Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

4 เรื่องที่ไวยากรณ์ไทยไม่เหมือนกับ English grammar

   Thai eng grammar

สวัสดีครับ

       คำว่า ไวยากรณ์ พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตฯ ท่านแปลว่า “วิชาภาษาว่าด้วยรูปคําและระเบียบในการประกอบรูปคําให้เป็น ประโยค” 

       เราคนไทยก่อนเรียนภาษาอังกฤษ  เราก็คุ้นเคยกับการสร้างประโยคแบบไวยากรณ์ไทย ซึ่งบางอย่างมันก็ไม่ตรงกับ English grammar และการที่เราก็ยังไม่สามารถสร้างความคุ้นเคยกับภาษาใหม่  จึงเป็นเรื่องธรรมดาครับที่พอพูดภาษาอังกฤษ เราก็พูดอังกฤษแบบไทย ๆ คือ นอกจากแอกเซ่นท์ไทยแล้ว เรายังผูกประโยคแบบไทย ๆ อีกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรถ้าฝรั่งเขาฟังและอ่านรู้เรื่อง แต่ถ้าเขาไม่รู้เรื่องเราก็น่าจะแก้สักนิด  เพื่อช่วยเขาให้เข้าใจเรา

       ผมมานั่งนึกเล่น ๆ ว่า มีไวยากรณ์ไทยอะไรบ้างที่ไม่ค่อยจะตรงกับ English grammar  ขอไล่เรียงไปทีละอย่างเท่าที่พอจะนึกออก


 เรื่องที่ 1. การเรียงคำ

เราพูดว่าผู้หญิงสวย ผู้หญิงมาก่อน สวยตามหลัง แต่ฝรั่งบอกว่า a beautiful woman เอาสวยขึ้นก่อนผู้หญิง  ผมเคยยกตัวอย่างนี้ตอนคุยกับผู้หญิงมาเลย์กลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่าภาษามาเลย์ก็เอาผู้หญิงขึ้นก่อนเหมือนกัน  ในแง่นี้ ความยากอยู่ที่ต้องเอาหลายคำมาเรียงกัน  เราพอรู้อยู่หรอกว่า คำหลักต้องวางไว้หลังสุด  คำขยายวางไว้ข้างหน้า  แต่ถ้ามีหลายคำก็เรียงไม่ค่อยจะถูกเหมือนกัน  ผมเข้าใจว่าไวยากรณ์ไทย ไม่มีกฎเกณฑ์การเรียงเป๊ะ ๆ เหมือนกับ English grammar ดูตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ

  • her short  black hair เราพูดภาษาไทยยังไงครับ? ผมของหล่อนดำสั้นหรือสั้นดำ
  • some delicious Thai  food อันนี้ง่าย  อาหารไทยอร่อย
  • those square wooden hat boxes ผมว่า คำนี้พอแปลเป็นไทย เราไม่จำเป็นต้องแปลเรียงตามลำดับไหล่ตามภาษาอังกฤษ ท่านคิดว่าควรจะแปลยังไงครับ?

จบเรื่องที่ 1 การเรียงคำ  ซึ่งเขากับเราเรียงไม่เหมือนกัน


เรื่องที่ 2. คำนามเอกพจน์ – พหูพจน์

พอเราพูดว่าเขามีแฟน  ก็จบกันแค่นี้ เราไม่ได้พูดว่า เขามีแฟนส์ เพื่อสื่อว่าเขามีแฟนหลายคน และไอ้ตรงนี้แหละครับ  ที่พอเราเขียนหรือพูดภาษาอังกฤษ ต้องพะวงว่าเติม s หรือ ไม่เติม s, และเลยต่อเนื่องไปถึงว่า ต้องมี a, an, the วางไว้ข้างหน้าด้วยหรือไม่  


 เรื่องที่ 3. การเติม –ed หลังคำกริยาเพื่อบอกว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว หรือบางทีก็เปลี่ยนรูป verb ไปเลย

เมื่อเรากินข้าวก็คือกินข้าว กินเมื่อวานนี้ วันนี้ หรือพรุ่งนี้ มันก็คือกินข้าว  เราไม่ได้พูดว่า ฉันกินข้าววันนี้ และฉันได้โกนข้าวเมื่อเดือนที่แล้วก่อนที่จะแกนข้าวเมื่อวานนี้  eat ก็ eat ตัวเดียวนี่แหละครับ ไม่ต้องมี eat – ate- eaten  และไอ้นี่แหละครับที่พอคนไทยพูดภาษาอังกฤษเล่าเรื่องในอดีต  เราก็ติดแบบไวยากรณ์ไทยที่จะใช้ verb ช่อง 1 ตลอดเวลา,  อ้าว ก็เรามีอยู่ช่องเดียวนี่ครับ ไม่ได้มีเยอะช่องเหมือนฝรั่ง แถมตอนพูดยังต้องระวังอีก เช่น look เติม –ed ต้องลุคทึ(ลุกทื่อ?) play เติม –ed ต้องเพลดึ(เพลดื้อ?) โอ้ย! อะไรกันนักหนา


เรื่องที่ 4. preposition หรือ บุพบท

ไอ้นี่แหละครับที่เหมือนยาสมุนไพรขม ๆ กินยาก จริงอยู่ ภาษาไทยก็มีบุพบท  แต่บุพบทไทย มันไม่ยุ่งและเรื่องมากเหมือน preposition ของฝรั่ง คือ การที่เอา preposition มาต่อท้าย verb มันมีทั้งความหมายไม่เปลี่ยน และเปลี่ยน เช่น

  • Look + at = look at = มองดู ก็มองอะไรธรรมดา ๆ นี่แหละ
  • แต่ look + in = look in ไม่ได้แปลว่า มองเข้าไป แต่แปลว่า แวะเข้าไปดูหรือเข้าไปเยี่ยม เช่น

She looks in on her elderly neighbour every evening.

หล่อนแวะเยี่ยมเพื่อนบ้านชราของหล่อนทุกเย็น

และไอ้อย่างที่ 2 นี่แหละครับ ที่เราเรียกว่า phrasal verb หรือ two-word verb ซึ่งเรียนกันไม่รู้จักจบจักสิ้น  และฝรั่งชาติเดียวกันเองเขาก็ใช้ภาษาที่เป็น phrasal verb คุยกันเยอะเพราะมันเป็นภาษาที่เป็นกันเอง ถึงใจ และรีแลกซ์มากกว่า  แต่ต่างชาติอาจจะไม่รู้เรื่องด้วยทั้งหมด เพราะฉะนั้นพอจะศึกษาเรื่องนี้ ก็คงหยิบมาเฉพาะที่มัน common ๆ จริง ๆ ที่มันเป็น phrasal verb ของชาวโลกไปแล้ว

       และนี่ไงครับที่ผมบอกว่ามันยุ่ง ยกตัวอย่างเรื่องชั้นล่าง คือ verb+preposition ธรรมดานี่แหละครับ   ยังไม่ต้องขึ้นลิฟต์ไปศึกษาเรื่อง phrasal verb หรอก

       เราพูดว่า ฉันไปโรงเรียน, พูดว่า I go school ไม่ได้หรือ, ทำไมต้อง I go to school. ด้วย เอ! อันนี้ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง ก็ฝรั่งเขาพูดกันอย่างนี้นี่ครับ

Are you listening to me? แกกำลังฟังฉันพูดอยู่หรือเปล่า? พูดว่า Are you listening  me? ไม่ได้หรือไง  คำตอบเดิมครับ   ก็ฝรั่งเขาพูดกันอย่างนี้นี่ครับ  จะให้ผมทำยังไง

ผมว่า เมื่อเราจะเรียนภาษาของเขา  เขาก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากพูดอย่างที่เขาพูด ผมยกตัวอย่างอันนี้แล้วกันครับ  ถ้าฝรั่งคนหนึ่งเขาพูดอย่างนี้

ผู้หญิงไทยอยู่สวยมาก เด็กไทยอยู่น่ารัก ประเทศไทยอยู่ประเทศที่ดี คนไทยอยู่ใจดี ศาสนาพุทธอยู่ศาสนาประจำชาติ

โดยฝรั่งคนนี้ยืนยันว่า เขาพูดถูกแล้ว เพราะเขาแปลมาจากบทความที่เขียนไว้ว่า

Thai women are very beautiful. Thai kids are cute. Thailand is a good country. Thai people are kind. Buddhism is the national religion.

โดยเขาบอกว่า verb to be คือ is, am ,are เขาไปดูในดิกแล้วมันแปลว่า เป็น, อยู่, คือ และเขาขอแปลว่า อยู่ ทุกคำ ซึ่งมันน่าจะถูกต้อง เจอไม้นี้ ท่านจะอธิบายให้ฝรั่งคนนี้ฟังยังไง แน่นอนล่ะครับ ท่านสามารถอธิบายสไตล์วิชาการได้มากมาย  แต่ลงท้ายก็ต้องบอกว่า คนไทยเขาไม่ได้พูดกันอย่างนี้  คนไทยพูดว่า

ผู้หญิงไทยสวยมาก เด็กไทยน่ารัก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดี คนไทยใจดี ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

แล้วคุณมึงยังจะยืนยันพูดอย่างนั้นอีกหรือ?

ตัวอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ preposition แต่มันเกี่ยวกับการแปลคำที่เป็น verb to be มากกว่า แต่ผมยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า เมื่อเราจะพูดภาษาของเขา เราก็ต้องพูดตามเขา เหมือนกับที่เขาจะพูดภาษาของเรา เขาก็ต้องพูดตามเรา

ตอนนี้ผมนึกออกแค่ 4 เรื่อง แต่มันน่าจะมีมากกว่านี้ ผมยังนึกไม่ออก


       คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ถึงจะพูดภาษาอังกฤษได้

       ผมเคยได้ยินบางคนบอกว่า  ไม่ต้องสนใจแกรมมาร์หรอก  ขืนกลัวผิดแกรมมาร์ก็เลยไม่กล้าพูด เมื่อไม่พูดก็เลยพูดไม่ได้  ถ้ากล้าพูด พูดผิดพูดถูกก็พูดออกไปก่อน จากปริมาณมันจะนำไปสู่คุณภาพเอง  คือ จะพูดผิดน้อยลง ๆ ตามลำดับ

       ทฤษฏีขอให้พูดออกไปก่อน ให้เกิดความกล้า และค่อย ๆ แก้ไขความผิดนี้ ผมเห็นด้วย แต่คำถามก็คือ การแก้ไขความผิดนี้ใครจะเป็นคนแก้ให้   ถ้าเรามี native speaker อยู่ใกล้ ๆ และคอยช่วยชี้ผิดให้เราหยุด-และชี้ถูกให้เราเดินต่อ   ถ้าได้อย่างนี้ดีแน่  แต่ถ้าไม่มีล่ะเราจะรู้ได้อย่างไร

      ผมจึงขอพูดสิ่งที่เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเว็บนี้  คือให้เราอ่านและค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด – ฝึกอย่างนี้จะได้ศัพท์และสำนวน, และให้เราฝึกฟังเรื่อย ๆ อย่าหยุด – ฝึกอย่างนี้จะได้สำเนียง, ทั้งสำนวนและสำเนียงที่เราได้จากการฝึกเช่นนี้  จะเป็นครูที่ช่วยชี้ถูกชี้ผิด และเป็นครูที่เป็น native speaker ซะด้วย

      สรุปอีกทีก็คือ เมื่อฝึกพูดอย่าฝึกพูดอย่างเดียว ให้ฝึกอ่านและฝึกฟังไปพร้อม ๆ กันด้วย

      ส่วน 4 เรื่องที่ไวยากรณ์ไทยไม่เหมือนกับ  English grammar ซึ่งผมพูดมายืดยาวตั้งแต่ต้นนี้ เอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยครับ เพราะถ้าเราฝึกอ่านและฝึกฟังจนคุ้นเคยกับมัน  เราก็จะรู้ใจ-เข้าใจ-และใช้มันได้ถูกต้องเอง

พิพัฒน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com