เรียนภาษาอังกฤษ ตัว D-difficult มาก่อนตัว E-easy และตัว F-funny
สวัสดีครับ
ผมไม่ทราบว่า มีโรคนี้อยู่หรือเปล่า คือโรคกลัวภาษาอังกฤษ ถ้ามี คนไทยอาจจะเป็นกันไม่มาก แต่ก็คงจะเป็นกันไม่น้อยแน่ ๆ
ท่านอาจจะเถียงว่าไม่จริง อย่างคนรุ่นใหม่สนใจภาษาอังกฤษกันจะตาย อันนี้ผมก็ไม่เถียง สนใจนั้นสนใจอยู่หรอก แต่ก็สนใจแบบกลัว ๆ ถ้าท่านเถียงว่าคนไทยไม่กลัวภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ครูคริสโตเฟอร์ ไรท์, ครูอดัม, ครูแอนดรูว์ บิกส์ เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ หรือออกทีวีหรือออกคลิป มีคนเข้าไปเรียนเยอะแยะ
ผมขอถามหน่อยเถอะครับว่า ถ้าครูเหล่านี้พูดภาษาไทยไม่ได้เลยและฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องด้วย แกจะ popular เหมือนที่เป็นอยู่ไหม ผมรู้มาว่าฝรั่งที่เป็นครูสอนพูดภาษาอังกฤษในโรงเรียนสอนภาษา หลายคนอยู่เมืองไทยมานานและพูดภาษาไทยได้ และตอนสอนก็ต้องมีภาษาไทยปนออกไปบ้าง ไม่อย่างนั้นคนไทยผู้เรียนไม่รู้เรื่อง หรือไม่พยายามให้มากพอที่จะรู้เรื่องเป็นภาษาอังกฤษ หรืออย่างน้อยก็ไม่ชอบที่ฝรั่งพูดไทยได้แต่ไม่ยอมพูด
นี่ไงครับที่ผมสรุปว่า คนไทยเป็นโรคกลัวหรือเกลียดภาษาอังกฤษ และโรคนี้แหละครับที่ทำให้คนไทยแย่เรื่องภาษาอังกฤษ เมื่อจะเรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่ง- ฝรั่งคนนั้นก็ต้องพูดภาษาไทยได้, เมื่อจะเรียนภาษาอังกฤษผ่านเว็บ- เว็บนั้นก็ต้องอธิบายเป็นภาษาไทย
ในเว็บ e4thai.com นี้ ผมทำลิงค์ 2 ลิงค์ นี้ ท่านดูสถิติก็จะเห็นอย่างที่ผมพูด
- ลิงค์ที่ 1:Top 100 English-Study Websites มีจำนวน Hits หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่คลิกเข้าไปดู จำนวน 6,800
- ลิงค์ที่ 2: รวมเว็บไทยสอนภาษาอังกฤษ ที่ผมคัดเลือกแล้ว มีจำนวน Hits มากถึง 84,000 คือมากกว่าลิงค์แรกเกิน 10 เท่า
สรุปอีกทีก็คือ ถ้าครูฝรั่งสอนภาษาอังกฤษแต่พูดไทยไม่ได้ คนไทยก็ไม่คบ และเว็บฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ ต่อให้ดีปานใด คนไทยก็ไม่คบเช่นกัน
และจุดนี้แหละครับที่ผมเห็นว่า ทำให้หลายประเทศในโลกนี้ต่างกัน เรื่องโอกาสในการพัฒนาทางการศึกษา
ถ้าเราเข้าไปดูรายชื่อของประเทศกำลังพัฒนา หรือ Developing country คลิก ซึ่งในอาเซียน 10 ประเทศนี้ มีเพียง 3 ประเทศที่ติดป้ายประเทศพัฒนาแล้ว คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ส่วนอีก 7 ประเทศยังกำลังพัฒนาอยู่หรือด้อยพัฒนานั่นเอง ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ลาว,กัมพูชา และ เมียนมาร์ ผมกำลังกังวลใจอยู่ว่า ใน 7 ประเทศนี้ ประเทศที่มีจำนวนคนซึ่งเป็นโรคกลัวภาษาอังกฤษมากที่สุดก็คือ ประเทศไทย หรือ Thailand นี่แหละครับ และโรคนี้แหละ ที่จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยหรือประเทศไทย เดินไปข้างหน้าได้ช้ากว่าอีก 6 ประเทศในอาเซียนด้วยกัน
ที่พูดมายืดยาวทั้งหมดนี้ เป็นการชักนำเข้าสู่บทเรียนครับ โดยบทเรียนในวันนี้ก็คือ ให้ทุกท่านที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เข้าไปใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษบ้าง มันอ่านจะอ่านยาก ฟังยาก เข้าใจยาก ในตอนแรก แต่ถ้าเราลุยไม่เลิก ยากก็จะค่อย ๆ กลายเป็นง่าย
ท่านคิดอย่างนี้แล้วกันครับ เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษ เราก็เปิด Dictionary ซึ่งตัว D (Difficult) มาก่อนตัว E (Easy) เราไม่ได้เปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งตัว ง (ง่าย) มาก่อน ตัว ย (ยาก) เพราะฉะนั้น เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษกับเว็บฝรั่ง และเจออะไรที่มัน Difficult ก่อน มันก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะบทเรียนที่เจอมันจะ Difficult ก่อน Easy เสมอ แต่มันจะ Difficult อยู่ไม่นานหรอกครับ เพราะตัว E มันตามหลังตัว D มาติด ๆ
วันนี้วันหยุด วันเบา ๆ ผมขอนำบทเรียนจากเว็บฝรั่งมาฝากนิดหน่อยครับ
เว็บที่ 1: เขาให้เราคลิกฟังคำศัพท์ 1 คำ, และพิมพ์คำนั้นลงไป, เสร็จแล้วคลิกดูเฉลยว่าถูกไหม เว็บนี้ได้ฝึกฟัง, ฝึกพูดตาม, ฝึกพิมพ์สะกดคำ, และทบทวนศัพท์เก่า, รู้ศัพท์ใหม่, โดยมากเป็นคำพื้นฐานทั้งนั้นครับ
http://www.learnenglishfeelgood.com/listening/index.html
เว็บที่ 2: ยากขึ้นมาหน่อย ในแต่ละเรื่อง ลิงค์แรกให้เราคลิกฟังและอ่าน, ส่วนลิงค์ที่สอง ให้เราคลิกฟังและพิมพ์เติมคำในช่องว่าง (คลิก Play/pause), และคลิกดูคะแนนและเฉลย
http://www.agendaweb.org/listening/intermediate.html
http://www.agendaweb.org/listening/intermediate-2.html
http://www.agendaweb.org/listening/upperintermediate.html
http://www.agendaweb.org/listening/advanced.html
ถ้าบทเรียนนี้ยังไม่ถูกใจ ก็คลิกเข้าไปเลือกเองแล้วกันครับ มีอีกมากมายมหาศาล
ที่นี่: Top 100 English-Study Websites
อย่าลืมนะครับว่า Difficult มาก่อน Easy แต่ Easy ก็ตามหลัง Difficult มาติด ๆ ขอเพียงเราลุยไม่เลิก เราก็จะเจอกับตัว E และตามด้วยตัว F คือ Fun หรือ Funny ที่เราบางคนไม่รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก หรือ Funny ก็เพราะเราอยู่กับภาษาอังกฤษน้อยเกินไป คืออยู่แค่ตัว D แต่ถ้าเราคลุกและขลุกอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ เจอตัว E และตัว F มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.