Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ศัพท์: ไม่รู้ไม่ได้ แต่เมื่อรู้แล้วต้องใช้ให้ได้ วิธีฝึกใช้... ฝึกยังไง?

mustknow sab
สวัสดีครับ
       เรื่องที่จะคุยต่อไปนี้ เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่คนเรียนภาษาอังกฤษมาสักพักคงรู้แล้ว ฉะนั้น ผมขอมุ่งคุยกับน้อง ๆ ที่เริ่มเรียนก็แล้วกัน เพื่อให้เห็นทางข้างหน้าที่จะเดินไป
       คือมีคนถามมาเรื่อย ๆ ว่า จะเรียนภาษาอังกฤษต้องเรียนอะไรก่อน เช่น ฝึกพูดก่อน อ่านก่อน หรือเรียนแกรมมาร์ก่อน หรือท่องศัพท์ก่อน และจะเรียนยังไง
       คำถามอย่างนี้เหมือนกับถามว่า จะแกงส้มกินสักหม้อจะต้องเตรียมอะไรก่อน ถ้าเป็นแม่บ้านที่ทำกับข้าวเป็นประจำก็ตอบได้โดยไม่ต้องคิดว่า ก็เตรียมเครื่องปรุงที่ต้องใช้ ผัก ปลา กุ้ง หอม กะปิ มะขาม ฯลฯ จะแกงส้มอะไร จะใช้อะไรก็เตรียมให้ครบ
       แต่แม่บ้านที่ตอบได้อย่างนี้ ก็เพราะเธอแกงเป็น เธอรู้วิธีแกงอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นแม่บ้านฝรั่งที่สามีมาทำงานเมืองไทย และต้องการโชว์ฝีมือทำแกงส้มให้เขากิน นอกจากเตรียมเครื่องปรุงแล้ว เธอยังต้องรู้วิธีปรุงเครื่องอีกด้วย มีเครื่องปรุงแต่ปรุงเครื่องไม่เป็น ก็ปรุงออกมาเป็นแกงไม่ได้
       ในการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้อ่านออก-เขียนได้ ฟังออก-พูดได้ ศัพท์สำนวนก็เหมือนเครื่องปรุง ส่วนการใช้ภาษาหรือแกรมมาร์ก็คือการปรุงเครื่อง 2 อย่างนี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
       ฝรั่งเขาไม่ต้องเรียนแกรมมาร์ เพราะเขาเรียนแกรมมาร์คือการใช้ภาษาตามธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด แต่เราคนไทยเมื่อจะใช้ภาษาอังกฤษ แกรมมาร์ก็น่าจะรู้ไว้บ้าง(แต่ก็ไม่ต้องซีเรียสเกินไป) เหมือนแม่บ้านไทยที่ไม่ต้องเรียนวิธีปรุงแกงส้ม แต่แม่บ้านฝรั่งถ้าไม่เรียนไม่ฝึกไว้บ้าง ต่อให้มีเครื่องแกงครบถ้วน ก็คงแกงได้ลำบาก
        คำถามคือ เราคนไทยมาหัดพูดภาษาอังกฤษตอนโตแล้ว เปรียบเหมือนแม่บ้านฝรั่งเพิ่งมาหัดทำแกงส้มเมื่อโตมีสามีทำงานที่เมืองไทย จะหัดยังไงเพราะไม่มีโอกาสเริ่มเรียนมาตั้งแต่เด็ก
        คำถามนี้ถ้าผู้รู้ที่เป็นนักวิชาการตอบ ก็คงแนะนำได้ยาวมาก แต่ถ้าให้ผมตอบก็คงได้สั้น ๆ ว่า ก็ลุยฝึกทุกอย่างพร้อมกันไปเลย – ฝึกอ่าน ฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกศัพท์ ฝึกแกรมมาร์ ฝึกมันทุกอย่างแหละครับ ขอย้ำ "ทุกอย่าง" และความไม่เข้าใจและการใช้ไม่เป็นที่เกิดขึ้น จะค่อย ๆ สอนให้เราเข้าใจและใช้เป็น เหมือนภาษิตว่า "ผิดเป็นครู" ถ้ากลัวจนไม่กล้าทำผิดก็คงไม่มีโอกาสเรียน แต่ถ้าทำผิดแล้วไม่ยอมเรียนก็คงไม่มีโอกาสรู้
        วันนี้ผมขอพูดเรื่องคำศัพท์และการฝึกให้รู้วิธีใช้คำศัพท์ ในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ที่บอกว่าฝึกทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน – ฝึกยังไง? ผมขอว่าไปทีละข้อ ๆ ดังนี้ครับ
[1] มีฝรั่งหลายสำนักเขาทำวิจัยเรื่องคำศัพท์ เพื่อคัดคำศัพท์ที่พบบ่อย-ใช้บ่อย ในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ออกมาเป็น list คำศัพท์ 1,000 คำ, 2,000 คำ, หรือ 3,000 คำ ศัพท์ใน list พวกนี้โดยส่วนใหญ่ก็มักจะตรงกัน ข้อสรุปที่เหมือน ๆ กันก็คือ ศัพท์ที่ฝรั่งใช้ 80-90 % ก็อยู่ใน list พวกนี้แหละ ส่วนศัพท์นอก list อีก 10-20 % นั้น ถ้าไม่รู้ก็เดาเอาได้จาก context หรือข้อความแวดล้อม หรือถ้าเดาไม่ได้ก็เปิดดิกหรือถามคนที่เราพูดด้วย เพราะฉะนั้นศัพท์พื้นฐานแค่ 1 – 3 พันคำนี้ถ้าจำได้-ใช้เป็นจะมีประโยชน์มาก เพราะมันเป็นพื้นฐานให้เราก้าวต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

       ศัพท์พวกนี้ก็เหมือนเครื่องแกงขั้นพื้นฐานที่ต้องมีติดครัว ใส่ตู้เย็นหรือแช่ช่องฟรีซไว้ จะกินอะไรก็หยิบออกมาปรุงได้ทันที อะไรอื่นอีกไม่กี่อย่างที่ขาดก็ค่อยซื้อเติม เหมือนศัพท์จำเป็นตัวอื่นที่ต้องรู้หรือต้องใช้จริง ๆ ก็ค่อยเปิดดิกเอาก็ได้
       ในเว็บ e4thai.com ได้รวบรวม list ศัพท์ อังกฤษ – ไทย พวกนี้เป็นไฟล์ pdf ไว้ที่ลิงก์นี้→ คลิกดู  
       นี่ผมเขียนจบส่วนแรกของบทความแล้วครับ คือ ❝ศัพท์: ไม่รู้ไม่ได้ ❞ และส่วนที่สองของบทความ คือ ❝แต่เมื่อรู้แล้ว.... ต้องใช้ให้ได้ ❞ อยู่ในข้อถัดไป
[2] ศัพท์พื้นฐานที่เรารู้หรือจำได้นั้น เราต้องฝึกจนเข้าใจ และใช้ให้เป็น ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ดังนี้ครับ

ฝึกอ่านคำศัพท์ให้เข้าใจ

       ศัพท์คำหนึ่ง ๆ อาจจะมีหลายความหมาย เราต้องเลือกความหมายที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังอ่าน/ฟัง และตีความให้รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น แค่จำศัพท์ได้ไม่พอ ต้องฝึกคิดวิเคราะห์และตีความด้วย เพราะประโยคยิ่งยาวหรือซับซ้อนมากเท่าใด ยิ่งตีความยากเท่านั้น
       ดูตัวอย่างคำว่า take ในประโยคสั้น ๆ ข้างล่างนี้ครับ ถ้ามีคนถามว่า คำว่า take ในภาษาไทยแปลว่าอะไร คำถามนี้ตอบยาก เพราะต้องดูว่าข้อความแวดล้อมมันคืออะไร เช่น

  • Take แปลว่า อุ้ม - Can you take the baby for a moment?
  • Take แปลว่า แย่งเอามา - She was playing with a knife, so I took it off her.
  • Take แปลว่า ติด - He started taking drugs at college.
  • Take แปลว่า เอาไป - Are these seats taken? (มีคนนั่งตรงนี้หรือยัง?)
  • Take แปลว่า ยอมรับ - I find his attitude a little hard to take.

       การฝึกคิดวิเคราะห์และตีความคำศัพท์ใน context ที่ว่านี้ จะฝึกที่ไหน? ก็ต้องฝึกอ่าน – ฝึกฟัง ที่ของจริง คือหาเรื่องที่รัก-ที่ชอบ มาฝึกอ่านจริง ๆ ไม่ใช่เอาแต่ท่องศัพท์ซึ่งทำให้แค่จำได้ แต่พอเจอของจริงอาจจะตีความไม่ออก อ่านไม่รู้เรื่อง คนที่เคยเข้าสอบ reading ข้อสอบ TOEIC หรือ TOEFL คงเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เพราะฉะนั้นการอ่านให้เจอศัพท์ทุกวันนั่นแหละคือวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกศัพท์

ฝึกฟังคำศัพท์ให้เข้าใจ

       การท่องศัพท์ให้รู้คำแปลอย่างเดียว แต่ถ้าไม่เคยฟังเสียงอ่านคำศัพท์ เป็นคำ ๆ เป็นประโยค และเป็นข้อความยาว ๆ พอได้ฟังจริง ๆ อาจจะฟังไม่เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่มันก็คือคำ ๆ นั้นนั่นแหละ การฝึกฟังให้หูคุ้นกับเสียงคำศัพท์ จึงจำเป็นมาก ท่านลองฟังคำง่าย ๆ ที่อยู่ในประโยคง่าย ๆ คำนี้ดูก็ได้ครับ คือคำว่า take ถ้าฟังรู้เรื่องแสดงว่าหูของท่านคุ้นกับเสียงของคำศัพท์  แต่ถ้าฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ต้องฟิตหูให้มากกว่านี้ครับ เพื่อให้ศัพท์ที่ท่านรู้มันทำงานรับใช้ท่านได้... ผ่านหู

       มีเว็บดิกหลายเว็บมีมีปุ่มให้ท่านคลิกฟังเสียงอ่านคำศัพท์ แต่ผมขอแนะนำ Longman Dictionary แล้วกันครับ เพราะมีให้ท่านคลิกฟังทั้งเสียงคำศัพท์เป็นคำ ๆ และเสียงอ่านประโยคตัวอย่างเต็ม ๆ ทั้งประโยค → คลิก

ฝึกออกเสียงคำศัพท์ให้ได้

       การสามารถนำคำศัพท์ที่รู้คำแปลแล้ว ไปแต่งประโยคเพื่อพูดสื่อความได้ดังใจนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนซึ่งเรียนภาษาอังกฤษปรารถนา แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมรู้สึกว่า มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องแรกที่คนเป็นจำนวนมากลืม... ลืมอย่างจริง ๆ จริง ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ... ก็คือ เขาลืมฝึกให้ออกเสียงคำศัพท์ได้อย่างมั่นใจ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือ คุณอาจจะรู้ว่า ศัพท์พวกนี้ออกเสียงยังไง แต่ถ้าคุณไม่มั่นใจ 100 % ในการออกเสียง เมื่อถึงเวลาที่ควรพูดคำ ๆ นั้นออกไป คุณก็จะไม่พูด และถ้าคำ ๆ เดียวยังไม่กล้าพูด ก็ยากที่จะพูดเป็นประโยค แต่ถ้าคำ ๆ เดียวนี้คุณกล้าพูดออกไปอย่างมั่นใจ 100 % step ต่อไปในการพูดให้เต็มประโยคก็ไม่ใช่เรื่องยาก

       ผมขอยกตัวอย่างคำหลายพยางค์ข้างล่างนี้ ท่านสามารถออกเสียงได้อย่างมั่นใจ 100 % หรือเปล่า?
       ขอให้ท่านลองฝึกพูดตาม  ตามเสียงที่ได้ยินนะครับ

คลิก → ฟังและออกเสียงตาม ทั้ง 6 คำ 

  • acceptable ซึ่งยอมรับได้
  • behaviour ความประพฤติ, พฤติกรรม
  • comfortable สบาย
  • distribution การจำหน่าย จ่าย แจก
  • economic เกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจ
  • unfriendly ไม่เป็นมิตร มุ่งร้าย

       สรุปอีกครั้งว่า การฝึกเปล่งเสียงคำศัพท์ดัง ๆ อย่างมั่นใจนี้ มีประโยชน์แน่ ๆ อย่างน้อย 2 อย่าง คือ (1) ช่วยให้ท่านจำคำแปลศัพท์ได้ง่ายขึ้น (2)ช่วยให้ท่านกล้าพูดคำศัพท์นี้เมื่อมีโอกาสพูด และกล้านำศัพท์คำนี้ไปแต่งประโยคเพื่อพูดออกไปจริง ๆ ... ทั้ง 2 ข้อนี้ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองฝึกดูครับ นี่เป็นวิธีฝึกง่าย ๆ ที่ผมใช้มาตั้งแต่สมัยโน้นเมื่อโลกนี้ยังไม่มีเน็ต และมันก็ใช้ได้ผล

ฝึกเขียนสะกดคำศัพท์ให้ถูกต้อง

       ท่านผู้อ่านครับ ถ้าผมพูดว่า การฝึกเขียนสะกดคำศัพท์ให้ถูกต้องจะช่วยพัฒนาทักษะการเขียน หรือ English writing skill ท่านคิดว่าผมพูดเว่อไปหรือเปล่า? ผมขอยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง และผมไม่ได้พูดถึงการใช้ 1-2 นิ้วพิมพ์ chat ผ่าน smartphone ถึงเพื่อน แต่กำลังพูดถึงการพิมพ์ภาษาอังกฤษแบบสัมผัส 10 นิ้วผ่านแป้นพิมพ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ การฝึกให้พิมพ์เร็ว-พิมพ์ถูกต้อง ทีละคำ โดยใช้โปรแกรม WORD ซึ่งมี spelling check เมื่อพิมพ์ผิดก็แก้ให้ถูก นี่เป็นก้าวแรก ก้าวต่อไปคือพิมพ์เป็นประโยค ถ้าท่านฝึกพิมพ์เขียนไดอะรี่เป็นภาษาอังกฤษทุกวัน ท่านก็จะได้ฝึกคำศัพท์ผ่านการฝึก spelling และ writing นี่ไม่ใช่การฝึกที่จิ๊บจ๊อยเลยครับ ขอให้ท่านตั้งใจ เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ แบบเตาะแตะ ๆ เมื่อเขียนทุกวัน พยายามหาเรื่องใหม่ ๆ แปลก ๆ มาเขียน ศัพท์ที่ท่านใช้ก็จะค่อย ๆ มากขึ้น ประโยคก็จะยาวขึ้น โดยท่านไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ขอให้ฝึกไม่หยุดเท่านั้นแหละ

pencil

       ท่านผู้อ่านครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ผมขอสรุปว่า ในการฝึกภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยที่ไม่ได้โตหรือเรียนเมืองนอก ศัพท์เป็นเรื่องจำเป็นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ แต่เมื่อท่านรู้คำแปลแล้ว ท่านต้องนำศัพท์ที่รู้มาฝึกใช้ ทั้งในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน การแยกเรียนรู้คำศัพท์โดยการท่อง แต่ไม่เข้าไปเจอคำศัพท์ในสนามอ่าน-ฟัง-พูด-เขียน จริง ๆ เป็นการเดินเข้าถ้ำตัน แต่ยังหวังจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ท่านไม่เห็นหรอกครับ เพราะทางตันยังไงก็เป็นทางตัน
   พิพัฒน์
   https://www.facebook.com/En4Th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com