Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

วิธี ฝึกอ่าน-ฝึกฟัง ภาษาอังกฤษ ให้ประสบความสำเร็จ

ได้ผลและไม่คิดมาก700

สวัสดีครับ
       ผมแนะนำท่านผู้อ่านบ่อย ๆ ว่า ให้ฝึกอ่าน-ฝึกฟังภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเริ่มจากเรื่องที่ชอบ หรือเนื้อเรื่องที่เราพอจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่ไม่ยาวเกินไป ไม่ยากเกินไป ฝึกให้ได้ทุกวัน และทักษะของเราจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น คืออ่านรู้เรื่องมากขึ้น - ฟังรู้เรื่องมากขึ้น ฝึกไปเรื่อย ๆ อย่างนี้โดยไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องใจร้อน ไม่ต้องหวังมากเกินไป และก็ไม่ต้องท้อเมื่อไม่ได้ผลเร็วทันใจ

       มันเหมือนการเดินไปยังอีกฟากหนึ่งของภูเขาโดยเดินลอดอุโมงค์ที่วิศวกรเขาเจาะไว้แล้วใต้ภูเขา และเราก็ไม่ใช่คนแรกที่เดิน มีคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสนนับไม่ถ้วนที่เคยเดินเส้นทางนี้มาแล้ว และก็ถึงปลายทาง แม้ว่าจะต้องใช้เวลามากสักหน่อยกว่าจะเดินทะลุถ้ำและเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ขอให้เราเดินอย่างมีความหวัง เพราะมันไม่ใช่ถ้ำหรืออุโมงค์ที่ตัน ถ้าเดินไม่หยุด ทุกก้าวที่เดินก็คือทุกก้าวที่ใกล้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

       ผมเองเชื่อมั่นในคำแนะนำนี้ เพราะผมเองก็ฝึกภาษาอังกฤษอยู่ทุกวัน มีอะไรอีกเยอะแยะที่ไม่รู้จึงต้องเรียนเพิ่ม ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้
       แต่วันนี้ผมขอนำคำแนะนำเดิมนี้มาพูดอีกสักหน่อย ในแง่ของกำลังใจ คือผมเห็นรุ่นน้องหลายคนที่เรียนจบออกมาด้วยทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง และเมื่อได้งานทำในหน่วยงานที่เคี่ยวเข็ญว่าพนักงานต้องเก่งอังกฤษ ก็รู้สึกท้อเพราะรู้สึกว่าฟิตไม่ขึ้น ถ้าหน่วยงานนั้นมีคนเก่งอังกฤษอยู่เยอะหรือเขาจัดคอร์สให้เข้าฝึก อย่างนี้ก็พอจะจูงกันไปได้ แต่ถ้าต้องฝึกคนเดียว-ฟิตคนเดียว-แก้ข้อสงสัยด้วยตัวเองคนเดียว ก็ทำให้ท้อง่าย ๆ ไม่อยากกัดฟันเดินต่อ

       คำแนะนำของผมยังเหมือนเดิมครับ คือ ฝึกกับเนื้อหาที่รัก ที่ชอบ เริ่มฝึกกับเนื้อหาที่ไม่ยากเกินไป พอเข้าใจอยู่บ้าง เริ่มฝึกกับเรื่องที่ไม่ยาวเกินไป หรือถ้ามันยาวก็แบ่งเป็นส่วน ๆ ฝึกให้จบวันละส่วนสั้น ๆ ตามที่แบ่งไว้ จะได้เกิดความรู้สึกว่าเราฝึก "เสร็จ" ฝึกตามข้อ 1-2-3 นี้ ทุกวัน อย่าขาด ให้เกิดเป็นนิสัยหรือ momentum ในการฝึก

       คราวนี้มาถึงเรื่องที่ผมอยากจะพูดเป็นพิเศษในวันนี้ คือ เท่าที่ผมสังเกตเว็บไทยจำนวนมากที่สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งผลิตเนื้อหาดี ๆ ออกมาทุกวัน และผมก็นำมาแนะนำในเว็บ www.e4thai.com  และหน้า Facebook บ่อยมาก เนื้อหาพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายคำศัพท์, วลี, idiom, ประโยค ที่เจอบ่อย-ใช้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสนทนาภาษาอังกฤษ โดยสิ่งที่มักจะขาดไม่ได้ก็คือ มีคำแปลภาษาไทยแนบไว้ให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนให้อ่าน หรือคลิปให้ดู(ผ่าน YouTube)

       ผมอยากจะบอกว่า ข้อเขียนและคลิปพวกนี้แม้จะมีประโยชน์มาก ๆ ถึงมากที่สุด แต่ถ้าเรา "เสพติด" มากเกินไป คือ อ่านและฟังภาษาอังกฤษโดยเอาแต่พึ่งคำแปลพร้อมใช้ โดยไม่หัดพึ่งตัวเอง เราจะเหมือน "เด็กไม่รู้จักโต" ในการเรียนหรือใช้ภาษาอังกฤษ

       ท่านอาจจะบอกว่า ใจจริงก็ไม่อยากพึ่งคำแปลสำเร็จรูปพวกนี้หรอก แต่มันอ่านหรือฟังไม่รู้เรื่อง หรือรู้แต่ไม่แน่ใจ จะให้พึ่งใครถ้าไม่พึ่งเขา
       ผมฟังแล้วก็เห็นใจ แต่ก็อยากจะยืนยันว่า ถ้าท่านฝึกจริงจังตามข้อ ① ② ③ ④ ข้างบน ด้วยใจที่เป็นสมาธิ หนักแน่น มั่นคง ไม่ปล่อยให้ความ "กลัวภาษาอังกฤษ" เป็นผีมาหลอกมากเกินไป ท่านก็จะค่อย ๆ เก่งขึ้นจริง ๆ เป็นอิสระ เพราะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องเรียนภาษาอังกฤษชนิดเสพติดคำแปล

       ท่านอาจจะย้อนว่า คนที่เปิดดิก อังกฤษ → ไทย ก็พึ่งคำแปลเหมือนกัน แล้วมันต่างยังไงระหว่างผู้รู้แปลให้กับเราเปิดดิกเอง
       ต่างกันครับ ต่างกันแน่ ๆ ต่างกันในทางปฏิบัติ ผมขอยกตัวอย่างหน้าแรกของหนังสือเรื่องโรบินสัน ครูโซ ซึ่งมีคำแปลศัพท์เป็นไทยพร้อมใช้ไว้ให้ข้าง ๆ
       → คลิกดู  
       ท่านจะเห็นว่า คำแปลที่ให้ไว้มันสอดคล้องกับเนื้อเรื่องเด๊ะ ๆ พอท่านสงสัยก็เหลือบไปดูคำแปลพร้อมใช้นั้นได้ทันที แต่ว่าการจะพัฒนา reading skill นั้น เมื่อผู้เรียนเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้ การปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ อย่าเพิ่งเปิดดิก ให้ลองเดาก่อนโดยอาศัยข้อความข้าง ๆ หรือ context ถ้าเห็นว่าพอจะเดาได้ก็ผ่านไปเลย อย่าเอาแต่เปิดดิกจนทำให้การอ่านสะดุดไปตลอดทาง ต่อเมื่อติดคำศัพท์ที่สำคัญจริง ๆ ต้องรู้ทันทีและเดาไม่ออก จึงค่อยเปิดดิก

       แต่เนื่องจากศัพท์คำหนึ่ง ๆ ที่ดิกโชว์อาจจะมีหลายความหมาย คนอ่านจึงต้องใช้สมองขบคิดว่า ความหมายใดนะที่มันเข้ากับเนื้อเรื่อง และยังอาจจะต้องตีความอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้มันไปกันได้สนิทกับเนื้อเรื่องที่อ่าน

       ท่านคงเห็นความต่างแล้วนะครับ ระหว่างดูคำแปลสำเร็จรูปกับเปิดดิกหาคำแปลด้วยตัวเอง วิธีไหนช่วยให้สมองพัฒนามากกว่ากัน และช่วยเพิ่ม reading skill มากกว่ากัน

      เนื้อหาที่มีคำแปลพร้อมใช้แนบมาให้นี้ มันยากที่ผู้เรียนจะห้ามสายตาไม่ดูมัน และทันทีที่ดู สมองก็ผ่อนคลายไม่ต้องออกกำลัง เรียนกันอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ ก็คงไปได้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ
      นั่นคือโทษของการฝึกอ่าน แบบเสพติดคำแปลพร้อมใช้

pencil

      คราวนี้มาพูดถึงการฟังบ้าง
      เมื่อท่านเข้าไปที่ YouTube เพื่อหาคลิปมาฝึกฟังภาษาอังกฤษ หรือ listening skill
วิธีฝึก listening skill ที่ได้ผลน้อยที่สุด ก็คือ ดูไป-ฟังไป พร้อมกับอ่าน subtitles ภาษาไทย
วิธีฝึก listening skill ที่ได้ผลมากขึ้นมาหน่อย ก็คือ ดูไป-ฟังไป พร้อมกับอ่าน subtitles ภาษาอังกฤษ
วิธีฝึก listening skill ที่ได้ผลมากที่สุด ก็คือ ดูไป-ฟังไป อย่างตั้งใจ(ตั้งหู)ฟัง โดยไม่ต้องอ่าน subtitles อะไรเลย
        เรื่องนี้ต้องชี้แจงเพิ่มอีกนิดครับ คือถ้าเป็นคนฝึกฟังที่มีศัพท์ในคลังสมองของเขาเยอะอยู่แล้ว เขาจะมีศัพท์สำนวนขนาดใหญ่เป็นต้นทุน แต่การที่เขาฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็เพราะ "สำเนียง" เพราะฉะนั้นเมื่อเขาฟังซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง "ศัพท์/สำนวน" และ "สำเนียง" ของเขาก็จะจูนเข้าหากันเอง ทำให้เขาฟังรู้เรื่องได้ในที่สุด

       [ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าใครคิดว่าจะขอท่องจำศัพท์ให้ได้เป็นหลายพันหลายหมื่นคำ ก่อนจะลงมือฝึกอ่าน-ฝึกฟังภาษาอังกฤษจริง ๆ ทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับทหารสะสมลูกกระสุนไว้เต็มคลังแสง แต่ไม่ยอม-ไม่กล้าออกซ้อมรบเข้าสนามจริงเพื่อยิงปืน อย่างนี้ คำศัพท์หรือกระสุนที่สะสมไว้ มันจะมีประโยชน์มากแค่ไหน ท่านคงพอมองออก ]

       แต่คนที่รู้ศัพท์น้อยจะใช้วิธีที่ นี้ขนานเดียวก็อาจจะไม่เหมาะนัก ผมจึงได้แนะว่า ถ้าเราพื้นยังไม่ค่อยแข็ง ก็ต้องยอมถ่อมใจ ใช้วิธีฝึกไต่ง่าย ๆ ไปก่อน ตามที่ผมว่าไว้ คือ ①ฟังเรื่องที่รัก ②ฟังเรื่องที่ไม่ยากเกินไป ③ฟังเรื่องที่ไม่ยาวเกินไป ④ฟังทุกวัน และอีก 1 วิธีที่ใช้ฝึกแทรกเข้าไปได้ก็คือ ถ้าคลิปนั้นมี transcript ให้อ่าน ก็ศึกษามันซะก่อนให้เข้าใจมากที่สุด หรือถ้าคลิปนั้นมี English subtitles ให้อ่านบนจอ ก็ให้เปิดอ่านให้เข้าใจตลอดโดยปิดเสียง (play ↔ pause) พอถึงเวลาดูคลิป/ฟังคลิป ก็จะได้ฝึก listening skill อย่างแท้จริง

pencil

       ผมทราบดีว่า ทุกท่านที่ฝึกอ่านหรือฝึกฟังภาษาอังกฤษ ก็ต้องการ "อ่านรู้เรื่อง-ฟังรู้เรื่อง" แต่การไม่พึ่งคำแปลพร้อมใช้ที่เขาให้มา ก็อาจจะทำให้เรา "อ่านไม่รู้เรื่อง-ฟังไม่รู้เรื่อง" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็อยากให้ท่านฝึกให้ตัวเองรู้เรื่องจริง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งผู้ช่วยไปชั่วชีวิต ตามวิธีที่ได้แนะนำ

ฝึกอ่าน

       และวิธีง่าย ๆ ที่เราจะมีกำลังใจในการฝึก ก็ต้องทำให้ตัวเองรู้สึกว่า วันนี้ เราได้ฝึกอย่าง "ประสบความสำเร็จ" มีทั้ง "ปริมาณ" และ "คุณภาพ"
        ฝึกอย่างมี "ปริมาณ" ก็คือ กำหนดปริมาณ หรือชิ้นงาน ที่ไม่มากเกินไป ให้รู้สึกว่าตัวเอง "อ่านจบ" หรือ "ฟังจบ" อย่างน้อย 1 ชิ้น
        ฝึกอย่างมี "คุณภาพ" ก็คือ ฝึกกับเนื้อหาที่ไม่ยากเกินไป ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง "อ่านเข้าใจ" หรือ "ฟังเข้าใจ" อย่างน้อย 1 ชิ้น
       การตั้งกติกาหรือวินัยให้ตัวเองปฏิบัติ ที่ "ไม่มาก" และ "ไม่ยาก" เกินไปเช่นนี้ ย่อมทำได้ถ้าท่านเป็น "คนจริง" และก็สามารถทำอย่างมี "กำลังใจ" อีกด้วย
       ในเว็บ e4thai.com มีเนื้อหาให้ท่านฝึกมากมาย เช่น
หนังสืออ่านนอกเวลา
อ่าน story พร้อมเพิ่ม English reading skill
ฟังภาษาอังกฤษ ง่าย ๆ
    หรืออื่น ๆ โดยคลิกที่ปุ่ม Reading หรือ Listening ในเมนูซ้ายมือของหน้าเว็บ หรือพิมพ์คำค้นในช่อง Search ก็ได้
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th/ 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com