Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ภาษาอังกฤษคนไทยแย่ "เรา" จะแก้ไขยังไงดี?

สวัสดีครับ
       ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร คำว่า "สื่อสาร" คือ "ส่งสาร" หรือ "รับสาร" หรือทั้งสองอย่าง คือ เมื่อเรามีเนื้อหาที่จะสื่อให้คนอื่นเข้าใจ เราก็สื่อโดยใช้ภาษา ที่เข้าใจได้ระหว่าง "ผู้ส่งสาร" และ "ผู้รับสาร"
       ข้อความข้างบนนี้อยู่ในบทที่ 1 ของวิชา "การสื่อสารเบื้องต้น" ซึ่งผมเรียนตอนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว สมัยนั้นนักศึกษาก็รู้ว่าทักษะภาษาอังกฤษมีประโยชน์ ซึ่งแปลว่า ถ้ามีก็ดี แต่ทุกวันนี้ทักษะภาษาอังกฤษจำเป็น ซึ่งแปลว่า ถ้าไม่มีก็แย่ อยู่รอดยาก คำว่ามีประโยชน์ในสมัยนั้น และจำเป็นในสมัยนี้ จึงต่างกันเยอะ
       แต่สำหรับนักเรียนนักศึกษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษมีไว้เพื่ออะไร? คำถามนี้หลายคนก็หลายคำตอบ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ต้องนำไปใช้เพื่อให้สอบผ่าน ถ้าสอบตกก็จะอดประกาศนียบัตรหรือปริญญา แต่ตอนที่เราสอบภาษาอังกฤษ เราควรจะสอบอะไรกันบ้างล่ะ?
       อย่างที่พูดแล้วว่า ทักษะภาษาอังกฤษเป็นเรื่องของการสื่อสาร คือ รับสารและส่งสาร เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนจะสอบคนที่เรียนภาษาอังกฤษ ก็ควรจะทดสอบว่า
       [1] เขารับสารได้ไหม? คืออ่านแล้วรู้เรื่องมั้ย และ ฟังแล้วรู้เรื่องมั้ย
            การ test ว่าเขารับสารแล้วเข้าใจไหม อันนี้ test ง่าย ก็ไอ้ข้อสอบ A B C D นั่นแหละครับ ถ้าเลือกถูกก็แสดงว่าเข้าใจถูก ถ้าเลือกผิดก็แสดงว่าเข้าใจผิด อันนี้ simple มาก
       [2] เขาส่งสารได้มั้ย? คือ เขียนให้คนอื่นอ่านรู้เรื่องมั้ย และพูดให้คนอื่นฟังรู้เรื่องมั้ย
            การ test ว่าเขาส่งสารแล้วคนอื่นเข้าใจหรือไม่ อันนี้ต้อง test โดยวัดความสามารถในการส่งสารจริง ๆ โดยให้เขาพูดและบันทึกเสียงพูดของเขาเอาไปตรวจ และให้เขาเขียนและเอากระดาษที่เขาเขียนไปตรวจ จึงจะรู้ว่าเขามีความสามารถในการส่งสารหรือเปล่า ไอ้ข้อสอบ A B C D นั้น เอามาใช้วัดเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะมันไม่ได้วัดอะไรเลยในเรื่องนี้
       แต่คำถามก็คือ ถ้าเราจะ "ทดสอบ" ความสามารถในการรับสารและส่งสารอย่างที่ว่ามานี้ ตอนที่เรา "สอน" เขา

  • เราได้สอนให้เขาสามารถอ่านแล้วเข้าใจ - อย่างเพียงพอหรือเปล่า?
  • เราได้สอนให้เขาสามารถฟังแล้วเข้าใจ - อย่างเพียงพอหรือเปล่า?
  • เราได้สอนให้เขาสามารถเขียนให้คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจ - อย่างเพียงพอหรือเปล่า?
  • เราได้สอนให้เขาสามารถพูดให้คนอื่นฟังแล้วเข้าใจ - อย่างเพียงพอหรือเปล่า?

       เราได้สอน 4 อย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้สอน ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาเรื่องนี้ไป "ทดสอบ" เขา
       เอ้า แล้วที่ teach และ test กันนานเป็นสิบปีในโรงเรียนนั้น มันมีเรื่องอะไรบ้างล่ะ?

  • เรื่องอ่าน - มันช่วยให้คนไทยอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องการอ่านที่พื้นฐานที่สุด ได้หรือเปล่า?
  • เรื่องเขียน – มันช่วยให้คนไทยสามารถเขียน message ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาพื้นฐานให้คนต่างชาติที่ติดต่อด้วย ได้หรือเปล่า?
  • เรื่องพูด – เราพูดเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ สื่อให้คนต่างชาติเข้าใจได้หรือเปล่า?
  • เรื่องฟัง – ไม่ต้องไปไกลถึงขนาดดูหนังฝรั่งเข้าใจทั้งเรื่องหรอกครับ แค่ฟังคนต่างชาติพูดสื่อสารเรื่องพื้นฐานเป็นภาษาอังกฤษ เราฟังเขารู้เรื่องหรือเปล่า?

       พอพูดมาถึงตรงนี้ ผมไม่ต้องการให้ท่านเกิดความรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า ผู้ผิดคือกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นผู้ออกคำสั่ง หรือมหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือครูอาจารย์ ที่รับคำสั่งมาให้สอนเด็กตามหลักสูตรนั้นหลักสูตรนี้ ผมได้ยินการติเตียนด่าว่ามาตั้งแต่ตัวเองเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น จึงอยากจะสรุปว่า การด่าไม่ใช่การแก้ปัญหา ดีไม่ดีอาจจะเป็นการเพิ่มปัญหาด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมีการด่ามันก็ชวนให้เราปิดสมองจากการพยายามทำความเข้าใจ และปิดใจไม่รับความรู้สึกเห็นใจ ผมเชื่อว่า ท่านเหล่านั้นก็พยายามแก้ปัญหาตามหน้าที่และความสามารถของท่าน
       พูดถึงเรื่องนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำของไอน์สไตน์ข้างล่างนี้

alberteinstein133991

       ถ้าโยงเข้ากับเรื่องที่กำลังพูด คือ เราแก้ปัญหาทักษะภาษาอังกฤษที่แย่ของเราด้วยวิธีการเดิม ๆ และมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่เราก็ยังทำอย่างเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้วหวังว่าอะไรมันคงจะดีขึ้น อย่างนี้มันบ้าแล้ว มันเป็น insanity
       นี่ผมไม่ได้ว่าคนอื่น ไม่ได้ว่าหน่วยราชการ ไม่ได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการนะครับ ผมว่าพวกเรากันเองนี่แหละครับที่ไปต่อว่าเขา ซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้วมันก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น อาการบ้าหรือ insanity แบบนี้ เรานั่นแหละครับที่เป็น
       ผมได้พูดหลายครั้งในหลายบทความที่ลงในเว็บนี้ว่า ในการฝึกภาษาอังกฤษให้ได้ผล เราต้องพึ่งตัวเอง ถ้าวิธีการที่เคยฝึกเคยทำมันไม่ได้ผล เราก็ต้องทำอะไรที่มันต่าง โดย...
       ♥ การหาให้พบเรื่องที่เราฝึกแล้วมีความสุข และค่อย ๆ ชิมความสำเร็จไปทีละน้อย ๆ  เรื่องอย่างนี้ต้องหาด้วยตัวเอง ไม่รอให้คนอื่นหามาป้อนให้ ไม่รอให้มีครูผู้วิเศษขี่รถม้ามาเกยหน้าบ้าน และเดินเข้ามาสอนเราในบ้าน นี่เป็นตัวอย่างที่ 1 ของความต่าง
       ♥ การเปลี่ยนจากการฝึกอย่างเหยาะแหยะเป็นการฝึกอย่างกัดฟันก็เป็นตัวอย่างที่ 2 ของความต่าง
          โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง
พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th 

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com