Articles
ศึกษาภาษาอังกฤษที่ voicetube.com
♥ ที่เว็บนี้ → https://www.voicetube.com/
♣ ทุกคลิปที่เปิดเล่น จะมี subtltles ให้อ่านพร้อมฟัง ทีละประโยค ๆ ไปจนจบคลิป
เชิญเปิดฟัง เล่น และศึกษาภาษาอังกฤษ ได้เลยครับ
♦ แต่ถ้ามีเวลา และต้องการคำแนะนำโดยละเอียด ก็ไปที่นี่ → https://goo.gl/AwXySh
สัมภาษณ์พิเศษ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดย สุทธิชัย หยุ่น
♥ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดย สุทธิชัย หยุ่น หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และได้พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 24 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล
♣ ทั้ง ดร.มหาธีร์ และคุณสุทธิชัย หยุ่น พูดเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ยากและไม่เร็วเกินไป, มีคำแปลเป็นภาษาไทยบนจอ, ถ้าท่านคลิก CC ก็จะมี English subtitles ปรากฏบนจอด้วย แต่มันเป็น English (auto-generated) จึงมีผิดปนอยู่บ้างแต่ไม่มาก, แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าอ่านตามก็จะเข้าใจได้ดี, ถ้าท่านฟังไปสักเดี๋ยวหนึ่งโดยไม่อ่านภาษาไทยและรู้สึกว่าฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ว่าท่านต้องการฝึกฟังภาษาอังกฤษกับคลิปนี้ ก็ฝึกอย่างนี้ก็ได้ครับ 【1】 เที่ยวแรก ฟังไปพร้อมกับอ่าน English subtitles ถ้าสงสัยก็ pause และดูคำแปลภาษาไทย ศึกษาทีละประโยค ๆ ไปจนจบ 【2】เที่ยวที่ 2 ฟังภาษาอังกฤษอย่างเดียว โดยไม่ต้องอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
→ https://www.youtube.com/watch?v=tKk8_Cz6ySI
วิธีฝึกแบบโหด อ่าน นสพ. Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ
ท่านผู้อ่านครับ ผมลุ้นบ่อย ๆ ให้ท่านฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษ เพราะว่า ข่าวนั้นมักพยายามเขียนให้ง่าย, ใช้ศัพท์สามัญที่ไม่ยากเกินไป, ถ้าอ่านข่าวเข้าใจจะไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ยาก และที่สำคัญข่าวมีหลากหลายประเภท เราสามารถเลือกอ่านประเภทที่ชอบ สรุปก็คือการฝึกอ่านข่าวได้ทั้งความรู้ ข่าวสาร ข้อมูล และได้ reading skill ที่นำไปใช้อ่านเรื่องอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบ
ถ้าถามว่าต้องอ่านได้ขนาดไหนถึงจะถือว่า " ใช้ได้ " ผมขอตอบง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าสามารถอ่าน นสพ. Bangkok Post ได้รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่ คือจับประเด็นสำคัญได้ ก็ถือว่าใช้ได้ จะอ่านได้ช้ากว่าอ่าน นสพ. ไทยรัฐบ้าง ก็ยังถือว่าใช้ได้
ประสบการณ์ – ภูมิหลัง
ผมเองฝึกอ่าน Bangkok Post ด้วยตัวเองมาตั้งแต่อยู่ ปี. 1 ตั้งแต่สมัยที่โลกนี้ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มันเป็นการฝึกที่ได้ผล แต่โหดจนผมไม่อยากแนะนำแต่ก็อยากแนะนำ คือทุกวันเมื่อกลับจากมหาวิทยาลัยถึงหอพัก ผมจะนำ Bangkok Post มาอ่านที่โต๊ะ ใช้เชือกฟางผูกเอวตัวเองไว้กับเก้าอี้ให้แน่นหนา และอ่านให้จบแบบรู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่อย่างน้อย 1 หน้า โดยจะใช้วิธีเดา เปิดดิก (ทั้งดิกอังกฤษ-ไทย และดิกอังกฤษ-อังกฤษ) พยายามตีความ หรือวิธีไหนก็แล้วแต่ ตั้งเป้าอ่านให้จบ 1 หน้า ห้ามลุก ถ้าลุกก็ยกเก้าอี้ติดก้นไปด้วย ทำอย่างนี้ติดต่อกันได้ครึ่งปีหรือหนึ่งปีนี่แหละ ผลก็คือ มันอ่านรู้เรื่องมากกว่าเดิมเยอะ ผมก็ยังฝึกอ่านเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้เชือกฟางผูกเอวแล้ว
และต่อมาก็มีอีกช่วงหนึ่ง ผมไปที่กองบรรณาธิการ นสพ. รายวันฉบับหนึ่ง บอกเขาว่าอยากจะมาขอฝึกงานแปลข่าวที่หน้าข่าวต่างประเทศ เขาบอกว่าที่นี่ไม่รับเด็กฝึกงาน แต่คนที่รับผิดชอบหน้าข่าวต่างประเทศเพิ่งลาออกไป คุณทำได้มั้ยล่ะ ถ้าทำได้ก็จะรับ ผมเองตอนนั้นไม่ได้มีความมั่นใจอะไรนัก แต่ก็ขอทำเพราะอยากได้ตังค์
ช่วงเวลาที่ทำอยู่นี้โหดที่สุด งานที่ทำคือแปลข่าวจากเครื่องเทเล็กซ์ ผมมีฝีมือขนาดเด็กฝึกงาน แต่เนื้องานต้องการมืออาชีพ และก็ห้ามแปลผิด ถ้าผิดมันจะฟ้องทันทีเพราะจะต่างจากข่าวต่างประเทศใน นสพ. ฉบับอื่นๆ งานนี้โหดมากครับ เพราะนอนดึก ตื่นเช้า แปลข่าวบางส่วนและรีบไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ ตอนบ่ายนั่งรถเมล์จากธรรมศาสตร์เข้าโรงพิมพ์เพื่อทำงานต่อ งานหินชิ้นนี้ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ได้ฝึกปรืออย่างสุด ๆ เพราะไม่มีใครช่วย ตอนสงสัยก็ไม่มีใครให้ถาม แต่ผลงานแปลห้ามผิด.... ห้ามผิดเด็ดขาด
ดิกเป็นแค่ปากทางการรู้ศัพท์
ผมเคยถามหลายคนว่า จะอ่าน นสพ. ภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง อะไรยากที่สุด ส่วนใหญ่จะตอบว่า ศัพท์ ถ้ารู้ศัพท์ซะอย่างก็อ่านรู้เรื่อง ผมว่าคำตอบนี้ยังไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะว่าเมื่อเราติดศัพท์และใช้ดิกเป็นตัวช่วย มันจะมีงานถึง 3 งานดังนี้
(1) เปิดดิกให้เจอคำนั้น แต่บางคนไม่ชำนาญเปิดช้ากว่าจะเจอ
(2) เมื่อเจอแล้วก็ต้องเลือกคำแปลที่เข้าได้กับเนื้อเรื่อง เพราะศัพท์แต่ละคำมักมีหลายคำแปล
(3) เมื่อแปลประโยคได้ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องตีความอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ต้องอาศัย background จึงจะเข้าใจ เช่น ข่าวเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐกิจ งบประมาณ
ความยากยังไม่หมดแค่นี้ เพราะดิกอังกฤษ-ไทยส่วนใหญ่มีศัพท์หรือความหมายให้ไม่พอใช้ เช่น ศัพท์-สำนวนที่เกิดใหม่, ศัพท์เฉพาะในข่าวประเภทนั้น ๆ, ศัพท์ประเภท idiom – informal – slang – phrasal verb หลายคนไม่เฉลียวด้วยซ้ำว่า ความหมายที่ตัวเองต้องรู้นั้น มันไม่มีอยู่ในดิกอังกฤษ-ไทยเล่มที่ตัวเองกำลังเปิด แต่ก็ดึงมา 1 คำแปลเพื่อเอาไปใช้ ถ้าอย่างนี้มันก็ผิดวันยังค่ำ การจะแก้ปัญหานี้ต้องพึ่งดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่งมีคำศัพท์และความหมายพอใช้มากกว่าดิกอังกฤษ-ไทย
ในยุคเน็ตทุกวันนี้มีดิกอังกฤษ-อังกฤษให้เปิดอ่านผ่านเว็บฟรี ๆ ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องฝึกอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษให้คล่องนะ จะได้ไม่จนตรอกหรือจนแต้มง่าย ๆ
แต่แม้ว่าการเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ หรือดิกอังกฤษ-ไทยผ่านเว็บจะทำได้ง่าย ๆ และง่ายยิ่งขึ้นเมื่อมี add-on ให้ติดตั้งและคลิกดูได้ทันทีโดยไม่ต้องไปที่เว็บดิก แต่ภาระการเลือกคำแปล/เลือกความหมาย และการตีความ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม หรือพูดอีกทีก็คือ ถึงรู้ศัพท์ก็ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่อง เพราะดิกให้ความหมายหรือคำแปล แต่ไม่ได้ช่วยเราตีความ
เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง ?
เรื่องนี้ ถ้าตอบแบบไม่ให้ผิดเลยก็ต้องตอบว่า ต้องกลับไปอ่านภาษาอังกฤษในระดับที่เราเข้าใจ เช่น ตอนนี้เราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่ทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษอยู่ที่ระดับชั้น ป. 1 ก็ต้องยอมถ่อมใจย้อนกลับไปอ่านที่ระดับนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เวลามาก เพราะเราจะอ่านได้เร็วกว่าตอนเป็นเด็ก เนื่องจากเราเป็นผู้ใหญ่แล้วและมีประสบการณ์ ถ้าเราฝึกอ่านต่อเนื่อง ทักษะการอ่านของเราจะพาสชั้นจาก ป.1 ขึ้นเป็น ป.2 , ป.3 , ป. 4, ป.5, ป.6 อย่างรวดเร็ว และถ้าอึดใจฝึกต่อ reading skill ก็จะพัฒนาเป็นระดับ ม.1 – 2 – 3 – 4 – 5 - 6 ในไม่ช้า
ท่านอาจจะถามว่า เพราะเหตุใด reading skill ที่เรากลับไปฝึกไต่ต้อย ๆ จากระดับ ป.1-2-3-4-5-6 และจากระดับ ม.1-2-3-4-5-6 มันถึงพัฒนาได้รวดเร็วโดยไม่ต้องมีครูสอน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า บันไดการฝึกอ่านที่เราก้าวขึ้นนั้นมันไม่ชันแต่ค่อนข้างลาด เราค่อย ๆ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ทีละคำ ๆ และโครงสร้างประโยคก็ยากขึ้นแบบอ่อน ๆ เพราะฉะนั้นเราจะได้ซึมซับทั้งศัพท์และแกรมมาร์จากการอ่านโดยไม่รู้ตัว
เรื่องการค่อย ๆ เดิน, ค่อย ๆ ฝึกนี้ ท่านอย่าไปดูถูกมันนะครับว่าไม่ได้ผล ถ้าเราเดินไม่หยุดมันย่อมถึงที่หมายแน่ ๆ ผมเคยไปเที่ยวหอไอเฟลที่ปารีส ฝรั่งเศส และจินตนาการว่า ถ้าไม่มีลิฟต์เราจะขึ้นถึงชั้นบนสุดได้มั้ย ? คิดอย่างนี้แล้วก็ค่อย ๆ เดินตามบันไดขึ้นไป เดินแบบไม่ต้องรีบร้อน เหนื่อยก็พักนิดหน่อยไม่พักนาน มันก็ถึงข้างบนจนได้ จะถึงช้าไปสักนิดก็ไม่เป็นไร การฝึกอ่านไต่ไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ทางลัดแต่ก็ห้ามลบหลู่แม้ไม่เชื่อ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นทางทิพย์ที่หลายคนเผลอดูถูก
ผมเองทุกวันนี้ตอนอ่าน Bangkok Post ก็เลิกใช้เชือกฟางผูกเอวติดเก้าอี้แล้ว และขอสรุปนิทานที่เล่ามาข้างบนว่า ถ้าไม่มีสถานการณ์บังคับให้เราฟิตหนัก เราก็ต้องบังคับตัวเองให้ฟิตหนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ถ้าเรายอมถูกบังคับ เราจะโชคดี เจอความสำเร็จ และเก่ง
ถ้าท่านพร้อมจะฟังคำบอกเล่าภาคปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีฟิตหนักในการอ่าน นสพ. Bangkok Post ก็→ ตามมาเลยครับ
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
Najib Razak ให้สัมภาษษณ์ Aljazeera ยั๊วะจัด ลุกขึ้น เลิกการให้สัมภาษณ์
คลิปนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Najib Razak ให้สัมภาษษณ์ Aljazeera วันนี้ ( 27 ตุลาคม 2561) ประเด็นที่ Aljazeera ซักมากคือเรื่องคอรัปชั่นในคดี 1MDB จนทำให้แพ้การเลือกตั้งและถูกดำเนินคดีโดยรัฐบาลใหม่ ตอนท้ายของการสัมภาษณ์มันมาก Najib ยั๊วะจัด ลุกขึ้นและเลิกการให้สัมภาษณ์ ฟังให้จบนะครับ
→ https://www.youtube.com/watch?v=w0MjT7aeMeo
วิธีฝึกแบบโหด อ่าน นสพ. Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ – ภาคปฏิบัติ
ถ้าท่านยังไม่ได้อ่าน→ภาคแรกของบทความนี้ ผมขอแนะนำให้ย้อนไปอ่านก่อน เสร็จแล้วค่อยกลับมาอ่านข้างล่างนี้
ถ้าตอนนี้ท่านตกลงใจแล้วว่า จะอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐให้ได้ ผมก็ขอแนะนำวิธีฝึกจากประสบการณ์ของตัวเอง เป็นวิธีฝึกที่โหด แต่จะช่วยให้อ่านรู้เรื่องในเวลาไม่นานนัก
[1] เราเข้าไปที่เว็บ นสพ. Bangkok Post เลยครับ
→ https://www.bangkokpost.com/
ขอสมมุติว่า ขณะนี้ นสพ. Bangkok Post เปรียบเหมือนฝรั่งที่ท่านฟังเขาพูดได้ไม่เข้าใจสมบูรณ์ คือ มีทั้งเข้าใจมาก, เข้าใจบ้าง, และเข้าใจยาก แต่ท่านก็ตั้งใจว่า (กู)จะฝึกอ่านจนเข้าใจมากในทุกเรื่องที่หยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าสัญญากับตัวเองอย่างนี้ ก็อ่านต่อครับ
[2] งานแรกที่ต้องทำก็คือ หาให้เจอเรื่องหรือข่าวที่ท่านชอบหรือสนใจอยากอ่าน
ที่หน้าข่าวของ Bangkok Post → https://www.bangkokpost.com/news
ท่านจะเห็นลิงก์ข่าวหลายปุ่ม ก็เลือกว่าข่าวประเภทไหนที่ท่านสนใจมากที่สุด
เรื่องนี้อย่าถือเป็นเรื่องเล่น ๆ นะครับ ผมถือว่านี่เป็นงานแรกที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเราได้อ่านเนื้อหาที่เราสนใจ สมาธิจะเกิดง่ายและตั้งอยู่นาน และอีกอย่างหนึ่งเรื่องที่เราสนใจนั้นเรามักจะมีพื้นฐานอยู่พอสมควร เมื่ออ่านติดขัดและต้องเดาก็จะเดาได้ง่ายกว่าเรื่องที่ไม่คุ้นเคย
แต่ถ้าท่านตอบว่าไม่รู้เหมือนกันว่าสนใจข่าวอะไรเป็นพิเศษ แถมอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องอีกว่าข่าวลงไว้ว่ายังไง ถ้าท่านตอบอย่างนี้ก็ตกบันไดตั้งแต่ก้าวขั้นแรกแหละครับ ท่านต้องหาให้ได้ และก็อย่าไปวานให้คนอื่นหาให้หรือช่วยแนะนำ ทำอย่างนั้นมันก็ Game Over ! ตั้งแต่คลิก Start
[3] เมื่อหาเจอแล้วว่าชอบข่าวประเภทใดหรือหลายประเภทใดเป็นพิเศษ เวลาเข้าเว็บ Bangkok Post ก็ตรงเข้าไปที่ปุ่มนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาหามาก แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ท่านต้องอุทิศเวลาให้กับการฝึกอย่างจริงจัง แต่ถ้าท่านบอกว่า งานประจำก็ยุ่งมากพออยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาฝึกอ่าน ถ้าท่านตอบอย่างนี้ก็ตกบันไดอีกแล้วครับ
ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องหาให้ได้ เช่น ตื่นให้เร็วขึ้น, เข้านอนให้ช้าลง, ตัดกิจกรรมแสนรักอื่น ๆ ออกไปบ้าง หรือลดเวลาให้กับเรื่องที่น่าจะลดได้ ถ้าไม่สามารถฝึกช่วงเดียวนาน 1 ชั่วโมง ก็จับเวลาดูให้หลาย ๆ ช่วงเวลาที่ฝึกรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 60 นาที และต้องทำทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการหรือเสาร์-อาทิตย์ หรือวันพระ-ฝนตก ถ้าวันไหนขัดข้องจริง ๆ ไม่ได้ฝึก ก็ต้องไปทำชดเชยในวันอื่น ๆ ข้อนี้ทำได้ไหมครับ
แต่การฝึกไม่ใช่เป็นเรื่องของปริมาณเท่านั้น ต้องฝึกให้ได้คุณภาพด้วย ซึ่งแปลว่าต้องอ่านแล้วรู้เรื่อง และใน 1 วันต้องอ่านให้รู้เรื่องทุกคำทุกประโยคอย่างน้อย 2 ข่าว ท่านเห็นว่านี่เป็นแบบฝึกที่โหดเกินไปหรือไม่ ก็ในเมื่อบางประโยคบางวรรคมันอ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง แล้วจะบังคับให้รู้เรื่องได้ยังไง
ท่านผู้อ่านครับ ผมบอกแล้วว่าหลักสูตรฝึกที่ผมกำลังแนะนำขณะนี้เป็นหลักสูตรโหดที่ท่านต้องทำให้ได้โดยไม่มีข้อต่อรอง เมื่อโจทย์บอกว่า วันหนึ่ง ๆ ท่านต้องฝึกอ่านให้ได้นานอย่างน้อย 60 นาที โดยอ่านให้จบและรู้เรื่องโดยตลอดอย่างน้อย 2 ข่าว ถ้าหมด 1 ชั่วโมงแล้วยังอ่านสำเร็จไม่ครบ 2 ข่าว ก็ต้องต่อเวลาออกไปให้อ่านรู้เรื่องจบ 2 ข่าวที่ท่านเลือกเมื่อตอนที่เริ่มอ่าน
Tip ที่ผมขอแนะนำเพื่อให้ทำเสร็จตามโจทย์ก็คือ (1)เลือกเรื่องที่ท่านสนใจ,ชอบ, และมีพื้นในเรื่องนั้น มันจะช่วยให้อ่านได้เร็ว จะเดาหรือตีความก็ง่าย (2)เลือกเรื่องที่ไม่ยาวนักจะได้อ่านจบเร็ว ๆ (3)เปิดดิกโดยใช้ add-on ที่ผมจะแนะนำข้างล่างนี้เพื่อช่วยงานอย่างเต็มที่ เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาในการเปิดดิก (4)ต้องมีสมาธิพร้อมใช้ชนิดเข้มข้นในขณะที่อ่าน เพราะถ้าอ่านเรื่องยากแต่ไม่มีสมาธิก็คงเดาหรือตีความให้รู้เรื่องได้ยาก (5)ถ้าท่านมีคนใกล้ ๆ หรือคนไกลที่โทรไปถามได้ในประโยคที่ติดขัดสงสัย ก็อนุญาตให้ถาม สรุปก็คือ ท่านจะทำยังไงก็ได้ตามใจชอบ ขอให้สามารถอ่านเข้าใจทุกวรรค ทุกประโยค ในอย่างน้อย 2 ข่าวที่ท่านเลือกอ่านแต่ละวัน
แต่ถ้าจนแล้วจนรอด ท่านก็ยังอ่านบางวรรค-บางประโยคไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง ให้ท่านจดประโยคนั้นไว้ในเอกสาร WORD หรือจดลงสมุดโน้ตก็ได้ และหลังจากนี้ก็ไปพยายามหาทางทำความเข้าใจ โดยใคร่ครวญขบคิดหรือไต่ถามผู้รู้เพื่อนฝูงหรือถามใครก็ได้ให้กระจ่าง และขอเน้นว่า นี่เป็นการบ้านที่ท่านต้องทำ และเวลาที่ clear เรื่องนี้ในวันหลัง ไม่นับรวมอยู่ใน 1 ชั่วโมง ที่ต้องฝึกอ่านทุกวัน
การฝึกข้อนี้เป็นการฝึกตัวเองให้ฝึกอ่านอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่ฝึกอ่านอย่างเลื่อนลอย รู้เรื่องก็ช่าง ไม่รู้เรื่องก็ช่าง การฝึกอย่างสบาย ๆ นั้นไม่โหด แต่ทักษะก็หด แต่เราต้องทนฝึกให้ได้ เพราะเรามีเป้าหมายที่แน่ชัด
[4] คราวนี้มาถึงเครื่องทุ่นแรงที่ใช้กับเว็บ นสพ. Bangkok Post โดยเฉพาะ ซึ่งให้ใช้ผ่านเบราว์เซอร์ Google Chrome คือ ให้ท่านติดตั้ง add-on Dictionary 2 ตัวนี้
♥ Add-on ดิก อังกฤษ-ไทย Longdo (ดูคำแปลไทย)→ https://goo.gl/zhGJVg
♥ Add-on ดิก อังกฤษ- อังกฤษ Oxford (ดูความหมายเป็นภาษาอังกฤษ) → https://goo.gl/juYTcP
เวลาติดศัพท์ก็เดาก่อน ถ้าเดาไม่ออกก็ไฮไลต์คำศัพท์, คลิกขวา, และคลิกบรรทัด Longdo หรือ Oxford ผมขอเน้นหลาย ๆ ครั้งว่า ท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ add-on dictionary พวกนี้ ขอให้พยายามฝึกใช้มันบ่อย ๆ จนท่านคุ้นเคย มันจะเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในการฝึกอ่านภาษาอังกฤษ
[5] ต้องคล่องในแกรมมาร์ 5 เรื่อง
การจะอ่านข่าวหรืออ่านเรื่องอะไรก็ตามให้รู้เรื่อง หรือถ้าไม่รู้เรื่องก็สามารถเดาหรือตีความได้ไม่ยากนัก ขอแนะนำให้ศึกษา 5 เรื่องข้างล่างนี้ อย่างจริงจังเพราะมันจำเป็น
- เรื่อง part of speech 8 ชนิด { คลิกดูตัวอย่าง } ถ้าเรามองไม่ออกว่าอะไรเป็นคำ noun, verb, adjective, adverb เราก็จะตีความหน้าที่ของคำ และความหมายของมันได้ยาก
- เรื่องโครงสร้างประโยค ซึ่งมี 3 แบบ ง่าย ๆ คือแบบ simple, compound, complex อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ { คลิกดูตัวอย่าง }
- เรื่อง อนุประโยคและวลีต่าง ๆ (clause คลิกดูตัวอย่าง และ phrase คลิกดูตัวอย่าง )
- เรื่อง past participle และ present particle { คลิกดูตัวอย่าง }
- เรื่อง voice คือ active – passive voice { คลิกดูตัวอย่าง }
เรื่องแกรมมาร์มีอยู่ 5 เรื่องเท่านี้แหละครับ ที่ต้องรู้ให้กระจ่างซะก่อน เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตีความเนื้อหาที่อ่าน เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจะฝึกอ่าน ขอให้ทุ่มเทความสนใจในเรื่องพวกนี้ก่อน ถ้าละเลยเรื่องนี้ การเดาหรือตีความก็จะไม่เป๊ะ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถึงแม้จะรู้ศัพท์ก็แปลได้ไม่เป๊ะ
[6] ผมได้เกริ่นไว้บ้างแล้วว่า ในการอ่านข่าว Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ ศัพท์เป็นเรื่องจำเป็น ผมขอยกบางประเด็นที่สำคัญมาเน้นให้เห็นชัด ๆ ข้างล่างนี้ครับ
X ข่าวบางประเภท ศัพท์ธรรมดามีความหมายเปลี่ยนไป อย่างเช่น ข่าวกีฬา เราจึงอาจจะรู้สึกว่ามันอ่านยาก ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นศัพท์ที่เรารู้จักอยู่ และเราอาจจะเดาไม่ค่อยออก วิธีเดาให้ออกก็คือ ในการฝึกครั้งแรก ๆ ให้เลือกข่าวที่เราคุ้นเคย และเราจะเดาศัพท์ที่มีความหมายแปลก ๆ ได้ง่าย
X ในข่าวนั้น บ่อยครั้งที่ประโยคเขียนยาว ทั้งย่อหน้ามีแค่ประโยคเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เป๊ะเรื่องโครงสร้างประโยค เราจะงงมองไม่ออกว่า อะไรเป็นประธาน – กริยา – กรรม - ส่วนขยาย เพราะแต่ละส่วนก็มักมีหลายคำเป็นกลุ่ม ๆ อย่างเช่นกลุ่มคำกริยา บางทีมีตั้งกว่า 10 คำ, กลุ่มคำขยายยิ่งเยอะ และบางทีมีทั้งขยายประธาน, ขยายกริยา, ขยายกรรม ภาวะที่การเขียนข่าวมีลักษณะอัดแน่นเช่นนี้ เราอย่าไปมองทีละคำ แต่ต้องมองให้เห็นทั้งกลุ่ม ทีละกลุ่ม ถ้ามองไม่ออก ต่อให้รู้ศัพท์ ศัพท์ก็จะสับสน
X และอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตีให้แตกก็คือ ชนิดของคำ หรือ part of speech โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ประเภทหลัก คือ noun, verb, adjective และ adverb ซึ่งเรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่อง ประธาน – กริยา – กรรม อย่างเช่น เรารู้จัก noun ที่เป็นประธานว่ามันคือองค์กรหนึ่ง และเราก็รู้จัก noun ที่เป็นกรรมว่าเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง แต่เราไม่รู้จักศัพท์ที่เป็น verb การรู้เรื่องชนิดของคำจึงมีประโยชน์มาก เพราะถ้าเรามองออกว่า ศัพท์ตัวนี้เป็น verb ต่อให้เราไม่รู้คำแปลหรือความหมาย เราก็พอเดาได้ เพราะมันเป็น verb จึงต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ไปกันได้กับประธานและกรรม ยกตัวอย่าง ประโยคนี้
Eight arrest warrants were issued Thursday for suspects in the shooting deaths of four civilians in Narathiwat last week.
- กลุ่มประธาน คือ Eight arrest warrants (หมายจับ 8 ใบ)
- กลุ่มกรรม คือ suspects in the shooting deaths of four civilians in Narathiwat last week (ผู้ต้องสงสัยในคดียิงฆ่าพลเรือนสี่คนในจังหวัดนราธิวาสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- กลุ่มกริยา คือ were issued
อย่างนี้ตามหลักการเดาอย่างที่ว่าไว้ข้างบน หมายจับถูก issue สำหรับ ผู้ต้องสงสัยในคดียิงฆ่าพลเรือนสี่คน ก็เดาได้ง่าย ๆ เลยว่า หมายจับถูก issued ก็คือหมายจับถูกออก หรือออกหมายจับนั่นแหละ นี่คือตัวอย่าง รู้ประธาน รู้กรรม ทำให้เดากริยาได้ แต่ถ้าเราตีไม่แตกว่าตัวไหนเป็น verb ก็ติดแหงกแหละครับ ผมถึงได้เน้นหนักเน้นหนา ต้องมองให้ออก ถ้ามองไม่ออก มันก็เดาไม่ออก ตีความได้ยาก หรือตีได้แต่ไม่เป๊ะ
ในกรณีรู้ประธาน, รู้กริยา และเดากรรม หรือรู้กริยา, รู้กรรม เพื่อเดาประธาน มันก็ทำนองเดียวกันนี้แหละครับ ในการเดาแบบนี้ บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถเดาได้ชัด ๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่อย่างน้อยเราจะรู้ทิศทาง เช่น กลุ่มคำหลาย ๆ คำที่เป็นประธานหรือเป็นกรรมนี้ มันน่าจะเป็นคน, เป็นองค์กร, เป็นโครงการ, หรือเป็นวัตถุ หรือกลุ่มคำกริยาที่เป็น action ของประธาน และส่งผลต่อกรรม มันน่าจะเป็น action ที่ใช้มือทำ, หรือใช้ปากพูด, หรือเป็น action ของความคิด มันก็พอมีทางเดาได้ แต่อย่างที่ว่า แม้จะไม่รู้ศัพท์ แต่จากตำแหน่งของคำที่วางไว้ในประโยค เราต้องมองให้ออกว่า คำ ๆ นี้หรือกลุ่มคำนี้มันเป็นประธาน, เป็นกริยา, เป็นกรรม, หรือเป็นส่วนขยาย และขยายอะไร ขยายตัวที่วางอยู่ติด ๆ กัน หรือขยายตัวที่อยู่ข้างหน้า และก็นี่แหละครับที่ผมบอกไว้ข้างบนว่า การรู้แกรมมาร์ 5 เรื่องนั้นเป็นของจำเป็น เปรียบง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ เราไปเดินเที่ยวศูนย์การค้าแห่งหนึ่งที่ไม่เคยไปมาก่อนเลย ถ้าเรารู้ pattern การจัดส่วนแสดงสินค้าของตึกพาณิชย์พวกนี้เหมือนกับที่เรารู้โครงสร้างประโยค การจะเดินหาห้องน้ำ, หาลิฟต์, หาบันไดเลื่อน, หา food court, หาลานจอดรถ ฯลฯ มันก็เดาได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเราถูกพาไปทิ้งไว้ในป่าง่าย ๆ ที่ไม่ทึบนัก การไม่รู้ pattern ของป่าก็ทำให้ยากที่จะรู้ลู่ทางการเดินออกจากป่า ในทำนองเดียวกัน การไม่รู้ pattern ของภาษา เมื่อเราจะเดาเพื่อหาทางแปล ก็เดาได้ยากเช่นกัน
X มีอีกจุดหนึ่งที่ผมอยากจะชี้เป็นพิเศษ คือในข่าวเขาก็ใช้ศัพท์ตัวที่เรารู้นั่นแหละ แต่เขาอาจจะใช้ในความหมายที่เป็น informal หรือภาษาพูด และความหมายพวกนี้แหละที่ดิกอังกฤษ-ไทย มักไม่มีคำแปลไว้ให้ เราเปิดดูแล้วก็งงอยู่นั่นแหละว่า ทำไมแปลแล้วมันไม่ค่อยจะเข้าท่าเลย ก็นี่แหละครับที่ผมบอกว่าต้องพึ่งดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่ง complete กว่าเยอะ
X อีกอย่างหนึ่ง สำนวนหรือบางกลุ่มคำในข่าว เราหาในดิกกี่เล่ม ๆ ก็หาไม่เจอ ถ้าอย่างนี้ก็ใช้วิธีนี้ครับ ให้ไฮไลท์กลุ่มคำนั้น, คลิกขวา และคลิกบรรทัด Search Google for " .... .... .... " กูเกิ้ลจะไปหากลุ่มคำนี้ในเว็บไซต์ต่าง ซึ่งมีทั้งเว็บดิกและเว็บไม่ใช่ดิก คำอธิบายอาจจะมีอยู่ในหลายเว็บ ท่านก็เลือกเอาแล้วกันครับ ว่าจะคลิกอ่านคำอธิบายที่เว็บไหน ผมเองใช้วิธีนี้บ่อยมาก ๆ ตอนอ่านข่าวและสงสัย อ้อ ! ลืมบอกไป นี่ต้องเปิดผ่านเบราว์เซอร์ Google Chrome นะครับ
วิธีการฝึกแบบโหดและคำแนะนำเล็กน้อยข้างต้นนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมฝึกอ่าน นสพ. Bangkok Post มากว่า 40 ปี ตั้งแต่โลกนี้ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและ Bangkok Post ราคาเล่มละ 15 บาท (ถ้าผมจำไม่ผิด) ทุกวันนี้ผมอ่าน Bangkok Post ฟรีผ่านเว็บซึ่งมีตัวช่วยในการอ่านมากมาย แต่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าใครต้องการอ่านเก่งแต่ยังฝึกอ่านแบบเหยาะแหยะ ก็คงย่ำอยู่ที่เดิมแหละครับ
การฝึกอ่านข่าวให้มี reading skill ที่ใช้งานได้เหมาะมือ สามารถอ่านอะไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้, เหมือนอ่าน นสพ. Bangkok Post ได้เข้าใจพอ ๆ กับอ่านไทยรัฐ, 10 % มาจากการสอน, แต่ 90 % มาจากการเรียน ครูนั้นต่อให้สอนดีเลิศปานใดก็ให้เราได้ไม่เกิน 10 %, อีกกว่า 90 % เราต้องฝึกเอง เรียนเอง รู้เอง ส่วนหนึ่งของปัญหาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย มาจากการตำหนิการสอนหรือผู้สอนหรือระบบการสอนมากเกินไป โดยผู้เรียนไม่ได้ตำหนิการเรียนของตัวเอง ในการทำให้เกิดทักษะนั้น ต่อให้การสอนดีเลิศปานใด การเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับถ้าไม่มีการเรียน และต้องเรียนแบบจริงจัง หรือฝึกแบบโหด ๆ ทักษะที่ยากจึงจะเกิดขึ้นดังหวัง
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th