Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึกอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง

bigface photo       เมื่อผมเริ่มเข้าเรียน ปี 1 คณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ผมบอกตัวเองว่า ผมจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐให้ได้
      นั่นคือจุดเริ่มต้นของการฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษของผมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ต่างจากทุกวันนี้โดยสิ้นเชิง  เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้โลกใบใหม่ของคนยุคนี้ ไม่ใช่โลกใบเก่าของคนยุคก่อน ยุคที่ผมเริ่มเป็นหนุ่ม
       ผมผ่านการฝึกตัวเองมาหลายสิบปีกว่าจะอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ ในแง่หนึ่งมันก็เป็นห้วงเวลาที่น่าท้าทายและเอาชนะตัวเองว่าต้องทำให้ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันคือความน่าเบื่อหน่าย ที่ต้องทนกับความไม่รู้เรื่องทั้งอ่านและฟัง ทั้ง ๆ ที่ฝึกหนักและต่อเนื่อง
       ผมจึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ผมไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องเป็นอย่างผม คือฝึกหนักและต่อเนื่อง แต่ก็ได้ผลน้อยและใช้เวลานาน ผมมีความวังว่า การฝึกของเขาน่าจะได้ผลดีกว่าผมอย่างน้อย 2 เท่าคือ ฝึกหนัก-ต่อเนื่อง & ได้ผลมาก-ใช้เวลาน้อย
       บทความวันนี้ "ประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึกอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง" ผมกะจะเล่าใน 3 ประเด็นนี้    
(1)มีทัศนคติเชิงบวกในการฝึก
(2)มีขันติ-วิริยะ-สมาธิในการฝึก
(3)ใช้ตัวช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการฝึก
        ขอเล่าไปทีละเรื่อง ดังนี้ครับ
[เรื่องที่ 1] มีทัศนคติเชิงบวกในการฝึก
       เมื่อสอบติด entrance เข้าเรียนเทอมแรก สิ่งที่ผมตื่นตะลึงที่สุดในมหาวิทยาลัยริมน้ำแห่งนั้นคือห้องสมุด ซึ่งมีหนังสือเป็นแสน ๆ เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากเด็กนักเรียนมัธยมบ้านนอกที่ชอบอ่านหนังสือและชอบวิชาภาษาอังกฤษ ห้องสมุดที่เจอจึงเสมือนแดนสวรรค์ เพราะมีหนังสือให้อ่าน.... หนังสือภาษาอังกฤษที่อ่านยากแต่ก็อยากอ่าน
       ผมรักที่จะเรียนรู้ รู้โดยการอ่าน แม้จะอ่านยาก ผมได้ข้อสรุปจากวันนั้นและยึดมาจนถึงวันนี้ว่า ความรู้เป็นสิ่งประเสริฐ และแม้ว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่สิ่งวิเศษเลอเลิศ แต่เพราะภาษาอังกฤษพาเราเข้าไปสู่ความรู้ การละเลยภาษาอังกฤษก็คือการละเลยความรู้
       เมื่อผมเรียนจบได้งานทำและรู้จักคนมากขึ้น  ทำให้ได้เห็นว่าโดยทั่วไปคนที่จะ "เก่งอังกฤษ" ก็คือคนที่ "เรียนจบนอก", "จบในประเทศแต่เรียนหลักสูตรอินเตอร์", "ได้งานทำที่เกี่ยวข้องพูดคุยกับฝรั่งทั้งวัน" หรือ "มีแฟนเป็นฝรั่ง" ใน 4 ข้อนี้ผมไม่เข้าข้อใดเลย แต่ผมก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ผมไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษอย่างคนโชคดี ส่วนน้อย 4 กลุ่มนั้น
       ผมจึงมาถึงข้อสรุปที่ใช้สอนตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานว่า ถ้าทางที่อยากเดินไม่มีให้เราเดิน เราก็ต้องสร้างเส้นทางให้ตัวเองเดิน, และก็เดินไปตามทางที่ตัวเองสร้าง, ถ้าไม่มี "ทางลัด" อย่างที่คนโชคดีเขาได้เดิน ก็เดินไปตามทางปกตินี่แหละ, ถ้าเดินไม่หยุดและรีบเดินสักหน่อย มันก็ต้องถึงที่หมายแน่ ๆ,  คนที่ "ได้ทำ" ย่อม "ทำได้" เว้นแต่จะ "ไม่ทำ" การเดินทางกับการฝึกภาษาอังกฤษไม่มีอะไรต่างกันเลย
       ทุกวันนี้เมื่อเข้าไปในเน็ตและให้กูเกิ้ลช่วยหาวิธีฝึกให้เก่งอังกฤษ คำแนะนำจำนวนมากบอกให้ทำอย่างนี้-อย่างนั้น-อย่างโน้น-และอย่างนู้น แต่จะทำอย่างไหนก็แล้วแต่ ถ้าคนฝึกยังไม่มีมีทัศนคติเชิงบวกในการฝึก หรือมีทัศนคติที่ติดลบ โอกาสในการเก่งอังกฤษก็ติดลบเหมือนทัศนคติที่อยู่ในใจตัวเองนั่นแหละครับ
[เรื่องที่ 2] มีขันติ-วิริยะ-สมาธิในการฝึก
ขันติคืออดทนฝึก
วิริยะคืออดทนฝึกได้ต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่อดทนได้วันเดียว-เดือนเดียว-ปีเดียว พอเจออุปสรรคก็เลิกอด-เลิกทน
สมาธิคืออดทนฝึกด้วยใจสงบ
      นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้อยู่ในคำแนะนำของกูเกิ้ล เขาอาจจะคิดว่าทุกคนควรรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครแนะ แต่ผมก็อยากจะแนะเรื่องนี้สักหน่อย ขออนุญาตนะครับ
       คือถ้าท่านคิดถึงคนที่เรียนจบนอก เราไม่ต้องไปคิดถึง "speaking skill" ซึ่งเขาต้องมีมากกว่าคนอื่นเป็นธรรมดา แต่ในที่นี้ผมกำลังคุยกับท่านผู้อ่านเกี่ยวกับ "ประสบการณ์ส่วนตัวในการฝึกอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง" จึงขอถามท่านผู้อ่านว่า ท่านคิดว่าคนที่จบนอกทุกคนมี "reading skill" ที่สามารถอ่าน Bangkok Post ได้เหมือนอ่านไทยรัฐ หรือมี "listening skill" ที่สามารถฟังข่าว BBC,CNN, Aljazeera ได้เหมือนฟังข่าวช่อง 3,ช่อง 7, ช่อง 8 - เขาสามารถอย่างนั้นทุกคนหรือเปล่า?
       คำตอบของผมก็คือ "ไม่แน่หรอกครับ!" เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า เขาไปเรียนสาขาอะไร ที่มีโอกาสได้ฝึกอ่าน - ฝึกฟัง เนื้อหาหนัก ๆ มากน้อยแค่ไหน, และ... และตัวเขาเองใส่ใจในการพัฒนา "reading skill" และ "listening skill" มากน้อยเพียงใดอีกด้วย ถ้าไม่สนใจ เพียงแค่ได้ "จบนอก" มันก็ไม่ได้การันตีอะไรมากมายหรอกครับ แต่คนที่ใส่ใจและฝึกจริง คนกลุ่มนี้เท่านั้นแหละครับที่เก่งจริงกลับมา

       คราวนี้มาพูดถึงพวกเราบ้างที่ไม่มีโอกาสไปฝึกอย่างเขาที่เมืองนอก แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีโอกาสฝึกที่เมืองไทย เพราะโอกาสเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ถ้าเราตั้งใจจริง ๆ ที่จะสร้างมัน ขออนุญาตให้ผมเอาเรื่องของตัวเองมาเล่าสู่กันฟังสักเรื่องสองเรื่อง อย่าหาว่าผมคุยโม้เลยครับ เพราะถ้าเอาเรื่องของคนอื่นมาเล่ามันไม่ถึงใจและไม่เห็นภาพ
       ตอนผมเริ่มเรียนปี 1 ผมบอกตัวเองว่าก่อนขึ้นปี 2 จะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐ ฉะนั้นแทบทุกวัน เมื่อกลับถึงที่พักผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็ต้องเอาเก้าอี้ไปด้วย ทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้ แต่... มันอ่านรู้เรื่องมากขึ้นเยอะและคุ้มค่ากับความพยายาม
       ตอนผมอยู่ปี 3 ผมอยากจะได้ประสบการณ์ตรงในวิชาชีพที่เรียน จึงเดินทางไปที่กองบรรณาธิการของ นสพ.ฉบับหนึ่งเพื่อขอฝึกงานแปลข่าวต่างประเทศเพื่อหาประสบการณ์ (สมัยนัันแหล่งข่าวต่างประเทศของ นสพ.รายวันเมืองไทยได้จากเครื่อง Telex) บรรณาธิการบอกว่า ไม่ได้รับคนฝึกงานแต่ขณะนี้คนทำหน้าข่าวต่างประเทศเพิ่งจะลาออก ถ้าจะสมัครก็รับ ทำได้มั้ยล่ะ? เวลานั้นผมไม่แน่ใจในฝีมือแปลข่าวของตัวเอง แต่เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถและอยากได้เงิน (ได้เกือบ 4000 บาท, ทั้ง ๆ ที่คนจบปริญญาตรีรับราชการได้แค่ 2000 กว่าบาท) ผมเลยตอบว่าทำได้และสมัคร ทุกวันผมจะขึ้นรถเมล์จากธรรมศาสตร์ไปที่กองบรรณาธิการ นสพ.ฉบับนั้นซึ่งอยู่แถว ๆ บางลำพู ทำงานคัดข่าวและแปลข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพื่อลงตีพิมพ์ในหน้าข่าวต่างประเทศ ทำตั้งแต่ประมาณบ่าย 3 โมงไปจนถึง 5 ทุ่ม, ตื่นตี 4 ทำงานอย่างเดิมและขึ้นรถเมล์ไปเรียนที่ธรรมศาสตร์, บ่าย 3 โมงก็ขึ้นรถเมล์กลับมาทำงานที่โรงพิมพ์อีก ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ งานนี้ในแง่หนึ่งก็กดดันอยู่เหมือนกันตรงที่ห้ามแปลผิดเด็ดขาด เพราะถ้าแปลผิดมันจะฟ้องอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ของเราที่ต่างจากฉบับอื่น ๆ ผมทำงานที่นี่ได้ประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าเกรดที่เคยได้ 3.2 ลดเหลือ 1.6 แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะวิชา " แปลข่าว" ที่มหาวิทยาลัย ผมได้เกรด A โดยใช้เวลาทำแค่ 15 นาที จาก 3 ชั่วโมง
       เมื่อผมเรียนจบก็ได้งานเป็น "พัฒนากร" ที่หลายจังหวัดประมาณ 10 ปี งานที่ผมทำไม่มีอะไรที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนเลย โดยทั่วไปร้านหนังสือพิมพ์เจ้าประจำเขาไม่ได้ขายหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ผมจึงสั่งพิเศษให้เขารับ Bangkok Post มาให้ผมวันละฉบับ ผมถูกเพื่อนล้อว่าดัดจริตอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเพราะพัฒนากรไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษกับชาวบ้าน เพื่อนบอกว่า ถ้ามึงอ่าน Bangkok Post ก็น่าจะซื้อแฮมเบอร์เกอร์มากิน แต่ถ้ายังซื้อกล้วยทอดในหมู่บ้านมากินก็น่าจะอ่านไทยรัฐ ผมก็ไม่รู้จะตอบเพื่อนยังไง
       หลังจากนี้ผมได้โอนหน่วยงานเข้ามารับราชการในกรุงเทพในผนกที่เกี่ยวกับการฝึกอบรม พอดีแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีตำแหน่งว่างผมจึงสมัครและได้ย้ายไปทำงานที่นั่น
       ปัญหาก็คือตำแหน่งที่ผมสมัครต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แต่ผมมีอยู่ทักษะเดียวคืออ่าน ส่วนพูด-ฟัง-เขียน ผมไม่เคยฝึกเลย จึงต้องเริ่มฝึก ณ บัดนั้น ใช่แล้วครับ ผมเริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษในชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี
       มันเป็นการฝึกที่ทุรกันดารมากในยุคนั้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ผมจึงรับเคเบิ้ลทีวีซึ่งมีข่าว BBC และ CNN ให้ฝึกฟัง แต่มันฟังยากมาก บ่อยครั้งที่ฟังไม่รู้เรื่องจึงฟังไปง่วงไปจะหลับซะให้ได้ ต้องยืนฟังแทนนั่งฟังจะได้ไม่หลับ
       ที่นับว่าโชคดีมาก ๆ ก็คือ ปัญหาในการฟังของผมมักเป็นเรื่องของ "สำเนียง" ส่วน "ศัพท์-สำนวน" ผมตุนไว้มากพอสมควรจากการอ่านข่าวที่ Bangkok Post มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
       ท่านผู้อ่านครับ 3 - 4 ตัวอย่างจากเรื่องส่วนตัวที่ผมยกมานี้ ผมต้องการสรุปสั้น ๆ ว่า การฝึกภาษาอังกฤษให้ได้ผลต้องมีขันติ-วิริยะ-สมาธิอย่างเข้มข้น และเราจำเป็นต้อง "ให้โอกาส" แก่ตัวเองได้ฝึกอย่างเข้มข้น การฝึกเรื่อย ๆ มีประโยชน์ แต่การฝึกอย่างเข้มข้นมีประโยชน์มากกว่า  และได้ผลมากกว่า   เมื่อความตั้งใจให้โอกาสแก่ตัวเอง ก็อย่าปล่อยให้ความเหลาะแหละปฏิเสธโอกาสนั้น
[เรื่องที่ 3] ใช้ตัวช่วย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการฝึก
        ในยุคนี้ที่เราสามารถฝึกฝึกอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษผ่านเน็ต มีตัวช่วยมากมายที่ทำให้เหนื่อยน้อยและได้ผลเร็วกว่าสมัยก่อน เช่น มีเนื้อหาหลากหลายให้เราฝึก, มีโปรแกรม, add-on, app ฯลฯ สารพัดอย่างให้เลือกใช้, ฟรีและไม่จำกัดเวลา จะฝึกเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ เรื่องนี้ผมได้พูดไว้มากพอสมควรแล้วในหลายบทความที่เว็บนี้ ท่านลอง Search ดูได้เลยครับ
       ท่านผู้อ่านครับ การฝึกอ่านและฟังข่าวภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง มีประโยชน์และคุณค่ามหาศาล มีข่าวมากมายที่ไม่มีให้อ่าน - ไม่มีให้ฟังเป็นภาษาไทย การรู้ข่าวภาษาอังกฤษจะช่วยเปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ของตัวเองให้กว้างไกลไม่สิ้นสุด นอกจากนี้เมื่ออ่านข่าวและฟังข่าวรู้เรื่อง เรื่องอื่น ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษก็อ่านและฟังเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะศัพท์ข่าวเป็นศัพท์สากล และเนื้อข่าวก็เป็นเรื่องราวสากล โลกทุกวันนี้เล็กลง ทำให้เราต้องเป็นทั้งชาวไทยและชาวโลก เราเป็นชาวไทยเรา "ต้อง" รู้ภาษาไทย และเราเป็นชาวโลกเราก็ "ต้อง" รู้ภาษาโลก ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่ต้องเรียนให้รู้
    พิพัฒน์
    https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com