Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

Tip ในการพูดภาษาอังกฤษ แต่นึกศัพท์ไม่ออก

practice-make-perfect
       ทุกวันนี้ มีหลายเว็บไทย สอนคำศัพท์ วลี สำนวน ประโยค ฯลฯ ภาษาอังกฤษพร้อมบอกคำแปลที่ผู้เรียนสามารถจดจำนำไปใช้พูดได้ทันที ซึ่งมีประโยชน์มาก และคุณครูที่ทำคลิปอธิบายเรื่องนี้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นอาจารย์อดัม แบรดชอว์ ซึ่งน่าขอบคุณมาก ๆ เพราะท่านอธิบายง่าย ๆ ให้ตัวอย่างชัดเจน และฝึกออกเสียงหรือพูดตามได้ทันที ยิ่งฝึกและจำได้มากเท่าไหร่ก็มีประโยชน์มากเท่านั้น เพราะสำนวนที่ท่านสอนนั้นฝรั่งเขาใช้พูดกันจริง ๆ บางสำนวนภาษาอังกฤษและไทยไปด้วยกันได้ คือเห็นภาษาอังกฤษก็พอเดาไปถึงภาษาไทยได้ แต่บางสำนวนอาจารย์ก็จะหาหรือให้ประโยคง่าย ๆ หลาย ๆ ประะโยค ให้ผู้เรียนจดจำไปใช้พูด ผมเชื่อว่า ถ้าท่านสามารถนำสำนวนพวกนี้ไปพูดได้มากเท่าไหร่ ฝรั่งก็จะรู้สึกทึ่งท่านมากเท่านั้น คือทึ่งว่าท่านพูดอังกฤษเก่ง
==> https://tinyurl.com/y2cg83k4 
==> https://tinyurl.com/yy5qp7p8 
==> https://tinyurl.com/y25po9ma 
       แต่คำถามที่ผมนึกได้ตอนนี้ก็คือ ถ้าเมื่อถึงเวลาพูดแต่นึกไม่ออกล่ะ จะทำยังไง ? เราจะพูดอะไรออกไปเพื่อใช้สื่อข้อความตามสำนวนที่เราจำไม่ได้
       ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวสักนิดนะครับในการแก้ปัญหานี้
       【ข้อที่ 1】 - ท่านไม่ต้องกังวลมากมายเกินไป
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพูดอย่าง " ไม่เป็นทางการ " หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องเคร่งพิธีรีตอง เพราะว่านอกจากคำพูดที่เราพูดออกไป คนฟังยังสามารถเข้าใจเนื้อหาที่พูดคุยผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงของเรา หรือวัตถุ อุปกรณ์ สิ่งของ ตรงนั้น ก็ช่วยให้คนฟังเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องฟังเราพูด 100 % จึงเข้าใจ
        【ข้อที่ 2】- มีวิธีที่พอจะช่วยให้พูดได้ไม่จนแต้มเรื่องคำศัพท์

  • ใช้ศัพท์ทั่วไป แทนศัพท์ยากหรือศัพท์ที่เจาะจงใช้ศัพท์สั้น ๆ แทนศัพท์ยาว
  • สรุปเรื่องที่ยืดยาวซับซ้อนที่จะเล่า ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ, ตัดรายละเอียดทิ้งไปก่อน, เรียงลำดับก่อน-หลัง ให้เหมาะ, แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ ให้เขาฟัง

        【ข้อที่ 3】 - ศัพท์สั้น ๆ พวกนี้ ใช้พูดได้ง่าย ๆ แทนคำบอกเล่ายาว ๆ ช่วยให้ไม่ต้องพูดมาก

  • - this, these, that, those
  • - ใช้เรียกสิ่งนี้ สิ่งนั้น แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องพูดยาว ๆ ว่า thing หรือ object
  • - ใช้คำสั้น ๆ คือ now (ตอนนี้), then (ตอนนั้น) ระบุถึงกาลเวลาแบบรวม ๆ ในปัจจุบันหรืออนาคต
  • - ส่วนคำที่ระบุสถานที่ ก็ใช้ here (ที่นี่) หรือ there (ที่นั่น)

         【ข้อที่ 4】 - แยกคำศัพท์ หรือกลุ่มคำศัพท์ ที่ราจะพูด ออกเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่ง 3 กลุ่มใหญ่แรก ก็คือ

  • คำนาม หรือกลุ่มคำนาม (noun)
  • คำกริยา หรือกลุ่มคำกริยา (verb)
  • คำคุณศัพท์ หรือ กลุ่มคำคุณศัพท์ (adjective)
  • คำกริยาวิเศษณ์ หรือกลุ่มคำกริยาวิเศษณ์ (adverb)

         【ข้อที่ 5】 - ทำไมต้องแบ่งประโยคเป็นส่วน ๆ และวิธีง่าย ๆ ในการแบ่ง
       ถ้าข้อความที่จะพูดมันเป็นศัพท์หรือวลีสั้น ๆ ที่เรารู้จักอยู่แล้ว เราก็พูดออกไปได้เลย แต่ถ้ามันเป็นข้อความยาว ๆ หรือซับซ้อน ต้องใช้ประโยคยาว ๆ หรือหลายประโยคอธิบาย บางทีเราก็งงว่า จะพูดยังไงดีนะให้เขาเข้าใจได้ง่าย ๆ
       ขอให้ท่านสังเกตอย่างนี้ครับ แม้ข้อความที่จะพูดนั้นยาว แต่โดยพื้นฐานแล้ว แต่ละประโยคที่จะพูด มันก็คือ ประธาน + กริยา + กรรม แต่ความลำบากก็คือ เพราะมีส่วนขยายหรือเรื่องต้องบอกเยอะ ทั้งประธาน / กริยา / กรรม จึงมักเป็นกลุ่มคำ บางทีมากกว่า 10 คำ หน้าที่ของเราก็คือ หาคำสั้น ๆ มาใช้พูดแทน noun, verb, adjective หรือ adverb ที่ทำหน้าที่เป็น subject (ประธาน), verb (กริยา) หรือ object (กรรม)
       หลักที่ผมขอแนะนำก็คือ " สรุปเรื่องที่ยืดยาวซับซ้อนที่จะเล่า ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ, ตัดรายละเอียดทิ้งไปก่อน, เรียงลำดับก่อน-หลัง ให้เหมาะ, แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ ให้เขาฟัง " โดยหาภาษาอังกฤษสั้น ๆ ง่าย ๆ มาเล่าเรื่องที่ยาว ๆ

       แต่จะเล่ายังไงล่ะ ? จริง ๆ ก็เล่าได้หลายแบบตามถนัดของแต่ละคน โดยอาจจะใช้แค่ 3 - 4 ประโยคก็พอ แต่การจะทำได้อย่างนี้ต้องใช้ความสามารถส่วนตัวในการสรุปความ, จับประเด็นสำคัญ, และเรียงลำดับการพูดก่อน-หลังให้เหมาะสม เป็นทักษะที่ต้องฝึกอยู่เหมือนกัน, พอทำได้แล้วจึงค่อยแปลมันเป็นภาษาอังกฤษ
       【ข้อที่ 6】 : สะสม / จดจำ คำศัพท์พื้นฐาน ที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือ antonym เช่น ที่นี่

       ศัพท์ใน list พวกนี้ หลายคู่น่าสนใจและมีประโยชน์มาก ๆ เพราะเรานำมาใช้พูดได้หลายกรณี
ยกตัวอย่างคำ adjective ที่ใช้บอกคุณลักษณะของคำนาม (noun) ซึ่งเป็น คน-สัตว์-สิ่งของ-เรื่องราว ฯลฯ

  • บอกอารมณ์/ความรู้สึก : happy - sad สุข - เศร้า
  • บอกเรื่องราว/กรณี/ ฯลฯ : hard, difficult - easy ยาก - ง่าย
  • บอกผิด/ถูก : right - wrong ผิด - ถูก
  • บอกขนาด : big - small ใหญ่ - เล็ก
  • บอกระยะทาง : near - far ใกล้ - ไกล

        ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เราจะพูดว่าเขารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น รู้สึกในด้านบวก ก็อาจจะมีคำพวกนี้ผุดขึ้นในใจมากมาย (เช่น ยินดี, เป็นสุข, สุขใจ, สบายใจ, เบิกบาน, เริงร่า, ระรื่น, สำราญใจ, ปีติ, ชื่นชม ฯลฯ) หรือเป็นคำในเนื้อข่าว เราไม่ต้องไปเปิดดิกหรือคิดมาก พูดคำง่าย ๆ ออกไปเลยว่า happy ก็ใช้ได้
        หรือคำที่เป็นความรู้สึกในด้านลบ เช่น เสียใจ, ระทด, รันทด, ตรอมใจ, โทมนัส, ระทวย, อับเฉา, เจ้าทุกข์, เศร้าใจ, โศกเศร้า, ไม่ผ่องใส, น่าหดหู่, เศร้าซึม ฯลฯ เราใช้คำว่า sad พูดออกไปเลยก็ได้
       หรือคำที่บอกเรื่องราว/กรณี ว่า ยาก, ลำบาก, กร้าว, ขัดสน, มีอุปสรรค, ยากเข็ญ, หรือ ยุ่งยาก เราก็บอกไปเลยว่า มัน difficult และคำนี้สามารถใช้บอกทั้งเรื่องราวที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และที่เป็นนามธรรมความรู้สึกจับต้องไม่ได้
       หรือคำกริยา (verb) ก็ในทำนองเดียวกัน เช่น คำว่า ก้าวหน้า, เกิดขึ้น, ขยาย, ขึ้น, งอกขึ้น, งอกงาม, งอกเงย, เจริญ, เจริญงอกงาม, เจริญวัย, เติบโต, เติบใหญ่, ทวี, แผ่ขยาย, พัฒนา, เพิ่ม, เพิ่มพูน ฯลฯ เราถนัดหรือชอบคำใดง่าย ๆ ที่รู้จักอยู่แล้ว ก็หยิบมาใช้ได้เลย เช่น increase หรือ grow ไม่ต้องไปคิดมากว่า มันจะตรงกับความหมายนั้นเด๊ะ ๆ หรือเปล่า คือถ้าสามารถสื่อไปในแนวนั้นได้ ก็ใช้ได้
      หรือคำนาม (noun) ทั่วไปที่มีคำแปลให้เลือกหลาย ๆ คำ เช่น สิ่ง, สิ่งของ, ข้อเท็จจริง, เนื้อความ, เรื่อง, เรื่องราวเหตุการณ์, วัตถุ, วัสดุ เราใช้คำว่า thing หรือ เมื่อพูดไปเรื่อย ๆ ก็ใช้สรรพนาม it เรียกมันก็ได้
       แต่ noun ที่มีปัญหาคือบางตัวที่ความหมายเจาะจง เช่น สนามบิน คือคำว่า airport (และคำอื่น ๆ เช่น landing field, airfield, aerodrome, airdrome ) ถ้าเราไม่รู้จัก นึกไม่ออก หรือลืมไปแล้ว และะในระหว่างพูดจะต้องมีคำนี้ เราจะทำยังไง ? เช่น He will go to meet her at the airport tomorrow.
         ปัญหานี้แก้ได้ยากอยู่เหมือนกัน ก็ต้องถูไถขยับขยายกันไปตามหน้างาน เช่น ก็พูดคำว่า สุวรรณภูมิ ออกไป ให้เขาเดาเอาเองว่า เราหมายถึงสนามบินแห่งนั้น
          หรือบางทีการพูดทับศัพท์ออกไปเลยก็อาจจะพอใช้ได้ แต่เราต้องเสริมด้วยคำง่าย ๆ อีกสักหน่อย อย่างเช่น ขณะกำลังนั่งกินกันที่โต๊ะอาหาร และมีแกงไตปลาของทางใต้ เราก็บอกไปเลยว่า " This is แกงไตปลา " เราไม่ต้องนึกให้เหนื่อยหรอกว่า แกงนี่ภาษาอังกฤษว่ายังไง ไตล่ะ ปลานี่ก็ fish แล้ว แกงไตปลา นี่มัน fish อะไรนะ เราใส่ไปง่าย ๆ เลยว่า This is hot, very hot, from south of Thailand, it's from fish. การพูดถูไถอย่างนี้แล้วแต่ลูกเล่นของใครของมันครับ แต่ก็อย่างที่ผมพูดแล้ว เมื่อบวกกับการใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และสิ่งของประกอบในที่นั้น การพูดคุยก็ทำได้แทบทุกเรื่อง
       【ข้อที่ 7】  ทำ " คำศัพท์ที่ฉันต้องรู้ "
แต่ถึงยังไง ถ้าเข้าที่คับขันจริง ๆ ลูกเล่นพวกนี้ก็ไม่พอใช้งานหรอกครับ ผมคิดดูแล้ว ถ้าเราต้องการพูดได้อย่างพัฒนา เราหนี " การบ้าน " ไม่พ้นหรอกครับ ซึ่งก็คือ การสำรวจศัพท์หมวดที่เราควรรู้ เพราะมันต้องใช้ แต่เพื่อไม่ให้งานหนักเกิน ก็ให้เข้าไปไล่คำพวกนั้นและดึงจดใส่สมุดโน้ตส่วนตัว " คำศัพท์ที่ฉันต้องรู้ "
เรื่องของเรื่องก็คือ ศัพท์หมวดที่แต่ละคนต้องใช้ และคำในหมวดนั้น ๆ นี่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องหาเอาเอง
การ Search ก็ไม่ยาก (ถ้ามันมีอยู่ในเน็ตให้อ่าน ฟรี ) เพียงพิมพ์คำค้นทำนองนี้ เช่น

       ข้อสังเกตของผมก็คือ คำศัพท์, วลี หรือประโยคสนทนาพวกนี้ ยิ่งเป็นเรื่องเจาะจงมากเท่าไหร่ ในเน็ตยิ่งมีน้อยหรือหายากมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะต้องไปหาจากหมวดใกล้เคียง และดึงมารวบรวมเพื่อทำเป็น list ของตัวเอง
       และผมไปเจอลิงก์ข้างล่างนี้ มีคำศัพท์อังกฤษแปลไทยหลายหมวด นำมาฝาเผื่อท่านจะใช้ได้บ้าง

       สรุปก็คือ การบ้านชิ้นนี้ต้องทำ หรือรวบรวมคำศัพท์ อังกฤษ - ไทย ที่คิดว่าตนเองมีโอกาสใช้พูดเรื่อย ๆ และถ้าจะให้วิเศษ ควรแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ คำกริยา - verb, คำคุณศัพท์หรือคำขยาย - adjective และคำนาม - noun การแยกเช่นนี้ช่วยให้เรามองเห็นล่วงหน้าคร่าว ๆ ว่า เราจะพูดอะไรในสถานการณ์ไหน เช่น เมื่อเราจะรวบรวมคำกริยา เราก็ต้องนึกภาพก่อน เช่น (1) เราพูดกับใคร (2)พูดเรื่องอะไร (3)พูดที่ไหน เป็นต้น
      【ข้อที่ 8】 ยกตัวอย่างง่าย ๆ ขึ้นมาประกอบการสื่อความ
เรื่องนี้พูดง่ายแต่อาจจะทำยากนิดหน่อย เพราะต้องแปลไทยเป็นไทยและใช้จินตนาการอยู่บ้าง เช่น คำศัพท์หรือวลีข้างล่างนี้ ถ้าต้องพูดแบบไม่เป็นทางการกับเพื่อน ท่านจะสื่อความยังไง (ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างของ อ.อดัม)
 พูดถึงการกระทำ หรือพฤติกรรม ซึ่งเป็น verb เช่น

  • ตบหัวแล้วลูบหลัง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
  • ทวงบุญคุณ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
  • ทำใจ ตัดใจ หักห้ามใจ ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร
  • ติเพื่อก่อ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

พูดถึงลักษณะ ซึ่งเป็น adjective เช่น

  • ขี้เก๊ก ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
  • ปอดแหก ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
  • ใจสปอร์ต ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
  • ถ่ายรูปขึ้นกล้อง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

เป็น noun ซึ่งก็คือ คำที่เป็น คน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งรวมถึงนามธรรมสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น

  • เด็กเส้น ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

----

       จากที่พูดมาทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า ถ้ามองในแง่ร้าย การพูดออกไปโดยไม่กลัวผิดทั้ง ๆ ที่พื้นไม่แน่น อ่อนทั้งเรื่องศัพท์-การผูกประโยค-การออกเสียง-ฯลฯ แต่ใช้วิธีโยงซ้ายมาแปะขวา โยงหน้ามาแปะหลัง ดึงข้างบนลงมาอุดข้างล่าง ดึงข้างล่างขึ้นไปอุดข้างบน และก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ แบบครูดพื้นไปตลอดทาง การพูดจริง ๆ แบบไม่เป็นทางการ หรือการฝึกพูดแบบนี้ น่าจะไม่ค่อยเข้าท่า
       แต่ผมขอยืนยันว่า วิธีฝึกพูดแบบนี้แหละครับที่เข้าท่าที่สุด ได้ผลที่สุด เพราะเป็นการฝึกจริง ใช้งานจริง เรียนรู้จากของจริง เจอ " ปัญหา " และ " ความผิดพลาด " ที่ตัวเองทำจริง ๆ และจะมีโอกาสแก้ไขหรือปรับปรุงได้เร็วที่สุด
      คราวนี้มาถึงเรื่องสุดท้าย คือการลองฝึกพูด ซึ่งผมขอเสนอบทเรียน จากคลิปเรื่อง " ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร " โดย อาจารย์อดัม แบรดชอว์
==> คลิป " ภาษาอังกฤษพูดว่าอย่างไร "
       เมื่อเข้าไปแล้วท่านจะเห็นคำถามลิงก์ละ 1 ข้อ (ตอนนี้อย่าเพิ่งคลิก) ให้ท่านนึกว่า ท่านกำลังนั่งคุย หรือนั่งกินอาการ หรือเดินทาง หรืออยู่ในห้องประชุมก็ได้ แต่มีบรรยากาศแบบไม่เป็นทางการ และอาจจะมีคนอื่นร่วมกลุ่มอยู่ด้วย ในขณะคุยกันนั้น มันมีเรื่องที่ท่านต้องพูดคำนี้ออกมา ถ้าท่านนึกออกก็พูดออกมาเลย แต่ถ้าท่านนึกไม่ออก ก็ให้พยายามพูดยังไงก็ได้ให้สื่อความหมายของศัพท์หรือวลีนี้ออกมาให้ได้ โดยใช้ " ทฤษฎี " ที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น ซึ่งสรุปง่าย ๆ ก็มีแค่ 3 ข้อ คือ [1] แปลไทยเป็นไทย คือ ทำให้เป็นภาษาไทยที่สั้น ง่าย แต่ถ้าต้องพูดเสริมยาว ๆ เรื่อยเปื่อยออกไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีก ถ้ามันช่วยให้สื่อความได้ [2] แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยถ้านึกศัพท์เจาะจงของมันไม่ออก ก็ใช้ศัพท์ทั่วไป [3] ใช้วิธียกตัวอย่างง่าย ๆ
       ยกตัวอย่าง
[1] มีพิรุธ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
http://www.ajarnadam.tv/blog/Shady-Dodgy-Gutted 
       สมมุติว่า ประโยคทีผุดขึ้นมาในใจที่ท่านจะพูด คือ " เขามีพิรุธ " ให้ท่านนึกถึงคนจริง ๆ หรือสถานการณ์จริง ๆ มันอาจจะออกมาง่าย ๆ ทำนองนี้
" Yesterday he said that. But today he says this. It's different. It's strange.
หรือ " She said she was ok. But she looks sad. She must have something. "
 [2] ตบหัวแล้วลูบหลัง ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
       สำนวนนี้ มักใช้ในเวลาที่บุคคลหนึ่งโดนทำร้าย ต่อว่าหรือทำโทษอย่างรุนแรงในตอนแรก แต่ในเวลาต่อมาผู้ทำโทษก็เข้ามาปลอบใจ ให้กำลังใจ หรือขอโทษในภายหลัง
       ในภาษาอังกฤษก็มีศัพท์หรือวลีที่เทียบความหมายกันได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักล่ะ เราจะสื่อความหมายยังไงดี ?
       อย่างเช่นเราจะเล่าข่าวชิ้นหนึ่งว่า " นายสมชายซึ่งเป็นเจ้านายด่านายสมศักดิ์ซึ่งเป็นลูกน้องกลางที่ประชุม หลังจากนั้นเรียกเข้าไปที่ห้องทำงานส่วนตัวและชมว่าคุณทำดีที่สุดแล้ว อย่างนี้มันตบหัวแล้วลูบหลังชัด ๆ " เฉพาะวลี " อย่างนี้มันตบหัวแล้วลูบหลังชัด ๆ " ท่านจะพูดยังไง ถ้าท่านนึกวลีภาษาอังกฤษไม่ออก
       อันที่จริงก็มีหลายวิธีที่จะสื่อ อย่างเช่น หลังจากเล่าเรื่องแล้วท่านอาจจะสรุปว่า

  • For Thai people, we say this is " ตบหัวแล้วลูบหลัง " (คือทับศัพท์หรือทับวลีไปเลย)
  • It's like this. (แล้วก็ออกท่าทาง โดยเอาฝ่ามือตบหัวตัวเอง แล้วพูด " You are very bad. "
  • And afterward you told him " I know you are a good worker. " หรือ " I know you are good . " (พูดพร้อมออกท่าทาง เอาฝ่ามือลูบหลังเพื่อนที่นั่งใกล้ ๆ )

[3] เจ้ากี้เจ้าการ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
       มีวิธีที่อดีตหัวหน้าในที่ทำงานของผมใช้บ่อย ๆ เวลาที่พูดภาษาอังกฤษ คือเวลาที่แกนึกไม่ออกว่าจะอธิบายยังไงดี แกจะยกตัวอย่างโดยพูดว่า For example แทบทุกครั้ง และบ่อย ๆ ก็ตามด้วยการยกคำพูดผ่านปากของตัวละคร อย่างเช่น จะพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งว่าเป็นคน เจ้ากี้เจ้าการ ชอบบังคับหรือสั่งงานคนอื่น แกก็จะพูดออกมาในทำนองนี้

  • For example, Mr. A .
  • He is just my friend.
  • But in the office, he tells me to do this, to do that all the time.
  • I don't like it.
  • He is เจ้ากี้เจ้าการ.

       ผมขอยกตัวอย่างแค่นี้แล้วกันครับ แต่อยากขอให้ท่านลองเข้าไปฝึกกับวลีของอาจารย์อดัม โดยลองนึกพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วก็คลิกเข้าไปดูคลิปที่ อ. อดัมอธิบาย
       ==> https://tinyurl.com/y5n2dx2k 
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com