Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

“บุญประจำ” เรื่องที่ต้องเตรียมทำก่อนเกษียณ

 tamdeefordad

สวัสดีครับ

       ช่วงนี้ผมดูข่าวทีวีเห็นหลายคนพยายามทำนั่นทำนี่เท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อถวายในหลวงรัชการที่ ๙ เมื่อถูกถามเขาเหล่านั้นก็มักจะตอบว่า ทำถวายในหลวง ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ทำแล้วมีความสุขก็ทำ เห็นแล้วก็ปลื้มใจ ดีใจ

       ผมมาถามตัวเองว่า ถ้าพ้นงานนี้ไปแล้ว หมายถึงพ้นไปนาน ๆ  ความรู้สึกอยากทำและมีความสุขที่ได้ทำ ยังมีเหมือนเดิมหรือเปล่า?  แล้วผมก็ตอบตัวเองว่า มีครับ  มีแน่ ๆ เพราะท่านเหล่านี้มีน้ำใจ ทำไปโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ทำแล้วมีความสุข ก็ทำ

       แต่ความต่างระหว่างตอนนี้กับตอนโน้น หรือนานวันข้างหน้า มันอยู่ตรงนี้ครับ อยู่ตรงที่วันนี้มีกิจกรรมให้ทำ ท่านเหล่านี้จึงทำด้วยน้ำใจ  แต่เมื่อถึงวันโน้น ถ้าไม่มีกิจกรรมชัด ๆ ให้ทำ  น้ำใจอาจไม่มีที่ให้แสดงออก แต่ไม่ใช่น้ำใจน้อยลงหรือขาดน้ำใจ เพราะว่าเมื่อให้ด้วยน้ำใจ ความสุขใจก็จะไหลมาเอง นี่มันเป็นกฎแห่งกรรม หรือจะมองว่าเป็นกฎธรรมชาติขั้นพื้นฐานก็ได้ครับ เพราะโลกนี้มีกลไกตามธรรมชาติที่ต้องปกป้องตัวมันเอง  เพราะฉะนั้นใครที่ทำดีมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ เขาก็จะได้รับความสุขใจเป็นรางวัลตอบแทนทันที นี่มันเห็นชัดครับ

       สรุปก็คือ โดยธรรมชาติพื้นฐาน ทุกคนต้องการรับใช้มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์  เพราะเมื่อได้ให้อะไรออกไปบ้าง เขาก็จะได้รับความสุขเป็นสิ่งตอบแทนทันที

       คราวนี้มาถึงจุดที่ผมอยากจะคุยด้วยเป็นพิเศษในวันนี้

       คือมีคนพูดกันเยอะว่า สังคมไทยเราเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น  คือคนแก่ที่อายุเกิน 60 ปีมีมากขึ้นทุกวัน และท่านเหล่านี้จำนวนมากก็ปลดเกษียณจากงานราชการหรือบริษัท มีชีวิตที่สบายขึ้นเพราะมีเงินบำนาญกินหรือเงินที่เก็บไว้เมื่อวัยทำงาน เรียกว่าเป็นวัยพักผ่อน หลายคนได้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำ เช่น เดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ หรือทำงานจิตอาสาตามที่ตนชอบ

       ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเพื่อนข้าราชการด้วยกันที่ปลดเกษียณแล้ว พวกเราทำงานที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งสังกัดกระทรวงแรงงาน หลายคนมีฝีมือทางช่างเพราะเป็นครูฝึกฝีมือด้านต่าง ๆ มาหลายปี แต่บางคนก็รับผิดชอบด้านที่ไม่ใช่ช่าง  เช่น งานบัญชี การเงิน การพัสดุ การบริหาร การต่างประเทศ งานตำรา งานหลักสูตร เป็นต้น  เมื่อท่านเกษียณ ทักษะที่ท่านสะสมมาจากการทำงานกว่า 30 ปีมันก็ยังติดตัวท่านอยู่  ท่านไม่ได้คืนหลวงไปพร้อมกับวันเลิกงาน

       แต่ว่าเมื่อท่านเกษียณไม่ได้ทำงานเดิมนาน ๆ ทักษะที่ท่านมีก็ค่อย ๆ หมดไป  ถามว่าตอนที่ท่านเกษียณแล้วนี้ ทักษะพวกนี้สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้หรือไม่?

       คำตอบก็คือ อาจจะได้ หรืออาจจะไม่ได้ เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง  ทำไมถึงตอบอย่างนี้

       ที่ตอบอย่างนี้ก็เพราะว่า ทักษะที่มีอยู่นี้ จะใช้ทำงานได้ มันต้องมีอย่างอื่นเป็นส่วนประกอบ เช่น เป็นช่างซ่อมรถยนต์ ก็ต้องมี workshop หรืออู่ซ่อม, มีฝีมือเรื่องการทำอาหารที่ประณีตซับซ้อน ก็ต้องมีครัวพร้อมอุปกรณ์,  มีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษก็ต้องมีห้องเรียนที่จะสอน หรือทักษะอื่นอีกหลาย ๆ อย่าง ก็ต้องมี connection หรือแวดวงที่รู้จักคุ้นเคย มันถึงจะทำงานหรือใช้ทักษะที่ตัวเองมีให้เกิดเป็นผลงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้

       และนี่มาถึงจุดที่สองที่ผมอยากจะพูด คือ เราได้ยินคนพูดกันเกร่อว่า ผู้สูงอายุจะต้องรู้จักดูแลรักษาตัวเอง แต่การดูแลตัวเองนี้ เรื่องสุขภาพกายอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ ต้องสุขภาพใจด้วย และสุขภาพใจนี่อาจจะสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ  และวิธีรักษาสุขภาพใจที่มีประสิทธิภาพหรือได้ผลมากที่สุด คือการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แม้สิ่งที่ช่วยเหลืออาจจะเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ใหญ่มาก

       และเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะชวนคุยก็คือ ถ้าเราจะใช้ชีวิตอย่างจิตอาสาในวัยชราให้มีความสุขใจ นั่นคือการให้อย่างต่อเนื่อง มันไม่ได้หมายความว่า เราจะให้อะไรก็ได้ที่มีผู้รับ แต่ต้องเป็นการให้ชนิดที่เรามีความสุขที่จะให้

       ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้ดีกว่าครับ

       สมมุติว่าท่านเกษียณจากงานแล้วและบ้านอยู่กรุงเทพ หรือจังหวัดไหนก็ได้  มันก็มีงานจิตอาสาเยอะแยะที่ไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษก็ทำได้  ท่านลองเข้าไปเช็กที่เว็บนี้ดูก็ได้ครับ

       → http://www.jitarsabank.com/event/browse

       ถ้าท่านเจองานอาสาที่จะทำ และเมื่อไปทำแล้วก็มีความสุข อันนี้แหละครับถือว่าท่านโชคดี ที่เจองานทำดีแล้วมีความสุข  แต่ปัญหาก็คือมีงานทำดีที่ทำแล้วเราไม่มีความสุข เพราะว่าเราไม่สมพงศ์กับงานนั้น  แม้ว่ามันจะเป็นงานทำดีก็ตาม เราอาจจะทำได้ แต่ทำได้ไม่บ่อย ทำได้ไม่นาน เพราะ “มัน”ไม่ใช่ “เรา”

       การทำงานเอาเงินเมื่อวัยทำงาน กับการทำงานเอาบุญเมื่อวัยเกษียณ งานสองอย่างนี้ไม่ต่างกันเลย  เพราะถ้าจะให้ดี งานก่อนเกษียณนั้น ขณะที่ทำเราควรได้ทั้งเงินและความสุข  ส่วนงานหลังเกษียณ ขณะที่ทำเราควรได้ทั้งบุญและความสุข   ถ้าได้แค่เงินหรือบุญอย่างเดียวโดยไม่ได้ความสุข ก็ถือว่าโชคร้ายเพราะได้ไม่ครบ  คนที่ลาออกจากงานหรือเลิกทำบุญก็เพราะอย่างนี้แหละครับ

       ผมขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเองแล้วกันครับ อันนี้ไม่ใช่เป็นการยกยอตัวเองนะครับ ขอให้ถือว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ และงานเป็น webmaster ที่ e4thai.com นี้ มันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักหนา เพราะผมก็เพียงไปเก็บลิงก์หรือ eBook ในการเรียนภาษาอังกฤษจากที่อื่น ๆ มาแนะนำท่านอีกต่อหนึ่ง   แต่ว่างานนิด ๆ หน่อย ๆ อย่างนี้แหละครับ ที่ผมทำแล้วมีความสุขเยอะ  ผมก็เลยทำได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ

       ผมต้องการจะบอกอะไรท่าน?

       ผมต้องการจะบอกว่า ถ้าท่านต้องการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ด้วยการทำงานที่รับใช้คนอื่น และมีความสุขในการทำงานนั้น ท่านต้องเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเกษียณ ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องที่ต้องเตรียม หรือหาให้พบให้ได้ คือ

       [1] ท่านต้องหาให้พบให้ได้ว่า มีอะไรที่ท่านสามารถทำให้คนอื่นฟรี ๆ และท่านมีความสุขที่ได้ทำ  ทำได้เรื่อย ๆ ไม่เบื่อ .... นี่เป็นคำถามที่ถามง่ายแต่อาจจะตอบยาก แต่ท่านอย่าเพิ่งรีบตอบว่าไม่มีนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมี แต่อาจจะไม่รู้หรือไม่เคยหา หรือหาแล้วแต่ยังไม่พบ เขาจึงโชคร้ายไม่รู้จักบุญประจำที่ทำแล้วมีความสุข (รู้จักเพียงงานประจำที่ทำได้เงินแล้วมีความสุข) ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้เพราะผมเชื่อว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์ทุกคนพร้อมเซลล์ในสมองที่เป็นสุขเมื่อได้ให้อะไรแก่เพื่อนมนุษย์  แต่ทุกคนต้องหาเอาเองว่าต้องให้อะไรใจจึงจะเป็นสุข หมายถึงให้จนเป็นบุญประจำ ไม่ใช่ให้แค่เป็นบุญอดิเรก

        ผมเองโชคดีที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรมาตั้งแต่อายุยังน้อย ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบซอกแซกค้นคว้า หาให้รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ผมอยากรู้  ผมจึงชอบภาษาอังกฤษเพราะมีเรื่องน่ารู้มากมายที่เขียนด้วยภาษานี้ ถ้ามีเรื่องน่ารู้มากกว่าที่มันเขียนด้วยภาษาขอม ก็เชื่อว่าผมน่าจะชอบเรียนภาษาขอมมากกว่าภาษาอังกฤษ และการที่ผมชอบซอกแซกนี่เองทำให้ผมพยายามศึกษาเทคนิคของ Google Search ก่อนที่จะมีเรื่องนี้เขียนไว้มากมายเป็นภาษาไทยด้วยซ้ำ  การชอบอ่านและ Search ซอกแซกนี่แหละครับ มันสมพงศ์อย่างยิ่งกับการทำหน้าที่ webmaster เว็บ e4thai.com เพราะเมื่อได้หาเจอและนำมาบอกต่อ  มันมีความสุขจริง ๆ ครับ

       [2] อีก 1 คำถามที่ท่านต้องค้นหาคำตอบให้ได้ก็คือ มีทักษะอะไรที่ท่านต้องมี หรือค่อย ๆ สะสมให้มันมี ในการทำบุญประจำอย่างที่ผมว่ามานี้ ... ข้อนี้ต่อจากข้อที่ [1] คือเมื่อท่านรู้แล้วว่า ท่านรักและมีความสุขที่จะให้อะไรแก่คนอื่น ท่านก็ต้องรู้ต่อไปว่า ท่านต้องมีทักษะหรือทำอะไรให้เป็นบ้าง ยกตัวอย่างผมซึ่งเป็น webmaster ของบล็อกและเว็บ e4thai.com มาประมาณสิบปีแล้ว ผมก็ต้องพยายามสะสมทักษะพวกนี้ครับ

       ►ทักษะ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ คือว่า ผมเป็น webmaster เว็บไซต์ที่ให้เนื้อหาในการฝึกภาษาอังกฤษ แต่ผมไม่ใช่คนเก่งภาษาอังกฤษอะไรนักหนา ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะผมต้องฟิตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้เข้าใจหัวอกคนที่เรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง

      ►ผมต้องพยายามศึกษาเรื่องเทคนิคการใช้เน็ต, โปรแกรมคอมพิวเตอร์, IT,  เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ บอกตรง ๆ ครับ ผมเป็น webmaster ที่รู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก โชคดีจริง ๆ ที่ได้คุณประสาร คิดดีซึ่งตอนนี้เรียนปริญญาเอกเรื่องหุ่นยนต์ที่ปักกิ่งทำหน้าที่เป็น Technical Webmaster ให้ มีอะไรสงสัยก็ถามไป คุณประสารก็ตอบมาทันทีทาง Facebook

      นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะบอก คือถ้าท่านทำเองให้เป็นทั้งหมดไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเหลือในการทำบุญประจำของท่าน ก็ให้พยายามหาคนช่วยหรือเพื่อนร่วมทางนะครับ

       [3] คำถามสุดท้ายที่ต้องตอบก็คือ ท่านต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ, อุปกรณ์, network หรือ facility อะไรบ้าง ที่ช่วยให้การทำบุญประจำของท่านไหลลื่นไปได้ไม่ติดขัด .... เรื่องนี้มีคำตอบหลากหลายมาก ๆ มันขึ้นอยู่กับว่า ท่านจะทำอะไร   ทำที่ไหน เกี่ยวข้องกับใครบ้าง ฯลฯ สิ่งพวกนี้เป็นเรื่องที่ท่านต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ก่อนวันที่ท่านเกษียณ ผมเองโชคดีที่ทำเรื่องเล็ก ๆ นิดเดียว มันก็เลยไม่ยุ่งยาก แต่มีความสุขเยอะ มันโชคดีอย่างนี้แหละครับ

       ท่านผู้อ่านครับ  ผมพูดมายืดยาว อาจจะเหมือนคนแก่พูดกับคนแก่ แต่ก็อยากจะสรุปว่า แม้กำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เราก็น่าจะเตรียมชีวิตสำหรับ 2 เรื่อง คือ งานประจำและบุญประจำ ที่ได้ทั้งเงินและความสุข ถ้าท่านถึงวัยเกษียณ และได้เตรียมตัวมาดี หมดภาระที่ต้องหาเงินแล้ว ท่านก็จะมีบุญที่ทำแล้วมีความสุข ตลอดไป สิ่งที่ทำอาจจะเล็กน้อย ไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าให้ด้วยจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ให้เป็นบุญประจำที่สมพงศ์กับท่าน  บุญที่ได้จะให้ความเบิกบาน ที่นิรันดร์และเป็นทิพย์

       พิพัฒน์

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com