หนังสืออ่านนอกเวลา ให้มากกว่าที่เราคิด
สวัสดีครับ
ภาษาอังกฤษที่เราอ่านเพื่อฝึก reading skill มีมากมายหลายประเภท ผมขอแยกง่าย ๆ เป็น non-fiction กับ fiction ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ข่าวกับนิยาย และสำหรับคนฝึกอ่าน การอ่านเวอร์ชันที่ง่าย หรือ simplified version น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ข่าว
มีหลายเว็บทำข่าวง่ายให้เราอ่าน ที่มีชื่อเสียงก็เช่น
Bangkok Post Learning English: มีให้เลือก 3 ระดับ จากง่ายไปยาก
Breaking News English: คลิกเลือกอ่านได้ตั้งแต่ Level 0 ถึง Level 6
♦http://www.breakingnewsenglish.com/news_levels.html
VOA Learning English: มีให้เลือก 2 level
นิยาย
สำนักพิมพ์ penguin นำหนังสือนิยายต้นฉบับมาเขียนใหม่ให้ง่าย สำหรับโรงเรียนมัธยมของไทยในสมัยก่อนได้ใช้หนังสือพวกนี้ เป็นหนังสื่ออ่านนอกเวลาสำหรับวิชาภาษาอังกฤษ มีทั้งหมด 7 level จากง่ายสุด คือ Easystarts ไปยากสุด คือ Level 6
อ่านรายละเอียดของแต่ละ level ได้ที่ลิงค์นี้
http://www.penguinreaders.com/pr/teachers/grading-of-language.html
เท่าที่ทราบ เดี๋ยวนี้หนังสืออ่านนอกเวลาแบบนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ผมก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าฝึกอ่านเพื่อพัฒนา reading skill กับหนังสือพวกนี้จะได้ผลดีมาก ในเว็บนี้ผมจึงได้รวบรวมหนังสืออ่านนอกเวลาไว้ที่ลิงค์นี้
ดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลากว่า 150 เล่ม
และผมก็พยายามหามาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ อย่างเช่น level 6 ซึ่งแต่ก่อนมีไม่กี่เล่ม ตอนนี้มีกว่า 20 เล่มแล้ว
ผมขอให้ความเห็นสักนิดนะครับเกี่ยวกับการอ่านหนังสือพวกนี้
1.เลือก level ที่ง่าย – ยาก พอฟัดพอเหวี่ยงกับท่าน ถ้าง่ายเกินไปอาจจะไม่ท้าทายความสามารถเท่าที่ควร ถ้ายากเกินไปอาจเหนื่อยเร็วและเลิกอ่านก่อนจบ
2.เลือกเรื่องที่ชอบ นิยายมีหลายประเภท เช่น นิยายตื่นเต้น ดราม่า คลาสสิก อิงประวัติบุคคลหรือประวัติศาสตร์ คนที่มีความชอบหลากหลายก็จะมีเรื่องให้อ่านเยอะมากกว่าคนที่ชอบอะไรจำกัด
3.เราไม่จำเป็นต้องรีบอ่าน เพราะว่าเขานำต้นฉบับมาเขียนใหม่ให้ง่ายและสั้นกว่าเดิมหลายเท่า เพียงแค่อ่านไปเรื่อย ๆ(ไม่เลิกอ่านดื้อๆ) ก็จะจบได้เองในเวลาไม่ช้า เพราะฉะนั้น แต่ละเรื่องควรจะอ่านให้รู้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1)รู้เรื่อง 2)รู้รส และ 3)รู้ลีลา คือลีลาของศัพท์สำนวนที่ใช้ผูกประโยค ซึ่งผู้แต่งใช้เป็นบทพูดของตัวละคร และบทเล่าเพื่อดำเนินเรื่อง ทั้ง 3 เรื่องที่รู้จากการอ่านนิยายนี้ ทำให้การอ่านนิยายมีเสน่ห์มากกว่าการอ่านข่าว
4.ถ้าเจอศัพท์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็ให้เดา ถ้าเดาแม้ไม่แน่ใจแต่ก็พอจะรู้เรื่องที่อ่าน ก็ให้ใช้วิธีเดาและอ่านเรื่อยไปโดยไม่ต้องหยุดเปิดดิก ท่านจะเปิดดิกก็ต่อเมื่อเดาไม่ออกและอ่านไม่รู้เรื่องเท่านั้น ทางที่ดีมีสมุดจดศัพท์วางไว้ใกล้ตัวเพื่อเขียนศัพท์ที่ติด และค่อยไปเปิดดิกดูตอนหลังเมื่อเลิกอ่าน
5.อ่านใจใจดัง ๆ เหมือนกับว่า ท่านกำลังอ่านให้ใครฟัง ซึ่งหมายความว่า ท่านรู้ว่าศัพท์แต่ละคำที่อ่านมันออกเสียงยังไง การพยายามตั้งใจอ่านออกเสียงในใจ แม้อาจจะทำให้การอ่านไปได้ช้ากว่าการอ่านเงียบ ๆ ในใจ แต่มันก็มีประโยชน์เพิ่มเติมหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้รู้รสของภาษาและรู้ลีลาของประโยคมากขึ้น
ถ้าท่านดาวน์โหลดหนังสืออ่านนอกเวลาไว้หลายเล่มแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมืออ่านเลย ผมขอชวนให้ท่านเริ่มเล่มแรกวันนี้เลยครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.