Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Stoicism : ศิลปะการใช้ชีวิตที่เป็นสุขอย่าง "ไร้อารมณ์"

 stoic cover

           เทคโนโลยีในโลกนี้มี 2 อย่าง คือ เทคโนโลยีทางวัตถุซึ่งก้าวหน้ามากขึ้นทุกวันไม่สิ้นสุด และเทคโนโลยีทางจิตใจ ซึ่งในสายตาของคนพุทธอย่างผม ถึงจุดสูงสุดกว่า 2,600 ปีมาแล้วตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อตรัสรู้ และธรรมะของท่านที่เผยแผ่ผ่านพระสงฆ์ก็ช่วยให้ผู้คนและสังคมเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขมาตั้งแต่นั้น ในทุกที่ที่พุทธธรรมเข้าไปถึง
           เมืองไทยโชคดีที่มีพระสุปฏิบัติผู้รู้ธรรมจำนวนมาก ช่วยสอนธรรมแก่สังคม สิ่งที่ท่านสอนนั้นงามทั้งอรรถะ (เนื้อหา) - งามทั้งพยัญชนะ (ภาษา) และตั้งแต่ดั้งเดิมมาแล้ว เมืองไทยยังมีวัดหรือศูนย์ธรรมะต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยให้ผู้เข้ารับฝึกอบรมผ่านวิธีหรือ "พิธี" ที่นำเข้าสู่ธรรมะ และทุกวันนี้ก็มีอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมอีกมหาศาลที่ช่วยเรื่องนี้
          สรุปก็คือ เกิดเป็นคนไทย อยู่เมืองไทย ไม่มีใครขาดแคลนธรรมะ ถ้าไม่ปิดใจและะแสวงหา
         ผมเองชอบอ่านหนังสือธรรมะตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม และอ่านเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และอาจจะเป็นเพราะความภูมิใจและรู้สึกโชคดีว่าได้ "ของดี" แล้ว จึงมีความสนใจน้อยที่จะศึกษาหนังสือแนวจิตวิทยาพัฒนาชีวิตของฝรั่ง ซึ่งหลายเล่มโฆษณาว่าเป็น bestseller ที่ชี้แนวทางให้คนมีทั้งความสุข, เงิน, และชื่อเสียง สาเหตุที่ไม่ค่อยได้อ่านเพราะผมรู้สึกว่า แม้คำแนะนำของเขาจะดีอย่างที่เขาว่า (ผมไม่ค่อยได้อ่านจึงไม่แน่ใจว่ามันดีจริงหรือเปล่า) แต่ธรรมะที่ผมศึกษานั้นดีจริงแน่ ๆ และผมก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาแสวงหาเพิ่ม
         มาถึงวันนี้ที่ย่างเข้าวัยท้ายของชีวิต ผมสำนึกว่าทัศนะที่ยึดไว้ข้างต้นนั้นออกจะคับแคบ ! ทำไมจึงคับแคบ ขอขยายความดังนี้ครับ
        ธรรมะนั้นคือเนื้อหา แต่สิ่งที่จะทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจเนื้อหานั้น คือ (1)ภาษา (2)มุมมอง (3)คำอธิบาย และ (4) ประสบการณ์, ตัวอย่าง หรือ story ประกอบเนื้อหา
       ภาษา - ภาษาดีเหมือนมีดที่คม ผู้เผยแผ่ธรรมที่สามารถใช้ภาษาให้ผู้รับธรรมะเข้าใจและศรัทธานำธรรมะไปปฏิบัติ จึงเป็นบุคคลที่น่าเคารพชื่นชม
       มุมมอง - พระฝรั่งที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชานั้น แทบทุกท่านจบการศึกษาสูง ๆ, ผ่านประสบการณ์ทางโลกมามาก, อ่านหนังสือมาเยอะ ท่านเหล่านี้ "ยอม" รับหลวงพ่อชาเป็นอาจารย์อย่างหมดหัวใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนผู้อื่น มุมมองเดิม ๆ ที่เป็น "ตัวตน" ของท่านก็ไม่ได้หายไปไหน หลายมุมที่ท่านมองจึงต่างจากคำสอนของพระไทยที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน และบางมุมก็น่าฟังกว่าเยอะ
       คำอธิบาย - ย่อมสอดคล้องกับความสามารถทางภาษา และมุมมองของผู้สอน
       ประสบการณ์, ตัวอย่าง หรือ story ประกอบเนื้อหา - ของพวกนี้ไม่ใช่เรื่องของปริมาณ หรือยิ่งเยอะยิ่งดี แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ เหมือนหมอจ่ายยาถูกกับโรค แค่เม็ดเดียวก็บรรเทาได้ ไม่ต้องต้มกินทั้งหม้อนานเป็นเดือน ๆ
       สรุปก็คือ แม้เนื้อหาธรรมะจะเหมือนกัน แต่ถ้า (1)ภาษาที่ใช้ต่างกัน, (2)มุมมองต่างกัน, (3)การอธิบายต่างกัน, (4)ประสบการณ์, ตัวอย่าง หรือ story ที่นำมาเล่าต่างกัน - ถ้า 4 อย่างนี้มันถูก "จริต", ตรงกับ "ธาตุ", หรือ "สมพงศ์" กับผู้ฟังหรือผู้อ่านมากกว่า - เนื้อหาธรรมะก็เข้าสู่ใจของเขาได้มากกว่า
      ในระยะหลัง ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ผมได้อ่านหนังสือด้านจิตใจหรือจิตวิทยาของฝรั่งมากขึ้นกว่าเดิม จึงได้รู้สึกว่ามีเนื้อหาหลายอย่างหรือบางอย่างที่เหมือนหรือคล้ายกับคำสอนของพุทธ เช่นคำสอนเกี่ยวกับการทำงานให้สำเร็จก็คล้ายกับอิทธิบาท ๔, หรือคำสอนเกี่ยวกับการคิดบวกก็คล้ายกับการประยุกต์บางหัวข้อธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น มันเป็นพุทธโดยไม่ต้องปะยี่ห้อว่าเป็นพุทธ หรืออย่างน้อยมันก็ไม่ขัดกับคำสอนของพุทธ
      (แต่แน่นอนแหละครับ คล้ายก็คือคล้ายไม่ใช่เหมือน มีหลายเรื่องที่ผมเห็นว่า คำอธิบายของฝรั่งยังเข้าไปไม่ถึง เช่น สัจจะเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม, ชาตินี้-ชาติหน้า, การฝึกภาวนาแบบพุทธ เป็นต้น แต่เรื่องพวกนี้เรายังไม่ต้องพูดถึงก็ได้)
      เอาละครับ ขอเข้าเรื่องที่ตั้งใจจะพูด
      ผมไปเจอหนังสือเรื่องนี้
      ==> The Daily Stoic: 366 Meditations on Wisdom, Perseverance, and the Art of Living
          ซึ่งเขามีคำสอนของ  Stoicism  ให้อ่าน 1 วัน 1 เรื่อง ทั้งเล่ม 366 เรื่อง ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ขอเรียนตรง ๆ ครับ อ่านแล้วรู้สึกพอใจ  หลายข้อความเป็นคำสอนหรือคำแนะนำที่(ตัวเอง)นำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เมื่อปฏิบัติแล้วคงช่วยให้ชีวิตดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอเน้นว่า  หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีให้อ่านเพื่อเชื่อ แต่ให้อ่านเพื่อคิด บางแง่ที่เราเห็นแย้งอาจให้ประโยชน์เท่า ๆ กับแง่ที่เราเห็นด้วย
        ทั้ง 4 เรื่องที่ใช้ในการอธิบายเนื้อหาของ Stoicism ในหนังสือเล่มนี้ คือ (1)ภาษา (2)มุมมอง (3)คำอธิบาย และ (4) ประสบการณ์, ตัวอย่าง หรือ story ประกอบเนื้อหา อาจจะต่างจากคำสอนแบบพุทธ ๆ ที่เราคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่สำหรับผมเป็นความต่างที่น่าพิศมัยและมีเสน่ห์
         คำสอนของเขาสรุปสั้น ๆ ก็มี 3 ข้อข้างล่างนี้
stoic
stoic2 
         ท่านลองเข้าไปอ่านสัก 4 - 5 วันก็ได้ครับ ถ้ารู้สึกว่าเป็นคำสอนที่ ถูก "จริต", ตรงกับ "ธาตุ", หรือ "สมพงศ์" กับท่าน ก็ ==> คลิกที่นี่ เพื่ออ่านคำแนะนำ หลังจากนี้ถ้ายังติดใจก็อ่านต่อไปเรื่อย ๆ ท่านน่าจะได้อะไรเยอะทีเดียว ภาษาอังกฤษของหนังสือไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเกินไป
        ขออนุญาตแนะนำเพียงเท่านี้แล้วกันครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal   

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com