Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

นิสัยที่ควรสร้าง: สะสมทักษะภาษาอังกฤษ เหมือนปลูกไม้ยืนต้นให้โต

white lotus   Google Search

สวัสดีครับ

       สมัยเรียนหนังสือ มีถ้อยคำที่ผมได้ยินครูอาจารย์บางท่านชอบพูด คือ สิ่งที่สอนในห้องเรียนเป็นเพียงความรู้ ส่วนประสบการณ์พวกเธอต้องไปหาเอาเองในที่ทำงาน  สมัยที่ได้ยินครูพูดเช่นนี้ผมยอมรับ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งปากและใจว่ามันเป็นความจริง

       ล่วงมาถึงยุคนี้ ผมชักจะตงิดใจว่า มันอาจจะไม่ต้องจริงอย่างที่ครูพูดทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะ (1) เวลาที่เป็นนักศึกษารับความรู้ในวิชาหนึ่ง ๆ จากครูในห้องเรียน ความรู้ที่ได้รับอาจไม่พอที่จะป้อนความหิวของโลกแห่งการทำงาน    นักศึกษาจึงต้องหาเพิ่มทั้งความรู้และประสบการณ์แม้ยังไม่ได้ทำงาน (2)เมื่อได้งานทำแล้ว ความรู้ที่เคยได้รับอาจจะไม่ updated และประสบการณ์ที่จำเป็นต้องมี ณ ปัจจุบันตัวเองก็อาจจะยังไม่มี  คนทำงานจึงต้องหาเพิ่มทั้งความรู้ที่เคยรู้แล้วและประสบการณ์การทำงานที่ยังมีไม่พอ จึงกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาและคนทำงาน ความรู้และประสบการณ์ใหม่เป็นสิ่งที่ต้องหาเพิ่มเติมตลอดเวลา

       แต่สิ่งที่คนทำงานหลายคนพบก็คือ บางหน่วยงานก็จัดความรู้และประสบการณ์เสริมให้ ในรูปแบบการของการให้ความรู้หรือการฝึกอบรม ระยะสั้น-ระยะยาว, เป็นทางการ-ไม่เป็นทางการ, ในประเทศ-ต่างประเทศ ฯลฯ  ใครเจออย่างนี้ก็นับว่าโชคดีเพราะไม่ต้องขวนขวายมาก  แต่บางหน่วยงานไม่เป็นอย่างนี้ คนทำงานจึงต้องขวนขวายด้วยตัวเอง และเหนื่อยมากหน่อย  แต่มันก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงบ่นก็ไม่มีคนฟัง จึงไม่ควรบ่นให้หนวกหูตัวเอง

white lotus   Google Search

       การขวนขวายศึกษาหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมด้วยตัวเอง จึงเป็นภาระของคนยุคใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจทำก็ตาม

       ผมมีความรู้สึกว่า นี่เป็นสิ่งที่คนไทยยุคใหม่ หรือยุคเก่า-ยุคกลาง –ต่อยุคใหม่ จะต้องปรับกาย-ปรับใจ รับให้ได้ แม้ว่ามันจะขัดกับสิ่งที่ตกค้างจากวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่บ้าง เช่น

  • สมัยก่อนเมื่อเรียนหนังสือ ในโรงเรียน, ในวิทยาลัย, ในมหาวิทยาลัย ในนั้นก็มีครู มีอาจารย์เป็นผู้ให้ความรู้  ต่อมาภายหลังเมื่อมีมหาวิทยาลัยเปิด คือ รามคำแหงฯ และมสธ. ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็จางลงบ้าง เพราะนักเรียนต้องเรียนกับชุดการสอน สื่อทางไกล ศูนย์การเรียนรู้ CD และยุคต่อ ๆ มาเมื่อมีอินเทอร์เน็ต  ความสัมพันธ์เช่นนี้ก็จางลงไปอีก  เพราะครูของนักเรียน กลายเป็นคนที่ไม่มีหน้าซึ่งมีชื่อว่า เว็บ, ลิงค์, e-book, app ฯลฯ
  • ผมเองไม่เคยเป็นครู  ไม่เคยเรียนวิชาครู แต่ผมรู้สึกว่าคนเป็นครูทุกวันนี้น่าเห็นใจเพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม คือ นอกจากต้องอบรมสั่งสอนให้นักเรียนมีความรู้(และความประพฤติดี)แล้ว ยังต้องสอนให้เขารู้จักหาความรู้ด้วยตัวเองอีกด้วย ในขณะที่ผมซึ่งขณะนี้ชักจะเป็นคนแก่แล้ว ภูมิใจในความที่ตัวเองเป็น “ศิษย์มีครู” ภูมิใจในสถาบันการศึกษาที่จบมา ภูมิใจที่รู้สึกว่าส่วนหนึ่งของความมีแก่นสารในชีวิตเกิดขึ้นได้ก็เพราะได้พระคุณของครูและโรงเรียนเหล่านี้บ่มเพาะ ผมก็ยังมีความคิดว่า ถ้าประเทศไทยของเราจะก้าวหน้าต่อไป คนไทยเราจำต้องสมบูรณ์ทั้งการเป็น “ศิษย์มีครู” และ “ศิษย์ไม่มีครู”

       “ศิษย์ไม่มีครู” ก็คือศิษย์ที่เรียนกับครูซึ่งไม่มีหน้าตา เช่น  เรียนกับอาจารย์กู(เกิ้ล) และอาจารย์ยู(ทูป)  ผมอาจจะเห็นต่างจากคนอื่น คือหลายคนรู้สึกว่า อาจารย์กูกับอาจารย์ยูนี้ใจดี ถามอะไรก็ตอบทั้งนั้น แต่ผมกลับรู้สึกว่า มีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่พยายามฝึกหัดวิธีถาม (search) ให้อาจารย์กูและอาจารย์ยูตอบอย่างเป็นระบบ ทำให้เราได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์สูงสุด  เพราะฉะนั้นการเป็น “ศิษย์ไม่มีครู” ที่ใช้การเรียบแบบ self-study  จึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกกันพอสมควร

white lotus   Google Search

       ย้อนมาถึงเรื่องที่ผมต้องการพูดเป็นพิเศษในวันนี้ คือเรื่องทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยโดยทั่วไป จากสายตาตัวเองที่มองเห็น และจากรายงานการสำรวจต่าง ๆ ที่อ่านเจอ ล้วนแสดงตรงกันว่า คนไทยมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ผมก็รู้สึกว่า ณ นาทีนี้ ป่วยการที่จะไปค้นคว้าหาสาเหตุที่ทำให้คนไทยตกอยู่ในสภาพนี้

       ถ้าจะแก้ปัญหานี้  ผมขอเปรียบเทียบอย่างนี้แล้วกันครับ  เรามีตุ่มเปล่าอยู่ 1 ตุ่ม และเราก็ต้องการบรรจุน้ำให้เต็มตุ่ม เพื่อเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลนหรือจำเป็นต้องใช้ ผมจะไม่เสียเวลาซักไซ้ถามว่า ทำไมในตุ่มไม่มีน้ำ แต่ผมจะพยายามหาน้ำมาเติมใส่ตุ่มทุกวัน มากบ้างน้อยบ้าง  แต่เติมทุกวัน ทั้งวันที่ผมขยันและวันที่ขี้เกียจ, วันที่มีแรงและหมดแรง, วันที่มีกำลังใจและท้อแท้, วันที่มีความหวังและหมดหวัง น้ำนี้ก็คือทักษะภาษาอังกฤษที่ผมพยายามเติมใส่ตัวเอง...  ทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วันเดียว

       การเติมน้ำใส่ตุ่ม กับการเติมทักษะภาษาอังกฤษใส่ตัว ดังที่เปรียบเทียบข้างบนนี้ หรือถ้าจะเปรียบอีกอย่างก็เหมือนการหยอดเหรียญใส่กระปุกออมสินทุกวัน  ดูเหมือนจะถูกต้อง แต่มันไม่ถูกต้องซะทีเดียวหรอกครับ เพราะว่ามันผิดอย่างน้อย 2 เรื่อง

  1. การเติมน้ำใส่ตุ่ม หรือการหยอดเหรียญใส่กระปุกออมสิน ถ้าวันไหนตักน้ำออกใช้ หรือทุบกระปุกเพื่อเอาเงินใช้ น้ำหรือเงินที่สะสมก็เกลี้ยงหมด ไม่เคยเต็มตุ่ม-ไม่เคยเต็มกระปุกสักที แต่การสะสมทักษะภาษาอังกฤษ ด้วยการฝึก ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน มากบ้างน้อยบ้าง ทุกวันไม่เว้น ต่อให้เททักษะออกมาใช้งาน เทออกใช้มากเพียงใดทักษะก็ไม่เคยหมด มีแต่จะมากขึ้น ๆ
  2. การเติมน้ำใส่ตุ่ม หรือการหยอดเหรียญใส่กระปุกออมสิน ถ้าวันไหนไม่ยอมเติม-ไม่ยอมหยอด น้ำในตุ่ม หรือเงินในกระปุก มันก็ยังคงเท่าเดิม แต่ทักษะภาษาอังกฤษไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าในวันใหม่ไม่ยอมฝึกเติมให้มัน ทักษะเก่าของวันวานจะค่อย ๆ หายไป ๆ เหมือนคำพูดในภาษาอังกฤษว่า use it or lose it นั่นแหละครับ  และนี่คือความต่างที่เด่นชัดที่สุด ระหว่างการเติมน้ำใส่ตุ่มกับการเติมภาษาอังกฤษใส่ตัว

white lotus   Google Search

       ในแง่นี้ การเติมทักษะภาษาอังกฤษใส่ตัว จึงต้องเปรียบเทียบเหมือนการปลูกไม้ยืนต้นให้โต เมื่อต้นไม้ยังเล็กอยู่ เราต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้ต้นไม้เติบโต จนรากงอกลึกยาวลงไปใต้พื้นดินและหาน้ำหาอาหารเลี้ยงตัวเองได้ เมื่อต้นแข็งแรงและโตใหญ่เช่นนี้แล้ว ภาระในการดูแลต้นไม้ของเราก็ลดน้อยลง ในหน้าแล้งที่รากของมันหาอาหารได้ยาก แต่มันก็ไม่ตาย  เพราะเราดูแลมันตั้งแต่เป็นต้นอ่อนจนกลายเป็นไม้ยืนต้นไปแล้ว ในหน้าแล้งอย่างนี้ เราเพียงให้น้ำหรืออาหารเสริมบ้างมันก็สดชื่นขึ้นได้ ทักษะภาษาอังกฤษในตัวเองที่เรายอมออกแรงดูแลตั้งแต่เป็นต้นอ่อนจนมันกลายเป็นไม้ยืนต้น ก็มีลักษณะเหมือนกัน มันจะไม่ตายง่าย ๆ

       ผมนำเรื่องนี้มาพูดก็เพราะผมเห็นว่า ทักษะภาษาอังกฤษมันเป็นความจำเป็นของยุคสมัย และประเทศไทยซึ่งแผ่นดินตั้งอยู่ ณ ตรงนี้ของผืนโลก ก็ถูกคาดหวังว่า เจ้าของแผ่นดินจะสามารถพูดภาษาสากลภาษานี้ ที่แขกบ้านแขกเมืองเขาพูดได้ ถ้าเราพูดไม่ได้(และอ่านไม่ได้) มันคงไม่ใช่เรื่องดีเลย

       เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ถ้าเราเคยเกิดมาแล้วในประเทศนี้บนแผ่นดินนี้ และในอีก 100 ปีข้างหน้าหลังจากที่เราตายไปแล้วและมาเกิดใหม่บนแผ่นดินนี้อีก ในเวลานั้น(อดีต)และเวลาโน้น(อนาคต) เราชาวบ้านคนไทย อาจไม่จำเป็นต้องพูด – ไม่จำเป็นต้องอ่านภาษาอังกฤษ แต่ ณ วันนี้เราจำเป็น และเราก็ไม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะมันเป็นหน้าที่เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว  เพื่อที่ทำงาน และเพื่อประเทศชาติของเรา

       และเราก็สามารถทำได้  ถ้าเราตั้งใจจะทำจริง ๆ

       พิพัฒน์

       https://www.facebook.com/EnglishforThai  

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com