Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ฟังไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร แต่ควรจับให้ได้ว่า คำไหน-วรรคไหน ที่ฟังไม่รู้เรื่อง

 listenpractice
สวัสดีครับ
       ผมเคยคุยกับท่านผู้อ่านที่บทความนี้ ฝึก "เล่าเรื่อง" เป็นภาษาอังกฤษกับเว็บข่าว ว่า การฝึกฟังข่าวง่าย ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง จะช่วยให้เราสามารถ "พูดเล่าเรื่อง" และวันนี้ ผมขอพูดอะไรเพิ่มเติมอีกสักนิด เรื่องการฝึกฟังภาษาอังกฤษ
      คือผมเชื่อว่า มีหลายท่านที่อาจจะท้อว่า ภาษาอังกฤษฟังยาก ฝึกฟังยังไงก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง หรือไม่รู้เรื่องเลย เมื่อรู้สึกท้อนาน ๆ เข้าก็กลายเป็นถอย และเลิกฝึกในที่สุด เมื่อเลิกฝึก listening skill ที่พอมีอยู่บ้างก็ลดน้อยลงทีละน้อย ๆ ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อฟังไม่รู้เรื่องพอมีโอกาสพูดก็ไม่กล้าพูด จนในที่สุดก็เลิกทั้งสองอย่าง คือเลิกฟัง - เลิกพูด
       ผมอยากจะบอกว่า การฟังแม้เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชีวิตประจำวันไม่มีภาษาอังฤษให้ต้องฟัง แต่เพราะว่าการสามารถฟังภาษาอังกฤษได้เข้าใจมีประโยชน์มหาศาล แม้ยากก็คุ้มค่ากับการลงทุนฝึก และมันก็เป็นสิ่งที่ฝึกให้พัฒนาได้ถ้าไม่ยอมแพ้ วันนี้จึงขอให้ผมได้พูดเรื่องนี้อีกสักครั้งเถอะครับ
       [1] ข้อแรกที่สุดที่ขอพูดก็คือ ขอให้เรามีความเชื่อว่าตัวเราเองสามารถพัฒนา English listening skill ได้, จริงอยู่ทักษะนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ในชั่วข้ามคืน, แต่มันจะดีขึ้นทุกวันถ้าเราฝึกทุกวัน ขอให้เรามีความเชื่ออย่างนี้ก่อน และอย่าท้อ อย่าถอย
       [2] ประเด็นถัดไปก็คือ ให้เราเริ่มต้นด้วยการฝึกฟังเรื่องง่าย ๆ แต่ "เรื่องง่าย ๆ" ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คำถามก็คือ เรื่องยังไงถึงจะเรียกว่าเรื่องง่าย ๆ? ขอตอบอย่างนี้ครับ เมื่อเราฟังข่าว, ฟัง story, หรือฟัง audiobook ถ้าเราได้ยินเสียงภาษาอังกฤษสัก 100 คำ, ใน 100 คำนี้แม้เราจะฟังไม่รู้เรื่องทุกคำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราสามารถนำคำที่ฟังรู้เรื่องไปเดาคำที่ฟังไม่รู้เรื่อง จนเข้าใจเนื้อเรื่องรวม ๆ ได้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ถือว่า นี่เป็นเรื่องง่าย ๆ ให้เราเริ่มฝึกกับมันได้
       แต่ถ้าเราฝึกฟังกับเรื่องที่ยากเกินไป ยิ่งฟังยิ่งไม่รู้เรื่อง กลายเป็นว่าพอฟังจบไม่รู้เรื่องสักคำ เรื่องที่ยากเกินไปอย่างนี้ ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นเรื่องสำหรับเริ่มฝึกฟังภาษาอังกฤษ และในบทความเรื่อง ฝึก "เล่าเรื่อง" เป็นภาษาอังกฤษกับเว็บข่าว ผมก็ได้แนะนำเว็บข่าวชั้นเยี่ยม 3 เว็บ ซึ่งมี "เรื่องง่าย ๆ" ให้ท่านเลือกมาฝึกฟัง
       อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราเลือกแล้ว แต่ก็ต้องฝึกอย่างถูกวิธีจึงจะได้ผล วิธีที่ผมจะพูดต่อไปนี้เชื่อว่าแทบทุกท่านก็รู้แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งสามัญไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็อนุญาตให้ผมพูดสักหน่อยแล้วกันครับ คือ
       [หนึ่ง] ต้องตั้งใจฟัง, นี่อาจจะเป็นสิ่งสามัญเกินไปจนไม่มีใครพูดถึงเพราะเห็นว่าทุกคนที่เรียนควรรู้อยู่แล้ว, แต่ผมก็ยืนยันอยากจะพูดเรื่องนี้ เหมือนคนทำอาหารต้องใช้มีดคมหั่นผักหั่นหมู แต่บางคนก็ยังละเลยไปเอามีดทื่อมาใช้ไม่ยอมลับให้คม อาหารกว่าจะทำเสร็จก็ช้าและออกมาไม่ดี นี่เรียกว่าตายน้ำตื้นแถมบางคนยังไม่รู้ตัว ผมไม่อยากให้คนฝึกฟังภาษาอังกฤษต้องเป็นอย่างนี้ คือ ฟังอย่างไม่ตั้งใจแต่ก็ไม่รู้ตัว
       [สอง] เมื่อเรามีความตั้งใจในการฝึกฟัง และเลือกเรื่องที่ไม่ยากเกินไปมาฝึก เมื่อได้สองอย่างนี้เป็นต้นทุนแล้ว ขณะที่ฝึกฟัง ถ้าฟังไม่รู้เรื่องทั้งหมดก็ไม่ต้องหงุดหงิด, ตกใจ, หรือรำคาญ แต่ขอให้ตั้งใจฝึกอย่างนี้ครับ คือพยายามจับให้ได้ว่า "คำไหน - วรรคไหน" ที่เราฟังไม่รู้เรื่อง, เปรียบง่าย ๆ ว่า เราจับคนร้ายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้จำหน้าคนร้ายให้ได้ ถ้าจำได้โอกาสที่จะแจ้งตำรวจให้ตามจับก็ทำได้ง่ายขึ้น
       และเราก็ฟังซ้ำอีก 1 หรือ 2 เที่ยว แล้วพยายามเพ่งหูเป็นพิเศษเพื่อพยายามฟัง คำนั้น-วรรคนั้น ที่เราฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าฝึกอย่างนี้ โอกาสที่จะฟังรู้เรื่องก็จะมีมากขึ้น
      [สาม] แต่ถ้ายังฟังได้ไม่ดีขึ้น ก็ให้อ่าน subtitles (อาจจะเปิด play คลิปและปิดเสียง) หรืออ่าน text ซึ่งเป็น transcript ที่เขาให้มา, พยายามตีความให้รู้เรื่องโดยตลอด, เสร็จแล้วก็เปิดฟังอย่างตั้งใจใหม่อีกครั้ง
       ผมเชื่อว่า ถ้าได้ฝึกอย่างที่ว่ามานี้ โอกาสที่จะพัฒนา English listening skill จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
       สรุปวิธีฝึกฟังให้รู้เรื่อง

  1. เลือกเรื่องที่จะฝึกฟังที่ไม่ยากเกินไป
  2. ฝึกฟังอย่างตั้งใจ ใช้สมาธิ ใช้ส่วนที่ฟังรู้เรื่องไปเดาส่วนที่ฟังไม่รู้เรื่อง
  3. เพ่งหูฟังว่า "คำไหน - วรรคไหน" ที่ฟังไม่รู้เรื่อง, และฟังซ้ำอีก 1 - 2 เที่ยว
  4. อ่าน Subtitles หรือ Text (transcript) โดยพยายามตีความให้เข้าใจโดยตลอด, และกลับไปฟังซ้ำอีกครั้ง

พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com