แกรมมาร์พื้นฐานใช้บ่อยสุด 15 หัวข้อ (40 หน้า)

สวัสดีครับ
       ผมเปิดโปรแกรมดิก Longman ที่ลงไว้ในคอมฯ และก็เจอว่า เขามีคำอธิบายแกรมมาร์อยู่ 15 หัวข้อให้ไว้ เมื่อดูดี ๆ ก็เห็นว่า สาเหตุที่เขาเลือกแค่ 15 หัวข้อนี้มาลงไว้ในดิกทั้ง ๆ ที่แกรมมาร์นั้นมีเป็นร้อย ๆ เรื่อง ก็น่าจะเพราะว่า มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรรู้อย่างยิ่ง คือ 15 หัวข้อดังต่อไปนี้ครับ ผมทำหัวข้อให้ท่านคลิกดูได้ง่าย ๆ ที่ Bookmarks 
http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf2/Longman_Dictionary_Grammar.pdf
       ผมขอพูดเกริ่นนำพอเป็นหนังตัวอย่างสักนิดนะครับ
[1] Statements and questions
       พูดถึงว่าประโยคบอกเล่าจะทำให้เป็นปฏิเสธได้ยังไง? และประโยคคำถามมี 3 แบบ คือ 1)แบบให้ตอบ Yes หรือ No 2)แบบที่ขึ้นต้นด้วย Wh หรือ How และ 3)แบบที่ให้เลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีคำว่า or
        ดูแล้วเรื่องนี้ก็ง่าย ๆ แต่ก็อาจจะมีอะไรชวนงงอยู่บ้าง เช่น คำถามแบบให้ตอบ Yes หรือ No ซึ่ง tag questions ก็รวมอยู่ในข้อนี้ เมื่อถามว่า
It isn’t difficult, is it? มันไม่ยาก, ใช่มั้ยล่ะ?
เมื่อฝรั่งถามอย่างนี้ เขากะจะได้รับคำตอบว่า มันไม่ยาก
ถ้าเป็นคนไทย เราก็ตอบว่า "ใช่ มันไม่ยาก"
แต่ถ้าฝรั่งตอบ เขาจะตอบว่า "No, it isn't."
ท่านเห็นความยากที่ซ่อนอยู่ในความง่ายไหมครับ
หรือบางที รูปประะโยคเป็นคำถาม แต่คนพูดไม่ได้กะจะถาม ท่านเข้าไปดูได้เลยครับ

[2] Verbs: intransitive and transitive
Verb แบบไม่ต้องมีกรรม และ มีกรรม
นี่ก็ดูเป็นเรื่องง่าย แต่ผมขอยกอะไรมาให้ท่านงงสนุกเล่น ๆ สักเล็กน้อย
ลองดู intransitive verb หรือ verb ที่ไม่ต้องมีกรรม อย่างเช่น
She smiles. The sun rises.
เมื่อไม่มีกรรม ประโยคพวกนี้ก็ทำเป็น passive voice ไม่ได้ เพราะไม่มีกรรมที่ถูกกระทำ
แต่ถ้าพูดว่า They came home. เขามาบ้าน
ท่านดูประโยคนี้แล้วจะบอกว่ายังไง They(เขา) เป็นประธาน, came(มา) เป็นกริยา, home(บ้าน) เป็นกรรม ... เขามาบ้าน ประธาน+กริยา+กรรม ถ้าตอบอย่างนี้ผิดนะครับ เพราะว่าในประโยคนี้ home ไม่ได้เป็นคำนาม และไม่ได้เป็นกรรม แต่มันทำหน้าที่เป็น adverb แปลว่า ถึงบ้าน หรือ ที่บ้าน ขยาย verb - came(come) เพราะฉะนั้น They came home. จึงแปลว่า เขามาถึงบ้าน
และการที่ home ไม่ได้เป็นคำนาม และไม่ได้เป็นกรรม นี้ เราจึงเปลี่ยนเป็น passive voice ไม่ได้
คือจะบอกว่า Home was come(ช่อง 3) by them. อย่างนี้ไม่ได้เด็ดขาด
ดูแล้วก็ตลกนะครับ

[3] - [4] - [5] Talking about the present, past, future
นี่เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเขาอธิบายแบบกระชับแต่กระจ่าง
ผมขอแนะนำให้ท่านเข้าไปอ่าน 3 หัวข้อนี้ให้ละเอียดสักหน่อย เพราะน่าสนใจจริง ๆ

[6] Phrasal verbs
เรื่อง phrasal verb นี่นะครับ มันมี 2 ตัว, ตัวแรกเป็น verb, ตัวหลังเป็น adverb หรือ preposition เช่น get up, put off, turn on แต่บางทีก็มี 3 ตัว เช่น look forward to หรือ get away with
ความหมายของ phrasal verb มักจะต่างไปจากแปลทีละตัวและเอามารวมกัน
ถ้ามันง่ายเราก็พอเดาได้ เช่น come in

  • She had no money coming in and no funds. (come in = ได้รับเป็นรายได้ประจำ )

แต่โดยทั่วไป มันแปลต่างออกไปมาก ๆ เช่น

  • The match has been put off until tomorrow because of bad weather.

put = ใส่, วาง off = ออก
put off = เลื่อนเวลาออกไป
ในเอกสารนี้ของ Longman เขาอธิบายเรื่อง Phrasal verbs ได้กระชับดี

[7] Modal verbs
       นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก คือการใช้คำพวกนี้ can, may, will, shall, must, could, might, would, should, ought to, used to, dare, need  เพื่ออนุญาต, สั่ง, แสดงความตั้งใจ, ความสามารถ, ความเป็นไปได้, การสมควร, ความน่าจะเป็น, ความอยากได้, ความจำเป็น, ความแน่นอน, การเดาหรือคาดการณ์
        เท่าที่ผมสังเกต สาเหตุง่าย ๆ ที่เรื่อง Modal verbs ทำให้คนไทยงงก็เพราะ เรายึดมั่นในคำแปลสำเร็จรูปมากเกินไป เช่น should เราแปลว่า "ควรจะ" เช่น You shouldn’t say things like that. คุณไม่ควรจะพูดอย่างนั้น แต่บางทีมันแปลว่า "น่าจะ" ก็ได้ เช่น If you take these tablets, you should be all right. ถ้าคุณกินยานี้ ก็น่าจะอาการดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ Modal verb 1 ตัวใช้ได้หลายความหมาย จึงน่าสังเกต เพราะมันอาจจะแปลต่างจากที่เราเคยแปล

[8] Conditionals
       ประโยคเงื่อนไข ที่ขึ้นต้นด้วย If..... หรือบางทีก็ใช้ when แทน if
       หรืออย่างประโยคที่ขึ้นต้นด้วย I wish คือ อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราอยาก อันนี้ก็ต้องเรียนรู้เป็นพิเศษสักหน่อย

[9] Active and passive
       2 voice นี้ไม่ใช่เรื่องยากมากนัก แต่มันใช้บ่อยมาก จึงไม่น่าใช้ผิด

[10] - [11] Nouns: countable and uncountable และ Nouns: singular and plural
       นามนับได้-นับไม่ได้ และ นามเอกพจน์-พหูพจน์ อันนี้ภาษาไทยไม่มี เรื่องนี้ไม่ยากนัก แต่มันก็มีรายละเอียดอยู่เล็กน้อยที่ควรรู้

[12] Determiners and articles
       determiner ที่วางหน้าคำนาม เช่น my book, this book, some books, each book, no book อันนี้การใช้ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็น article คือ a, an, the นี่ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่ง่ายนัก เขาก็สรุปให้ฟัง
[13] Word order
       การนำ noun หรือ adjective หลาย ๆ ตัวมาเรียงกันให้ถูกต้อง ข้อสอบมักจะออกบ่อย

[14] Comparison
       หัวข้อนี้น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะในชีวิตจริงเราก็พูดเปรียบเทียบกันเป็นปกติอยู่แล้ว คือ มากกว่า น้อยกว่า เท่า ๆ กัน

[15] Reported speech
เรื่องนี้มันชวนงงเพราะมันเกี่ยวกับเรื่อง tense ที่ไม่มีในภาษาไทย เช่น

  • Direct speech: He said, “I came by bus.”
  • Indirect speech: He said that he had come by bus.

ตอนที่ผมเรียนเรื่องนี้ตอนอยู่ชั้นมัธยม ผมสงสัยจริง ๆ ว่าทำไมต้องเปลี่ยนจาก past tense เป็น past perfect tense ทำไมต้องเรื่องมากอย่างนี้


       ลองเข้าไปอ่านดูเถอะครับ เขาเขียนสรุปสั้น ๆ อ่านไม่ยากเท่าไหร่ 15 เรื่อง 40 หน้าเท่านั้นเอง
http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf2/Longman_Dictionary_Grammar.pdf
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/En4Th