วิธีธรรมชาติที่สุดในการรู้ศัพท์, จำได้, ใช้เป็น

reading-is-the-key-flyer-banner
       ผมเข้าไปดูในหลายเว็บไซต์ไทย มองหาคำแนะนำในการจำศัพท์ภาษาอังกฤษ แล้วก็เจอคำแนะนำมากมาย บางแห่งติดโฆษณาด้วยว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้จำได้เร็ว-จำได้เยอะ-จำได้นาน
       และพอผมมานึกถึงศัพท์ภาษาไทยก็เห็นว่า  เราคนไทยไม่มีปัญหา เพราะเราฟังมาเยอะ-อ่านมาเยอะ เราจึงรู้ศัพท์ภาษาไทยมากเพียงพอต่อการใช้ และก็จำได้ และก็ใช้เป็น
       นี่ก็เห็นได้ชัดว่า วิธีธรรมชาติที่สุดในการ "รู้ศัพท์-จำได้-ใช้เป็น" ก็คือพูดเยอะ ๆ และอ่านเยอะ ๆ นี่เป็นสูตรที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย คนทุกชาติที่พูดและอ่านภาษาของตัวเองได้ ก็ใช้วิธีนี้ทั้งนั้น
       คราวนี้เมื่อมาดูพวกเราคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย เราไม่มีโอกาสไปเรียน ทำงาน หรือใช้ชีวิตที่เมืองนอก เพราะฉะนั้นช่องทางที่ 1 คือพูดเยอะ ๆ จึงแคบหรือตัน  แต่ก็ยังมีช่องทางที่ 2 คืออ่านเยอะ ๆ เพราะเราสามารถฝึกอ่านที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ มากเพียงใดก็ได้ แต่คนไทยจำนวนมากก็ไม่ชอบฝึกผ่านช่องทางที่ 2 นี้ และดูเหมือนว่าวิธีรู้ศัพท์ที่คนไทยชอบใช้มากที่สุดก็คือการท่องศัพท์อังกฤษ+คำแปลไทย อัดเข้าไปในสมอง
       การรู้ศัพท์โดยการท่องอัดต่างจากการรู้ศัพท์โดยการอ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษตรงไหน?
       มันต่างตรงที่ว่า เมื่อเราอ่านภาษาอังกฤษไปเรื่อย ๆ เราจะเจอทั้งศัพท์ที่เรารู้จัก, ศัพท์ที่เราไม่แน่ใจ, ศัพท์ที่คลับคล้ายคลับคลา, ศัพท์ที่เราไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็น, ศัพท์ที่เรารู้จักแต่อ่านเนื้อความก็ยังงง และนี่แหละครับคือโอกาสในการฝึกเพื่อพัฒนาคำศัพท์ที่เป็นธรรมชาติที่สุด ผ่านการระลึก, รื้อฟื้น, ทบทวน, ตีความ, สังเกต, สรุป, จดจำและนำไปใช้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ
       เราเรียนศัพท์ภาษาไทยอย่างไร เราก็สามารถเรีบนอย่างนั้นกับศัพท์ภาษาอังกฤษ
       แต่ปัญหาก็คือ เมื่อมองย้อนหลังไปดูจำนวนชั่วโมงการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เราต้องยอมรับว่า ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ นักเรียนไทยอ่านภาษาอังกฤษน้อยมาก ถ้าไม่ตั้งใจจริง ๆ ที่จะปลีกเวลาหาภาษาอังกฤษมาฝึกอ่านเอง, เราจะจบการศึกษาด้วย scope of vocabulary และ reading skill ที่น้อยมาก... น้อยจนอ่านอะไรแทบไม่ออก ใช้ทำงานก็ไม่ได้ จะหาความรู้จากเน็ตก็ต้องผ่านหน้าเว็บไทยเท่านั้น
        ถ้านั่นเป็นเรื่องในอดีตที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ณ วันนี้จะให้ทำยังไง?
        ถ้าเปรียบกับการปลูกบ้าน ทักษะการอ่านและศัพท์ภาษาอังกฤษของคนไทยโดยทั่วไปที่เรียนจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ก็เหมือนการปลูกบ้านในที่ลุ่มซึ่งเป็นดินเลนและยังไม่ได้ลงเสาเข็มใด ๆ ทั้งสิ้น พอยุคนี้ฮือกันว่าภาษาอังกฤษต้องดีชีวิตจึงจะไปได้สวย หลายคนก็ฝันที่จะทำอย่างนั้น-อย่างนี้-อย่างโน้น เกี่ยวกับตัวบ้าน ฝาบ้าน และหลังคา ซึ่งโชว์ชาวบ้านได้ แต่ไม่สนใจเรื่องถมดินและลงเสาเข็มซึ่งสำคัญสุดและต้องทำก่อน แต่โชว์ไม่ได้เพราะมันอยู่ใต้ดิน
       การถมดินและลงเสาเข็ม ก็คือการกลับไปทำพื้นฐานที่ไม่มีให้มันมี หรือเสริมพื้นฐานที่อ่อนให้แข็ง เหมือนกับที่ผมเคยบอกว่า ถ้าเราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่คำศัพท์และทักษะการอ่านยังอยู่แค่ ป.1 หรือ ม.1 เราต้องยอมถ่อมใจ, กัดฟัน, อดทน กลับไปอ่านหนังสือที่ระดับนั้นก่อน และไต่มาเรื่อย ๆ จะเรียกว่านี่เป็นการ "ใช้หนี้" หรือ "ใช้กรรม" ที่เคยทำไว้กับภาษาอังกฤษ ที่เป็น "เจ้ากรรมนายเวร" ก็ได้
       และต้องขอย้ำว่า นี่ไม่ใช้การ "ท่องศัพท์" ที่หลายคนยึดเป็นคำตอบสุดท้าย การฝึกอ่านภาษาอังกฤษและเรียนรู้ศัพท์ไปพร้อมกัน ไม่ใช่เป็นการใช้สมองแค่หย่อมเดียวเพื่อท่อง แต่เป็นการใช้สมองทั้งก้อนให้กับเรื่องที่อ่าน ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง, ศัพท์ สำนวน, การตีความ, การเดา, การสังเกต, สรุป, จับประเด็น, ซึมซับโครงสร้างของประโยคและลีลาของภาษา ฯลฯ นี่เป็นเรื่องที่ตำราหรือครูช่วยได้ก็แค่แนะวิธีเหมือนให้แผนที่บอกทาง   แต่การฝึกให้เข้าใจทุกคนต้องทำเอาเอง และก็อย่าไปเชื่อว่าจะมีทางลัด, หลักสูตร, โปรแกรม, apps ฯลฯ ที่ช่วยได้มากมายจนเราแทบไม่ต้องออกแรง นั่นมันเรื่องโกหกทั้งนั้นแหละครับ
       และจะเริ่มอ่านตรงไหน? อ่านอะไรล่ะ?
       ในเว็บ e4thai.com  ก็มีเนื้อหาให้ท่านฝึกมากพอสมควร ให้ดูที่คอลัมน์ซ้ายมือของเว็บ และคลิกเข้าไปเลือกบทความที่ปุ่ม Reading, Kids, Students, หรือจะคลิกที่นี่ หรือใช้ Search ของเว็บหาก็ได้
       พูดถึงเรื่องทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ ผมอดไม่ได้ที่จะสรุปว่า ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เด็กไทยไม่มีทักษะในการอ่านเพราะไม่ได้ฝึกอ่าน และถ้าเราจะเริ่มอ่านตอนนี้เราต้องเริ่มด้วยการชอบอ่าน หรือมี "ฉันทะ" ซะก่อน แต่อย่างที่รู้กัน คนไทยอ่านหนังสือน้อยมากยิ่งภาษาอังกฤษด้วยแล้วแทบไม่ได้แตะ ถ้าพูดว่าต้องมีฉันทะมันก็ต้องมีถึง 2 ตัว คือ (1) มี "นิสัย" ที่นักการอ่าน และ (2)มี "หนังสือ" เล่มที่อยากอ่าน แต่ถ้านิสัยก็ไม่มี หนังสือก็ไม่หา(รอให้คนอื่นหาให้) ก็จบกันแหละครับ มันชวนให้คิดต่อไปว่า คนไทยโดยทั่วไปนี่ก็เก่งหลายอย่าง ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในระดับอาเซียนและนานาชาติก็หลายเรื่อง แต่ทำไมเรื่องการอ่านภาษาอังกฤษถึงได้แย่คงเส้นคงวา แย่เสมอต้นเสมอปลาย จะบอกว่าภาษาอังกฤษยากก็ไม่น่าใช่ เรื่องอื่น ๆ ยากกว่านี้เยอะแยะทำไมเราทำได้โดยครูไม่ต้องสอน แต่เฉพาะภาษาอังกฤษเราชอบบ่นกันนักว่าครูไม่ดีหรือครูไม่พอหรือชั่วโมงเรียนน้อยเกินไป แต่เรื่องอื่น ๆ เรากลับทำได้แม้ไม่มีครูสอน ไม่มีชั่วโมงเรียนในห้อง
       มานั่งนึกดูอีกทีก็เห็นว่า เป็นไปได้ว่าที่คนไทยเราไม่สนใจที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษก็เพราะ เรารู้สึกว่า ถึงไม่รู้ก็ไม่อดตาย ถึงไม่รู้ก็หางานทำได้ ไม่เดือดร้อนอะไร ซึ่งสรุปอย่างนี้อาจจะจริงก็ได้ แต่ในอนาคตเราคนไทยอาจจะอยู่ยากขึ้นหากไม่รู้ภาษาอังกฤษในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขานำหน้าเราไปหลายก้าว และตอนนี้ถ้าท่านจะสบาย ๆ ไปก่อนก็คงได้ แต่ลูกหลานของท่านอาจจะลำบากในวันข้างหน้า เพราะอะไรมันก็ไม่แน่

         ฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวันเถอะครับ  ให้มันกลายเป็นนิสัยส่วนตัวของเราประจำชาติไทยของเรา และปัญหาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษหลาย ๆ อย่างที่เราบ่นกันมาเนิ่นนาน ก็จะค่อย ๆ หมดไป แต่ถ้าเราอยากมากแต่พยายามน้อยในทุกเรื่องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเช่นทุกวันนี้ แม้แต่ลาวก็อาจจะแซงไทยในไม่ช้า
     พิพัฒน์