เคล็ดการอ่านกลุ่มคำที่มี adjective + noun ให้รู้เรื่อง

 adj-n

สวัสดีครับ

       การอ่านเป็นทักษะที่จะช่วยให้อีก 3 ทักษะ คือ พูด ฟัง เขียน ดีไปด้วย จึงควรสนใจให้มาก

       ในเว็บนี้ ผมได้แนะนำวิธีอ่านภาษาอังกฤษที่ยากให้เข้าใจง่าย ๆ ที่ 2 บทความนี้

และได้รวบรวมเว็บและบทความภาษาอังกฤษควบภาษาไทยไว้ที่นี่

  • Read Eng-Thai ทั้งนี้ เพื่อให้ภาษาไทยเป็นพี่เลี้ยงเมื่อท่านฝึกอ่านภาษาอังกฤษ

       วันนี้ผมขอแนะนำอีก 1 เคล็ดในการอ่านภาษาอังกฤษให้เข้าใจง่าย ๆ

       เมื่อเราอ่านข่าวหรือข้อความ บ่อยครั้งที่คนเขียนมีคำ noun หลัก และนำ adjective มาวางไว้ข้างหน้าเพื่อขยาย noun นั้น

       อันที่จริงเราก็เรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยมแล้ว โดยมีกฎเกณฑ์การวางที่แน่นอนตามรูปข้างล่างนี้ ที่มา

 order of adj

หรือบางที่เขาก็นำ noun + noun โดยตัวหน้าขยายตัวหลังที่เป็นตัวหลัก  

        เรื่องทำนองนี้ จริง ๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เพราะหลักเกณฑ์มันตายตัว แต่ถ้าไม่ได้ฝึกอ่านจนชำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปเจอศัพท์ที่ไม่รู้จัก มันอาจจะทำให้งง,  เดาไม่ออก, หรือไม่อยากเดา,   ผ่านเลยไปโดยไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่างงตรงไหน

       แต่การที่จะชำนาญมันต้องอ่านบ่อย ๆ จนสายตาสามารถจับได้ว่า กลุ่มคำนามทั้งกลุ่มหลาย ๆ คำ ที่มี adjective+noun หรือ noun+noun หรือ adjective+noun+noun มันมีคำว่าอะไรบ้าง  เมื่อจับได้ทั้งแก๊งอย่างนี้แล้ว เช่น สมมุติว่า กลุ่มนี้มีศัพท์อยู่ 4 ตัว, ถ้าเรารู้จักตัวที่ 1 กับ 4 เราอาจจะค่อย ๆ เดาได้ว่า ตัวที่ 2 กับ 3 มันน่าจะมีความหมายไปในทำนองไหน แม้เดาได้ไม่กระจ่าง แต่ถ้าสามารถเดาได้มัว ๆ สัก 20 – 30 % ก็ยังดี อย่างนี้เป็นต้น

       แต่ถ้าเรามองไม่ออกเลยว่า ทั้งแก๊งมีกี่ตัว, มัน start ที่ตัวไหน – stop ที่ตัวไหน, ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จับจุดอะไรไม่ได้,  อยากจะเดาก็ไม่รู้จะเดายังไง,  อย่างนี้ก็แย่หน่อยครับ


       วันนี้ ผมเอาของจริงที่เป็นเนื้อข่าว มาให้ท่านดูเป็นตัวอย่างแล้วกันครับ

ข่าวที่ 1:

Thailand: Parents 'to monitor' children at game shops

ข่าวนี้ เขาบอกว่า ให้พ่อแม่ช่วยคุมลูกที่ไปเข้าร้านเล่นเกมด้วย

ประโยคที่ 1

The network was apparently dreamt up by the Thai Cultural Promotion Department, whose remit is to preserve and promote Thai culture.

  • กลุ่มคำที่ไฮไลต์ มันนำหน้าด้วย the และต่อด้วยคำอีก 4 คำ คือ Thai Cultural Promotion Department, เราเรียนมาว่า the เป็น article วางหน้าคำนาม, นี่แสดงว่า 4 คำนี้ ต้องเป็นคำนามที่หมายถึงอะไรสักอย่างนึง
  • 4 คำนี้ Thai Cultural Promotion Department, คำสุดท้าย คือ Department เป็นคำหลักที่สำคัญที่สุด ที่เราต้องรู้ความหมาย, ส่วนอีก 3 คำ ที่วางไว้ข้างหน้า คือ Thai Cultural Promotion มีหน้าที่ขยายคำสุดท้าย คือ Department
  • เมื่อวางเรียงกันอย่างนี้ ต้องแปลตัวสุดท้ายก่อน  และแปลไล่จากหลังขึ้นไปหน้า ทีละตัว ตามลำดับ
  • คำสุดท้าย คือ Department, D เป็นตัวโต, แสดงว่าเป็นคำเฉพาะ, หลายถึง คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ มีมีชื่อเสียงเรียงนามจริง ๆ, ไม่ใช่อะไรลอย ๆ, ในที่นี้ Department จึงเป็นกรม  คือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงตามระบบราชการ
  • หน้าที่ของเราก็คือ ต้องแปลให้ออกว่า มันคือ กรมอะไร โดยดูจาก 3 คำที่วางไว้ข้างหน้า คือ Thai Cultural Promotion ซึ่งทุกคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวโต คือ T, C และ P
  • คำว่า Thai เป็น adjective เรารู้ว่าแปลว่า ไทย แต่คำนี้เป็นคำ noun ก็ได้ แปลว่า คนไทย
  • คำว่า Cultural แปลว่าอะไร, มันคงเป็นคำ adjective เพราะสังเกตได้ว่า ลงท้ายด้วย al (อย่างเช่น natural ที่แปลว่า ตามธรรมชาติ ก็ลงท้ายด้วย al)
  • คำว่า Promotion เป็นคำนามแน่ ๆ เพราะลงท้ายด้วย -tion, เรารู้ว่า promote  แปลว่า ส่งเสริม, อย่างเช่น โปรโมทสินค้า แปลว่า ส่งเสริมการขายสินค้า, เพราะฉะนั้น  Promotion ก็น่าจะแปลว่า การส่งเสริม
  • ตกลงคำนามกลุ่มนี้ คือ the Thai Cultural Promotion Department มันแปลว่าอะไรกันแน่, น่าจะแปลว่า กรมส่งเสริม Cultural ของไทย, แต่ Cultural มันแปลว่าอะไรล่ะ,  ถ้าไม่ซีเรียสก็ค้างไว้ก่อน  แต่ให้หมายใจไว้ว่า เราชะงักอยู่ที่ศัพท์ตัวนี้, วันหน้าค่อยมาแก้แค้นให้หายข้องใจ,

ประโยคที่ 2

  • After a military coup in May, Thailand has been run by a junta which has censored media content and spoken out against external cultural influences.

ข่าวนี้เขาพูดถึงคณะทหารคุมสื่อ ให้ท่านดูคำที่ไฮไลต์

  • เราพอจะรู้ว่า against แปลว่า ต่อต้าน, ต่อต้านไอ้นั่น ต่อต้านไอ้นี่, เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่ถูกต่อต้านจึงเป็นคำนาม และ against จึงเป็นคำ preposition หรือ บุพบท
  • ในที่นี้ คำที่ตามหลัง against มี 3 คำ คือ external cultural influences คำถามก็คือ นี่ทหารเขาต่อต้านอะไร, 3 คำนี้ คำไหนที่เราไม่รู้จักบ้าง
  • คำแรกที่เราต้องสนใจ คือ influences เพราะมันเป็นคำหลักที่ต้องแปลก่อน(วางอยู่หลังสุด) และมันก็ต้องเป็นคำนามแน่ ๆ
  • เมื่อไล่ขึ้นไปทีละคำ เริ่มจากคำนามหลังสุด influences, เขยิบขึ้นไปข้างหน้า คือ cultural, แล้วก็ external , เราน่าจะพอเดาได้ว่า ทั้ง external และ cultural เป็น adjective ทั้งคู่ เพราะลงท้ายด้วย al, จึงเป็น adjective ที่ขยาย influence
  • ตกลงว่า ทหารเขาต่อต้าน external cultural influences, ถ้าเราไม่รู้ว่า influences แปลว่าอะไร(น่าจะเป็นพหูพจน์ เพราะลงท้ายด้วย –s) แต่เราเผอิญรู้ว่า external แปลว่า ภายนอก (ตรงข้ามกับ internal ซึ่งแปลว่า ภายใน), และ cultural (คำเมื่อตะกี้)แปลว่า ทางวัฒนธรรม, อย่างนี้ก็แปลไปก่อนได้ว่า ต่อต้าน influence ของวัฒนธรรมภายนอก (ภายนอกประเทศ?) ถ้าออกแนวนี้ แสดงว่า influence มันต้องเป็นอะไรที่ต้องมีแรงหรือกำลัง, ตกลง influence มันน่าจะแปลว่าอะไรล่ะ ที่ทหารเขาต่อต้าน

ข่าวที่ 2:

Military allow ousted Thai PM Yingluck to travel abroad

  • Ms Yingluck herself was ousted ahead of the coup by a Constitutional Court ruling that said she had illegally transferred her national security head.

นี่เป็นข่าวเกี่ยวกับยิ่งลักษณ์ถูกทหารโค่นจากอำนาจ วรรคท้ายสุดเขียนไว้ว่า her national security head.

  • เรารู้ว่า her แปลว่า ของเธอ,ของหล่อน, ของท่าน แต่คำที่ตามมา 3 คำนี้ national security head มันคืออะไรล่ะ, โดย head คำสุดท้ายที่เป็นคำหลัก  มันต้องเป็นคำ noun แน่ ๆ เพราะถ้าไม่ได้เป็นคำ noun มันจะเป็นสิ่งของของเธอได้อย่างไร, แต่มันคืออะไรล่ะ
  • ในทำนองเดียวกับที่อธิบายข้างต้น, 3 คำนี้ national security head คำแรกที่ต้องแปลก่อน ก็คือ คำสุดท้ายเพราะเป็นคำหลัก และก็ต้องแปลไล่จากหลังไปหน้าเหมือนเดิม
  • ถ้าแปลตรงตัว (อย่าลืมว่าแปลย้อนจากหลังไปหน้านะครับ) national security head ก็แปลว่า หัว-ความมั่นคง-แห่งชาติ,  แต่ในที่นี้ เราน่าจะพอเดาได้ ว่า head นอกจากแปลว่า หัว ยังแปลว่า หัวหน้า ได้อีกด้วย, เพราะฉะนั้น  national security head ก็น่าจะแปลว่า  หัวหน้าความมั่นคงแห่งชาติ (ก็คือ เลขาธิการ-สภาความมั่นคงแห่งชาติ -คุณถวิล เปลี่ยนศรี นั่นเอง)

 ผมขอสรุปหลักการมองและแปล กลุ่มคำที่ประกอบด้วย adjective + noun อีกครั้งอย่างนี้ครับ

  • พยายามมองให้ออกว่า ทั้งกลุ่มมันมีกี่คำ, เริ่มต้นจากคำไหน, ไปจบที่ตัวไหน
  • มันอาจจะเริ่มต้นด้วยคำพวกนี้: a, an, the, his, her, หรือคำบุพบท (preposition) แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีคำพวกนี้นำหน้า
  • คำสุดท้ายของทั้งกลุ่มเป็นคำนามแน่ ๆ แต่คำที่มาวางขยายข้างหน้า อาจจะมีทั้งคำ adjective และ noun ปนกัน หรือบางทีก็มี adverb ด้วย
  • เมื่อจับได้ทั้งกลุ่มแล้ว, ตอนแปล ให้แปลจากหลังย้อนขึ้นไปหน้า โดยตัวที่สำคัญที่สุด ก็คือ คำนามที่วางอยู่หลังสุด ต้องเดาให้ได้ หรืออาจต้องถึงขั้นเปิดดิก, ส่วนคำอื่นที่วางหน้าคำ noun ตัวหลักนี้ ก็ให้พยายามเดา ไม่ต้องไปเปิดดิกให้รู้ทุกคำ ถ้าพอเดาได้
  • ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ต้องอาศัยอ่านบ่อย ๆ แล้วจะชำนาญขึ้นมาเอง เมื่อถึงวันนั้น ท่านจะอ่านได้รู้เรื่องโดยไม่ต้องยึดกฎเกณฑ์อะไรเลย เพราะมันคล่องแล้ว

พิพัฒน์