหรือ Listening ผมมีสมาธิมากขึ้นกับประโยคที่กำลังฟัง ซึ่งก็แน่นอน ช่วยให้ผมฟังได้รู้เรื่องมากขึ้น และที่น่าพอใจมากไปกว่านี้ก็คือ ช่วยให้จับได้มากขึ้นว่าตรงไหนที่ฟังไม่รู้เรื่อง ก่อนหน้านี้ตอนฟังไม่รู้เรื่องก็มักไม่รู้เรื่องทั้งหมด ซึ่งไม่จริง เพราะทั้งท่อนหลายประโยคที่ไม่รู้เรื่องนั้น มันมีบางประโยคที่ฟังรู้เรื่อง แต่เมื่อสมาธิคลอนแคลน จึงพาลให้ฟังไม่รู้เรื่องแทบจะทุกประโยค
สิ่งที่ผมเล่านี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะมันคือ 1 ใน 4 ข้อของอิทธิบาทสี่ที่พระพุทธเจ้าสอน คือ (1)ฉันทะ - รักในงานที่ "กำลัง" ทำ (2) วิริยะ - ขยันและอดทนในงานที่ "กำลัง" ทำ (3) จิตตะ - มีสมาธิในงานที่ "กำลัง" ทำ และ (4) วิมังสา - ใช้ปัญญามองให้รอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขงานที่ "กำลัง" ทำ
ทั้งสี่ข้อนี้ผู้หวังความสำเร็จต้องมีครบ แต่ที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดก็เพราะดูเหมือนว่าเรื่องสมาธิในการฝึกให้เก่งอังกฤษมีคนสนใจน้อยมาก แทบทุกคนเมื่อถูกถามจะตอบว่าชอบอังกฤษ(มีฉันทะ), แต่ชอบแล้วก็ต้องขยันด้วย(มีวิริยะ), เมื่อขยันก็ต้องขยันอย่างคนฉลาด(มีวิมังสา), แต่เท่าที่ผมสังเกต โรคสมาธิจางในการเรียนอังกฤษคนไทยเป็นกันมากทั้งผู้ใหญ่และเด็ก(ไม่มีจิตตะ) อิทธิบาทที่ใช้งานได้นั้นเหมือนโต๊ะที่มีครบ 4 ขา เมื่อขาที่สามคือสมาธิหักหรือโยกก็ต้องซ่อมให้แข็งแรง .... แข็งแรงให้เท่า ๆ กับอีก 3 ขา
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
ฝึกอ่าน simple sentence เป็นประจำช่วยให้พูดอังกฤษเก่งขึ้น (ขอยืนยัน)
ภาษาอังกฤษ มีประโยคพื้นฐานอยู่ 4 ชนิด
[1] Simple Sentence คือ ประโยคความเดียว
- เช่น Somsak reads Thai Rath. (สมศักดิ์อ่านไทยรัฐ)
[2] Compound Sentence คือ ประโยคความรวม
- เช่น Somsak reads Thai Rath, but John reads Bangkok Post. (สมศักดิ์อ่านไทยรัฐ แต่จอห์นอ่านบางกอกโพสต์)
[3] Complex Sentence คือ ประโยคความซ้อน
- เช่น Somsak who is John's friend reads Thai Rath. (สมศักดิ์ผู้เป็นเพื่อนของจอห์นอ่านไทยรัฐ)
[4] Compound-Complex Sentence คือ ประโยคความผสม
- เช่น John who is Somsak's friend, and Mark who is my friend, read Bangkok Post because they cannot read Thai language. (จอห์นผู้เป็นเพื่อนของสมศักดิ์ และมาร์กผู้เป็นเพื่อนของฉัน อ่านบางกอกโพสต์ เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถอ่านภาษาไทย)
จากตัวอย่างข้างบนนี้ เห็นได้ชัดว่า ข้อ [1] Simple Sentence หรือ ประโยคความเดียว อ่านง่ายที่สุด ส่วนประโยคชนิดอื่นตามข้อ [2], [3], และ [4] จะซับซ้อนขึ้นตามลำดับ ยิ่งถ้ามีส่วนขยายเยอะ ๆ เต็มไปหมด (เช่น บทความข่าวในเว็บหนังสือพิมพ์) บางทีอ่านแทบไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอะไรขยายอะไร
สำหรับตำราที่โรงเรียนจัดให้คนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษฝึกอ่าน มักเน้น simple sentence และเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้นก็จะเพิ่มประโยคชนิดที่ [2], [3], และ [4] มากขึ้นตามลำดับ
คนที่อ่าน Simple Sentence หรือ ประโยคความเดียว ได้คล่องแคล่วชำนาญ ก็จะอ่านประโยคความรวม, ประโยคความซ้อน, และ ประโยคความผสม เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันก็ต่อยอดมาจากประโยคความเดียวนั่นแหละ
นั่นคือเรื่องของการอ่าน
และเรื่องของการพูด มันก็ทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราคนไทย ตอนแรกก็พูดง่าย ๆ เป็นประโยคความเดียวก่อน เมื่อฝึกพูดไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถพูดได้ยาวขึ้น ซับซ้อนขึ้น เช่น มี ...และ..., ... หรือ..., ....แต่..., ...เพราะว่า...., ...ที่...., ...ซึ่ง..., ...อัน.... เพิ่มเข้าไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องผ่านการฝึกอ่านทุกวัน เหมือนที่เขาพูดว่า Practice makes perfect. เพราะว่าทักษะนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือแค่เข้าใจทฤษฎี แต่ต้องผ่านการฝึก... ฝึก... และฝึก.... ฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน !!!
แต่จะอ่านอะไรล่ะ ?
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมได้แนะนำลิงก์อ่านภาษาอังกฤษง่าย ๆ ซึ่งเป็น ข่าว, story และ บทความ
ที่นี่ ==> https://tinyurl.com/yybhp74x
แต่ดูแล้วมันก็อาจจะยากเกินไปหน่อยสำหรับคนที่พื้นไม่แข็งแรง ผมจึงขอเสนอเนื้อหาที่มันมีแต่ Simple Sentence หรือประโยคความเดียว ล้วน ๆ หรือเยอะ ๆ ๆ ๆ ไม่ต้องมีประโยคประเภทอื่นที่ยากปะปน(มากนัก) โดยผมเชื่อว่า ประโยคพวกนี้ถ้าท่านคุ้นเคยกับมันจนสนิทสนม มันจะช่วยให้ท่านพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมากขึ้นแน่ ๆ
ไปที่นี่ครับ
【1】ฝึกอ่านประโยคความเดียว ซึ่งมีอยู่ 5 แบบย่อย (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติม)
==> http://www.manythings.org/rs/
【2】Story เกือบ 2,000 เรื่อง
==> https://tinyurl.com/yxwucogf
【3】ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลา 240 เล่ม
เริ่มที่ระดับ Easystarts หรือ Level 1 หรือ 2
==> https://tinyurl.com/hnn8r8y
หน้าที่ของผมในการแนะนำคงจะหมดแค่นี้ ต่อจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านแหละครับที่ต้องฝึก... ฝึก... และฝึก.... ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ
แถม คลิป บทสนทนาภาษาอังกฤษ ที่ (ส่วนใหญ่) เป็น simple sentence :
【1】==> https://www.youtube.com/watch?v=zVH_F8cqxLU
【2】==> ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับ Very Short Conversations | Easy English Conversation Practice
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
Tip ในการพูดภาษาอังกฤษ แต่นึกศัพท์ไม่ออก
ทุกวันนี้ มีหลายเว็บไทย สอนคำศัพท์ วลี สำนวน ประโยค ฯลฯ ภาษาอังกฤษพร้อมบอกคำแปลที่ผู้เรียนสามารถจดจำนำไปใช้พูดได้ทันที ซึ่งมีประโยชน์มาก และคุณครูที่ทำคลิปอธิบายเรื่องนี้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นอาจารย์อดัม แบรดชอว์ ซึ่งน่าขอบคุณมาก ๆ เพราะท่านอธิบายง่าย ๆ ให้ตัวอย่างชัดเจน และฝึกออกเสียงหรือพูดตามได้ทันที ยิ่งฝึกและจำได้มากเท่าไหร่ก็มีประโยชน์มากเท่านั้น เพราะสำนวนที่ท่านสอนนั้นฝรั่งเขาใช้พูดกันจริง ๆ บางสำนวนภาษาอังกฤษและไทยไปด้วยกันได้ คือเห็นภาษาอังกฤษก็พอเดาไปถึงภาษาไทยได้ แต่บางสำนวนอาจารย์ก็จะหาหรือให้ประโยคง่าย ๆ หลาย ๆ ประะโยค ให้ผู้เรียนจดจำไปใช้พูด ผมเชื่อว่า ถ้าท่านสามารถนำสำนวนพวกนี้ไปพูดได้มากเท่าไหร่ ฝรั่งก็จะรู้สึกทึ่งท่านมากเท่านั้น คือทึ่งว่าท่านพูดอังกฤษเก่ง
==> https://tinyurl.com/y2cg83k4
==> https://tinyurl.com/yy5qp7p8
==> https://tinyurl.com/y25po9ma
แต่คำถามที่ผมนึกได้ตอนนี้ก็คือ ถ้าเมื่อถึงเวลาพูดแต่นึกไม่ออกล่ะ จะทำยังไง ? เราจะพูดอะไรออกไปเพื่อใช้สื่อข้อความตามสำนวนที่เราจำไม่ได้
ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวสักนิดนะครับในการแก้ปัญหานี้
【ข้อที่ 1】 - ท่านไม่ต้องกังวลมากมายเกินไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพูดอย่าง " ไม่เป็นทางการ " หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องเคร่งพิธีรีตอง เพราะว่านอกจากคำพูดที่เราพูดออกไป คนฟังยังสามารถเข้าใจเนื้อหาที่พูดคุยผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงของเรา หรือวัตถุ อุปกรณ์ สิ่งของ ตรงนั้น ก็ช่วยให้คนฟังเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องฟังเราพูด 100 % จึงเข้าใจ
【ข้อที่ 2】- มีวิธีที่พอจะช่วยให้พูดได้ไม่จนแต้มเรื่องคำศัพท์
- ใช้ศัพท์ทั่วไป แทนศัพท์ยากหรือศัพท์ที่เจาะจงใช้ศัพท์สั้น ๆ แทนศัพท์ยาว
- สรุปเรื่องที่ยืดยาวซับซ้อนที่จะเล่า ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ, ตัดรายละเอียดทิ้งไปก่อน, เรียงลำดับก่อน-หลัง ให้เหมาะ, แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ ให้เขาฟัง
【ข้อที่ 3】 - ศัพท์สั้น ๆ พวกนี้ ใช้พูดได้ง่าย ๆ แทนคำบอกเล่ายาว ๆ ช่วยให้ไม่ต้องพูดมาก
- - this, these, that, those
- - ใช้เรียกสิ่งนี้ สิ่งนั้น แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องพูดยาว ๆ ว่า thing หรือ object
- - ใช้คำสั้น ๆ คือ now (ตอนนี้), then (ตอนนั้น) ระบุถึงกาลเวลาแบบรวม ๆ ในปัจจุบันหรืออนาคต
- - ส่วนคำที่ระบุสถานที่ ก็ใช้ here (ที่นี่) หรือ there (ที่นั่น)
【ข้อที่ 4】 - แยกคำศัพท์ หรือกลุ่มคำศัพท์ ที่ราจะพูด ออกเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่ง 3 กลุ่มใหญ่แรก ก็คือ
- คำนาม หรือกลุ่มคำนาม (noun)
- คำกริยา หรือกลุ่มคำกริยา (verb)
- คำคุณศัพท์ หรือ กลุ่มคำคุณศัพท์ (adjective)
- คำกริยาวิเศษณ์ หรือกลุ่มคำกริยาวิเศษณ์ (adverb)
【ข้อที่ 5】 - ทำไมต้องแบ่งประโยคเป็นส่วน ๆ และวิธีง่าย ๆ ในการแบ่ง
ถ้าข้อความที่จะพูดมันเป็นศัพท์หรือวลีสั้น ๆ ที่เรารู้จักอยู่แล้ว เราก็พูดออกไปได้เลย แต่ถ้ามันเป็นข้อความยาว ๆ หรือซับซ้อน ต้องใช้ประโยคยาว ๆ หรือหลายประโยคอธิบาย บางทีเราก็งงว่า จะพูดยังไงดีนะให้เขาเข้าใจได้ง่าย ๆ
ขอให้ท่านสังเกตอย่างนี้ครับ แม้ข้อความที่จะพูดนั้นยาว แต่โดยพื้นฐานแล้ว แต่ละประโยคที่จะพูด มันก็คือ ประธาน + กริยา + กรรม แต่ความลำบากก็คือ เพราะมีส่วนขยายหรือเรื่องต้องบอกเยอะ ทั้งประธาน / กริยา / กรรม จึงมักเป็นกลุ่มคำ บางทีมากกว่า 10 คำ หน้าที่ของเราก็คือ หาคำสั้น ๆ มาใช้พูดแทน noun, verb, adjective หรือ adverb ที่ทำหน้าที่เป็น subject (ประธาน), verb (กริยา) หรือ object (กรรม)
หลักที่ผมขอแนะนำก็คือ " สรุปเรื่องที่ยืดยาวซับซ้อนที่จะเล่า ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ, ตัดรายละเอียดทิ้งไปก่อน, เรียงลำดับก่อน-หลัง ให้เหมาะ, แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ ให้เขาฟัง " โดยหาภาษาอังกฤษสั้น ๆ ง่าย ๆ มาเล่าเรื่องที่ยาว ๆ
แต่จะเล่ายังไงล่ะ ? จริง ๆ ก็เล่าได้หลายแบบตามถนัดของแต่ละคน โดยอาจจะใช้แค่ 3 - 4 ประโยคก็พอ แต่การจะทำได้อย่างนี้ต้องใช้ความสามารถส่วนตัวในการสรุปความ, จับประเด็นสำคัญ, และเรียงลำดับการพูดก่อน-หลังให้เหมาะสม เป็นทักษะที่ต้องฝึกอยู่เหมือนกัน, พอทำได้แล้วจึงค่อยแปลมันเป็นภาษาอังกฤษ
【ข้อที่ 6】 : สะสม / จดจำ คำศัพท์พื้นฐาน ที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือ antonym เช่น ที่นี่
- adjective ความหมายตรงกันข้าม 40 คู่ พร้อมคำแปลไทย
- "คำตรงข้าม" 300 คู่ ตั้งแต่ A-Z พร้อมคำแปลไทย
- 550 คู่ คำศัพท์ ความหมายตรงกันข้าม
ศัพท์ใน list พวกนี้ หลายคู่น่าสนใจและมีประโยชน์มาก ๆ เพราะเรานำมาใช้พูดได้หลายกรณี
ยกตัวอย่างคำ adjective ที่ใช้บอกคุณลักษณะของคำนาม (noun) ซึ่งเป็น คน-สัตว์-สิ่งของ-เรื่องราว ฯลฯ
- บอกอารมณ์/ความรู้สึก : happy - sad สุข - เศร้า
- บอกเรื่องราว/กรณี/ ฯลฯ : hard, difficult - easy ยาก - ง่าย
- บอกผิด/ถูก : right - wrong ผิด - ถูก
- บอกขนาด : big - small ใหญ่ - เล็ก
- บอกระยะทาง : near - far ใกล้ - ไกล
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เราจะพูดว่าเขารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น รู้สึกในด้านบวก ก็อาจจะมีคำพวกนี้ผุดขึ้นในใจมากมาย (เช่น ยินดี, เป็นสุข, สุขใจ, สบายใจ, เบิกบาน, เริงร่า, ระรื่น, สำราญใจ, ปีติ, ชื่นชม ฯลฯ) หรือเป็นคำในเนื้อข่าว เราไม่ต้องไปเปิดดิกหรือคิดมาก พูดคำง่าย ๆ ออกไปเลยว่า happy ก็ใช้ได้
หรือคำที่เป็นความรู้สึกในด้านลบ เช่น เสียใจ, ระทด, รันทด, ตรอมใจ, โทมนัส, ระทวย, อับเฉา, เจ้าทุกข์, เศร้าใจ, โศกเศร้า, ไม่ผ่องใส, น่าหดหู่, เศร้าซึม ฯลฯ เราใช้คำว่า sad พูดออกไปเลยก็ได้
หรือคำที่บอกเรื่องราว/กรณี ว่า ยาก, ลำบาก, กร้าว, ขัดสน, มีอุปสรรค, ยากเข็ญ, หรือ ยุ่งยาก เราก็บอกไปเลยว่า มัน difficult และคำนี้สามารถใช้บอกทั้งเรื่องราวที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และที่เป็นนามธรรมความรู้สึกจับต้องไม่ได้
หรือคำกริยา (verb) ก็ในทำนองเดียวกัน เช่น คำว่า ก้าวหน้า, เกิดขึ้น, ขยาย, ขึ้น, งอกขึ้น, งอกงาม, งอกเงย, เจริญ, เจริญงอกงาม, เจริญวัย, เติบโต, เติบใหญ่, ทวี, แผ่ขยาย, พัฒนา, เพิ่ม, เพิ่มพูน ฯลฯ เราถนัดหรือชอบคำใดง่าย ๆ ที่รู้จักอยู่แล้ว ก็หยิบมาใช้ได้เลย เช่น increase หรือ grow ไม่ต้องไปคิดมากว่า มันจะตรงกับความหมายนั้นเด๊ะ ๆ หรือเปล่า คือถ้าสามารถสื่อไปในแนวนั้นได้ ก็ใช้ได้
หรือคำนาม (noun) ทั่วไปที่มีคำแปลให้เลือกหลาย ๆ คำ เช่น สิ่ง, สิ่งของ, ข้อเท็จจริง, เนื้อความ, เรื่อง, เรื่องราวเหตุการณ์, วัตถุ, วัสดุ เราใช้คำว่า thing หรือ เมื่อพูดไปเรื่อย ๆ ก็ใช้สรรพนาม it เรียกมันก็ได้
แต่ noun ที่มีปัญหาคือบางตัวที่ความหมายเจาะจง เช่น สนามบิน คือคำว่า airport (และคำอื่น ๆ เช่น landing field, airfield, aerodrome, airdrome ) ถ้าเราไม่รู้จัก นึกไม่ออก หรือลืมไปแล้ว และะในระหว่างพูดจะต้องมีคำนี้ เราจะทำยังไง ? เช่น He will go to meet her at the airport tomorrow.
ปัญหานี้แก้ได้ยากอยู่เหมือนกัน ก็ต้องถูไถขยับขยายกันไปตามหน้างาน เช่น ก็พูดคำว่า สุวรรณภูมิ ออกไป ให้เขาเดาเอาเองว่า เราหมายถึงสนามบินแห่งนั้น
หรือบางทีการพูดทับศัพท์ออกไปเลยก็อาจจะพอใช้ได้ แต่เราต้องเสริมด้วยคำง่าย ๆ อีกสักหน่อย อย่างเช่น ขณะกำลังนั่งกินกันที่โต๊ะอาหาร และมีแกงไตปลาของทางใต้ เราก็บอกไปเลยว่า " This is แกงไตปลา " เราไม่ต้องนึกให้เหนื่อยหรอกว่า แกงนี่ภาษาอังกฤษว่ายังไง ไตล่ะ ปลานี่ก็ fish แล้ว แกงไตปลา นี่มัน fish อะไรนะ เราใส่ไปง่าย ๆ เลยว่า This is hot, very hot, from south of Thailand, it's from fish. การพูดถูไถอย่างนี้แล้วแต่ลูกเล่นของใครของมันครับ แต่ก็อย่างที่ผมพูดแล้ว เมื่อบวกกับการใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และสิ่งของประกอบในที่นั้น การพูดคุยก็ทำได้แทบทุกเรื่อง
【ข้อที่ 7】 ทำ " คำศัพท์ที่ฉันต้องรู้ "
แต่ถึงยังไง ถ้าเข้าที่คับขันจริง ๆ ลูกเล่นพวกนี้ก็ไม่พอใช้งานหรอกครับ ผมคิดดูแล้ว ถ้าเราต้องการพูดได้อย่างพัฒนา เราหนี " การบ้าน " ไม่พ้นหรอกครับ ซึ่งก็คือ การสำรวจศัพท์หมวดที่เราควรรู้ เพราะมันต้องใช้ แต่เพื่อไม่ให้งานหนักเกิน ก็ให้เข้าไปไล่คำพวกนั้นและดึงจดใส่สมุดโน้ตส่วนตัว " คำศัพท์ที่ฉันต้องรู้ "
เรื่องของเรื่องก็คือ ศัพท์หมวดที่แต่ละคนต้องใช้ และคำในหมวดนั้น ๆ นี่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องหาเอาเอง
การ Search ก็ไม่ยาก (ถ้ามันมีอยู่ในเน็ตให้อ่าน ฟรี ) เพียงพิมพ์คำค้นทำนองนี้ เช่น
- ศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับคนขายของที่ระลึก
- ศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับคนขับรถรับจ้าง
- ศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานเสิร์ฟอาหาร
- ศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการขายกาแฟ
- ศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาชีพ
ข้อสังเกตของผมก็คือ คำศัพท์, วลี หรือประโยคสนทนาพวกนี้ ยิ่งเป็นเรื่องเจาะจงมากเท่าไหร่ ในเน็ตยิ่งมีน้อยหรือหายากมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะต้องไปหาจากหมวดใกล้เคียง และดึงมารวบรวมเพื่อทำเป็น list ของตัวเอง
และผมไปเจอลิงก์ข้างล่างนี้ มีคำศัพท์อังกฤษแปลไทยหลายหมวด นำมาฝาเผื่อท่านจะใช้ได้บ้าง
- ศัพท์ ๔๘ หมวด รวบรวมจากดิกชันนารี สอ เสถบุตร
- https://th.speaklanguages.com/อังกฤษ/คำศัพท์
- https://teen.mthai.com/education/107084.html
- รวมศัพท์หมวดที่น่าสนใจมากมายที่นี่ (เว็บภาษาอังกฤษ)
สรุปก็คือ การบ้านชิ้นนี้ต้องทำ หรือรวบรวมคำศัพท์ อังกฤษ - ไทย ที่คิดว่าตนเองมีโอกาสใช้พูดเรื่อย ๆ และถ้าจะให้วิเศษ ควรแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ คำกริยา - verb, คำคุณศัพท์หรือคำขยาย - adjective และคำนาม - noun การแยกเช่นนี้ช่วยให้เรามองเห็นล่วงหน้าคร่าว ๆ ว่า เราจะพูดอะไรในสถานการณ์ไหน เช่น เมื่อเราจะรวบรวมคำกริยา เราก็ต้องนึกภาพก่อน เช่น (1) เราพูดกับใคร (2)พูดเรื่องอะไร (3)พูดที่ไหน เป็นต้น
【ข้อที่ 8】 ยกตัวอย่างง่าย ๆ ขึ้นมาประกอบการสื่อความ
เรื่องนี้พูดง่ายแต่อาจจะทำยากนิดหน่อย เพราะต้องแปลไทยเป็นไทยและใช้จินตนาการอยู่บ้าง เช่น คำศัพท์หรือวลีข้างล่างนี้ ถ้าต้องพูดแบบไม่เป็นทางการกับเพื่อน ท่านจะสื่อความยังไง (ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างของ อ.อดัม)
พูดถึงการกระทำ หรือพฤติกรรม ซึ่งเป็น verb เช่น
- ตบหัวแล้วลูบหลัง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
- ทวงบุญคุณ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
- ทำใจ ตัดใจ หักห้ามใจ ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร
- ติเพื่อก่อ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
พูดถึงลักษณะ ซึ่งเป็น adjective เช่น
- ขี้เก๊ก ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
- ปอดแหก ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
- ใจสปอร์ต ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
- ถ่ายรูปขึ้นกล้อง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
เป็น noun ซึ่งก็คือ คำที่เป็น คน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งรวมถึงนามธรรมสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น
- เด็กเส้น ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
----
จากที่พูดมาทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า ถ้ามองในแง่ร้าย การพูดออกไปโดยไม่กลัวผิดทั้ง ๆ ที่พื้นไม่แน่น อ่อนทั้งเรื่องศัพท์-การผูกประโยค-การออกเสียง-ฯลฯ แต่ใช้วิธีโยงซ้ายมาแปะขวา โยงหน้ามาแปะหลัง ดึงข้างบนลงมาอุดข้างล่าง ดึงข้างล่างขึ้นไปอุดข้างบน และก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ แบบครูดพื้นไปตลอดทาง การพูดจริง ๆ แบบไม่เป็นทางการ หรือการฝึกพูดแบบนี้ น่าจะไม่ค่อยเข้าท่า
แต่ผมขอยืนยันว่า วิธีฝึกพูดแบบนี้แหละครับที่เข้าท่าที่สุด ได้ผลที่สุด เพราะเป็นการฝึกจริง ใช้งานจริง เรียนรู้จากของจริง เจอ " ปัญหา " และ " ความผิดพลาด " ที่ตัวเองทำจริง ๆ และจะมีโอกาสแก้ไขหรือปรับปรุงได้เร็วที่สุด
คราวนี้มาถึงเรื่องสุดท้าย คือการลองฝึกพูด ซึ่งผมขอเสนอบทเรียน จากคลิปเรื่อง " ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร " โดย อาจารย์อดัม แบรดชอว์
==> คลิป " ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร "
เมื่อเข้าไปแล้วท่านจะเห็นคำถามลิงก์ละ 1 ข้อ (ตอนนี้อย่าเพิ่งคลิก) ให้ท่านนึกว่า ท่านกำลังนั่งคุย หรือนั่งกินอาการ หรือเดินทาง หรืออยู่ในห้องประชุมก็ได้ แต่มีบรรยากาศแบบไม่เป็นทางการ และอาจจะมีคนอื่นร่วมกลุ่มอยู่ด้วย ในขณะคุยกันนั้น มันมีเรื่องที่ท่านต้องพูดคำนี้ออกมา ถ้าท่านนึกออกก็พูดออกมาเลย แต่ถ้าท่านนึกไม่ออก ก็ให้พยายามพูดยังไงก็ได้ให้สื่อความหมายของศัพท์หรือวลีนี้ออกมาให้ได้ โดยใช้ " ทฤษฎี " ที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น ซึ่งสรุปง่าย ๆ ก็มีแค่ 3 ข้อ คือ [1] แปลไทยเป็นไทย คือ ทำให้เป็นภาษาไทยที่สั้น ง่าย แต่ถ้าต้องพูดเสริมยาว ๆ เรื่อยเปื่อยออกไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีก ถ้ามันช่วยให้สื่อความได้ [2] แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยถ้านึกศัพท์เจาะจงของมันไม่ออก ก็ใช้ศัพท์ทั่วไป [3] ใช้วิธียกตัวอย่างง่าย ๆ
ยกตัวอย่าง
[1] มีพิรุธ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
http://www.ajarnadam.tv/blog/Shady-Dodgy-Gutted
สมมุติว่า ประโยคทีผุดขึ้นมาในใจที่ท่านจะพูด คือ " เขามีพิรุธ " ให้ท่านนึกถึงคนจริง ๆ หรือสถานการณ์จริง ๆ มันอาจจะออกมาง่าย ๆ ทำนองนี้
" Yesterday he said that. But today he says this. It's different. It's strange.
หรือ " She said she was ok. But she looks sad. She must have something. "
[2] ตบหัวแล้วลูบหลัง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
สำนวนนี้ มักใช้ในเวลาที่บุคคลหนึ่งโดนทำร้าย ต่อว่าหรือทำโทษอย่างรุนแรงในตอนแรก แต่ในเวลาต่อมาผู้ทำโทษก็เข้ามาปลอบใจ ให้กำลังใจ หรือขอโทษในภายหลัง
ในภาษาอังกฤษก็มีศัพท์หรือวลีที่เทียบความหมายกันได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักล่ะ เราจะสื่อความหมายยังไงดี ?
อย่างเช่นเราจะเล่าข่าวชิ้นหนึ่งว่า " นายสมชายซึ่งเป็นเจ้านายด่านายสมศักดิ์ซึ่งเป็นลูกน้องกลางที่ประชุม หลังจากนั้นเรียกเข้าไปที่ห้องทำงานส่วนตัวและชมว่าคุณทำดีที่สุดแล้ว อย่างนี้มันตบหัวแล้วลูบหลังชัด ๆ " เฉพาะวลี " อย่างนี้มันตบหัวแล้วลูบหลังชัด ๆ " ท่านจะพูดยังไง ถ้าท่านนึกวลีภาษาอังกฤษไม่ออก
อันที่จริงก็มีหลายวิธีที่จะสื่อ อย่างเช่น หลังจากเล่าเรื่องแล้วท่านอาจจะสรุปว่า
- For Thai people, we say this is " ตบหัวแล้วลูบหลัง " (คือทับศัพท์หรือทับวลีไปเลย)
- It's like this. (แล้วก็ออกท่าทาง โดยเอาฝ่ามือตบหัวตัวเอง แล้วพูด " You are very bad. "
- And afterward you told him " I know you are a good worker. " หรือ " I know you are good . " (พูดพร้อมออกท่าทาง เอาฝ่ามือลูบหลังเพื่อนที่นั่งใกล้ ๆ )
[3] เจ้ากี้เจ้าการ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
มีวิธีที่อดีตหัวหน้าในที่ทำงานของผมใช้บ่อย ๆ เวลาที่พูดภาษาอังกฤษ คือเวลาที่แกนึกไม่ออกว่าจะอธิบายยังไงดี แกจะยกตัวอย่างโดยพูดว่า For example แทบทุกครั้ง และบ่อย ๆ ก็ตามด้วยการยกคำพูดผ่านปากของตัวละคร อย่างเช่น จะพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งว่าเป็นคน เจ้ากี้เจ้าการ ชอบบังคับหรือสั่งงานคนอื่น แกก็จะพูดออกมาในทำนองนี้
- For example, Mr. A .
- He is just my friend.
- But in the office, he tells me to do this, to do that all the time.
- I don't like it.
- He is เจ้ากี้เจ้าการ.
ผมขอยกตัวอย่างแค่นี้แล้วกันครับ แต่อยากขอให้ท่านลองเข้าไปฝึกกับวลีของอาจารย์อดัม โดยลองนึกพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วก็คลิกเข้าไปดูคลิปที่ อ. อดัมอธิบาย
==> https://tinyurl.com/y5n2dx2k
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
More Articles...
- ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา # 1
- ดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บ e4thai ได้แล้วครับ ( 8 กุมภาพันธ์ 2562
- ฝึกแปลศัพท์ ไทย --> อังกฤษ เพื่อเป็นต้นทุนในการพูดและเขียน
- สั่งสอนตัวเองด้วยภาพเมื่อวัยยังแข็งแรง
- ฝึกให้เก่งอังกฤษเหมือนกินยาขม ไม่กินก็ไม่เก่ง
- ปีนถึงแน่ ๆ แม้จะเป็น The Great Hill
- วิธีง่าย ๆ หา eBook ฟรีจากเน็ต และวิธีเริ่มใช้ไม่เก็บเงียบ
- ฝึกภาษาอังกฤษกับช่อง BBC YouTube ดีแน่ ๆ
- วิธีฝึกแปลศัพท์+แปลประโยคพื้นฐาน จากไทยเป็นอังกฤษ เพื่อใช้พูดจริง ๆ
- อาการล่าสุดของโรคมะเร็งกระดูกในระบบเลือดของผม (22 มกราคม 2562)
- อาการล่าสุดของโรคมะเร็งกระดูกในระบบเลือดของผม (22 มกราคม 2562)
- ฝึก reading skill ด้วยการอ่าน world news จากหลาย ๆ สำนักข่าว
- พระมาโปรดถึงห้องนอน
- รายงานผลครับ ( 11 มกราคม 2562 )
- วันนี้อาการผมดีขึ้นมาก
- อัพเดทอาการเจ็บป่วยของพี่ตุ่น(พิพัฒน์)-3
- สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๒ ครับ พิพัฒน์
- The Nation อ่านง่ายกว่า Bangkok Post
- ขอเวลาแก้ปัญหาดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บ e4thai ไม่ได้
- ทรมานบรรยาย : ความเจ็บของคนเป็นมะเร็ง