You are what you eat. - You learn what you read.
สวัสดีครับ
วันนี้วันอาทิตย์ผมอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน ขออนุญาตนำเรื่องหนหลังสมัยเด็กมาคุยสัก 1 เรื่องนะครับ
ตอนผมเรียนอยู่ชั้นประถม เมื่อก่อนนั้นเขามี “พุทธศาสตร์วันอาทิตย์” คือโรงเรียนวัดที่ผมเรียนอยู่เขาจัดหาพระมาสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ๆ ผมก็ไปเรียนกับเขาด้วย
มีพระท่านหนึ่ง ท่านชอบพูดเรื่อง “มีเหมือนไม่มี 4 อย่าง” คือท่านสอนบ่อยมาก จนผมจำได้ขึ้นใจ สิ่งที่ท่านสอน มีสั้น ๆ ไม่กี่คำข้างล่างนี้ครับ
“มีเหมือนไม่มี 4 อย่าง คือ มีเงินให้เขากู้, มีความรู้อยู่ในตำรา, มีเมียไม่อยู่บ้าน, มีงานแต่ไม่ทำ”
อันที่จริงสิ่งที่ท่านสอนนี้ ต่อมาผมก็เคยได้ยินคนอื่นสอนเหมือนกัน แต่มันไม่ครบถ้วนคล้องจอง 4 วรรคอย่างที่ท่านสอน
ผมเข้าใจว่า คำสอนพวกนี้มีรากมาจากสังคมไทยในอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา สรุปง่าย ๆ ก็คือ 4 อย่างนี้ถ้ามีแล้วไม่ทำอะไรกับมัน หรือทำอย่างผิด ๆ มันก็เหมือนไม่มี คือไม่มีประโยชน์แม้ว่าจะมีอยู่
- มีเงินให้เขากู้ – คือกะจะรวยเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ถ้าถูกเบี้ยวไอ้เงินที่มีก็เหมือนไม่มี
- มีความรู้อยู่ในตำรา – มีหนังสือแต่ไม่อ่าน ต่อให้มีเต็มตู้ มันก็ไม่ช่วยให้เราฉลาดขึ้นมาได้
- มีเมียไม่อยู่บ้าน - สมัยก่อนที่ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้าน โดยสามีออกจากบ้านไปทำงานตามเรือกสวนไร่นา แต่ถ้ามีเมียแล้วเมียไม่ยอมอยู่เฝ้าบ้านทำงานบ้าน เอาแต่ออกไปนั่นไปนี่ทั้งวัน อย่างนี้มีเมียก็เหมือนไม่มี
- มีงานแต่ไม่ทำ – อันนี้เขาคงหมายถึงสามีซึ่งต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว งานนั้นมีอยู่แต่ไม่ทำ มันก็เหมือนคนไม่มีงานทำเพราะไม่ยอมทำงานที่มี
ณ วันนี้ผมเป็น webmaster แก่ๆ แล้วหวนนึกถึง “มีเหมือนไม่มี 4 อย่าง” ที่หลวงพ่อสอนสมัยเด็ก อดคิดไม่ได้ว่า แม้บ้านเมืองและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ปัญหาของคนก็ดูเหมือนจะซ้ำซากอย่างเดิม
อย่างเช่นตอนที่ผมเป็นวัยรุ่นตอนปลายเมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัย คนไทยมีปัญหาว่า หาตำราหรือสื่อการเรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ทุกวันนี้ปัญหานี้หมดไปแล้ว เพราะอินเทอร์เน็ตเข้ามาแก้ปัญหาให้
แต่.... แต่ปัญหาเดิมที่เคยมีอย่างไร ก็คงมีอยู่อย่างนั้น
อย่างเช่นการจะเก่งภาษาอังกฤษ ถ้าเราพูดง่าย ๆ ว่า มันต้องมี 3 step คือ (1)สะสม (2)ศึกษา และ (3)success แต่เท่าที่ผมเห็น คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังอยู่แต่ step ที่ (1) คือ สะสม เราสะสมไฟล์ ตำรา โปรแกรม หนังสือ สื่อการเรียน-การสอนภาษาอังกฤษไว้มากมาย
แต่สะสมก็ยังอยู่แค่สะสม, ไม่เลื่อนไปเป็นการศึกษา, ไม่ล่วงไปถึงขั้น success
ไอ้เรื่องการศึกษาภาษาอังกฤษนี่มันต่างจากการกินนะครับ ในเรื่องของการกินนั้น มันมีประโยคที่เราอาจจะได้ยินจนชินหู คือ You are what you eat. คุณเป็นอย่างที่คุณกิน คือ อาหารนี่มันไม่เหมือนหนังสือ เพราะของกินพอเราซื้อมาเราก็กินได้เลย และเราก็เป็นอย่างที่เรากิน อ้วนหรือผอมก็เห็น ๆ กันอยู่
แต่หนังสือ หรือไฟล์หนังสือ มันต่างกันโดยสิ้นเชิง มันไม่ได้ You are what you buy หรือ You are what you download คือต่อให้ซื้อหนังสือหรือดาวน์โหลดไฟล์ไว้มากมายมหาศาลปานใด มันก็เป็นเพียง step ที่ (1) คือสะสม มันมิได้ไหลไปโดยอัตโนมัติ เป็น step ที่ (2) คือศึกษา และ step ที่ (3) คือ success ถ้าเราไม่ทำมัน
นี่แหละครับ ผมถึงได้บอกว่า “มีเหมือนไม่มี” สมัยก่อนกับสมัยนี้ มันไม่ต่างกันเลย
ตอนที่คนไทยเพิ่งรู้จักอินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเองรู้สึกว่า คนไทยส่วนใหญ่คงจะใช้ประโยชน์ในการศึกษาอังกฤษจากอินเทอร์เน็ตได้ไม่เท่าไหร่ เพราะเราอ่านภาษาอังกฤษล้วน ๆ ไม่ค่อยได้ หรืออ่านได้แต่ก็ไม่รักที่จะลุยเข้าไปอ่าน แต่ต่อมาไม่นานก็เกิดเว็บไซต์สอนภาษาอังกฤษมากมายที่ webmaster ชาวไทยจัดทำขึ้น
ณ วันนี้ ผมมีความหวังเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวว่า ถ้าคนไทยที่ต้องการเก่งภาษาอังกฤษ ทำกับหนังสือเหมือนของกิน คือ ยึดหลัก You learn what you read. แล้วก็อ่านไม่หยุด เหมือนที่เรายึดหลัก You are what you eat. แล้วก็กินไม่หยุด นั่นแหละครับ เราจึงจะไปได้ครบ 3 step คือ คือ (1)สะสม (2)ศึกษา และ (3)success
พิพัฒน์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.