Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

เรื่องเล่าจากการเข้านอน รพ.

เรื่องเล่า

สวัสดีครับ

       ผมเข้านอนโรงพยาบาลทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ ครั้งนี้เพราะโรคเบาหวานทำให้น้ำตาลในเลือดสูง-ต่ำเกินไปปุ๊บปั๊บ หลังจากปรับขนาดอินซูลินซึ่งฉีดเองที่บ้านตามหมอสั่งหลายครั้งแล้วน้ำตาลก็ยังไม่เลิกกระโดด คุณหมอเห็นว่าผมควรนอน รพ. เพื่อดูอาการ และเพื่อคุมอาหารและพฤติกรรมการกิน ถ้าน้ำตาลมันเลิกกระโดด ก็จะได้รู้ว่าเมื่อกลับบ้านก็ให้กินเท่านี้, กินเวลานี้(คนเป็นโรคนี้อย่ากินผิดเวลามาก), ฉีดอินซูลินเท่านี้, ออกกำลังกายประมาณนี้ และถ้ากลับมาพบหมอในนัดครั้งหน้า  ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีขึ้น จะได้รู้ชัด ๆ ว่า  ตอนอยู่บ้านผมขัดคำสั่งหมอในข้อใดบ้าง  ซึ่ง ณ วันนี้ขณะที่นอนอยู่บนเตียงใน รพ. ผมก็พอจะมองอะไรออก เพราะผมเป็นคนที่ไร้วินัยในการกิน แต่วินัยนี้จำเป็นมากสำหรับคนเป็นโรคนี้

       สิ่งแรกที่อยากเล่าก่อนในที่นี้ก็คือความประทับใจในคุณหมอที่รักษา คือ  คุณหมอเอินฟ้า ณ นคร ผมถูกสัมภาษณ์อย่างละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ  เช่น ถามว่าตอนอยู่บ้านผมกินข้าวกี่โมง เมื่อผมตอบว่า 9 โมงเช้า, เที่ยง, และ 6 โมงเย็น ท่านก็ให้เขาจัดอาหารให้ผมเวลานี้จะได้ไม่ต่างจากเวลากินที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่มื้อเช้าและมื้อเย็นที่จัดให้นี้มันเลยเวลาอาหารตามปกติของ รพ. แถมยังจัด morning & afternoon snack เป็นนมและผลไม้จืด ๆ มื้อละ 150 แคลอรี่ เสริมมื้อหลัก 3 มื้อ ๆ ละ 500 แคลอรี่ รวมเบ็ดเสร็จทั้งวัน 1,800 แคลอรี่  พอวันต่อมาพบกันหมอถามว่าอาหารของ รพ.พอไหม  ผมบอกว่าอยู่ที่บ้านกินเยอะกว่านี้ เพราะทำงานใช้สมองกินแค่นี้น้อยเกินไป หมอพูดยิ้มตอบนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนรู้ทัน ถ้าเป็นคำพูดเต็ม ๆ ก็คือ อย่าพูดปดเลย มันพออยู่แล้วแต่อยากกินเพิ่มเลยบอกว่าไม่พอ  แต่หมอก็ตามใจในมื้อต่อมาก็สั่งอาหารเพิ่มให้อีกนิดนึง 

       การรักษาอย่างนี้ ในภาษาไทยผมขอใช้คำว่าเมตตาและอาทร ซึ่งเป็นคุณธรรมชั้นสูงนอกเหนือไปจากความรู้ทางวิชาแพทย์ ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างนิด ๆ หน่อย ๆ ของคุณหมอเอินฟ้า ในการเอาใจใส่คนไข้ ผมใช้คำว่า “เอาใจใส่” เพราะคุณหมอใช้ “ใจ” “ใส่” ลงไปในการรักษาจริง ๆ น่าชื่นใจ น่าประทับใจมาก  น่าประทับใจสุด ๆ ครับ

       ผมนอนอยู่ รพ. 4 วัน 3 คืน ในวอร์ดที่ผมอยู่เป็นห้องพักคนไข้รวมมี 4 เตียง  และห้องติด ๆ กันก็มีห้องละ 4 เตียงไปเรื่อย ๆ แต่ละห้องมีผนังกั้นจากพื้นขึ้นมา 1 เมตร  สูงจากนี้เป็นกระจกใส  ตรงจุดกลางของชั้นเป็นเคาน์เตอร์และห้องทำงานของพยาบาลซึ่งดูแลคนไข้ทุกห้อง 4 เตียงที่อยู่รายรอบ และจากเตียงที่ผมนอนพักรักษาตัวอยู่นี้ ผมก็มีเรื่องราวที่ขอเก็บมาเล่า

       เรื่องแรกที่ผมแปลกใจมากตอนเข้าพักก็คือ  ทำไมทั้งชั้นคนไข้ตั้งเยอะแยะมีห้องอาบน้ำ(เป็นห้องน้ำด้วย)แค่ 2 ห้องเท่านั้นเอง แล้วไม่แย่งกันแย่รึ  แต่เมื่อสังเกตและพูดคุยกับญาติคนไข้เตียงอื่นจึงรู้ว่า คนไข้ส่วนใหญ่นอนติดเตียง, ไม่ต้องอาบน้ำ เพราะเช็ดตัวบนเตียง, ตามตัวมีสายนำน้ำยาเข้าเส้นเลือดอยู่บนเตียง,  บางคนกินอาหารผ่านปากไม่ได้จึงต้องให้อาหารผ่านสายยางที่เตียง, อึ-ฉี่ใช้แพมเพิสอยู่บนเตียง, เพราะฉะนั้นห้องน้ำแค่ 2 ห้องก็พอใช้

       เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมน่าจะเป็นคนไข้หนุ่มที่แข็งแรงที่สุด เตียงตรงข้ามผมคือคุณตาอายุ 93 ปี ซึ่งเป็นหลายโรค ผมเห็นท่านนอนหลับเกือบจะตลอดเวลา, ถัดไปเป็นคุณลุงโรคเบาหวานอายุ 73 ปี, เตียงโน้นอายุเท่า ๆ ผม แต่ล้างไตมาแล้ว 13 ปี งวดนี้เข้า รพ. เพราะฟุบ, เตียงนั้นเป็นมะเร็งที่แก้ม  น้ำหนักลดจาก 60 เหลือ 30 กิโลฯ กว่า ๆ ภานในเวลา 4 – 5 เดือน และให้คีโมมาแล้ว 2 ครั้ง, อีกรายมาใหม่ อายุเยอะ อาการหนัก ผมยังไม่ได้เข้าไปคุยด้วยเพราะเห็นญาติมากันเยอะ

       เจอสิ่งเหล่านี้รอบตัวทำให้ผมรู้สึกรื่นเริงในธรรมอย่างประหลาด  ไม่ได้ปลงอย่างซบเซา ผมไม่ค่อยได้คุยกับคนไข้รายอื่นมากนัก เพราะดูแล้วแทบทุกคนไม่อยู่ในสภาพเหมาะที่จะคุยด้วย  แต่ผมก็ได้คุยกับญาติ ๆ ของ

เขาที่มาเยี่ยมไข้  และก็ได้รับบทเรียนที่เป็นสัจจะของชีวิต

       วอร์ดรวมนี้ รพ. ไม่ให้ญาตินอนเฝ้า เพราะฉะนั้นตอนมืดเลย 2 ทุ่มเมื่อญาติกลับไปแล้ว และตอนเช้าเมื่อญาติยังไม่มา ตอนที่พยาบาลเข้ามาจัดการกับคนไข้แต่ละเตียง จึงเป็นบทเรียนที่เปิดหูเปิดตามาก  คนไข้บางคนประสาทรับรู้น่าจะไม่เต็มร้อย พยาบาลพูดด้วยก็เข้าใจยาก บางคนก็ขยับร่างกายไม่ค่อยได้  แต่จริง ๆ แล้วคงขยับได้ถ้าค่อย ๆ ขยับ  แต่ก็ขี้เกียจขยับถ้าไม่มีใครประคอง,  ผมคุยกับญาติของเขาจึงได้รู้ว่า  หลายคนเป็นทหารผ่านศึกเก่า เข้า ๆ ออก ๆ รพ.เป็นว่าเล่น

         โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งปกติสามัญของชีวิต ทุกคนต้องเจอ ไม่มากก็น้อย ไม่หนักก็เบา  ไม่เร็วก็ช้า  แม้ไม่อยากเจอก็ต้องเจอ แต่เมื่อเจอมันแล้วเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติจิตใจก็จะปกติไม่ทุกข์ ส่วนใครที่รับความจริงไม่ได้ใจก็จะผิดปกติและเป็นทุกข์    เพราะฉะนั้นถ้ามองให้ดี     เราสามารถใช้ช่วงเวลาเจ็บไข้เข้าคอร์สเข้มเรียนบทแรกของอริยสัจ 4 คือทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สัจจะคือความเจ็บไข้มอบงานให้ใจได้ฝึกปล่อยวาง  ด้วยสติและขันติ

       ผมนั่งเขียนบันทึกนี้และมองไปที่เตียงข้าง ๆ พี่แกเป็นทหารเก่าผ่านศึกที่เขาค้อเพชรบูรณ์มาอย่างโชกโชน แต่แกเข้า รพ. ไม่ใช่เพราะกระสุนหรือระเบิด แต่เพราะสุราที่เสพและบุหรี่ที่สูบวันละ 3 ซองติดต่อกันหลายปี, ส่วนลุงเตียงโน้นก็ทหารเก่าเช่นกัน  นิ้วหัวแม่มือเท้าขวาขาดหายไปซึ่งก็ไม่ใช่เพราะสะเก็ดระเบิด แต่เพราะของชอบ 2 อย่างคือเหล้าและขนมหวานที่กินจนน้ำตาลขึ้นหลายร้อยติดต่อกันเป็นปี พอเป็นแผลนิดเดียวที่นิ้วโป้งก็ถึงขั้นต้องตัดทิ้ง, ส่วนพี่เตียงนั้นเป็นมะเร็งแต่ไม่ยอมให้ญาติพามาพบหมอเพื่อนอน รพ. ต้องรอให้อาการหนักซะก่อนจึงยอมมา  ดูไปแล้วหลายคนเป็นโรคเพราะชอบรังแกตัวเอง ซึ่งในจำนวนนี้ก็น่าจะรวมผมอยู่ด้วย

       ผมมองไปที่เตียงโน้นซึ่งคุณตาอายุ 93 นอนอยู่ มาถามตัวเองว่าถ้าผมอายุยืนขนาดนั้นและต้องมานอนบนเตียงใน รพ. อย่างนี้ผมจะรู้สึกอย่างไร หรือมันเป็นไปไม่ได้ เพราะ (1)ผมคงไม่อายุยืนถึง 90 แค่ 70 จะถึงหรือเปล่ายังน่าสงสัย  และ(2)ถ้าผมบังเอิญอายุยืนเกินพิกัด สมองของผมจะสามารถรู้สึกนึกคิดได้เต็มร้อยหรือเปล่า นี่ก็น่าสงสัยอีกเช่นกัน

       เมื่อมองอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า  อนาคตเป็นสิ่งน่ากลัวเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  มันจะค่อย ๆ เกิดหรือเกิดทันทีปุ๊บปั๊บเราไม่มีโอกาสรู้เลย เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้อนาคตไม่น่ากลัว ก็ต้องทำให้ชีวิตในปัจจุบันคือวันนี้เป็นชีวิตที่เราพอใจที่สุด เป็นชีวิตที่ไม่ต้องรอคอย เพราะรอคอยแปลว่าพร่อง ไม่เต็ม กระหายร่ำไป

       ถ้าชีวิตในแต่ละวัน (1)เรามีความสุขเพราะไม่ได้เอาเปรียบ-ไม่ได้เบียดเบีบน-ไม่ได้ทำร้ายใคร คือไม่ได้ hurt หรือ harm ใคร  (2)เรามีความสุขเพราะพอใจว่า เราได้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งทุกวันเพื่อช่วยเหลือคนอื่น คือเราได้ help อย่างเต็มที่ตามที่เราสามารถทำได้ในทุกวันใหม่ที่เราตื่นขึ้นมา และ(3)เรามีความสงบเพราะได้ดูแลจิตใจของตัวเองไม่ให้ถูกความทุกข์หรือความสุขกัดแทะจนขาดแหว่งมากเกินไป   เราสงบได้เพราะมีสติดูแล heart ของตัวเอง ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยทาน (help), ศีล(not hurt) และภาวนา (heart)  เขาจะมีความสุข มีชีวิตที่เต็ม ไม่ต้องรอ และไม่กลัวตายแม้ล้มป่วย ล้มเจ็บ เพราะอะไรดีที่ควรทำก็ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วทุกวัน, อะไรเสียที่ไม่ควรทำก็พยายามเลิกทำแล้วทุกวัน  เมื่อปัจจุบันอิ่มแล้วเช่นนี้ก็ไม่ต้องรอให้อนาคตมาป้อน

       ณ นาทีนี้ถ้าอยู่บ้าน ผมคงกำลังนั่งอยู่หน้าคอมฯ และกูเกิ้ลหาเรื่องราวดี ๆ มาเขียนบทความลงเว็บ e4thai.com และ Facebook แต่บรรยากาศในวอร์ดคนไข้ทำให้ผมอยากจะคิดเรื่องอื่นมากกว่า

       ผมนึกไปถึงคำที่ผู้คนพูดกันบ่อย ๆ ว่า เมืองไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นทุกที  แต่ปัญหาที่พูดกันก็คือ ระบบ social safety net ของไทยที่ดูแลคนแก่ยังอ่อนแอ  ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของรัฐหรือการอุปถัมภ์จากเครือญาติซึ่งนับวันยิ่งอ่อนแอลง แล้วคนแก่ไทยจะทำยังไง เรามีคนแก่มากขึ้น  แต่เป็นคนแก่ที่อมทุกข์หรือเป็นคนแก่ที่เปี่ยมสุข นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด

       ผมมองไปที่เตียงโน้นเห็นคุณป้ากำลังป้อนข้าวคุณลุง ส่วนเตียงนั้นลูกสาวกำลังป้อนข้าวคุณพ่อ  แล้วผมล่ะซึ่งไม่มีลูก มีเมียคนหนึ่งซึ่งก็ไม่ค่อยแข็งแรง  ถ้าบังเอิญเราทั้งคู่ได้เป็นคนแก่แล้วเกิดล้มป่วยพร้อมกัน ใครจะให้ใครพิง  และถ้าผมตายก่อนเมียใครจะดูแลเขา จริงอยู่เราสองคนมีญาติพี่น้อง แต่เราควรนึกถึงเขาเพื่อช่วยเหลือ  ไม่ใช่หวังให้เขามาช่วยเหลือเรา

       เรื่องอย่างนี้คิดไปแล้วก็น่ากังวลอยู่บ้าง แต่ผมกลับไม่มีความกังวลเลย  ไม่มีความกังวลแม้แต่นิดเดียว  เพราะอะไร?

       ผมรู้จักหญิงชราคนหนึ่ง  แกป่วยไม่สบายพอออกจาก  รพ.กลับถึงบ้านเวลาส่วนใหญ่ก็นอนอยู่บนเตียงเพราะเดินเหินไม่ค่อยสะดวก ลูก ๆ เป็นห่วงก็บอกให้แม่พยายามเดินบ้างโดยใช้ไม้เท้าหรือ walker  แต่แกขี้เกียจเดินและไม่ยอมเดินอย่างเด็ดขาด จะเอาอะไรก็เรียกใช้ให้คนในบ้านทำหรือถือมาให้  หลายปีผ่านไปแกกลายเป็นคนเดินไม่ได้ เพราะขาอ่อนไม่มีแรงจะเดินเพราะไม่ยอมออกแรงเดินติดต่อกันมาหลายปี เห็นแล้วก็น่าสงสารทั้งตัวแกและคนในบ้านของแก

       ขอโทษนะครับ ผมขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับการฝึกภาษาอังกฤษ สำหรับคนแก่ที่ร่างกายทรุดโทรมย่ำแย่นั้น ถ้าพยายามมันก็พอจะฟื้นฟูหรือยื้อยุดได้บ้าง ถ้าปัญหาร่างกายของคนแก่คือ พอจะเดินได้แต่ไม่ยอมออกแรงเดินจนเดินไม่ได้   ปัญหาของคนยังไม่แก่ในการเรียนภาษาอังกฤษก็คือ พอจะเรียนได้แต่ไม่ยอมออกแรงเรียนจนเรียนไม่ได้ คิดถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็รู้สึกว่าน่าเศร้าทุกครั้ง

       เราพูดกันว่า การเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นเรื่องธรรมดา แต่เท่าที่เห็นอยู่ในสังคมไทย คนจำนวนมากขาดทักษะเมื่อเผชิญกับการแก่ตัว-ล้มป่วย-และใกล้ตาย  เขาเศร้าโศก หงุดหงิด เอะอะโวยวาย และฟูมฟาย ปัญหาเหล่านี้คงแก้ไม่ได้ด้วยการอ่านหนังสือธรรมะดี ๆ เล่มเดียว หากไม่ได้ฝึกอ่านใจตัวเองอย่างต่อเนื่องมาทุกวัน

       ผมคุยอยู่นานทีเดียวกับพี่สาวคนหนึ่งอายุกว่า 60 แล้ว  แกเป็นมุสลิมและมาดูแลแฟนชาวพุทธซึ่งเข้าแขกและอยู่กินกันมาหลายสิบปีแล้ว  บ้านแกอยู่หนองจอกมีอาชีพขายโรตีแบบหาเช้ากินค่ำ  แต่ช่วงที่แฟนนอน รพ.นี้ต้องหยุดขาย  แต่ดูแล้วแกเป็นคนร่าเริงเปิดเผยใจกว้าง  แกเล่าว่าเมื่อเดือนที่แล้วแกเอาผ้าโพกหัวของผู้หญิงมุสลิมออก  และไปรำหน้าขบวนแห่นาคลูกชายของเพื่อนที่บวชเข้าวัด  แกบอกว่าคนบวชเข้าวัดเป็นบุญ  ทำบุญพุทธหรือบุญอิสลามมันก็บุญเหมือนกัน  ผมฟังแกเล่าแล้วรู้สึกมีความสุขและอยากให้โลกนี้มีคนอย่างพี่สาวคนนี้เยอะ ๆ  สำหรับแฟนที่นอนป่วยอยู่นี้  แกบอกว่าก็จะอยู่ดูแลกันไปอย่างนี้แหละจนตาย  ไม่ต้องไปกังวลอะไรหรอก  ผมฟังแกเล่าแล้วรู้สึกชื่นใจและมีกำลังใจมาก  มากยิ่งกว่าได้อ่านเรื่องราวของมหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งชอบพิมพ์ประวัติตัวเองขายเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คซะอีก

*****

        วันนี้ผมมี 2 กิจกรรมนอกวอร์ด คือตอนสายไปพบนักโภชนาการ และตอนบ่ายไปห้องกายภาพบำบัด

        ผมไปพบนักโภชนาการเวลา 10 โมงเพื่อรับคำแนะนำว่าคนเป็นเบาหวานควรจะกินอาหารยังไงให้ถูกต้อง ท่านผู้อ่านครับ อย่าหาว่าผมเป็นคนแก่วัดเลยครับ ผมรู้อยู่แล้วว่านักโภชนาการจะพูดอะไรให้ผมฟัง เขาบอกว่าอาหาร 5 หมู่ที่ควรกินมีอะไรบ้าง  สำหรับคนเป็นเบาหวานไม่ควรกินอะไร  และควรกินแค่ไหน และไอ้แค่ไหนนี่แหละครับสำคัญ อย่างเช่นกล้วยน้ำว้าสุก 1 ลูกมีแคลอรี่เท่ากับข้าว 1 ทัพพี อย่ากินเกิน 1 ลูก (อยู่บ้านผมกินทีละ 2-3 ลูก), แตงโมเป็นผลไม้หวานให้กินชิ้นเล็ก ๆ (อยู่บ้านอากาศร้อน ๆ อย่างนี้ผมกินทีละครึ่งลูก), มะม่วงสุกแคลอรี่เยอะให้กินได้ชิ้นเล็ก ๆ (ผมกินทีละ 2 ลูกใหญ่ ๆ), สับปะรดก็หวานจึงให้กินนิดเดียวเช่นกัน (อยู่บ้านผมกินทั้งลูก ถ้าอดใจได้ก็ครึ่งลูก) ส่วนขนมหวานไทยของชอบให้งดโดยเด็ดขาด สรุปง่าย ๆ คำเตือนของนักโภชนาการต่อคนเป็นเบาหวานก็คือ กินน้อย-ตายยาก, กินมาก-ตายง่าย ดูท่าทางว่าผมคงจะเป็นคนตายง่ายเพราะกินมากนี่แหละครับ

       พอออกจากห้องนักโภชนาการเจอคุณหมอเอินฟ้าซึ่งห้องอยู่ติดกัน ท่านอุตส่าห์กำชับถามด้วยความเป็นห่วงว่า เห็นจุดหรือยังว่าต้องปรับการกินยังไง  ผมตอบว่าเห็นแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน  และก็ต่อรองว่าขอใช้วิธีกินเยอะและฉีดอินซูลินเยอะ ๆ ตู๊กันไปได้มั้ย คุณหมอบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีรักษาที่ถูกต้อง ผมฟังแล้วก็นิ่งเพราะไม่มีทางเถียง

       นี่ผมยังคิดตามประสาคนชอบกินอยู่อีกว่า จะมียาสมุนไพรอะไรบ้างมั้ยที่กินแล้วช่วยให้เรากินของหวานและผลไม้หวานได้มากกว่าที่หมอสั่งและน้ำตาลไม่ขึ้น, น้ำตาลไม่ swing, และน้ำตาลสะสมลดลง ใครรู้จักยาดีช่วยบอกด้วยนะครับ  แต่เอ๊ะ! นี่ผมกำลังวางแผนทำร้ายตัวเองหรือเปล่าเนี่ยะ

       และตอนบ่าย 2 โมงเขาพาผมไปห้องกายภาพบำบัด  ผมบอกเขาว่าอยู่บ้านผมเดินออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงทุกเย็น เขาเลยให้ผมขี่จักรยานอยู่กับที่ 30 นาที ใช้ได้ทีเดียวครับขนาดอยู่ในห้องแอร์เหงื่อยังซึม

       ผมเห็นคนไข้รายอื่นในห้องนี้ ส่วนใหญ่มารับบริการเพราะร่างกายขัดข้องเฉพาะส่วน เช่น ขา เข่า เท้า ไหล่ ที่มันติดขัด  ผมเห็นคนหัดเดินด้วย walker สี่ขา, คนเดินเกาะราวคู่ความยาวสัก 3-4 เมตร, และคนดึงห่วงบริหารหัวไหล่ ผมนึกถึงคำว่า “จิตภาพบำบัด” ขึ้นมาทันที  และดูเหมือนมันจะยากกว่า “กายภาพบำบัด” ซะอีก  อย่างกรณีของผมมี “อาการทางจิต” เพราะติดของหวาน (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า sweet tooth) และก็ต้องบำบัดตัวเองโดยใช้ขันติและสติเยอะเป็นพิเศษ จะขอให้ใครช่วยก็ไม่ได้ เฮ้อ!!!

*****

     วันนี้มีคนไข้รายเก่าออกไป-รายใหม่เข้ามาอีกหลายคน คนหนึ่งเป็นคุณตาอายุ 83 ปี เป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายเพิ่งตรวจพบได้ 1 เดือน ผมเห็นมีคนมาเยี่ยมทั้งวันแต่คนไข้ก็นอนนิ่งบนเตียงไม่กระดุกกระดิกเลย ผู้หญิงคนหนึ่งที่มาเยี่ยมถามเสียงดัง ๆ ว่า คุณตาจำหนูได้มั้ย  ผมอยู่ห่างจึงไม่เห็นว่าคุณตาพยักหน้าหรือเปล่า

       ช่วงเวลาที่อยู่ใน รพ.นี้ ผมไม่เคยเห็นคนไข้ที่ตายคาเตียงหรือถูกย้ายแล้วไปตายที่ห้องไอซียู แต่ดูจากสภาพแล้วถ้าบางคนต้องกลับไปตายที่บ้านก็ไม่น่าประหลาดใจ

*****

       เย็นวันศุกร์นี้หมอให้ผมกลับบ้าน และเมื่อท่านรู้ว่าผมมีเครื่องเจาะดูน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้ว ก็ให้ผมส่งผลน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน ของวันเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ให้ท่านทางอีเมลในวันอังคาร และนัดมาพบอีกครั้งในวันพฤหัสฯ ผมรู้สึกประทับใจในความใส่ใจของคุณหมอเอินฟ้า ณ นคร อย่างยิ่ง

       ท่านผู้อ่านครับ  ในช่วงเข้าพักรักษาตัวใน รพ.ครั้งนี้ ผมได้เห็นเทวทูตทั้ง 2 คือ ความแก่และความเจ็บในคน ๆ เดียวกัน มันทำให้เห็นความจริงว่า คนที่เตรียมพร้อมทุกวัน เพื่อต้อนรับความแก่-ความเจ็บ-ความตาย ด้วยความภูมิใจเพราะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่ทำได้(ทาน-help), ด้วยการไม่ทำร้าย-เบียดเบียน-เอาเปรียบใคร(ศีล- no hurt), และด้วยสติปล่อยวาง(ภาวนา-heart) ชีวิตที่พร้อมอยู่-พร้อมตายเช่นนี้ ย่อมเป็นชีวิตที่อิ่มและเต็มเป็นนิตย์  ไม่ว่าจะอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือแก่เฒ่า, สบายดีหรือเจ็บป่วย, ไกลตายหรือใกล้ตายก็ตาม

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th
https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com