ebook ที่ดาวน์โหลดเก็บไว้มากมาย จะมีวิธีศึกษายังไงให้เกิดประโยชน์?
สวัสดีครับ
ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่าน www.e4thai.com หรือ facebook ของผมเป็นประจำคงจะสังเกตได้ว่า ผมติงอยู่เนือง ๆ ว่าท่านที่ดาวน์โหลด ebook เก็บไว้มากมายนั้น อย่าเก็บไว้เฉย ๆ ขอให้เข้าไปศึกษามันบ้าง มิฉะนั้นจะเสียเวลาเปล่าที่ดาวน์โหลด กลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพท์ที่ไม่เคยแม้แต่จะเปิดดูสมบัติในหีบ (Hard Disk) และถ้าวันดีคืนดีถูกไวรัสกินจนเกลี้ยง จะต้องช้ำใจเป็นโจทก์ฟ้องตัวเองซึ่งเป็นจำเลย
แต่เราจะเริ่มศึกษายังไงเพราะ ebook ที่เก็บไว้ก็มีมากมาย ผมขอแนะนำแนวทางสั้น ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
[1] ให้ท่านทำ folder แยกประเภท ebook
เช่น ทำแยกแต่ละ folder สำหรับเรื่อง Grammar, reading, vocabulary, เบ็ดเตล็ด ฯลฯ และบางทีอาจจะต้องทำ folder ย่อยอีกที อันนี้เป็นงานแรกสุดที่ควรทำ ซึ่งมันยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อท่านได้ ebook เล่มใหม่ก็ให้นำไปใส่ใน folder ที่ถูกประเภทของมันเลย แต่ถ้าได้ ebook ซึ่งเป็นประเภทใหม่ ก็ให้สร้าง Folder ใหม่ขึ้นมาอีก บางคนดีใจได้เล่มใหม่ ทั้ง ๆ ที่มันก็คือเล่มเดิมที่ได้มาและเก็บไว้แล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ก็จะได้รู้และสะสางกันคราวนี้เลย งานชิ้นแรกนี้เป็นการจัดระเบียบของทรัพย์สมบัติที่ท่านมี
[2] วางแผนการศึกษา
ให้วางแผนคร่าว ๆ ว่า เราจะเริ่มศึกษา folder ไหน, เล่มไหน ไปตามลำดับ 1... 2... 3... 4... 5.... และ 6..... 7... 8.... 9.... 10.... จะเรียงศึกษาตามความชอบ หรือความจำเป็นก็แล้วแต่อัธยาศัย สาเหตุที่แต่ละประเภท (folder) ผมให้ท่านทำ list ไว้ถึง 5 เล่มก็เพราะว่า พอถึงเวลาเข้าไปอ่านจริง ๆ ถ้าเล่มต้น ๆ ไม่ถูกใจ จะได้มีเล่มต่อจากนั้นให้คลิกศึกษาได้ทันท่วงที
[3] เริ่มต้นศึกษา
คราวนี้มาถึงข้อที่สำคัญ คือ ใน ebook เล่มหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะเป็นเล่มบาง ๆ ไม่กี่สิบหน้า หรือเล่มหนาเป็นร้อย ๆ หน้า เราจะศึกษายังไง? เราศึกษาได้ 2 แบบครับ
[3.1] ศึกษาทั้งเล่ม
ถ้าเราไปเจอเล่มที่เราเห็นแล้วว่ามันดีเหลือเกิน ควรจะศึกษาทั้งเล่ม, ศึกษาทุกบท, ศึกษาทุกหน้า อาจจะไม่ต้องเรียงตาม 1... 2... 3... แต่ศึกษาแบบกระโดดไปกระโดดมาก็ได้ ขอให้ครบทุกบทหมดทั้งเล่มเป็นอันว่าใช้ได้ ถ้าศึกษาแบบนี้ก็ง่าย ไม่ต้องคิดมาก ebook แบบนี้อาจจะเป็นตำราที่ใช้เรียนตามหลักสูตรจริง ๆ หรือเป็นคู่มือที่ใช้ในการทำงานจริง ๆ
[3.2] ศึกษาเฉพาะบางบท, บางหัวข้อ, บางข้อความ, บางบรรทัด
ผมคิดว่าเราจะเจอลักษณะนี้มากที่สุด และถ้าเรางง ไม่รู้ว่าเราจะไปหาเรื่องที่เราต้องการศึกษาได้จากบทไหน, หัวข้อไหน, บรรทัดไหน เราก็จะไปไม่เป็น ไอ้ครั้นจะให้อ่านทุกหน้า ลุยไปจนเจอเรื่องที่ใช่ เราก็คงไม่มีเวลามากปานนั้น ในเรื่องนี้ผมมีคำแนะนำในการศึกษา ดังนี้ครับ
เมื่อเปิดไฟล์ pdf ebook เล่มที่จะศึกษา ขอให้ทำดังนี้
[3.2.A] คลิกปุ่ม Bookmarks
Bookmarks เป็นคล้าย ๆ กับสารบัญของไฟล์ pdf แต่ที่ดีกว่าสารบัญก็คือ เมื่อคลิกที่บทหนึ่ง ๆ ใน Bookmarks มันจะเป็นลิงก์พาเราไปยังหน้านั้นทันที
Bookmarks อยู่ตรงไหน? มันอยู่ที่คอลัมน์ซ้ายมือของหน้าไฟล์ pdf , แต่ถ้ามันไม่โชว์ให้เราเห็น ให้เราคลิกที่ปุ่มที่ 2, แต่ถ้าคลิกแล้วก็ยังไม่ปรากฏ Bookmarks ก็แสดงว่า ebook เล่มนี้เขาไม่ได้ทำ Bookmark ไว้ให้เราใช้
[3.2.B] ดูที่สารบัญ หรือ Contents
สารบัญ หรือ Contents อยู่ตรงไหน? มันมักจะอยู่ถัดจากหน้าปกไม่กี่หน้า ที่สารบัญนี้ จะบอกชื่อและเลขหน้าของบทใน ebook เล่มนี้ ตรงนี้แหละครับให้ท่านอ่านและตัดสินใจว่า ท่านจะเลือกศึกษาบทไหน บางทีทั้งเล่มอาจจะมีเพียง 2 – 3 บทที่ท่านสนใจจะอ่าน และบางเล่มเขาอาจจะทำลักษณะพิเศษ คือ ชื่อบท หรือเลขหน้าของบท เขาทำเป็นลิงก์ให้คลิกไปยังหน้านั้นได้ทันที
[3.2.C] ดูที่ดัชนี หรือ Index ท้ายเล่ม
ดัชนี หรือ Index ซึ่งอยู่ท้ายเล่มนี้ มีเฉพาะ ebook บางเล่มเท่านั้นที่ทำไว้ คือเขาจะรวบรวม คำ หรือหัวข้อ ที่สำคัญ ของทั้งเล่ม มาไว้ที่ท้ายเล่ม และบอกด้วยว่ามันอยู่ที่เลขหน้าอะไร ซึ่งหัวข้อหนึ่ง ๆ อาจจะเขียนไว้กระจายอยู่ที่หลาย ๆ หน้า
มีเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนให้ทราบ คือ เลขหน้าที่ระบุไว้ใน Index (ดัชนี) หรือ Contents (สารบัญ) อาจจะตรงกับเลขหน้าของไฟล์ pdf-ebook หรือต่างเลขกันก็ได้
ถ้าที่เลขหน้าของ Index หรือ Contents เป็นลิงก์ให้คลิกไปยังหน้าที่ต้องการ, เมื่อไปยังหน้านั้นและต้องการย้อนกลับ อาจจะทำได้ 2 วิธีคือ คลิก Back หรือ กด alternate บน keyboard ค้างไว้ และกดแป้นหัวลูกศรซ้าย (left arrow)
[3.2.D] ดูคำที่ต้องการว่า อยู่ที่หน้าไหนบ้าง ใน ebook ทั้งเล่ม
นี่เป็นการ search ที่ค่อนข้างพิเศษ ซึ่งหนังสือเล่มทำไม่ได้ (หรือทำได้ยาก) แต่ ebook pdf ทำได้ง่าย (แต่จะต้องไม่ใช่ ebook ที่เป็นไฟล์ scan)
ยกตัวอย่างเช่น ดิกชันนารีเล่มนี้
Easier English Basic Dictionary
เราต้องการรู้ว่า เขานำคำว่า school ไปแต่งเป็นประโยคตัวอย่าง หรือนำไปใช้เขียนเป็นคำจำกัดความ (definition) ของคำศัพท์อะไรบ้างในดิกเล่มนี้ทั้งเล่ม เราก็สามารถหาได้ โดยเริ่มจากไฟล์ pdf หน้าแรกสุด, กด Contril+F และพิมพ์คำว่า school ลงไป, Enter ไปเรื่อย ๆ, มันก็จะพาเราไปยังคำว่าschool ทุกคำที่มีอยู่ใน ebook เล่มนี้
ขอเรียนว่าเครื่องมือตัวนี้มีประโยชน์มาก นอกจากสามารถหาประโยคตัวอย่างของศัพท์ที่เราต้องการค้น เป็นสิบ ๆ ร้อย ๆ ประโยค จาก ebook dictionary เล่มหนึ่ง ๆ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เรายังสามารถหาเรื่องที่เจาะจงได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ในไฟล์ pdf-ebook ของหนังสือหรือนิตยสารเล่มหนึ่ง ซึ่งมีเป็นร้อย ๆ หน้า เราต้องการรู้ว่า เขาพูดเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ว่ายังไง? ที่หน้าไหนบ้าง? เราก็เพียงพิมพ์คำว่า Thai หรือ Thailand ลงไป เท่านี้ก็ทราบแล้ว
ท่านผู้อ่านครับ คำแนะนำสั้น ๆ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ น่าจะมีประโยชน์บ้าง ให้ท่านเข้าไปใช้ลุยศึกษา ebook ที่ท่านดาวน์โหลดเก็บไว้มากมายก่ายกอง
เอาเป็นว่า ตอนนี้ท่านเข้าไปที่ hard disk ที่ท่านเก็บ ebook ไว้ และลองใช้วิธี ตั้งแต่ข้อ [1], [2], [3] ตามที่ผมว่ามานี้ได้เลยครับ