Articles
วิธีส่วนตัวที่ใช้ฝึกฟังภาษาอังกฤษ
แต่ละคนคงมีวิธีส่วนตัวที่ต่างกัน ในการฝึกฟังภาษาอังกฤษให้ได้ผล วันนี้ผมขอเล่าวิธีที่ผมใช้
เรื่องนี้ผมเคยพูดบ้างแล้ว แต่ผมขอนำวิธีที่ผมใช้ได้ผลมานานแล้วมาเล่าอีกสั้น ๆ เผื่อบางท่านจะใช้ได้ผลบ้าง
【1】 ให้ท่านเลือก (1)เรื่องที่ท่านชอบและสนใจ เพราะจะช่วยให้ฟังได้ไม่เบื่อง่าย (2)เรื่องที่ไม่ยากเกินไป มีปนกันทั้งที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องและฟังรู้เรื่อง จะได้พอเดาและตีความได้บ้าง ไม่หนักเกินไป
【2】ขณะฟังให้จิดสงบตั้งมั่นอย่าว่อกแว่ก และอย่าใจร้อนหงุดหงิดเมื่อฟังไม่รู้เรื่อง คือถ้าหูรั่วแม้ฟังนานเข้าหูขวาก็ออกหูซ้ายไปหมด แต่... ถ้าทำใจไม่ได้ก็อย่าตำหนิตัวเองแรงเกินไป เราตั้งใจใหม่ได้เสมอ
【3】ขอแนะนำเว็บฟัง คือ Bangkok Post Learning ซึ่งมีให้เลือกฝึกฟังและฝึกอ่าน 3 ระดับ คือ
- ถ้าต้องการฝึกเพิ่มเติมที่เว็บอื่น ==> ก็ไปที่นี่
【4】 เที่ยวแรก ๆ ให้ฟังอย่างเดียว อย่าอ่าน มันจะมีทั้งที่ฟังรู้เรื่องและฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ขอแนะนำว่า ถ้าฟังรู้ไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่องน้อยมาก ก็ให้ฟังซ้ำ ๆ อาจจะสัก 5 – 10 เที่ยวก็ได้ และท่านอาจจะพบว่า (1)มีบางคำที่เที่ยวแรก ๆ ฟังไม่รู้เรื่องหรือฟังไม่ทัน แต่เที่ยวหลัง ๆ ฟังรู้ (2)มีบางคำที่เมื่อฟังเที่ยวแรก ๆ ไม่รู้จักและจับไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันคือคำว่าอะไร แต่เที่ยวหลัง ๆ จับได้ว่าคือคำอะไรแต่ก็ยังคงไม่รู้จักเพราะลืมไปแล้วหรือไม่เคยเห็น แต่ถ้าท่านทำ 2 ข้อนี้ได้แม้เพียงเล็กน้อยก็ให้ภูมิใจได้แล้วแหละครับ
การฟังรู้เรื่องเช่นนี้ยังเป็นผลมาจากความเข้าใจเรื่อง (1) ชนิดของคำ, (2) ชนิดของประโยค และ (3) อนุประโยค และวลี (==> คลิกศึกษา) ซึ่งน่าจะศึกษาให้แน่นเป็นทุนตั้งต้น ถ้าท่านฝึกฟังไปเรื่อย ๆ และสงสัยว่าคำศัพท์ก็พอรู้ แต่ทำไมยังเดาไม่ค่อยถูกและตีความอย่างไม่มั่นใจ นี่อาจเกิดจากไม่แน่นใน 3 เรื่องนี้
จุดที่อยากเน้นตรงนี้ก็คือ บางท่านอาจจะเห็นว่า ไม่น่าจะเสียเวลาฝึกฟังนานนัก น่าจะเลยไปถึงขั้นตอนอ่าน English subtitles หรือ script พออ่านเข้าใจแล้วก็กลับมาฟัง ก็จะช่วยให้จับศัพท์สำนวนและเข้าใจเนื้อเรื่องได้เร็วขึ้น พูดอย่างนี้ก็ถูกต้องและการอ่านก็ช่วยได้จริง ๆ
แต่... เราอย่าเพิ่งรีบอ่านเร็วเกินไป เพราะเมื่ออ่านแล้วมาฟัง (1)หูเราจะออกแรงทำงานน้อยลงเพราะรู้จักคำนั้นแล้วจากการอ่าน (2) เราอาจจะเข้าใจผิดว่า ตอนนี้เราฟังเข้าใจแล้ว 100 % ทั้ง ๆ ที่การฟังและการอ่านออกแรงอย่างละ 50 % ช่วยให้ฟังเข้าใจ เพราะฉะนั้นเมื่อจะฝึกพัฒนา listening skill ตอนแรกก็ต้องให้หูออกแรงเหนื่อยสักหน่อย อย่าเพิ่งรีบเรียกให้ตา มาช่วย (อ่าน)
【5】คราวนี้ก็มาถึงลำดับของการอ่าน ผมขอเน้นว่า การอ่านช่วยเรื่องศัพท์ แต่เราควรมองเรื่อง (1) ชนิดของคำ, (2) ชนิดของประโยค และ (3) อนุประโยคและวลีด้วย (==> คลิกศึกษา) คนที่แน่นอยู่แล้วจะสามารถมองออกได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์แยกแยะ แต่ถ้าเรายังทำไม่ได้ก็ควรฝึกให้ทำให้ได้ คือ รู้ว่าศัพท์ตัวนี้เป็นคำอะไร, อยู่ในประโยคอะไร, เป็นส่วนหนึ่งของอนุประโยคหรือวลีอะไร เรื่องเพียง 3 เรื่องนี้ไม่ได้ยากหรือยาวเกินไปที่จะศึกษาให้แน่นเป็นทุนไว้ก่อน
ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นคำแนะนำที่ออกจะห้วนสักหน่อย แต่เป็นการฝึกที่ผมใช้ได้ผล จึงนำมาฝาก เผื่อบางท่านจะนำไปใช้ได้ผลบ้าง เพิ่มเติมจากวิธีที่ท่านฝึกได้ผลอยู่แล้ว จะได้มีหลาย ๆ วิธีให้เลือกใช้
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal
ศึกษาภาษาอังกฤษ พร้อมข้อมูลทางการ จากเว็บไซต์กระทรวงของไทย
ผมว่าทุกวันนี้ เราคนไทยน่าจะสนใจมากขึ้นว่ารัฐบาลเขาพูดอะไรบ้าง แต่เราอาจจะไม่ได้สนใจทุกเรื่อง ถ้าเราต้องการค้นหาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเจาจง ก็ไปที่เว็บไซต์ของแต่ละกระทรวง ถ้าต้องการอ่านภาคภาษาอังกฤษของเว็บหรือของลิงก์ที่คลิกเข้าไปอ่าน ก็ให้คลิกรูปธงชาติอังกฤษ หรือ คลิกคำว่า EN หรือ English ที่มักจะอยู่ที่มุมบนขวาของเว็บ
แต่ขอบ่นหน่อยเถอะครับ ส่วนที่เป็นภาคภาษาอังกฤษของหลายเว็บหรือหลายลิงก์ในเว็บ น่าจะทำได้สมบูรณ์กว่านี้ ผมไปเจอเยอะเลยที่มีแต่ภาษาไทยให้อ่าน ไม่มีภาษาอังกฤษ
ข้อมูลทางการ จากเว็บไซต์กระทรวงทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เรารู้ว่า ทางการเขาพูดอะไรไว้บ้าง เราจะได้ความรู้ว่า อะไรที่เขาพูดดี อะไรที่เขาขี้ลืม และอะไรที่เขาพูดตกหล่น เราก็จะได้ทักท้วงเขาได้ ทุกวันนี้ช่องทางการทักท้วงดี ๆ ก็มีเยอะ เราก็ใช้ช่องทางนั้น ๆ แล้วกันครับ
ที่ผมนำเว็บนี้มาแนะนำ เรื่องความรู้จากข้อมูลของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักคือ การฝึกอ่านภาษาอังกฤษครับ เข้าไปแล้วดูเมนูที่มักจะะโชว์หัวข้อหลัก ๆ ไว้ที่แถบด้านบนสุด หรือใช้ช่อง Search ของเว็บไซต์ก็ได้
==> https://www.nationsonline.org/oneworld/thai-government.htm
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal
60 วลีที่ห้ามพูดกับลูกเด็ดขาด
ผมไปเจอเรื่องนี้
60 Things You Should Never, Ever Say to Your Kids,
Erase these common phrases from your vocabulary.
==> คลิกอ่าน
เมื่อเข้าไปแล้ว ให้คลิก > ที่ขอบขวา เพื่อเลื่อนอ่านไปทีละ slide
เขาอธิบายสั้น ๆ ว่า 60 วลีนี้ ทำไมจึงไม่ควรพูดกับลูกเลย หรือไม่ควรพูดมากหรือพูดบ่อยเกินไป หรือถ้าต้องพูด ควรพูดยังไงให้เกิดประโยชน์แทนที่จะเป็นโทษ ซึ่งมันอาจจะเป็นคำต่อว่า คำตำหนิ คำชื่นชม คำถาม คำเปรียบเทียบ คำแนะนำ ฯลฯ
ลองดูตัวอย่างวลีพวกนี้
- ออกไปก่อน อย่าเพิ่งมากวนตอนนี้
- ลูก sensitive มากไปหน่อย
- ลูกสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น
- ทำไมลูกไม่เหมือนพี่เหมือนน้อง
- ถ้าไม่ยอมไปก็จะปล่อยทิ้งไว้ที่นี่แหละนะ
- ลูกโอเคแล้วนะ
- ลูกดีกว่าเด็กคนนั้นเยอะ
- เยี่ยมมาก !
- ลูกทำยังงั้นไม่ได้นะ
- แน่ใจนะว่าลูกทำได้
- เรื่องนั้นให้แม่ช่วยลูกทำก็ได้
- แม่อยากให้ลูกเหมือนกับคนนั้น (เอ่ยชื่อเด็ก)
- แม่ห้ามแล้ว (ก็ยังทำจนได้)
- ลูกเป็นอย่างนี้ไม่เคยเปลี่ยนเลย
ผมดูแล้วมีประโยชน์มาก จึงขอแนะนำให้ท่านที่เป็นพ่อแม่ได้ลองอ่านดู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า เราต้องเห็นด้วยหรือเห็นค้านกับเขาไปซะทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องหรือทุกคำพูดมี 2 ด้านเสมอ การพูดด้วยใจที่สงบ มีเมตตา เปิดใจ ไตร่ตรอง มีสติ รอบคอบ และขยันศึกษา จึงเป็นภาระของผู้เป็นพ่อแม่ทุกคน
พิพัฒน์
https://www.facebook.com/pg/En4Th/posts/?ref=page_internal