พูดผิดแกรมมาร์ไม่เป็นไร แต่เขียนผิดแกรมมาร์ไม่ค่อยดี จะฝึกยังไงให้เขียนไม่ค่อยผิด?

errors

สวัสดีครับ

          การฝึกภาษาอังกฤษให้ได้ผล แม้จะฟังคำอธิบายที่วิเศษมามากมายเพียงใด และต่อให้สมองเข้าใจอย่างกระจ่าง แต่หากขาดการฝึกปฏิบัติที่ซ้ำ ๆ ก็คงไม่ได้ผล ในแง่นี้ result = repeat, หากไม่ยอม repeat ก็อย่าหวัง result ตามสมการ ง่าย ๆ ข้างล่างนี้

เรื่องการฟัง:       จะฟังได้=ต้องได้ฟัง

เรื่องการพูด:      จะพูดได้=ต้องได้พูด

เรื่องการอ่าน:     จะอ่านได้=ต้องได้อ่าน

เรื่องการเขียน:   จะเขียนได้=ต้องได้เขียน

          วันนี้ผมขอพูดเฉพาะเรื่องการเขียน ซึ่งสรุปใจความสั้น ๆ ที่จะพูดได้ 2 ข้อ ดังนี้

              ข้อ 1: ถ้าได้ฝึกเขียนเป็นประจำทุกวัน ก็จะเขียนได้ และเขียนดีขึ้นเรื่อย ๆ

              ข้อ 2: การเขียนภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงาน ไม่ควรจะเขียนผิดแกรมมาร์มากเกินไป หรือบ่อยเกินไป นี่ผมพูดจริง ๆ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ซึ่งสรุปตามชื่อของบทความวันนี้ว่า พูดผิดแกรมมาร์ไม่เป็นไร แต่เขียนผิดแกรมมาร์ไม่ค่อยดี ฝึกยังไงให้เขียนไม่ค่อยผิด? และบทความชิ้นนี้ก็เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้ว่า ฝึกยังไงให้เขียนไม่ค่อยผิด?

           ผมขอว่าไปทีละวรรคเลยนะครับ

           วรรคแรก ที่ผมบอกว่า พูดผิดแกรมมาร์ไม่เป็นไร ผมหมายความเช่นนี้จริง ๆ และตอนที่เราฝึกพูดก็ไม่ต้องไปเกร็งหรือกังวลในเรื่องนี้ ถ้าเราสามารถพูดส่งสารที่เราต้องการสื่อให้เขาเข้าใจได้ไม่ผิดเพี้ยน ก็ถือว่าใช้ได้ แม้ว่าจะผิดแกรมมาร์ไปบ้างในเรื่องที่ไม่น่าผิด เช่น พูดว่า I is a boy. You is a girl.

           วรรคที่สอง แต่เขียนผิดแกรมมาร์ไม่ค่อยดี นี่ผมหมายถึงการเขียนที่ค่อนข้างเป็นงานเป็นการ เช่น เขียนอีเมลติดต่อธุรกิจ, ร่าง speech ให้ผู้บริหารของบริษัทหรืออธิบดีนำไปอ่านในที่ประชุม, หรือเขียน term paper ส่งอาจารย์ เป็นต้น กรณีอย่างนี้ถ้าเขียนผิดแกรมมาร์บ่อยเกินไป หรือจุดที่ผิดเป็นใจความสำคัญ นอกจากดูไม่ดีแล้วยังอาจเสียหาย มาก-ปากกลาง-น้อย ตามเนื้อหาที่แกรมมาร์เข้าไปเกี่ยวข้อง

           วรรคที่สาม ฝึกยังไงให้เขียนไม่ค่อยผิด? เรื่องนี้ถ้าคิดมากก็อธิบายยากที่สุด เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะคิดน้อยเพื่อจะได้อธิบายง่าย ๆ

           การฝึกเพื่อเขียนภาษาอังกฤษให้ไม่ค่อยผิดแกรมมาร์ ให้ฝึก 3 อย่างนี้ครับ

       ฝึกอย่างที่ 1:ซื้อตำราแกรมมาร์ดี ๆ มาสัก 1 เล่มและอ่านทำความเข้าใจให้จบเล่ม คลิก:แนะนำหนังสือ แกรมมาร์

       อยากจะบอกว่า ไม่มีตำราแกรมมาร์เล่มใดที่สามารถรวมทุกเรื่องของแกรมมาร์ให้อยู่ในเล่มเดียว แต่เราก็น่าจะอ่านผ่านตาให้รู้ทุกเรื่องพื้นฐานของแกรมมาร์ไว้เป็นต้นทุน และนี่เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนถ้าเราหวังผลกำไรจากการเขียนภาษาอังกฤษที่ไม่ผิดแกรมมาร์ ผมเข้าใจว่า ใน 4 ทักษะของภาษาอังกฤษ คือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน มีทักษะสุดท้ายนี่แหละที่ต้องใช้แกรมมาร์ ถ้าเราเข้าไปดูที่เว็บไซต์สอนภาษาอังกฤษที่ฝรั่งทำขึ้นมา หลายเว็บเขาจะรวม writing & grammar ไว้ด้วยกัน คลิกดู

      ตำราแกรมมาร์เล่มที่ท่านซื้อมานี้ ท่านพยายามอ่านให้เข้าใจจนจบเล่ม แต่ไม่ต้องบังคับสมองว่าต้องจำให้ได้หมด มันจะจำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ช่างมัน แต่พยายามอ่านให้เข้าใจทุกเรื่อง นี่คือเรื่องที่ 1 ที่ต้องลงทุนฝึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายและใช้เวลาน้อยที่สุด

       ฝึกอย่างที่ 2: ฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน และสังเกตการใช้แกรมมาร์ของเขา

       อ่านทุกวัน! จะให้อ่านอะไร? ให้หาเรื่องที่เราชอบหรือสนใจจะอ่าน เรื่องที่ไม่ยากเกินไปจนท้อ และเรื่องที่ไม่ยาวเกินไปจนเหนื่อย ถ้ายังนึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องอะไร คลิกหาที่ 2 ลิงค์ ข้างล่างนี้ก็ได้ครับ

       ใน 2 ลิงค์ข้างบนนี้ ถ้ายังไม่เจอหนังสือที่ท่านถูกใจ ท่านก็ต้องให้ Google ช่วยหาให้เพิ่มเติม แต่เรื่องที่ต้องระวังก็คือ Google ไม่ได้กรองทิ้งเว็บที่เขียนภาษาอังกฤษผิดแกรมมาร์ ผมจึงขอแนะนำให้ท่านใช้เว็บนี้เป็น Search Engine แทน ซึ่งมันก็ใช้เทคโนโลยีของ Google นั่นแหละครับ แต่มันช่วยกรองเว็บที่ใช้ภาษาอังกฤษที่เขียนผิดแกรมมาร์ทิ้งออกไป ทำให้เราได้เนื้อหาดี ๆ มาศึกษา

        และที่ผมบอกว่า ให้สังเกตการใช้แกรมมาร์ขณะที่อ่าน นี่หมายความว่า แกรมมาร์ที่เราลงทุนอ่านจนจบเล่มในข้อ 1 นั้น จะเป็นเกณฑ์ให้เรายึดถือว่า ประโยคที่เราอ่านเจอมันเขียนถูกหรือผิดตามตำราแกรมมาร์ที่เราอ่านแล้ว ถ้าเราสังเกตอย่างนี้บ่อย ๆ เราก็จะแม่นเรื่องแกรมมาร์โดยไม่รู้ตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจสังเกตอย่างเอาเป็นเอาตาย แค่สังเกตห่าง ๆ ก็พอ

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ท่านก็คงมองออกแล้วว่า ถ้าเราไม่ได้อ่านตำราแกรมมาร์เป็นต้นทุนตุนไว้ในสมอง เราก็ไม่รู้จะสังเกตยังไง เพราะฉะนั้น การฝึกอย่างที่ 1 กับ ฝึกอย่างที่ 2 นี้จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

       การฝึกอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน มิใช่เพียงแค่ช่วยป้องกันการเขียนผิดแกรมมาร์ แต่มันช่วยให้เราเห็นลีลาการใช้ภาษา คำศัพท์ วลี ซึ่งถ้าเราสังเกต เราก็จะสามารถจับลีลาเหล่านี้มาปรับใช้เป็นภาษาเขียนของเราเอง ท่านคงเคยได้ยินมาแล้วว่า การอ่านเป็นวัตถุดิบสำหรับการเขียน มีนักเขียนน้อยคนนักที่ไม่ใช่นักอ่าน และแม้เราเองจะไม่ได้ต้องการเป็นนักเขียน แต่ถ้าวันแล้ววันเล่าเราไม่เคยอ่านสิ่งที่คนอื่นเขียน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเขียนให้คนอื่นอ่าน ก็มักเขียนไม่ค่อยออก

              ฝึกอย่างที่ 3: ฝึกจับผิดเพื่อเขียนภาษาอังกฤษไม่ผิดแกรมมาร์

              ผมมาพิจารณาโดยถ้วนทั่วแล้วก็ได้เห็นว่า แม้เราอาจจะทำข้อสอบแกรมมาร์ได้ถูกต้อง และฝึกทำอยู่เป็นประจำ แต่พอถึงเวลาที่ต้องเขียนภาษาอังกฤษ เราก็ยังเขียนผิดแกรมมาร์อยู่นั่นเอง นี่มันหมายความว่าอย่างไร ?

              แต่เมื่อผมมาพิจารณาข้อสอบประเภท English errors identification ที่ให้มา 1 ประโยค และให้เราบอกว่า จุด A B C หรือ D ที่เขียนผิด ผมก็เห็นได้ชัดเลยว่า ข้อสอบแกรมมาร์ประเภทนี้แหละ ที่เป็นเครื่องมืออันแสนวิเศษที่ช่วยฝึกให้เราเขียนภาษาอังกฤษไม่ผิดแกรมมาร์ ท่านลองดูข้อสอบตัวอย่างข้างล่างนี้

1. He was(A) quite amusing(B) when he heard(C) what had(D) happened.         

2. Turn(A) left by(B) the crossroads when(C) you reach it(D).          

3. He has been(A) working here(B) for(C) sometimes(D

4. He stopped(A) to see(B) if he could(C) picked(D) up the trail.

การที่ท่านจะสามารถตอบได้ว่า ในแต่ละข้อ จุดที่ผิด คือ A, B, C หรือ D ท่านจะต้อง recall ความรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับแกรมมาร์ และฟันธงให้ได้ว่าข้อใดผิด และมันผิดเพราะอะไร การฝึกกับข้อสอบประเภทนี้บ่อย ๆ จะทำให้ท่านเป็นคนช่างสังเกตเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของแกรมมาร์ และเมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องเขียนภาษาอังกฤษ ท่านก็จะไม่เขียนอย่างผิด ๆ ลงไป เพราะ test พวกนี้มันช่วยบอกท่านว่า เขียนอย่างไรถูก เขียนอย่างไรผิด

       แต่สิ่งที่ท่านต้องตระหนักในการทำข้อสอบก็คือ ท่านอย่ารีบยอมแพ้ อย่ารีบดูเฉลย และอย่าทำอย่างมั่ว ๆ ท่านต้องคิดอย่างเต็มกำลังสมอง หรือยอมเสียเวลาคิดนาน ๆ ว่า ข้อใดผิดและผิดเพราะอะไร เพราะจุดประสงค์ของการทำข้อสอบมิใช่การได้คะแนนเยอะ ๆ แต่อยู่ที่การฝึกให้ตัวเองมีความแม่นในหลักแกรมมาร์ มีสายตาแหลมคมในการจับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่คนมักทำผิดกันบ่อย ๆ และเรื่องบางเรื่องซึ่งเป็นเรื่องต้องจำก็ต้องจำให้ได้ เช่น phrasal verb หรือ collocation และทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ grammar for grammar แต่เป็น grammar for writing

ผมมีเว็บที่ขอแนะนำเพื่อการฝึกทำข้อสอบ grammar for writing ข้างล่างนี้ ซึ่งมีเฉลยและแสดงคำตอบที่ถูกต้อง

[1]http://www.grammarmechanics.com/hptest.swf

[2]  http://www.englishdaily626.com/error_identification.php(คลิก 001 ถึง 148 ข้างล่างด้วย)

[3]http://www.majortests.com/sat/grammar.php

(ขอแนะให้ทำ Identify sentence errors test ก่อนทำ Sentence correction test หรือ Editing in context test )

[4]http://englishteststore.net/index.php?option=com_content&view=article&id=281&Itemid=299 เว็บนี้ตรวจให้แต่ไม่แสดงคำตอบ

ส่วนข้างล่างนี้ เป็นหนังสือให้ดาวน์โหลดไปศึกษา

       สำหรับท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ไม่ว่าท่านจะยังเรียนหนังสืออยู่ แต่คะเนว่าในอนาคตงานอาชีพของท่านต้องใช้ writing skill หรือว่าท่านทำงานแล้วและการเขียนภาษาอังกฤษเป็นหน้าที่หนึ่งของท่าน ผมขอฝากการฝึกเขียนภาษาอังกฤษตามวิธีที่ว่ามานี้ให้ลองพิจารณา

ทักษะการเขียนต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนอยู่เสมอ ต่อให้อ่านคำอธิบาย หลักการเขียนภาษาอังกฤษเป็นร้อยเที่ยว แต่ไม่ได้ฝึกเขียนหรือพิมพ์จริง ๆ ด้วยมือของตัวเอง ก็คงเขียนไม่ได้หรือได้แต่ไม่ดี

การฝึกภาษาอังกฤษเหมือนการปลูกต้นไม้ ที่ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดแมลง ถ้าเราต้องการไม้ยืนต้นที่ใหญ่โต แข็งแรง ให้ดอก ออกผล ทั้งปี เราก็ต้องยอมลงทุนฝึกฝน นี่เป็นเส้นทางที่ต้องเดิน ถ้าเราเลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้ ไม่มีทางอื่น และไม่มีทางลัด

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/En4Th