เปิดดิกอ่านก็ทำได้ แต่ทำยังไงให้อ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ และได้ประโยชน์คุ้มค่า

pencil

สวัสดีครับ
        ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ที่เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อผู้เรียนภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า learner's dictionary นั้น เนื้อหาไม่ได้บอกแค่ความหมาย แต่ยังมีข้อมูลและคำอธิบายอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำศัพท์ไปใช้ในการอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน ภาษาอังกฤษ ได้อย่างครบถ้วน
       เท่าที่ผมรู้จักคุ้นเคย learner's dictionary ที่มีชื่อดังและคุณภาพดี มีอยู่ทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ซึ่งทุกยี่ห้อมีให้ใช้ฟรี online คลิกดู  
       ดิกพวกนี้ ถ้าท่านไปซื้อที่ร้านขายหนังสือใหญ่ ๆ เช่นศูนย์หนังสือจุฬาฯ   ท่านก็ถามหาดิกเวอร์ชั่นล่าสุดของยี่ห้อนั้น เช่น ดิก Oxford ซึ่งมักจะขายควบกันเป็นหนังสือเล่มและแผ่น DVD โปรแกรมดิกนำมาใช้ติดตั้งใน PC ชุดหนึ่งแพงหน่อยราคาประมาณ 1000 บาท แต่ก็คุ้มค่าใช้ได้ทั้งบ้าน ทั้งพ่อแม่ลูก
      แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมขอพูดเ้ป็นพิเศษ คือ เท่าที่ผมเห็น บางคนซื้อมาแล้วใช้ไม่คุ้มค่า คือถ้าเป็นแผ่น DVD โปรแกรมดิก เขาก็จะมีเนื้อหาในหนังสือทั้งเล่มอยู่ในแผ่นโปรแกรม DVD นั้น แถมด้วย exercise, test, game, picture, database และอาจจะมีอื่น ๆ อีกเยอะแยะ ถ้าท่านไม่ขยันคลิกเข้าไปสำรวจด้วยตัวเองว่าในแผ่นนั้นมีอะไรบ้าง ก็เหมือนท่านได้โรงงานมาทั้งโรง แต่รู้จักห้องรับแขกอยู่ห้องเดียว แต่ห้องและ workshop อื่น ๆ อีกมากมายท่านไม่ได้เข้าไปใช้ ซึ่งน่าเสียดายนัก และการอ่านคำอธิบายของคนอื่นมันก็ไม่ดีเท่ากับคลิกเข้าไปดูเอง
       อย่างเช่นผมเคยนำไฟล์โปรแกรมดิก Collins COBUILD Advanced Learner's English Dictionary มาให้ท่านดาวน์โหลดไปติดตั้งใช้งาน และได้เขียนคำแนะนำโดยละเอียดในการใช้งาน→ คลิกดู   แต่ผมก็รู้สึกว่า คำแนะนำนี้มันไม่มีประโยชน์เลยถ้าท่านไม่คลิกเข้าไปใช้งานด้วยตัวเอง
       คราวนี้มาถึงดิกที่ท่านซื้อมาเป็นเล่ม ๆ บ้าง
       โดยปกติหลายคนจะเปิดดิกเมื่อติดศัพท์ ถ้ารู้ศัพท์ก็ไม่ต้องเปิดดิก
       แต่ผมขอเสนอว่า เรายังมีอีก 1 วิธีในการใช้ดิกให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในการซื้อ คือ ใช้ดิกเป็นเครื่องมือในการ
→ฝึกทบทวนคำศัพท์ที่รู้แล้วแต่ลืมเลือน ไม่แน่ใจ
→ฝึกเพิ่มคำศัพท์ที่ยังไม่รู้จัก
→ฝึกอ่าน ฝึกเดา ฝึกตีความ หรือก็คือฝึก reading skill นั่นแหละครับ
→ฝึกนำคำศัพท์ที่เรารู้จัก ไปใช้ในการพูดให้ได้
       เพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ผมขอให้คำแนะนำแบบสรุป ไปทีละข้อ ๆ ดังนี้ครับ
【1】สมมุติว่า ตอนนี้ท่านมีดิกอังกฤษ-อังกฤษ อยู่ในมือ หรือเปิด eBook ดิก เล่มนี้ก็ได้ → http://tinyurl.com/ya57bd2f  
【2】ให้สังเกตว่า ในหน้าคำศัพท์ ตั้งแต่ A ถึง Z จะมีศัพท์อยู่กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 2000 - 3000 คำ ซึ่งดิกกำหนดเป็นศัพท์พื้นฐาน และแนะนำให้ผู้เรียนเข้าใจและจำให้ได้ ศัพท์กลุ่มนี้มักมีเครื่องหมายพิเศษกำกับไว้ เช่น รูป ♦ หรือ ★ หรือ ● หรือไฮไลท์สี เมื่อเราพลิกหรือคลิกดู ก็ให้สังเกตสัญลักษณ์เหล่านี้ และอาจจะเลือกศึกษาคำพวกนี้ก่อน
【3】การนำเสนอข้อมูลของศัพท์แต่ละตัว ดิกต่างเล่มก็อาจจะต่างกันไปบ้าง แต่โดยตัวไปจะเสนอตามลำดับ ดังนี้

  • 1)คำศัพท์
  • 2)โฟเนติกส์ที่แสดงคำอ่านและพยางค์ที่ลงเสียงหนัก(เสียงหนัก = เสียงตรีในภาษาไทย) → http://tinyurl.com/ybbeodpt  
  • 3)ประเภทของคำ หรือ part of speech
  • 4)คำนิยามศัพท์ หรือ definition ซึ่งถ้ามีหลายความหมาย ก็จะนำความหมายที่เจอบ่อย-ใช้บ่อย ไว้เป็นลำดับต้น ๆ
  • 5)ประโยคหรือวลีตัวอย่าง โดยมากจะพิมพ์เป็นตัวเอน และเท่าที่เห็น ดิกส่วนใหญ่จะนำประโยคหรือวลีที่ใช้กันจริง ๆ มาบรรจุไว้ในดิกให้ผู้ใช้ศึกษา เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นโครงสร้างของประโยคและความหมายของคำศัพท์ตามที่ปรากฏในตัวอย่าง เพื่อให้คุ้นเคยกับคำศัพท์ที่ใช้จริง ๆ ในการพูดหรือเขียน อย่างไรก็ตาม มีศัพท์บางคำที่ไม่มีประโยคตัวอย่างให้ดู แต่ก็เป็นส่วนน้อย

【4】เมื่อเราเล็งได้คำศัพท์ที่จะศึกษา ให้ศึกษาไปตามลำดับ ดังนี้
→ข้อ 1) คำศัพท์ และข้อ 2) คำอ่าน ให้ดูไปพร้อมกัน โดยดูว่า เราอ่านและลงเสียงพยางค์หนัก ถูกต้องหรือไม่
→ดูข้อ 3)ว่าเป็นคำประเภทใด เช่น คำว่า light ซึ่งเป๋นคำ adjective หรือ adverb ตามตัวอย่างนี้ 

     คลิก  
          วิธีฝึกก็คือ ให้เรานึกในใจก่อนว่า ถ้า light เป็นคำ adjective มันจะแปลว่าอะไร และก็อย่าเพิ่งเลื่อนสายตาไปดู definition ของมันซึ่งเป็นข้อที่ 4) แต่ให้ข้ามไปดูข้อที่ 5) คือประโยคหรือวลีตัวอย่างซึ่งพิมพ์ด้วยตัวเอน และดูซิว่า เมื่ออ่านประโยคตัวอย่างแล้ว เราสามารถเดา/ตีความ ความหมายของ light จนเข้าใจได้หรือไม่ เสร็จแล้วจึงเหลือบสายตาไปดูข้อที่ 4) หรือ คำนิยาม/definition
→เสร็จแล้ว ให้ฝึกออกเสียงดัง ๆ คือ เปล่งเสียงคำศัพท์เป็นคำ ๆ ออกมาดัง ๆ , อ่านประโยคหรือวลีตัวอย่างออกมาดัง ๆ สัก 2 - 3 เที่ยว, และลองพูดประโยคนั้นโดยไม่เหลือบตาไปอ่าน ดูซิว่าจะพูดได้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องพูดได้เหมือนเด๊ะทุกคำ ถ้าเราสามารถสื่อเนื้อหาของประโยคนั้นได้ ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าพูดไม่ได้ก็กลับไปอ่านและพูดตามอีกสัก 2 -3 เที่ยว คราวนี้ลองพูดใหม่โดยไม่ดูข้อความอีกครั้ง ซึ่งเราน่าจะสามารถสื่อความได้ดีขึ้น
        การดูและฝึกตามลำดับดังนี้ คือ 1) 2) 3) 5) 4) และลงท้ายด้วยการฝึกเปล่งเสียงและพูดสื่อความประโยคนั้นออกมาดัง ๆ โดยในขั้นแรก ให้เลือกฝึกกับคำศัพท์ที่เรารู้จักเป็นอย่างดี แต่รู้จักไม่ครบ คือรู้จักแค่คำแปล การได้รู้จักด้านใหม่ ๆ ของศัพท์เก่า ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอาแต่รู้จักคำศัพท์+คำแปล เป็นพัน ๆ คำ แต่พอถึงเวลาที่จะใช้อ่าน(เดา,ตีความ) หรือใช้พูด(สื่อความ) กลับใช้ไม่เป็น เพราะรู้แค่ผิว ๆ อย่างนี้คงใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนัก
        ท่านผู้อ่านครับ ถ้าท่านมีดิกอังกฤษ-อังกฤษ อย่างที่ว่านี้อยู่ติดบ้าน วันหนึ่ง ๆ ลองหยิบขึ้นมาศึกษาคำศัพท์ในทำนองที่ผมแนะนำนี้สัก 4 - 5 คำ โดยเริ่มจากคำที่เรารู้คำแปลแล้ว ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่นานนักท่านก็จะสามารถใช้ให้ศัพท์ทำงานในการพูดและเขียน

       หรือท่านจะเอาง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ เมื่อพลิกหน้าดิก หรือคลิกเข้าไปที่หน้า eBook Dictionary แล้ว ก็เหมือบสายตาไปที่คำศัพท์ที่เป็นตัวตั้งสีฟ้า เมื่อตกลงใจว่าจะศึกษาตัวนี้แหละ ก็เลื่อนสายตาไปดูตัวเอนที่เป็นประโยคตัวอย่างทันทีเลย ดูซิว่าอ่านเข้าใจมั้ย แล้วจึงค่อยเลื่อนสายตาย้อนไปดูคำนิยาม หรือ definition จะฝึกง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้
        การฝึกอย่างนี้ จะได้ประโยชน์หลายอย่าง และคุ้มค่าเงินที่ท่านจ่ายไปในการซื้อดิกด้วยครับ
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/