Google WWW Blog e4thai www.e4thai.com

ความคิดเห็นต่อการประท้วงในเมืองไทย

IMG 6478 gggสวัสดีครับ

       เมืองไทยมิได้เป็นประเทศเดียวที่ประชาชนประท้วงรัฐบาล ถ้าเราเข้าไปอ่านลิงค์นี้ ของนิตยสาร The Economist เพียงหยาบ ๆ

http://www.economist.com/topics/protests-and-demonstrations

เราก็จะพบว่า การประท้วงเกิดขึ้นทั่วโลก เช่นที่ กัมพูชา, ยูเครน, บราซิล, บัลแกเรีย, ซูดาน, โคลอมเบีย, อียิปต์, ตูนิเซีย, เอธิโอเปีย, ตุรกี เป็นต้น

การประท้วงแต่ละครั้งในแต่ละประเทศ อาจจะแตกต่างกันบ้าง เช่น รุนแรงหรือสงบ, จบเร็วหรือจบช้า, จำนวนคนประท้วงมากหรือน้อย, กระจุกในเมืองหลวงหรือกระจายไปเมืองอื่นๆ เป็นต้น

       แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันในทุกการประท้วงทั่วโลกทุกวันนี้ก็คือ ผู้ประท้วงใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เช่น smartphone หรือ social media มาเป็นตัวช่วยในการกระจายข่าวสารหรือรวมพล ผมคิดว่า คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook อาจจะคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่า ประดิษฐกรรมของเขา จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอย่างมากมายปานนี้

       ผมอดคิดไม่ได้ว่า การประท้วงที่มีคุณภาพนั้น ควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ผมว่ามันน่าจะมีอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

•-พฤติกรรมร้าย ๆ ของผู้นำการเมือง   หรือนโยบายแย่ ๆ ของรัฐบาล ที่ผู้ประท้วงยกเป็นสาเหตุของการประท้วง –มันฟังขึ้น

-ผู้ประท้วงใช้วิธีอันสงบในการประท้วง สงบ แปลว่า ไม่ทำร้ายร่างกายและชีวิต อันผิดศีลข้อ 1, ไม่ทำอันตรายทรัพย์สินระหว่างการประท้วง อันผิดศีลข้อ 2, ไม่สื่อสารสิ่งอันเป็นเท็จระหว่างการประท้วง (เพื่อให้ได้ชัยชนะ) อันผิดศีลข้อ 4, และไม่ทำให้ตัวเองมึนเมาเพื่อสร้างความกว้าและบ้าบิ่นเกินพิกัดในการประท้วง ซึ่งผิดศีลข้อ 5

-ผู้ประท้วงต้องใช้ความสงบและความจริง ในการโน้มน้าวให้คนที่ไม่เห็นด้วยมาเข้าร่วม การใช้ความรุนแรงและความเท็จ เพื่อดึงให้คนอื่นมาเข้าร่วมด้วยความกลัวและความหลง อย่างที่มีการทำกันในบางแห่ง แม้จะได้ชัยชนะในเวลาอันสั้น แต่มันคือความพ่ายแพ้ในระยะยาวและแพ้อย่างถาวร ประเด็นที่ต้องเน้นก็คือ การใช้ความสุภาพและความจริงเพื่อจูงใจคนที่เห็นต่าง ทำได้ไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ ก็ยากที่การประท้วงจะชนะ หรือแม้ชนะก็เป็นชัยชนะที่อายุสั้น

-ผู้ประท้วงต้องยอมประนีประนอมหรือเปลี่ยนใจบ้าง หากเหตุผลบางข้อของผู้กุมอำนาจฟังขึ้น นี่เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแวดล้อมด้วยคนใจเดียวกันที่ต้องการทำอะไรให้มัน “สุด ๆ”

       ปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในเมืองไทยทุกวันนี้ ในแง่หนึ่ง มันคือ “ผลกรรม” ที่คนในสังคม ทั้งต่างคนต่างทำและร่วมกันทำในอดีต จนทำให้เกิดสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำหรือช่องว่าง ระหว่างคนรวยกับคนจน, ระหว่างเมืองกับชนบท, ระหว่างคนมีการศึกษามากกับคนมีการศึกษาน้อย, ระหว่างผู้ปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง ฯลฯ ช่องว่างนี้ทำให้คนที่ได้เปรียบหรือมีความสุขมากกว่า ละเลยคนที่เสียเปรียบ, แต่ความจริงก็คือ ความเหลื่อมล้ำโดยตัวมันเองคือความรุนแรงที่รอวันปะทุ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ทุกชัยชนะของการประท้วงทางการเมืองมีความพ่ายแพ้รออยู่  

       ผมเห็นว่า เราคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความสุขมากกว่าในสังคม กำลังชดใช้กรรมที่อาจจะเคยทำร่วมกันมาในอดีตโดยไม่ตั้งใจ เราได้เปรียบเพราะโครงสร้างสังคมที่เอาเปรียบ และโครงสร้างแบบนี้มันมีมาแล้วก่อนเราเกิด ณ วันนี้ เป้าหมายหลักของการต่อสู้ คือ การได้มาซึ่งโครงสร้างสังคมที่ไม่เอาเปรียบ, ที่ไม่เป็นเชื้อเพาะความรุนแรง นี่คือการชดใช้กรรม ที่เราต้องทำด้วยความจริงและการเสียสละ

 

พิพัฒน์

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Google
Search WWW Search Blog e4thai Search www.e4thai.com