Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ทำไม“อิทธิบาท” ขาดไป เมื่อคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ

 

สวัสดีครับ

ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนเคยเรียนเรื่องอิทธิบาทมาแล้วว่า หากต้องการทำอะไรให้สำเร็จต้องมีอิทธิบาทในสิ่งที่ทำ คือ ฉันทะ –รักใคร่, วิริยะ – ขยัน, จิตตะ – ใฝ่ใจ และ วิมังสา –  ใคร่ครวญ

ในฐานะที่เป็น webmaster เว็บ e4thai.com ซึ่งจัดหาวัสดุหรือเครื่องมือให้คนเข้าไปฟิตภาษาอังกฤษ ผมซึ้งแก่ใจดีว่า วัสดุหรือเครื่องมือต่อให้ดีวิเศษปานใด ก็ไร้ความหมายหากใจคนไม่มีอิทธิบาท

เนื่องจากผมคุ้นเคยกับวัสดุหรือเครื่องมือเหล่านี้มานาน จึงมีข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ

ข้อที่ 1  บริษัทที่ทำสื่อการเรียนภาษาอังกฤษพวกนี้ พยายามทำให้สื่อพวกนี้กระตุ้นคนเรียนให้มีอิทธิบาท และข้อที่ 2  สื่อพวกนี้ช่วยให้คนไม่ต้องมีอิทธิบาท 

ฟังเผิน ๆ 2 ข้อนี้ขัดกัน  แต่มันมิได้ขัดกัน เพราะมันอย่างนี้ครับ...

สื่อการเรียนภาษาอังกฤษทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ, e-book,   เว็บ, ภาพ, CD, โปรแกรม, app, เกม, เพลง หรืออื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง เขาจะทำให้คนเรียนรู้สึกรักที่จะเรียนกับมัน รู้สึกเพลิน ตื่นเต้น ดึงดูดใจ สรุปก็คือทำให้คนเรียนมีความสุข และทุ่มใจให้การเรียน คนที่ไม่รักจะเรียนจะได้รัก, คนที่รักน้อยจะได้รักมาก  นี่คือการสร้างและเพิ่มฉันทะ  และเมื่อเริ่มมีฉันทะก็หวังว่าอิทธิบาทอีก 3 ตัวจะตามมา คือ ขยัน ใฝ่ใจ ใคร่ครวญ เพื่อช่วยให้การเรียนได้ผล

การพยายามทำให้คนเรียนภาษาอังกฤษมีอิทธิบาทนี้เป็นไปอย่างสุด ๆ และเมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เห็นว่า คนยุคใหม่จึงเคยชินกับเรื่องนี้มากเกินไป คือ พอจับอะไรขึ้นมาเรียน  แม้รู้สึกว่าดีมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้สึกรักหรือไม่สนใจก็ไม่อยากทนเรียน คือถ้าใจไม่มีฉันทะและสื่อการเรียนก็ไม่สามารถกระตุ้นฉันทะให้เกิด ก็เลิกหวังไปเลยว่าอีก 3 ตัวจะเกิด คือ วิริยะ(ขยัน) จิตตะ(ใฝ่ใจ) และวิมังสา(ใคร่ครวญ) 

ปรากฏการณ์เช่นนี้จะให้สรุปว่าอย่างไร? เพราะว่าไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม มันมีทั้งเรื่องน่าเรียนและไม่น่าเรียน, ทั้งเรื่องง่ายและยาก, ทั้งใช้เวลาน้อยก็รู้เรื่องและต้องใช้เวลานานจึงรู้เรื่อง, ทั้งจำง่ายและจำยาก  ถ้าเรามีข้อแม้ว่าเราจะเรียนเฉพาะเรื่องที่น่าเรียน, เรื่องง่าย, เรื่องที่ใช้เวลาน้อย, จำง่าย, เข้าใจง่าย, ทำได้-ทำเป็นเร็ว ส่วนอะไรที่ตรงกันข้ามเราก็ไม่อยากเรียน ถ้าจะให้ยอมเรียน สื่อการเรียนจะต้องสามารถกระตุ้นให้ฉันอยากเรียน-ขยันเรียน-ใฝ่ใจเรียน ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ฉันก็ไม่อยากเรียน และพร้อมที่จะตำหนิหนังสือทุกเล่ม ครูทุกคน เว็บทุกเว็บ app ทุกตัว ฯลฯ ว่าไม่ได้เรื่อง

สถานการณ์จำลองที่ผมยกมาให้ฟังนี้มันอาจจะสุด ๆ เกินไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าหลายกรณีก็เป็นจริง  เป็นจริงเอามาก ๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมคนไทยบางคนจึงเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่องทั้ง ๆ ที่มีสื่อการเรียนที่ดีเลิศ

ที่พูดมานี้คือกรณีสุดขั้วของคนที่ขี้เกียจเรียนและล้มเหลวในเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งผมอยากจะเชื่อว่ามีน้อย

คราวนี้ผมขอพูดกรณีตรงกันข้ามบ้าง ซึ่งก็คือ คนที่ไม่ได้ล้มเหลวในการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเขารักที่จะเรียน(มีฉันทะ), ขยันเรียน(มีวิริยะ), และใคร่ครวญหาวิธีปรับปรุงการเรียนให้ดีขึ้นอยู่เสมอ(มีวิมังสา) แต่สิ่งที่ได้ยินก็คือ เขารู้สึกว่าภาษาอังกฤษยาก และเรียนไม่ได้ผลดีอย่างที่อยากได้ เขาเป็นทุกข์เพราะภาษาอังกฤษ และในที่นี้ ผมขอถามว่า  ท่านอยู่ในกลุ่มนี้หรือเปล่าครับ?

ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ย่อหน้าข้างบนนี้ผมไม่ได้พูดถึงการใฝ่ใจหรือจิตตะ  และผมกำลังจะบอกว่า  การขาดจิตตะนี่แหละครับ คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยเรียนภาษาอังกฤษอย่างได้ผลน้อยเกินไปและเป็นทุกข์มากเกินไป ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมขอสาธยายอย่างนี้ครับ

ในจำนวนผู้รู้ที่ให้ความหมายของคำว่าจิตตะได้อย่างวิเศษและเป็นประโยชน์ที่สุด ในความเห็นของผมก็คือ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ โดยท่านบอกว่า

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

http://www.buddhadasa.com/rightstudydham/itibath4.html

วรรคทองของคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ คำว่าจิตตะนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

ตามการตีความของผมก็คือ การที่เราคนไทยบางคนเรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ผลและเรียนอย่างคนอมทุกข์ก็เพราะขาดจิตตะหรือขาดสมาธินั่นเอง

ขาดสมาธิแปลว่าอะไร แปลอย่างตรงเด๊ะไม่ต้องอ้อมค้อมก็คือ  ณ ชั่วโมงหรือนาทีที่ฟิตภาษาอังกฤษนั้นถูก“นิวรณ์” ครอบงำ  ทำให้ขาดสมาธิ

นิวรณ์มี 5 ตัว,  แต่ละตัวเป็นภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่องทั้งนั้น  และเรื่องนิวรณ์นี้เรามักได้ยินพระท่านพูดถึงคนที่ปฏิบัติธรรมทำความเพียรอย่าง serious เพื่อบรรลุนิพพานให้ได้, พอโดนนิวรณ์ขวางทาง ก็เลยติดแหงก  ไปต่อไม่ได้    แต่ผมกำลังจะบอกว่า นิวรณ์แม้เป็นคำพระ   แต่มันก็เกี่ยวข้องกับพวกเราชาวบ้านที่จะฟิตภาษาอังกฤษอย่างยิ่ง   ท่านทนฟังผมสาธยายสักหน่อยแล้วกันนะครับ  

ตามพจนานุกรม นิวรณ์แปลว่า

สิ่งห้ามกันจิตไว้มิให้บรรลุความดี มี 5 ประการ คือ ความพอใจ รักใคร่, ความพยาบาท,  ความง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ, ความลังเลใจ

อ่านดูแล้วก็งงว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคนที่จะฟิตภาษาอังกฤษด้วยล่ะ?

มันเกี่ยวข้องก็เพราะว่า ใจที่ใช้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมีอิทธิบาท 4 ตัวนั้น ผมรู้สึกว่า คนไทยที่ตั้งใจจริง มักจะมีแค่ 3 ตัว คือ มีฉันทะ-รักเรียน, มีวิริยะ-ขยันเรียน, มีวิมังสา-ใคร่ครวญเรียน, ส่วนจิตตะนั้น คนไทยมีแค่ใฝ่ใจแต่ไม่มีสมาธิ และเมื่อมองไปยังสื่อการเรียนสารพัดประเภทที่ผมพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เว็บ app โปรแกรม ฯลฯ ก็มักช่วยได้แค่กระตุ้นให้คนไทยรักเรียน ขยันเรียน ใคร่ครวญปรับปรุงการเรียนภาษาอังกฤษ แต่หมดหรือด้อยความสามารถที่จะช่วยให้คนไทยมีสมาธิในการเรียนภาษาอังกฤษ การฟิตภาษาอังกฤษของคนไทยจึงได้ผลน้อย และคนฟิตก็ฟิตอย่างคนอมทุกข์

อาการเรียนภาษาอังกฤษโดยขาดจิตตะ ไร้สมาธิ แต่ถูกนิวรณ์ครอบงำ เป็นอย่างไร? มันก็คืออาการที่ยอมให้ความอยากชักจูงใจมากเกินไป ฟังเผิน ๆ น่าจะดีและนำไปสู่ความสำเร็จ แต่เอาเข้าจริงกลับเสียและนำไปสู่ความล้มเหลว ผมขอว่าไปทีละตัวเลยนะครับ

นิวรณ์ตัวที่ 1 ความพอใจ รักใคร่ อยากรู้เรื่องเร็ว อ่านปุ๊บเข้าใจปั๊บ ฟังเข้าใจทันที อยากเข้าใจได้เร็ว ๆ พูดได้ดังใจ  เขียนได้ดังใจ คือใจร้อน  เมื่อไม่ได้ดังใจก็ร้อนใจ และทรมานใจ และแก้ไขง่าย ๆ โดยไม่เรียน หรือเรียนอย่างทรมานใจถ้ายังมีฉันทะสูง

นิวรณ์ตัวที่ 2 ความพยาบาท ตัวนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้แค้นเล่นงานใคร แต่มันสืบเนื่องจากตัวที่ 1 คือเมื่ออ่านและฟังไม่เข้าใจ พูดและเขียนไม่ได้ หรือได้ไม่ดังใจ ก็โมโหโทโสตัวเอง หรือตำหนิ ต่อว่า ประณาม สิ่งภายนอกว่าไม่ได้เรื่อง หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษาอังกฤษของตัวเองแย่ เมื่อโกรธขึ้นมาอย่างนี้ก็ทรมานใจ และแก้ไขง่าย ๆ โดยไม่เรียน หรือเรียนอย่างทรมานใจถ้ายังมีวิริยะสูง

นิวรณ์ตัวที่ 3-4-5 คือ ความง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ, ความลังเลใจ 3 ตัวนี้อยู่ในตระกูลเดียวกัน พูดพร้อมกันเลยก็ได้, ความง่วงเหงาหาวนอน คือใจที่ฟุบ, ความฟุ้งซ่าน รําคาญ คือใจที่ฟุ้ง, ส่วนความลังเลใจ คือใจที่เดี๋ยวฟุบเดี๋ยวฟุ้ง เอาแน่นอนไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราได้ยินบางคนพูดบ่อยว่า ภาษาอังกฤษของฉันไม่แข็งแรง แต่จริง ๆ แล้วน่าจะพูดว่า ฉันรักเรียน(มีฉันทะ)น้อย ฉันพยายาม(มีวิริยะ)น้อย แต่ฉันอยากเยอะ (โดยไม่ต้องพยายามมาก) และเมื่อไม่ได้ดังใจ พอลงมือศึกษาหรืออ่านหนังสือ ใจก็จะฟุ้งเพราะอยากได้  และจะฟุบเมื่อไม่ได้ และโลเล  ทั้งหมดนี้เกิดจากอยากเยอะแต่ไม่สมอยาก นี่คืออาการของใจที่ขี้เกียจไม่อยากออกแรงเยอะ

เมื่อใจขาดจิตตะ อยากเยอะ พยายามน้อย ไม่นิ่ง  เมื่อเรียนแล้วไม่เข้าใจ ไม่สมใจทันที ก็ไม่สงบ เอะอะโวยวายในใจอยู่เสมอ  ปล่อยวางไม่ได้ รอไม่เป็น และไม่ใฝ่ใจต่อเนื่อง จึงยากที่ปาฏิหาริย์จะเกิด

นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวที่ทำให้ใจมีอาการดังที่ว่ามาข้างต้นนี้ ผมกวาดสายตาดูแล้ว มันไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของ นาย ก. นาย ข. นางสาว ค. นางสาว ง.  แต่มันเป็นอาการหนักเหมือนคนฟื้นไข้ที่จับคนไทยทั่วประเทศที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ หรืออยากเก่งอังกฤษ แต่ก็เก่งไม่ได้ดังใจ

เมื่อผมเดินทางไปต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุม ดูงาน พบปะพูดคุยกับผู้คน มันอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบคนไทย เด็กไทย ในประเทศนี้กับประเทศเหล่านั้น และได้ข้อสรุปว่า เมืองไทยเรานี้มีทั้งโชคดีและโชคร้าย โชคดีที่เห็นชัดที่สุดก็คือ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของเราอุดมสมบูรณ์และน่าอยู่ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อากาศน่ารัก ไม่หนาวจัด  ไม่ร้อนจัด ภัยธรรมชาติมีน้อย น้อยมาก หรือบางแห่งไม่มีเลย  กษัตริย์พม่าในอดีตน่าจะชอบใจเมืองไทยจึงส่งกองทัพมาตีหวังยึด เราคนไทยก็พยายามปกป้องเพราะไม่อยากเสียผืนแผ่นดินที่ให้ความสุขเช่นนี้แก่ใคร

หากเปลี่ยนมุมและมองความจริงในแง่ร้ายบ้าง ก็อาจจะได้ข้อสรุปว่า การที่เราไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายมาก ทำให้เมืองไทยมีวัฒนธรรมส่วนรวม และคนไทยมีนิสัยส่วนตัว ที่รักสนุก รักสันติ พูดคำว่า “ไม่เป็นไร” ได้ง่าย ๆ ยิ้มง่าย และไม่อยากดิ้นรนมาก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้า เช่นการเข้ามาของวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ฯลฯ การขยับปรับเปลี่ยนนิสัยส่วนตัว และวัฒนธรรมส่วนรวม เพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ เช่นขยับใจให้มีอิทธิบาทในการฟิตภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายชาติทำได้ง่าย แต่คนไทยทำได้ยากเพราะเราไม่คุ้นเคยที่จะทำ ทั้ง ๆ ที่มันถึงเวลานานแล้วที่เราควรทำ

นี่ผมพยายามมองในภาพรวมของความเป็นไปที่ทำให้เราคนไทยมีสภาพนิสัยเช่นทุกวันนี้ มันคงไม่ใช่ความผิดหรือความถูก แต่มันเป็นของมันอย่างนี้ คำถามก็คือ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนนิสัยในการศึกษาหรือไม่?  และถ้าต้องเปลี่ยน เราจะยอมเปลี่ยนไหม?

ทุกวันนี้แต่ละประเทศคนละมุมโลกใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบคนแต่ละประเทศมากขึ้น  ทุกท่านก็คงได้อ่านข่าวทั้งด้าน “ดี” และ “เสีย” ที่เกี่ยวกับประเทศไทยมาบ้าง

ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องแรกที่ตามตัวเลขบอกว่าเราค่อนข้างจะดี

[1] เรื่องความสุขในครัวเรือน (household happiness)  จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 36 จาก 156 ประเทศ (อันดับ 2 ในเขตอาเซียน รองจากสิงคโปร์)

http://englishnews.thaipbs.or.th/un-ranks-thailands-household-happiness-36th-world

[2] เรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากสูงสุดถึงต่ำสุด อยู่ในอันดับที่ 29 จาก 190 ประเทศ (ตัวเลข ธนาคารโลก ปี 2013)

http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_%28nominal%29

ส่วน 3 เรื่องนี้เราเสีย

[1] เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง (corruption) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศ

http://www.transparency.org/country#THA

[2] เรื่องประชาธิปไตย (democracy) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 65 จาก 115 ประเทศ

http://democracyranking.org/wordpress/?page_id=738

[3] เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (pollution) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 76 ประเทศ  

http://www.numbeo.com/quality-of-life/rankings_by_country.jsp

และอันสุดท้ายที่ขอยกมาให้ดู คือ [4] เรื่องระดับทักษะภาษาอังกฤษ (English Proficiency) จากดีสุดถึงแย่สุด อยู่ในอันดับที่ 48 จาก 63 ประเทศ (ระดับ Very Low Proficiency)

http://en.wikipedia.org/wiki/EF_English_Proficiency_Index

ผมคุยกับฝรั่งใกล้บ้านที่ไป ๆ - มาๆ และอยู่ที่เมืองไทยกับออสเตรเลียอย่างละครึ่งปี เขาวิเคราะห์ว่า การที่กษัตริย์ไทยในอดีตเก่งทำให้เมืองไทยไม่ถูก colonize โดยพวกฝรั่งและรักษาเอกราชไว้ได้ ทำให้เมืองไทยไม่มีต้นทุนทางภาษาอังกฤษ และทำให้ทุกวันนี้เราเก่งสู้ประเทศอื่น ๆ มาได้ ผมไม่รู้ว่าฝรั่งคนนี้แกคิดเช่นนี้จริง ๆ หรือแกจำการวิเคราะห์ของคนอื่นมาพูดต่อ

แต่ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไร เราอาจจะตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมไทยบางอย่างที่ทำให้เราเสียนิสัย ก็ช่างมัน แต่ ณ นาทีนี้เมื่อเรารู้ตัว  เราต้องพยายามเปลี่ยนนิสัยส่วนตัวไม่ให้ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมส่วนรวม ซึ่งบางอย่างก็ดี  บางอย่างก็เสีย อย่างเช่น คำสอนที่ไร้ตัวอักษรในสังคม ที่ทำให้เราค่อนข้างขาดแคลนอิทธิบาทในการเรียนภาษาอังกฤษ และเราไม่ควรเอากรณียกเว้น หรือ exceptional case ที่เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษไปชนะการแข่งขันที่นั่นที่นี่ หรือออกทีวีโชว์ความสามารถด้านภาษาอังกฤษอย่างนั้นอย่างนี้ มาสร้างความรู้สึกชมตัวเองลวง ๆ ว่าคนไทยยุคใหม่นี้ก็เก่งภาษาอังกฤษขึ้นมาก เพราะกรณียกเว้นเหล่านี้ไม่สามารถเป็นตัวแทนคนไทยตัวจริงได้

เรื่องที่คุยวันนี้เป็นคำถาม ซึ่งรอทุกคนที่สามารถตอบได้กรุณาช่วยตอบ   สำหรับคำตอบใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ส่วนรวมนั้น ผมไม่หวังเพราะมันใหญ่เกินไป ผมหวังแต่คำตอบเล็ก ๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนิสัยส่วนตัวให้แต่ละคนมีอิทธิบาทครบ 4 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตตะหรือสมาธิ ซึ่งทุกคนมีแต่อาจจะไม่ได้นำเอาออกมาใช้  ผมหวังว่าคำถามพวกนี้ ท่านจะช่วยตอบตัวเอง

         พิพัฒน์

          https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com