Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

รวมอ่านและดาวน์โหลด หนังสือธรรมะท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

ajahn buddhadasa500

สวัสดีครับ

ในการเผยแพร่ธรรมะ อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณค่ามาก  ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านได้ทุกเวลาจากทุกสถานที่โดยไม่ต้องเสียเงิน อีกทั้งไม่ต้องเปลืองเนื้อที่ตั้งตู้หนังสือที่บ้านและไม่ต้องดูแลรักษา

วันนี้ ผมได้รวบรวมหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสมาให้ท่านคลิกเข้าไปดูง่าย ๆ, ท่านจะอ่าน - จะ save- จะ download- หรือจะ print(pdf) ก็ทำได้ตามสะดวก ข้างล่างนี้ครับ

ดาวน์โหลด หนังสือธรรมะ อ.  พุทธทาสภิกขุ

  1. หนังสือธรรมะ (พุทธทาสภิกขุ) โหลดฟรี
  2. เว็บ สวนโมกข์กรุงเทพ ( คลิก เลือกหมวด )
  3. หนังสือ - พุทธทาสศึกษา 
  4. หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส
  5.  วาทะพุทธทาส
  6. buddhadasa.in.th [และ 2-3-4-5-6-7]
  7. buddhadasa.com
  8. อ่านและดาวน์โหลด ชุดธรรมโฆษณ์ ฟังเสียงอ่านหนังสือชุดธรรมโฆษณ์
  9. ธรรมะพุทธทาสภิกขุ จากเว็บ ประตูสู่ธรรม
  10. http://www.nkgen.com/600.htm
  11. รวมหนังสือธรรมะท่านอาจารย์พุุทธทาสภิกขุ ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ จากหลายเว็บ

 


 

เกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือธรรมะ ผมขออนุญาตคุยอะไรด้วยสักนิดนะครับ

คือว่าทุกวันนี้ มีผู้สอนธรรมะเกิดขึ้นมากมาย และเครื่องมือหรือช่องทางให้ท่านเหล่านี้เผยแพร่ธรรมะก็มีมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ต ทำหน้าที่นี้ได้ดีมาก ในเว็บนี้ผมได้รวบรวมเว็บไซต์ของท่านผู้รู้เหล่านี้ไว้ให้ท่านเลือกศึกษาได้ตามอัธยาศัยและศรัทธา - ที่นี่

ผมชอบอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเห็นวิวัฒนาการของหนังสือธรรมะที่มีออกมาให้ผู้คนได้อ่าน ใน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ  ดังนี้

[1] หนังสือธรรมะต้นฉบับ

นี่เป็น format แรกสุดของหนังสือธรรมะ คือพระท่านเทศน์อย่างไร ก็นำถ้อยคำทั้งหมดถอดเทปมาตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสืออย่างนั้น นี่แสดงถึงศรัทธาและความเคารพที่มีต่อผู้แสดงธรรม ไม่ยอมให้ธรรมะที่ท่านแสดงหดหายหรือผิดเพี้ยน  จำได้ว่าสมัยเก่า ๆ พอพระเริ่มเทศน์ญาติโยมที่นั่งอยู่จะตั้งใจฟังโดยยกมือพนม ซึ่งนอกจากแสดงความเคารพต่อผู้แสดงธรรมและพระธรรมแล้ว มือที่พนมยังช่วยประคองใจให้เป็นสมาธิรับธรรมะที่พระท่านแสดงได้อย่างไม่ตกหล่น แต่บางทีพระท่านก็อยากให้โยมฟังอย่างสบาย ๆ ก็อาจจะบอกว่าไม่ต้องพนมมือก็ได้

เมื่อเทศน์ 1 กัณฑ์ ถูกถอดเทปและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือธรรมะ 1 เรื่องหรือ 1 เล่ม ญาติโยมที่มีศรัทธาก็สามารถเปิดอ่านด้วยใจที่เป็นสมาธิอยู่ที่บ้าน เพราะฉะนั้น แม้อยู่ที่บ้านก็เหมือนได้ไปวัด  การอ่านหนังสือธรรมะเช่นนี้ก็เหมือนนิมนต์พระมาเทศน์ถึงบ้าน

[2] หนังสือธรรมะแบบ ยก ตัด คัด ลอก บางข้อความ หรือถ้อยคำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เรียกกันว่าเป็นคำคม หรือ “วรรคทอง” ลักษณะเช่นนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า quotation หรือเรียกสั้น ๆ ว่า quote ในเว็บหรือหน้าของ social media ทำกันเยอะ และมักจะประดิษฐ์ตกแต่งด้วยภาพ ฟอนต์ กราฟิก ให้เตะตา จับใจยิ่งขึ้น

ในฐานะที่เป็นคนเกิดมาหลายวันแล้ว ผมจึงเห็นภาพที่ตัดกันระหว่างข้อ [1] กับ ข้อ [2] อย่างชัดเจน  ความรู้สึกบางอย่างจึงผุดขึ้นมาอย่างห้ามไม่ได้ ก็คือว่า....

สมัยก่อนที่พระท่านแสดงธรรมใน 1 กัณฑ์ ภายในห้วงเวลาที่ท่านกำหนดไว้นั้น ท่านได้ design ไว้ก่อนเทศน์แล้วว่า ท่านจะพูดอะไรให้โยมฟังบ้าง อะไรจะพูดก่อน-พูดกลาง-พูดหลัง,  จะพูดปูพื้นทั่ว ๆ ไป-ให้ความรู้-ให้กำลังใจ-ให้ฉุกคิดทันที-ให้เก็บไปคิดในภายหลัง ฯลฯ และ 1 กัณฑ์ที่ท่านเทศน์นี้ เมื่อกลายเป็นหนังสือธรรมะหรือไฟล์เสียง(สมัยก่อนอยู่ในรูปของเทปตลับ) ก็อาจจะมีญาติโยมอ่านซ้ำหรือฟังซ้ำหลายเที่ยว จน ณ วันหนึ่งก็เกิด “โพล่ง” เข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะ มิใช่ว่าทุกคนเมื่อฟังหรืออ่านครั้งแรกจะเข้าใจได้ทันที, และความเข้าใจก็มีหลายระดับ เช่น เข้าใจด้วยระดับมันสมองที่คิดเอา-หรือเข้าใจในระดับที่ลึกยิ่งขึ้น เพราะธรรมะเข้าไปกระทบถึงจิตที่ทำให้เห็นแจ้งจนใจเปลี่ยน

ท่านจึงเห็นได้ชัดว่า การฟังธรรมจึงต่างจากการฟังเพลง ต่างกันอย่างยิ่ง...

ผมไม่รู้ว่า มีใครเคยสำรวจอย่างเป็นการเป็นงานไว้บ้างหรือเปล่า แต่ถ้าคนไทยยุคหนึ่ง (สมัยก่อน?) ฟังธรรมะหรืออ่านธรรมะ ตามข้อ [1] คือ  full original teaching  และคนไทยอีกยุคหนึ่ง (สมัยนี้?) ฟังธรรมะหรืออ่านธรรมะ ตามข้อ [2] คือ ผ่านตาหรือผ่านหูเฉพาะ quotation ซึ่งมีคนอื่นคัดจาก original มาให้อีกต่อหนึ่ง มันชวนให้คิดว่า คุณภาพของการอ่านหนังสือธรรมะของคนยุคนี้ มันต่างจาก(ด้อยกว่า)ยุคก่อน

ท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ กรุณาอย่าเพิ่งเข้าใจไปว่า ผมชวนให้ท่านเลิกอ่านธรรมะตัดตอน ที่เป็น quotation เฉพาะคำคม, มิได้ครับ, มิได้หมายความเช่นนั้น, ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า เมื่อเราอ่านธรรมะตัดตอนของอาจารย์หรือหลวงพ่อองค์ใดที่มีคนอื่นดึงมาให้เราอ่าน เราน่าจะได้เข้าไปหาต้นฉบับของท่านอ่านด้วยตัวเองบ้างด้วยจิตที่เป็นสมาธิ   เมื่อได้ซึมซับคำสอนเต็ม ๆ ของท่านจนรู้จักและเข้าใจ ตอนหลังเมื่อมาอ่าน quotation ของท่าน, ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่เต็มเปี่ยม  มิใช่อ่านเพียงคำคมซึ่งมันอาจจะทื่อเอามาก ๆ ตัดอะไรไม่ขาดเพราะมีเพียงความเข้าใจของเราเองที่ผิวเผิน

        เรื่องที่ผมพูดมานี้ท่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผมก็อยากจะพูดเพราะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนใจร้อน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องวัตถุสิ่งของเท่านั้นที่เมื่ออยากได้ก็ไม่อยากรอ, ในเรื่องความเข้าใจก็เช่นกัน  คนเดี๋ยวนี้หลายคน แม้อยากเข้าใจเรื่องอะไรให้ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่อยากย่อยเรื่องนั้นในใจให้เสียเวลา พอมีใครนำเรื่องที่เข้าใจง่ายมาให้อ่านก็รับทันที โดยไม่สืบสาวค้นคว้าเรื่องนั้นให้ลึกลงไป เพื่อให้โอกาสแก่ธรรมะที่จะ sink in

        ผมจะดีใจมากถ้าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดไปเอง   

พิพัฒน์

https://www.facebook.com/EnglishforThai

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com