เทศน์กัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า ในวันอาสาฬหบูชา เมื่อ 2,600 ปีที่แล้วที่คนไทยน่าจะนำมาปฏิบัติ

 arsaraha1สวัสดีครับ

       ขออนุญาตให้ผมพูดอะไรในวันอาสาฬหบูชาวันนี้สักนิดเถอะนะครับ

       ทุกท่านเรียนมาจากโรงเรียนก็คงจำได้ว่า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชา เมื่อ 2,600 ปีที่แล้วที่อินเดีย เทศน์กัณฑ์นั้นชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หลายท่านคงจะยังจำได้

       เทศน์กัณฑ์นี้มี 3 ท่อน ดังนี้

ท่อนที่ 1 คือ สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือการเสพสุขอย่างสำราญสุด ๆ และ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตัวเองให้ลำบาก  นี่เป็น 2 เรื่องที่คนอินเดียสมัยนั้นซึ่งต้องการบรรลุธรรมเขาปฏิบัติกัน แต่พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าทำ เพราะทำแล้วไม่บรรลุ

ท่อนที่ 2  มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง  คือมรรคซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 8 ข้อ  ท่านคงจำได้บ้างนะครับ ที่ลงท้ายด้วย ชอบ.. ชอบ.. ชอบ.. มีทั้งหมด 8 ชอบ  ไล่ตั้งแต่ เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ  จนถึงอันสุดท้าย สมาธิชอบ  อันนี้พระพุทธเจ้าเสนอทางพ้นทุกข์แนวใหม่ให้แก่โลก

ท่อนที่ 3 ทรงแสดงเรื่องอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้ท่านน่าจะจำได้มากกว่าเพื่อน

       ที่ผมอยากจะพูด ก็คือท่อนที่ 1 ซึ่งก็จะขอพูดนิดเดียวแหละครับ

       คือสมัยนี้นะครับ เราไม่ต้องกลัวว่าใครจะไปปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยค หรือทรมานตัวเองให้ลำบากหรอกครับ เพราะทุกวันนี้ทุกสิ่งในสังคม  มันโฆษณา กระตุ้น   เร่งเร้า   ยุยง ส่งเสริม สนับสนุน ผลัก ไส ดุน ดัน ลุ้น เชียร์ ให้คนเสพสุขเยอะ ๆ อย่างไม่คิดชีวิต และไม่คิดถึงอะไรทั้งนั้น และที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเจอปัญหาเงินไม่พอใช้ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ก็เพราะปฏิบัติตามกามสุขัลลิกานุโยค   หรือการเสพสุขอย่างสำราญสุด ๆ พูดอีกอย่างก็คือ ปฏิบัติตรงกันข้ามกับเทศน์กัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าที่แสดงเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว

       ในฐานะที่เริ่มจะแก่แล้ว ผมขออนุญาตเล่าอะไรย้อนความหลังให้ฟังสักนิดนะครับ

       สมัยผมเด็ก ๆ ดูทีวีขาวดำซึ่งมีอยู่ไม่กี่ช่อง บ่อยครั้งที่เขาจะเอากลอนของสุนทรภู่ข้างล่างนี้มาอ่านออกอากาศ

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท

อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง

อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

       คือรัฐบาลยุคนั้นเขาจะให้คนไทยใช้จ่ายอย่างประหยัดนั่นแหละครับ

       แต่ครั้นเนิ่นนานต่อมา กลอนของสุนทรภู่บทนี้ก็ค่อย ๆ หายไปจากหน้าจอ และระยะหลัง ๆ ก็สูญพันธุ์ไปอย่างเด็ดขาด

       เมื่อปี 2540 ที่หลายประเทศแถบนี้เจอพิษภัยวิกฤตเศรษฐกิจนั้น เมื่อติดตามข่าวก็ได้อ่านเจอว่า ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเขาก็เจอเหมือนไทย แต่เขาฟื้นตัวได้เร็วกว่า ผมอ่านเจอข่าวบอกว่า แต่ละครอบครัวในสองประเทศนั้นเขามีหนี้น้อยกว่าคนไทยเยอะ และก็มีนิสัยในการออมเงินมากกว่า  พอเจอปัญหาเศรษฐกิจขนาดยักษ์ระดับประเทศ, ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก เขาก็ยับบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับย่อยหรือเยิน

       แต่ทุกวันนี้ผมเจอแต่คำว่า ให้คนใช้จ่ายเยอะ ๆ เพื่อจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรใครหรอกครับ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคมหภาคอะไรพวกนั้นที่นักวิชาการเขาชอบพูด ถ้าคนเอาแต่เก็บตังค์ไว้ไม่ยอมจ่าย เศรษฐกิจของประเทศก็คงติดแหงกไม่ขยับเขยื้อน

       เรื่องของเรื่องก็คือ เขาให้แต่ละคน แต่ละครอบครัว ใช้วิจารณญาณเอาเองว่า จะใช้จ่ายมากแค่ไหนที่มันไม่มากเกินไปจนตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน

       แต่ผมเดาเอาว่า คนไทยหรือครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มีวิจารณญาณไม่ค่อยถูกต้องนักเรื่องการใช้จ่ายเงินทอง ถึงได้มีรายงานออกมาให้ได้อ่านบ่อย ๆ ว่า ภาระหนี้สินของครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหา และมีหนักกว่าเดิมขึ้นเรื่อย ๆ

       ท่านอาจจะบอกว่า ก็เศรษฐกิจมันแย่ ต่อให้ระวังก็ไม่พ้นเดือดร้อน อันนี้ผมก็ไม่เถียงหรอกครับถ้าท่านแน่ใจว่าระวังดีแล้ว

       แต่ผมก็อยากจะบอกว่า ในวันอาสาฬหบูชาปีนี้ ถ้าท่านใดมีปัญหาเรื่องการเงิน ลองทบทวนเทศน์กัณฑ์แรกและท่อนแรกของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเมื่อ 2,600 ปีที่แล้วเกี่ยวกับกามสุขัลลิกานุโยค หรือสำหรับยุคนี้ก็คือการใช้เงินเสพสุขอย่างเกินพอดี  จนถึงขั้นเดือดร้อนเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเดือดร้อนเรื้อรัง หรือเดือดร้อนชั่วคราวก็ตาม

       ถ้าท่านถามว่า ถ้าเดือดร้อนแล้วจะให้ทำยังไงล่ะ?  ผมว่า ก็เทศน์ท่อนที่ 2 ที่ทรงแสดงเรื่องทางสายกลาง และเทศน์ท่อนที่ 3 ที่ทรงแสดงเรื่องอริยสัจทางพ้นทุกข์นั่นแหละครับ ที่ควรทำตาม

       ขออนุญาตเอวังครับ

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th